ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้อง 7 จำเลยคดี ‘ตั้งโต๊ะปิดสวิตซ์ สว.’ ชี้ไม่เข้าข่ายการชุมนุม จึงไม่ต้องแจ้งการชุมนุม

15 ส.ค. 2566 ศาลแขวงเชียงรายนัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีของนักกิจกรรมและประชาชนรวม 7 คน ที่ถูกฟ้องในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 จากกรณีการจัดและร่วมกิจกรรมตั้งโต๊ะเขียนจดหมายเรียกร้อง “ปิดสวิตซ์ สว. ไม่โหวตนายกฯ” ที่ลานอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งราย เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2562

แม้จะเป็นคดีที่มีอัตราโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท แต่คดีนี้ใช้เวลาต่อสู้ยืดเยื้อมากว่า 4 ปี 3 เดือนแล้ว สำหรับประเด็นการต่อสู้ของฝ่ายจำเลย ได้แก่ การยืนยันว่ากิจกรรมดังกล่าวที่มีเป็นการตั้งโต๊ะเชิญชวนประชาชนให้มาร่วมลงชื่อเรียกร้องต่อ สว. ซึ่งมีที่มาไม่ชอบธรรม ไม่เข้าข่ายการชุมนุมสาธารณะที่ต้องมีการแจ้งการชุมนุม และผู้ถูกกล่าวหาหลายคนยังไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมดังกล่าว เป็นเพียงผู้ไปร่วมกิจกรรม โดยที่ตำรวจก็ไม่ได้มีพยานหลักฐานชัดเจนที่บ่งบอกถึงความเป็นผู้ประสงค์จะจัดกิจกรรม

ต่อมาเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2565 ศาลแขวงเชียงรายได้พิพากษายกฟ้องคดีนี้ โดยเห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงรายทราบจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่าจะมีการชุมนุมตามฟ้อง และ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ การแจ้งการชุมนุมก็เพื่อให้เจ้าพนักงานทราบก่อนการชุมนุม เมื่อ ผกก.สภ.เมืองเชียงราย ทราบก่อนแล้วไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และกิจกรรมก็เป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย จึงเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แล้ว

หลังจากนั้น ทางฝ่ายอัยการโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา โดยสรุปพยายามโต้แย้งว่า เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ให้ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมเป็นผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องแจ้งการชุมนุม เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้วางแผนการจราจรและป้องกันมิให้เกิดเหตุร้ายไว้ล่วงหน้า  การชุมนุมในคดีนี้ไม่มีข้อยกเว้นให้ไม่ต้องแจ้งการชุมนุม เมื่อจำเลยทั้งเจ็ดเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง จึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายโดยชัดแจ้ง ส่วนที่การชุมนุมจะเป็นไปโดยสงบหรือเกิดเหตุวุ่นวาย เป็นเหตุการณ์ภายหลัง มิใช่เงื่อนไขหรือองค์ประกอบของความผิด 

เดิมนั้น ศาลกำหนดนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากคำพิพากษายังไม่แล้วเสร็จ จึงได้เลื่อนฟังคำพิพากษาออกมาเป็นวันนี้

เวลา 10.30 น. จำเลยทั้ง 7 เดินทางมาศาล ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 โดยพิพากษายืน ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งเจ็ด แต่ได้วินิจฉัยในรายละเอียดทางกฎหมายใหม่

โดยสรุป ศาลเห็นว่าประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การจัดกิจกรรมแสดงความเห็นเกี่ยวกับบทบาทของสมาชิกวุฒิสภาตามฟ้องนั้น เป็นการชุมนุมสาธารณะ ตามที่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 กำหนดหรือไม่

ศาลเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 44 บัญญัติรับรองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจํากัดเสรีภาพจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น

และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 26 บัญญัติว่า การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าว ต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจําเป็นในการจํากัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย

เมื่อ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การใช้เสรีภาพการชุมนุมดังกล่าวให้ชัดเจน และเพื่อให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี เพื่อให้การชุมนุมสาธารณะเป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น

ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ บัญญัติความหมายของการชุมนุมสาธารณะ ว่าหมายถึง “การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่” 

แต่บทบัญญัติดังกล่าว ไม่ได้บัญญัติว่าการชุมนุมสาธารณะนั้นต้องมีจำนวนผู้เข้าร่วมเท่าใด และมีลักษณะอย่างไร การบังคับใช้จึงต้องตีความเจตนารมณ์ความมุ่งหมายของกฎหมายโดยเคร่งครัด และมิให้เป็นภาระหรือจำกัดเสรีภาพจนเกินกว่าเหตุ

จากการนำสืบพยานของโจทก์ ได้ความจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าการชุมนุมเป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ไม่มีเหตุรุนแรงและการยุยงให้เกิดความความวุ่นวายในบ้านเมือง 

กิจกรรมมีการใช้โทรโข่ง และมีการตั้งโต๊ะวางกล่องให้หย่อนจดหมายเพื่อแสดงความคิดเห็น และที่เกิดเหตุเป็นลานอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งราย ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีประมาณ 10 กว่าคน แสดงให้เห็นว่ามีคนไม่มาก ไม่มีเหตุว่าเป็นการใช้พื้นที่สาธารณะเกินจำเป็นกว่าปกติ จนทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยและความไม่สะดวกต่อประชาชน การจัดกิจกรรมแสดงความคิดเห็นต่อบทบาทของสมาชิกวุฒิสภา ยังเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ทั้งไม่ปรากฏว่ากิจกรรมส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของรัฐ

จึงเห็นว่ากิจกรรมตามฟ้องไม่ใช่การชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ที่จะต้องมีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นอีก ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 5 เห็นพ้องในผลคำวินิจฉัย

.

.

สำหรับจำเลยทั้ง 7 คน ในคดีนี้ ได้แก่ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, ธนวัฒน์ วงค์ไชย, วิทยา ตันติภูวนารถ, สราวุทธิ์ กุลมธุรพจน์, สมสิน สอนดา, มะยูรี ธรรมใจ และจิตต์ศจีฐ์ นามวงค์  โดยจำเลยสองรายแรก ไม่ได้อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงราย ทำให้มีภาระในการเดินทางมาต่อสู้คดีนี้ในช่วงที่ผ่านมา

กิจกรรมปิดสวิตช์ สว. เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2562 ในช่วงก่อนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีโดยรัฐสภา สิรวิชญ์และธนวัฒน์ สองนักกิจกรรม ได้เดินทางไปตั้งโต๊ะเชิญชวนให้ประชาชนร่วมเขียนข้อความในจดหมายส่งถึงสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่ทั้งหมดถูกแต่งตั้งโดย คสช. เรียกร้องให้ไม่ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เคารพต่อเจตจำนงของประชาชน ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งราย โดยจำเลยอีก 5 ราย ก็เป็นเพียงผู้มาเข้าร่วมกิจกรรม

.

X