“ป้านิด” วัย 74 ปี ถูกแจ้ง ม.112 เหตุขึ้นปราศรัยวิจารณ์ไม่อยากให้กษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย ในม็อบ #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน  

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566 เวลา 10.00 น. ที่ สภ.คลองหลวง “ป้านิด” จิราภรณ์ บุษปะเกศ ประชาชนชาวนนทบุรีอายุ 74 ปี  ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการถูกกล่าวหาว่าขึ้นปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ในการชุมนุม THE RETURN OF THAMMASAT #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2566 

คดีนี้ เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2566 อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และพวกได้เข้าแจ้งความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กับจิราภรณ์ ที่ สภ.คลองหลวง เมื่อจิราภรณ์ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ลงวันที่ 8 ส.ค. 2566 จึงได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาตามนัดหมายในวันนี้

ตั้งแต่เวลาเช้าประมาณ 09.00 น. ป้านิดและกลุ่มประชาชนจำนวนประมาณ 10 กว่าคน ซึ่งเดินทางมาให้กำลังใจป้านิด ระหว่างนั้นได้นั่งรออยู่บริเวณลานหน้า สภ. และกินอาหารเช้าที่ร่วมจัดเตรียมกันมา อาทิ ปลาทอด ไข่เจียวชะอม แกงผัก ฯลฯ 

เมื่อถึงเวลาป้านิด เพื่อน และทนายความได้เดินเข้าไปใน สภ. เพื่อเตรียมรับทราบข้อกล่าวหา โดยต้องเดินขึ้นบันไดไปที่ห้องประชุมชั้น 3 ระหว่างนั้นป้านิดได้รับความลำบากอย่างมาก ต้องมีคนคอยพยุงเธอขึ้นบันไดทีละขั้นอย่างทุลักทุเล เนื่องจากป้านิดป่วยเป็นโรคหัวเข่าเสื่อมด้วย จึงเดินลำบากอยู่แล้ว

พ.ต.ท.สุชัย แสงส่อง รองผู้กำกับ (สอบสวน) สภ.คลองหลวง ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหากับจิราภรณ์ โดยในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา ระบุพฤติการณ์แห่งคดีว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2566 ตั้งแต่เวลา 17.00 น. มีการจัดการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เพื่อทวงคืนอำนาจให้แก่ประชาชน แสดงจุดยืนต่อ 8 พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย และไม่เอา สว. ที่ลานอนุสาวรีย์สัญญา ธรรมศักดิ์ หน้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ในการชุมนุมวันดังกล่าว มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นปราศรัยบนเวที จนกระทั่งเมื่อเวลา 18.40 น. มีบุคคลเป็นหญิงไม่ทราบชื่อ ซึ่งภายหลังสืบสวนทราบว่าเป็นผู้ต้องหา ได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีและมีการแสดงออกชู 3 นิ้ว ถ้อยคำปราศรัยที่กล่าวนั้นมีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความคิดเห็นในทำนองว่า ต้องการให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ไม่ต้องการให้กษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย วิพากษ์วิจารณ์การทำรัฐประหารในประเทศไทยที่เกิดขึ้นมาแล้วถึง 13 ครั้ง รวมทั้งปัญหาการสนับสนุนและรับรองการรัฐประหาร

ผู้กล่าวหาเห็นว่า ผู้ต้องหามีเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน นั่นคือ รัชกาลที่ 10 ทำให้ผู้ที่ได้รับฟังเข้าใจผิดว่าถ้อยคำปราศรัยเป็นความจริง ทั้งนี้ ผู้กล่าวหายังเห็นว่าภาพเคลื่อนไหวและถ้อยคำปราศรัยของผู้ต้องหานั้นถูกนำไปเผยแพร่ทางสื่อโซเซียลออนไลน์ด้วย


พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้ง 2 ข้อกล่าวหาแก่จิราภรณ์ ได้แก่ “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (3)  ทั้งนี้บันทึกข้อกล่าวหาไม่ได้ระบุชัดเจนว่าผู้ต้องหาได้นำข้อมูลดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อย่างไร

จิราภรณ์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือภายใน 30 วัน โดยพนักงานสอบสวนได้ลงบันทึกประจำวัน และพิมพ์ลายนิ้วมือไว้ ก่อนนัดหมายให้มารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 25 ก.ย. 2566 จากนั้นจึงได้ปล่อยตัวจิราภรณ์กลับไป

ทำความรู้จักป้านิด : ไม่อยากให้สถาบันฯ ถูกใช้เป็นเครื่องมือ โดยคนที่ผูกขาดว่า ‘รักชาติ’

ป้านิด ปัจจุบันอายุ 74 ปี และจะอายุครบ 75 ปี ในอีก 3 เดือนข้างหน้านี้แล้ว เธอเป็นประชาชนทั่วไป เคยทำงานเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจระดับสูงอยู่ที่องค์กรแห่งหนึ่ง ปัจจุบันเกษียณอายุแล้ว แต่ยังประกอบอาชีพขายโจ๊กอยู่หน้าโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.นนทบุรี ตั้งแต่เวลาตี 5 ไปจนถึงเวลาประมาณ 9 โมงเช้า

ป้านิดมีโรคประจำตัวหลายอย่าง ได้แก่ โรคหัวใจตีบ, มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ, ข้อเข่าเสื่อม และอาการไตเสื่อม ทำให้ป้านิดมีอาการเหนื่อยบ่อยหายใจไม่ค่อยออก เดินลำบากต้องใช้ไม้เท้า บางครั้งถึงกับมีอาการช็อก ก่อนหน้านี้ต้องเข้ารักษาตัวในห้องไอซียูมาแล้วหลายครั้ง หลังกินอาหารแต่ละมื้อเธอต้องกินยาประจำตัวร่วมกว่า 8 เม็ดด้วยกัน  

เธอนิยามตัวเองว่าเป็นเพียงประชาชนคนธรรมดาที่มีหัวใจรักประชาธิปไตยเท่านั้น ไม่ได้เป็นคนเสื้อสีไหน สนใจสนับสนุนทุกผู้คนที่มีหัวใจรักประชาธิปไตย ป้านิดบอกว่าตัวเองต่อสู้เพื่อความยุติธรรมมาตลอดตั้งแต่จำความได้ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519, เหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ปี 2553 รวมถึงการเคลื่อนไหวระลอกล่าสุดตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน เธอบอกว่าตัวเองอยู่เห็นกับตาตัวเองทั้งหมด ทั้งคนบาดเจ็บ ถูกยิงตาย ถูกจับกุม และถูกทำร้าย 

วันที่ป้านิดรู้ว่าตัวเองตกเป็นผู้ต้องหาในคดี ม.112 วันนั้นหมายเรียกถูกติดอยู่หน้าประตูบ้าน หลานชายที่เป็นคนเปิดอ่านได้โทรมาบอกทันที ป้านิดบอกว่า ตอนนั้นรู้สึกตกใจอย่างมาก ก่อนหน้านี้ติดตามและให้กำลังใจผู้ต้องหาทางการเมืองมาตลอด แต่ไม่คิดว่าวันหนึ่งจะต้องเจอกับตัวเองอย่างนี้ 

“ตอนนั้นหลานก็ตกใจมาก ถามเราว่า ‘ป้านิดทำไมโดนแบบนี้ ข้อหามันร้ายแรงมาก’ คนที่มากล่าวหาป้าก็ไม่เคยรู้จักมาก่อน ไม่เคยมีเรื่องกันมาก่อนเลย แล้วทำไมถึงมาแจ้งความป้าแบบนี้”

เราถามป้านิดว่า ตอนเห็นหมายเรียกทราบไหมว่าเป็นข้อหาอะไร

ป้าตอบทันทีว่า “รู้จักอยู่แล้ว!, ป้าติดตามตลอด มาตรา 112 เนี่ย” 

“ม.112 มันเป็นคดีที่ร้ายแรง มีโทษจำคุก 3-15 ปี แต่ก่อนป้าเคยไปเยี่ยมคุณสมยศ คุณอานนท์ เคยเข้าเยี่ยมคนที่โดน ม.112 หลายคนก่อน มาตรานี้มันไม่เป็นธรรม เป็นกฎหมายที่ประชาชนไม่มีทางต่อสู้ชนะ เราไม่มีสิทธิ์ที่จะพูดเหรอความจริง แม้จะเป็นความคิดเห็นของคนก็พูดไม่ได้เลยเหรอ”

วันนั้นมีการชุมนุมที่ มธ. ป้าขึ้นไปพูดเพราะอยากได้หนังสือ วันนั้นจำได้ว่าประเด็นสำคัญที่พูดคือ การรัฐประหารของทหาร แต่มาแจ้งความกันแบบนี้มันป่าเถื่อนเกินไป นี่ถึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงต้องแก้ไขมาตรา 112 เพราะนับวันยิ่งถอยหลังไปกันใหญ่ เหมือนเดินย้อนกลับไปในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ที่มองหน้ากษัตริย์ไม่ได้ มองแล้วประชาชนจะโดนตัดหัว …” 

“แต่ยุคนี้เป็นยุคประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพที่จะพูดได้ เราพูดแสดงความคิดเห็นด้วยเหตุและผล 

ถึงเวลาแล้วต้องแก้ไข ม.112 ถ้าไม่ยกเลิกก็ต้องแก้ไข ถ้าไม่อย่างนั้นประชาชนจะไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ควรมีใครผูกขาดความรักชาติไว้เฉพาะกลุ่มตัวเอง 

“ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยล้วนก็รักชาติ รักพระมหากษัตริย์กันทั้งหมด ทำไมคุณต้องแบ่งแยก แบ่งแยกแล้วก็หาเรื่องทะเลาะกัน หาเรื่องฆ่ากันแกงกัน เหมือนตอนเหตุการณ์ 6 ตุลา เหมือนตอนที่คนเสื้อแดงถูกฆ่า ป้านี่อยู่ด้วยทุกเหตุการณ์ มันโหดร้ายเกินไป ป้ารับไม่ได้ …”

X