จับตา ฟังคำพิพากษาฎีกาคดี “เจมส์ ประสิทธิ์” ไม่แจ้งการชุมนุม หลังสู้เกือบ 3 ปี ยันไม่ใช่ผู้จัดชุมนุม ‘ไม่ถอยไม่ทน’

วันที่ 18 ต.ค. 2565 นี้ เวลา 9.30 น. ศาลแขวงเชียงใหม่กำหนดนัดฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีของ “เจมส์” ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ นักกิจกรรมในจังหวัดเชียงใหม่ และบัณฑิตจากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “เป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งการชุมนุม ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง” ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 10 จากกรณีกิจกรรมแฟลชม็อบ #ไม่ถอยไม่ทน ของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ที่บริเวณลานประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2562

คดีนี้ ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเห็นว่าประสิทธิ์มีความผิดตามฟ้อง โดยให้ลงโทษปรับในอัตราเกือบเต็มของกฎหมาย คือปรับ 9,000 บาท แต่เห็นว่าจำเลยให้การเป็นประโยชน์ จึงลดเหลือปรับ 6,000 บาท ประสิทธิ์ยังยืนยันตลอดมาว่าเขาไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมครั้งดังกล่าว จึงไม่ควรต้องมีหน้าที่ในการแจ้งจัดการชุมนุม หลังการต่อสู้คดีเกือบ 3 ปี คดีกำลังจะมีคำพิพากษาในชั้นฎีกา

ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีนี้จะเป็นคดีแรกที่มีการต่อสู้ถึงชั้นฎีกา ในประเด็นเรื่องการโพสต์ข้อความเชิญชวนหรือประชาสัมพันธ์ให้มาร่วมชุมนุม โดยไม่มีพฤติการณ์อื่นใดอีก จะถือว่าเป็น “ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ” ที่ต้องมีความรับผิดทางอาญา ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ หรือไม่ แม้ก่อนหน้านี้ จะมีคำพิพากษาในชั้นฎีกาในคดีของอานนท์ นำภา กรณีทำกิจกรรมยืนเฉยๆ เมื่อปี 2559 แต่ก็เป็นการต่อสู้ในประเด็นว่าการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นไปโดยมิชอบ ไม่ใช่ประเด็นเรื่องนิยามความหมายของผู้จัดการชุมนุมสาธารณะเหมือนในคดีนี้

.

.

แม้คดีเพียงโทษปรับ แต่ยืนยันสู้ยาวเกือบ 3 ปี: ลำดับเหตุการณ์ในคดี

14 ธ.ค. 2562 หลังคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา กรณีพรรคอนาคตใหม่กู้เงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และต่อมาได้มีการนัดหมายชุมนุมในลักษณะ “แฟลชม็อบ” แสดงพลังของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับเหตุการณ์ดังกล่าว รวมทั้งมีการนัดหมายชุมนุมคู่ขนานในหลายจังหวัด ที่จังหวัดเชียงใหม่เอง ก็มีการนัดหมายแฟลชม็อบที่ลานประตูท่าแพ

15 ธ.ค. 2562 พ.ต.ต.ชุวาพล ชัยสร สารวัตรสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ ให้ดำเนินคดีกับเพจเฟซบุ๊กชื่อ “สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย” ในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งไม่โทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท

24 ธ.ค. 2562 หลังปรากฏเป็นข่าวเรื่องการดำเนินคดีต่อเพจของกลุ่มนักศึกษา ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ ได้เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ใจว่าตนเป็นผู้ดูแลเพจดังกล่าวเอง แต่ไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมสาธารณะที่เกิดขึ้น ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหากับประสิทธิ์ในทันที โดยประสิทธิ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

6 ม.ค. 2563 พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ ได้สรุปสำนวนโดยมีความเห็นควรสั่งฟ้องประสิทธิ์ พร้อมกับส่งสำนวนให้กับพนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่

23 ม.ค. 2563 หลังการนัดหมายรายงานตัวกับอัยการทั้งหมด 2 ครั้ง พนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีของประสิทธิ์ต่อศาลแขวงเชียงใหม่ ศาลให้ประกันตัวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ แต่ให้สาบานตนว่าจะมาตามนัดหมาย

.

.

2 มี.ค. 2563 ศาลแขวงเชียงใหม่นัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานในคดี ประสิทธิ์ยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยยืนยันว่าไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมสาธารณะดังกล่าว จึงไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุม

9-11 ก.ย. 2563 ศาลแขวงเชียงใหม่นัดสืบพยาน ฝ่ายโจทก์นำพยานเข้าเบิกความจำนวน 3 ปาก ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมด และฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าเบิกความ 4 ปาก นอกจากตัวจำเลย ยังมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมและนักวิชาการที่ศึกษาวิจัยการบังคับ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ (อ่านประมวลการสืบพยาน)

ข้อต่อสู้สำคัญของจำเลยในคดีนี้ คือ การยืนยันว่าตนไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมแฟลชม็อบดังกล่าว แต่กิจกรรมเกิดจากการรวมตัวของประชาชนที่อยากแสดงความคิดเห็นคัดค้านการจะยุบพรรคอนาคตใหม่ในช่วงนั้น โดยไม่มีแกนนำ ไม่มีเวทีปราศรัย และจำเลยเป็นเพียงผู้ช่วยโพสต์ภาพและข้อความประชาสัมพันธ์ในเพจของกลุ่มสมัชชาเสรีฯ และเป็นหนึ่งผู้เข้าร่วมในวันดังกล่าวเท่านั้น การกล่าวหาจำเลยยังสะท้อนถึงปัญหาการตีความ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐต่อ “กลุ่มเป้าหมายทางการเมือง”

.

ภาพกิจกรรมที่ลานประตูท่าแพเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2562
(ภาพจากเพจสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย)

.

5 พ.ย. 2563 ศาลแขวงเชียงใหม่มีคำพิพากษาลงโทษปรับจำเลยเป็นเงิน 9,000 บาท แต่คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงให้ลดโทษ 1 ใน 3 คงเหลือโทษปรับเป็นจำนวน 6,000 บาท

ศาลวินิจฉัยว่าจำเลยได้ยอมรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความเชิญชวนผ่านเพจเฟซบุ๊กสาธารณะของกลุ่มดังกล่าว แม้ปฏิเสธว่าไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม ก็ถือว่าเข้าลักษณะเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มาตรา 10 วรรคสอง ที่ระบุว่า “ให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ เป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะตามวรรคหนึ่ง”

ต่อมา ฝ่ายจำเลยยื่นอุทธรณ์คดี โดยยืนยันว่าจากการนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฎพยานหรือเอกสารยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้ประสงค์หรือเป็นผู้จัดการชุมนุม ทั้งการชุมนุมยังเป็นไปโดยสงบตามเจตนารมณ์กฎหมาย และเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ โดยที่จากการนำสืบชี้ว่า พนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานก่อนมีการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีลักษณะจ้องจับผิด/มุ่งเอาผิดกับจำเลย อีกทั้งฟ้องของโจทก์ยังระบุวันที่โพสต์ผิด ทำให้จำเลยหลงต่อสู้ ศาลต้องยกฟ้องตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่เคยมีมา

ขณะเดียวกันจำเลยยังเห็นว่า การตีความว่าการโพสต์เชิญชวนประชาสัมพันธ์การชุมนุม เท่ากับเป็น “ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม” ยังเป็นการตีความเกินกว่าขอบเขตของกฎหมาย

13 ก.ย. 2564 ศาลแขวงเชียงใหม่อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 โดยมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยวินิจฉัยไปในแนวทางเดียวกับศาลชั้นต้น ว่าเมื่อมีข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์เชิญชวนในการชุมนุมแฟลชม็อบดังกล่าว จึงถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ มาตรา 10 วรรคสอง แล้ว

ฝ่ายจำเลยยื่นขออนุญาตฎีกาทั้งในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ต่อมาศาลอนุญาตให้ฎีกาได้ คดีจึงขึ้นสู่ศาลสูงสุด

18 ต.ค. 2565 ศาลแขวงเชียงใหม่นัดอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา

.

.

เปิดฎีกาฝ่ายจำเลย ต่อสู้ 5 ประเด็น ทั้งข้อเท็จจริงและการตีความกฎหมาย

สำหรับประเด็นที่ประสิทธิ์และทนายความยื่นฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไปนั้น สรุปเป็นประเด็นได้ดังต่อไปนี้

1. โจทก์ไม่สามารถนำสืบจนสิ้นสงสัยได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุม

เนื่องจากคดีนี้มีโทษทางอาญา การที่จะพิจารณาพิพากษาว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงตามฟ้องโจทก์หรือไม่นั้น โจทก์จะต้องนำสืบตามฟ้องให้เห็นโดยปราศจากเหตุอันควรสงสัยว่ากระทำความผิดจริง แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ในคดีนี้ไม่สามารถนำสืบให้เห็นจนสิ้นสงสัยได้ว่าจำเลยเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ ดังที่ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้พิจารณาวินิจฉัยไว้ว่า “แม้ตามทางนําสืบของโจทก์จะไม่อาจรับฟังได้ว่าจําเลยเป็นผู้ที่ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ” ศาลจึงไม่อาจลงโทษจำเลยได้ตามกฎหมาย

ทางนำสืบของโจทก์เองยังสนับสนุนได้ว่าจำเลยไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม โดยมีพยานโจทก์ปาก พ.ต.ท.ไพบูลย์ นามทอง ที่ตอบทนายจำเลยถามค้าน ถึงเหตุการณ์ขณะที่ไปปฏิบัติหน้าที่ว่าได้พูดคุยกับผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ “จุ๋ม” แจ้งว่าไม่มีการแจ้งการชุมนุมดังกล่าว เนื่องจากคาดว่าเธอเป็นผู้นำการชุมนุมคนหนึ่ง ทั้งรับว่าไม่มีบุคคลอื่นที่มีลักษณะเป็นแกนนำ  แม้แต่พยานเอกสารของโจทก์ ที่จัดทำโดยผู้กำกับการ สภ.เมืองเชียงใหม่ ยังระบุว่า “..การชุมนุมดังกล่าวไม่ได้มีบุคคลใดเป็นแกนนำในการดำเนินกิจกรรม”

ฝ่ายจำเลยยังมีพยานเบิกความต่อศาลว่าการชุมนุมดังกล่าว มีลักษณะแฟลชม็อบ รวมตัวกันในระยะเวลาอันสั้น ผู้เข้าร่วมต่างเป็นผู้ร่วมชุมนุม ไม่มีผู้จัด ต่างคนต่างถือป้าย ไม่มีการจัดเวทีปราศรัย ขณะที่พยานจำเลยที่พบเห็นจำเลย ยังเบิกความว่าเห็นจำเลยเพียงยืนถือป้ายอยู่ในที่ชุมนุม ไม่พบว่าได้ทำหน้าที่อะไรในการชุมนุมดังกล่าว

.

(ภาพจากเพจสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย)

.

2. ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ ต้องมีพฤติการณ์อื่นประกอบ ไม่ใช่เพียงการโพสต์เชิญชวน

ฝ่ายจำเลยเห็นว่าการจะตีความว่าบุคคลใดเป็น “ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ” จะต้องพิจารณาถึงบทบัญญัติในมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อันเป็นบทนิยามจำกัดความหมายอย่างเคร่งครัดด้วย

กฎหมายบัญญัติว่า “ผู้จัดการชุมนุม” หมายความว่า “ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ และให้หมายความรวมถึงผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ และผู้ซึ่งเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมสาธารณะโดยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น” ซึ่งได้กำหนดความหมายจำเพาะว่าบุคคลเช่นว่าจะต้องแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าบุคคลนั้นๆ เป็นผู้จัดหรือร่วมจัดการชุมนุมด้วย

ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะต้องรับหน้าที่ตามข้อกำหนดของกฎหมาย และต้องรับผิดทางอาญาเมื่อมีการฝ่าฝืน จึงต้องตีความอย่างเคร่งครัด มิใช่แต่เพียงเชิญชวนหรือนัดหมายผู้อื่นมาชุมนุม จึงจะต้องรับโทษทางอาญา

ฎีกาได้ยกแนวทางการตีความของพยานฝ่ายจำเลยมาประกอบ ได้แก่ ผศ.ดร.นัทมน คงเจริญ นักวิชาการกฎหมาย ที่เห็นว่าการตีความว่าผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุม โดยที่ตนเองมิได้มีส่วนร่วมเป็นคณะผู้จัดการชุมนุมนั้น ย่อมจะไม่เป็นธรรมต่อบุคคลดังกล่าว เนื่องจากบุคคลดังกล่าวไม่มีอำนาจในการควบคุมหรืออำนวยการชุมนุมได้   

แม้ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10 วรรคสอง จะระบุว่า ให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุม เป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะตามวรรคหนึ่ง  แต่ตามคำนิยามความหมายของ “ผู้จัดการชุมนุม” บัญญัติว่า ผู้เชิญชวนหรือนัดหมายผู้อื่นที่จะถือว่าเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม จะต้องแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้นด้วย

จากข้อความในโพสต์ของจำเลยที่ถูกกล่าวหา ก็ไม่มีข้อความที่แสดงออกหรือพฤติการณ์ใดที่ทำให้ผู้อื่นเห็นว่าจำเลยเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมหรือเป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุม ทั้งจากพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบก็ไม่ปรากกฎได้ว่า จำเลยมีพฤติการณ์อื่นใดทั้งก่อนเกิดเหตุและในขณะเกิดเหตุที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าจำเลยเป็นผู้วจัดหรือร่วมจัดกิจกรรมดังกล่าว อีกทั้งข้อความที่โพสต์ดังกล่าว ยังเป็นการโพสต์ข้อความเพียงประมาณชั่วโมงกว่าๆ ก่อนที่จะมีการชุมนุมเกิดขึ้น

ฝ่ายจำเลยยังได้ยื่นคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีวิ่งไล่ลุงนครพนม และวิ่งไล่ลุงบุรีรัมย์ ที่ศาลมีแนวทางการตีความเห็นว่าการโพสต์เชิญชวนของจำเลยที่ถูกกล่าวหา โดยไม่มีพฤติการณ์อื่น ยังไม่ถือว่าเข้าข่ายเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ ประกอบการพิจารณาด้วย                     

โพสต์เชิญชวนที่ถูกกล่าวหาของเพจสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย

.

3. วันที่โพสต์ข้อความไม่ตรงกับคำฟ้อง ทำให้จำเลยหลงต่อสู้ ศาลต้องยกฟ้อง

ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า จําเลยโพสต์ข้อความก่อนเริ่มการชุมนุมวันเวลาใด ย่อมมีผลเพียงให้ถือว่า จําเลยเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะซึ่งมีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมตามกฎหมายเท่านั้น มิใช่ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับเวลากระทําความผิด เป็นเพียงรายละเอียด และจําเลยมิได้หลงต่อสู้ในวันที่โพสต์ข้อความ กรณีมิใช่เรื่องที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จําเลยหลงต่อสู้ เมื่อข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่สาระสําคัญ ทั้งจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจึงลงโทษจําเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ ตามข้อยกเว้นที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง

ฝ่ายจำเลยโต้แย้งว่า เมื่อทางพิจารณาจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลย ได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าข้อความที่จำเลยโพสต์นั้น คือวันที่ 14 ธ.ค. 2562  มิใช่วันที่ 13 ธ.ค. 2562 ตามฟ้องของโจทก์นั้น จึงเป็นข้อแตกต่าง  ดังนั้น เมื่อจำเลยได้ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ตลอดข้อกล่าวหา และในชั้นพิจารณาจำเลยก็ได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบแล้ว เพื่อหักล้างพยานเอกสารของโจทก์ เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยหลงต่อสู้เรื่องวันเวลากระทำความผิดแล้ว แม้ว่าข้อแตกต่างนี้จะเป็นเพียงรายละเอียด แต่การฟ้องผิดวันไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ จึงต้องยกฟ้องตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 233/2552

4. พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเองก่อนจะมีผู้แจ้งความ มีลักษณะจ้องจับผิดจำเลย

ฎีกายังชี้ประเด็นว่า คดีนี้พนักงานสอบสวนมีการรวบรวมพยานหลักฐานก่อนที่จะมีการดำเนินคดีกับจำเลย จึงเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีลักษณะเป็นการจ้องจับผิดหรือมุ่งเอาผิดกับจำเลย

ข้อพิรุธประการสำคัญของพยานโจทก์ ปรากฏอยู่ในคำให้การของ พ.ต.ท.คมสันต์ พิมพันธ์ชัยยบูลย์ พนักงานสอบสวนในคดี ที่ในตอนแรกระบุในคำให้การว่า ได้รับเรื่องกล่าวหาร้องทุกข์ในคดีนี้เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2562 และเพิ่งได้รับเอกสารเกี่ยวกับรายงานการสืบสวนในวันดังกล่าว ก่อนหน้านี้ไม่เคยได้แจ้งหรือได้รับหลักฐานใด แต่พยานปากนี้กลับเบิกความต่อมาว่า ตนเป็นผู้จัดทำภาพถ่ายและเอกสารแนบถ่ายรายงานการชุมนุม เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2562 โดยเป็นการจัดทำขึ้นก่อนการแจ้งความร้องทุกข์ของ พ.ต.ต.ชุวาพล ชัยสร

แทนที่ตามปกติวิสัยในการสืบสวนคดีอาญาตำรวจฝ่ายสืบสวนที่เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนย่อมต้องจัดทำพยานหลักฐานที่สำคัญให้เรียบร้อยมามอบให้พนักงานสอบสวนพร้อมกัน แต่ในคดีนี้พนักงานสอบสวนกลับเป็นผู้จัดทำเอกสารพยานหลักฐานไว้ก่อนที่ผู้กล่าวหาจะมาร้องทุกข์กล่าวโทษ

.

5. การเลือกดำเนินคดีกับจำเลยบุคคลเดียว โดยมีผู้โพสต์เชิญชวนจำนวนมาก เป็นการเลือกปฏิบัติ ทำลายการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

ฝ่ายจำเลยยืนยันว่า การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิพื้นฐานของพลเมือง และได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยมีพันธกรณีอยู่ด้วย ถึงแม้จะมีข้อจำกัดของการใช้สิทธิชุมนุม ซึ่งกำหนดข้อบังคับเป็นกฎหมาย แต่การจำกัดสิทธินั้นต้องมีเป้าหมายเพื่อการอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ มิใช่เพื่อแสวงหาการจำกัดการใช้สิทธิโดยไม่จำเป็น และไม่ได้สัดส่วน

แต่จำเลยเห็นว่าการใช้กฎหมายจำกัดสิทธิของจำเลยเป็นการเลือกปฏิบัติ เป็นการทำลายสาระสำคัญของสิทธิพื้นฐานของจำเลย และมีวัตถุประสงค์เพื่อโน้มน้าวบุคคลอื่นไม่ให้มีการร่วมชุมนุม หรือทำให้เกิดความกลัวที่จะเข้าร่วมการชุมนุม จำเลยเห็นว่าข้อจำกัดการใช้สิทธิชุมนุมที่เป็นกฎหมายจะต้องมีความชัดเจนเพียงพบที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปในสังคมตัดสินใจได้ว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร และจะต้องไม่มีการให้อำนาจผู้มีหน้าที่ใช้บังคับกฎหมายโดยไร้ขีดจำกัดหรืออย่างกว้างขวาง

ในคดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีผู้โพสต์ข้อความลักษณะเช่นเดียวกับจำเลยอีกจำนวนมาก แต่เจ้าพนักงานตำรวจใช้ดุลพินิจในการเลือกที่จะดำเนินคดีกับจำเลยหรือเพจสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตยเพียงผู้เดียว ซึ่งเป็นการบังคับกฎหมายอย่างไร้ขีดจำกัด สามารถเลือกที่จะบังคับใช้กฎหมายกับผู้ใดหรือไม่ใช้กับผู้ใดก็ได้ ซึ่งผิดหลักการในการบังคับใช้กฎหมาย และเป็นอันตรายต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างยิ่ง และไม่อาจละเลยปล่อยให้ประเด็นดังกล่าวนี้ล่วงผ่าน และยังคงมีการปฏิบัติเช่นนั้นต่อไป

จำเลยเห็นว่าในความขัดแย้งกันในสังคมจะยุติได้ด้วยความยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ หากศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษนอกจากจะไม่เป็นการแก้ปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายแล้ว ยังจะทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ประชาชนทั่วไปอาจเกิดความกลัวกังวลที่จะใช้สิทธิเสรีภาพซึ่งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้

.

X