ยกฟ้อง! คดี ม.112 ของ “พชร” คดีโพสต์พาดพิง ร.10 – ราชินี เล่นคุณไสย ในกลุ่มตลาดหลวงฯ ศาลชี้พยานหลักฐานไม่น่าเชื่อถือ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยโพสต์

วันที่ 16 ส.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ มีนัดฟังคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ของ “พชร” (สงวนนามสกุล) ฟรีแลนซ์วัย 34 ปี สืบเนื่องมาจากกรณีที่ถูกฟ้องว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” จำนวน 2 ข้อความ มีเนื้อหาเกี่ยวกับ ‘การทำคุณไสย’ และ ‘พฤติการณ์ทางเพศ’ พาดพิงรัชกาลที่ 10 และพระราชินีสุทิดา ตั้งแต่ปี 2563

คดีนี้มีผู้กล่าวหาเป็นประชาชนทั่วไป คือ อุราพร สุนทรพจน์ ไปแจ้งความไว้ที่ สภ.บางแก้ว โดยพบว่า อุราพร ยังเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 กับ “พิพัทธ์” หนุ่มอายุ 20 ปี จากจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งภายหลังศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้ว และภัทร (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 16 ปี จากกรณีคอมเมนต์ลงในโพสต์ข้อความ ภายในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2563 เช่นเดียวกับพชร

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2564 จำเลยได้เข้าพบพนักงานสอบสวน โดยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนจะถูกยื่นคำร้องขอฝากขัง ซึ่งศาลได้อนุญาตให้ประกันตัว กำหนดหลักทรัพย์ประกันเป็นเงินจำนวน 150,000 บาท

จากนั้น อัยการได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ โดย อุทัยวรรณ สถานานนท์ พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการ ผู้เรียบเรียงฟ้อง ระบุว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2563 จำเลยได้ใช้เฟซบุ๊กดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร โดยจำเลยได้โพสต์ในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ จำนวน 2 ข้อความ โดยข้อความแรกเป็นการกล่าวหาว่าที่การใช้มนต์ดำ คุณไสย และอีกข้อความ มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องพฤติกรรมทางเพศของสมาชิกในราชวงศ์

ศาลนัดสืบพยานทั้งสองฝ่ายรวมทั้งหมด 3 นัด โดยสืบพยานโจทก์ระหว่างวันที่ 25 – 26 พ.ค. 2566 และสืบพยานจำเลยวันที่ 26, 30 พ.ค. 2566 ทั้งนี้ อัยการนำพยานโจทก์เข้าสืบ 5 ปาก และทนายจำเลยได้นำพยานจำเลยเข้าสืบทั้งหมด 2 ปาก จนเสร็จสิ้น 

ภาพรวมการสืบพยานในคดีนี้ โจทก์กล่าวหาจำเลยว่าเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้อง สร้างความเสียหายให้กับกษัตริย์และราชินีเสื่อมเสียในเรื่องพฤติการณ์ทางเพศ ส่วนจำเลยต่อสู้ยืนยันว่าบัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้องไม่ใช่ของจำเลย มีการตัดต่อข้อความกล่าวหาจำเลย

อ่านบันทึกสืบพยาน>> ก่อนวันพิพากษา: เปิดแฟ้มคดี ม.112 – พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของ “พชร” สู้เรื่องพยานหลักฐานไม่น่าเชื่อถือ มีการตัดต่อภาพ – ไม่ใช่เฟซบุ๊กของจำเลย

ที่ห้องพิจารณา 5 พชรและครอบครัวเดินทางมาฟังคำพิพากษาด้วยความกังวลใจ ต่อมาในเวลา 09.10 น. ศาลออกพิจารณาคดี โดยเรียกชื่อของพชร ให้ลุกขึ้นยืนรายงานตัวต่อศาล และให้เดินออกมายืนด้านหน้าห้องพิจารณา โดยมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ยืนคุมอยู่ด้วย 

ศาลอ่านคำพิพากษา โดยมีใจความสำคัญระบุว่า พิเคราะห์แล้ว แม้อุราพร พยานโจทก์ผู้กล่าวหา จะยืนยันว่า ได้บันทึกภาพหลักฐานจากเฟซบุ๊กของจำเลยที่ได้โพสต์ข้อความลงในกลุ่มตลาดหลวง พร้อมทั้งนำหลักฐานทั้งหมดส่งให้พนักงานสอบสวน และแม้ว่าพนักงานสอบสวนจะเบิกความสอดคล้องกับผู้กล่าวหาว่าได้รับพยานหลักฐานเป็นจำนวนทั้งหมด 4 แผ่นจริง

อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้เข้าไปดูบัญชีเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหา และทำการตรวจสอบหาตัวผู้กระทำผิดในทันทีที่อุราพรมาแจ้งความกล่าวโทษ เพื่อจะได้รู้ตัวผู้กระทำผิดว่าคือใคร 

และแม้ว่าจะมีการทำหนังสือถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมให้ตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว อันเป็นเวลาภายหลังมีการแจ้งความกล่าวโทษแล้ว แต่กระทรวง DE แจ้งว่าไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลให้ได้เนื่องจากว่าผู้ให้บริการอยู่ต่างประเทศ 

และแม้อุราพรเบิกความต่อศาลว่าเมื่อได้พบเห็นข้อความแล้ว ก็ได้เข้าไปดูโปรไฟล์ผู้ใช้งานบัญชีดังกล่าว พบว่า ผู้กระทำผิดเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างให้บริษัทแห่งหนึ่ง จึงได้ขอให้พี่ชายช่วยตรวจสอบกับบริษัทดังกล่าว พบว่ามีตัวตนอยู่จริง และเป็นบุคคลที่เชื่อว่าคือจำเลยในคดีนี้ แต่อุราพรไม่ได้บันทึกหน้าเฟซบุ๊กของผู้กระทำผิดที่มีข้อมูลส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่ทำงาน ที่อยู่และเพื่อนในเฟซบุ๊ก รวมทั้งความเคลื่อนไหวในเฟซบุ๊กหรือข้อมูลอื่นๆ ที่จะบอกได้ว่า จำเลยเชื่อมโยงกับบัญชีดังกล่าวได้ อีกทั้งยังไม่มีข้อมูลอื่นๆ ที่จะสนับสนุนให้พยานหลักฐานมีความน่าเชื่อถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวจริง 

ส่วนที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้สืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดโดยการตรวจสอบข้อมูลทะเบียนราษฎร์ เบิกความว่า ภาพโปรไฟล์ผู้ใช้งานบัญชีตามฟ้องกับรูปในทะเบียนราษฎร์ของจำเลยมีรูปพรรณตรงกัน พยานจึงเชื่อว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลย แต่ศาลเห็นว่า บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว ตั้งค่าข้อมูลส่วนตัวและภาพโปรไฟล์ที่คล้ายกับจำเลยเท่านั้น ลำพังเพียงการที่ผู้กระทำผิดตั้งค่าข้อมูลดังกล่าวเป็นจำเลย ไม่อาจรับฟังได้เป็นที่แน่ชัดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดในคดีนี้จริง เนื่องจากในการสร้างบัญชีเฟซบุ๊กไม่จำเป็นต้องใช้รูปภาพจริงหรือบัตรประชาชนในการสมัครสมาชิก ดังนั้น อาจเป็นไปได้ว่ามีบุคคลใช้ภาพของจำเลยและข้อมูลส่วนตัวของจำเลยมาสมัครก็ได้ 

และที่พนักงานสอบสวนเบิกความว่า มีรายงานยืนยันตัวตนผู้ใช้งานบัญชีดังกล่าว พยานได้ทำการตรวจสอบพบว่ามีเฟซบุ๊กดังกล่าวอยู่จริง แต่ไม่ปรากฏว่าพยานได้ทำการตรวจสอบเฟซบุ๊กดังกล่าวเมื่อใด หรือมีการตรวจสอบข้อมูลอย่างไร หรือมีการตรวจสอบได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดหรือไม่ 

และตามรายงานการสืบสวน ก็ปรากฏว่าพนักงานสืบสวนตรวจสอบไม่พบเฟซบุ๊กผู้ใช้งานดังกล่าว คำเบิกความของพยานจึงไม่มีน้ำหนักให้พอฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด 

และแม้พนักงานสอบสวนจะเบิกความเสริมว่า จำเลยให้การยอมรับในชั้นสอบสวนว่า จำเลยเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กและรูปภาพโปรไฟล์ดังกล่าวคือจำเลยจริง แต่จำเลยอ้างว่าไม่ได้ใช้เฟซบุ๊กมาตั้งแต่ปี 2563 และจำเลยได้ยืนยันคำให้การดังกล่าวในฐานะพยาน โดยไม่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในคำให้การของผู้ต้องหา เนื่องจากไม่มีบันทึกอยู่ในบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน จึงถือเป็นเพียงคำให้การของจำเลยในฐานะพยานบอกเล่า

ซึ่งในการวินิจฉัยพยานบอกเล่า ศาลต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อคำให้การโดยลำพัง เว้นแต่มีเหตุผลหนักแน่น หรือมีหลักฐานประกอบอื่นๆ มาสนับสนุนตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา มาตรา 227 

เมื่อพยานโจทก์ไม่มีหลักฐานอื่นที่รับฟังได้ และจำเลยไม่ได้ให้การรับรองคำให้การในชั้นสอบสวน พยานหลักฐานจึงไม่น่าเชื่อถือหรือพิสูจน์ความจริงได้ และพนักงานสอบสวนก็ไม่ได้มีการตรวจสอบ URL หรือ IP Address ของพยานหลักฐานดังกล่าว ประกอบกับจำเลยได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาตั้งแต่ในชั้นสอบสวน 

พยานหลักฐานของโจทก์มีความน่าสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องอย่างไร จึงยกประโยชน์ของความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง

.

ภายหลังการอ่านคำพิพากษา พชรกับครอบครัวยิ้มออกมาด้วยความดีใจ โดยเขาได้เปิดเผยความรู้สึกว่าในตอนแรกที่ศาลอ่านทวนคำฟ้องและเหตุผลต่างๆ ทำให้เขารู้สึกใจไม่ดีและตัวชา “ผมรู้สึกดีใจ และพอใจกับคำพิพากษาในวันนี้ คดีนี้ทำให้ผมเสียเวลาในการทำงาน และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตมากแล้ว” พชรกล่าวทิ้งท้าย 

อย่างไรก็ตาม ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ซึ่งมีอุราพร สุนทรพจน์ เป็นผู้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหา พชรเป็นรายที่ 2 ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษายกฟ้องเนื่องจากพยานหลักฐานที่นำมากล่าวหาไม่น่าเชื่อถือ ต่อจาก ‘พิพัทธ์’ หนุ่มพิษณุโลกที่ถูกฟ้องจากการโพสต์ข้อความลงในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” เมื่อปี 2563 เช่นเดียวกันนี้ 

X