ช่วงเย็นวันที่ 9 พ.ค. 2565 เวลาประมาณ 16.00 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประสานกำลังกันเข้าจับกุม “ภราดร” (นามสมมติ) พนักงานโรงงานวัย 30 ปี ในจังหวัดสมุทรปราการ โดยเป็นการจับกุมตามหมายจับในคดีมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) หมายจับดังกล่าวออกโดยศาลจังหวัดสมุทรปราการ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2564 มีผู้ร้องคือ พ.ต.ท.รังสรรค์ คำสุข ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรบางแก้ว
คดีมีผู้เข้าแจ้งความร้องทุกข์คือ อุราพร สุนทรพจน์ ซึ่งเป็นผู้เข้าแจ้งความคดี มาตรา 112 ที่ สภ.บางแก้ว ต่อประชาชนไม่ต่ำกว่า 5 รายแล้ว (รวมรายนี้ด้วย) ทั้งหมดล้วนเกี่ยวเนื่องกับกรณีการโพสต์หรือแสดงความคิดเห็นในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” ในช่วงกลางปี 2563
ต่อมาทราบว่า ภราดรถูกนำตัวไปยัง สภ.บางแก้ว โดยที่ไม่ได้มีญาติหรือผู้ไว้วางใจเดินทางมาด้วย ทางทนายความได้ติดตามไปในระหว่างขั้นตอนการทำบันทึกการจับกุม ซึ่งระบุรายละเอียดการจับกุมว่า การจับกุมครั้งนี้อยู่ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บังคับบัญชาตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) โดยมีหน่วยปฏิบัติการคือ กก.2 บก.ป., ตำรวจ สภ.บางแก้ว, และ กก.4 บก.ปคบ. รวม 18 นาย ลงชื่อเป็นผู้ร่วมจับกุม บริเวณริมถนนหน้าปากซอยหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ
พฤติการณ์การจับกุม ระบุว่า ทางเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้รับข้อมูลจากสายลับ (ปกปิดนาม) เพื่อหวังเงินรางวัลนำจับ ทราบว่าผู้ถูกจับได้ “หลบหนี” มายังบริเวณดังกล่าว จึงได้เดินทางไปแสดงเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และจับกุมในวันที่ 9 พ.ค. 2565 เวลาประมาณ 15.40 น. ในชั้นจับกุม ผู้ถูกจับกุมได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้แจ้งให้เพื่อนสนิททราบว่าตนถูกจับ ก่อนนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว
ภายหลังจากการทำบันทึกการจับกุม ทนายความได้รับแจ้งว่า พนักงานสอบสวนที่ดูแคคดีนี้กลับบ้านไปแล้ว จึงยังไม่สามารถมาทำการสอบสวนได้ ทำให้คืนนั้น ภราดรต้องถูกควบคุมตัวที่โรงพักเป็นเวลา 1 คืน จนเช้าวันที่ 10 พ.ค. 2565 ทางตำรวจได้แจ้งว่าจะทำการสอบสวนในเวลา 16.00 น.
ราว 16.00 น. ผู้ต้องหาได้ให้ปากคำกับทางพนักงานสอบสวน ทราบเบื้องต้นว่าโพสต์ที่ถูกดำเนินคดีเป็นการแชร์ข้อความจากเพจ “พระเจ้า” ลงในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” ในช่วงปี 2563 มีเนื้อหาทำนองว่าขอฎีกาให้รัชกาลที่ 10 แบ่งทรัพย์สินมาให้ประชาชน โดยไม่มีการใช้คำหยาบคาย ผู้ต้องหาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือในภายหลัง
การสอบปากคำเสร็จสิ้นในเวลา 17.40 น. โดยตำรวจได้ให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน กำหนดวงเงินประกัน 150,000 บาท โดยเป็นหลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์ พนักงานสอบสวนกำหนดนัดรายงานตัวที่ สภ.บางแก้ว อีกครั้งในวันที่ 10 มิ.ย. 2565 พร้อมกับยื่นคำให้การเพิ่มเติมภายในวันดังกล่าว
,
“ตำรวจทำบันทึกจับกุม ทั้งๆ ที่ผมเป็นคนขอเข้ามอบตัวเอง” เสียงจากผู้ต้องหา
ภราดร พนักงานโรงงานวัย 30 ปี ผู้ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงรายนี้เล่าว่า ตัวเขาไม่เคยเห็นหมายเรียกมาก่อน คาดว่าทางเจ้าหน้าที่น่าจะเคยส่งหมายเรียกไปยังที่อยู่ตามบัตรประชาชน ทำให้ตนไม่ได้รับหมาย เนื่องจากไม่ได้อาศัยอยู่ในที่ดังกล่าว
ก่อนการจับกุม ตัวเขากำลังทำงานอยู่ ทางชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เดินทางมาที่โรงงานและติดต่อเข้ามายังหัวหน้างาน เพื่อแจ้งเรื่องมีหมายจับ เมื่อได้รับแจ้งเรื่อง พนักงานรายนี้จึงได้โทรติดต่อกับตำรวจเพื่อขอขอมอบตัว ยืนยันความบริสุทธิ์ใจ อย่างไรก็ตาม ในบันทึกจับกุมกลับระบุว่า เป็นการ “จับกุม” ทั้งๆ ที่เป็นการเข้ามอบตัวโดยสมัครใจเอง และยังระบุว่าตัวเขา “หลบหนี” มายังที่ทำงานนี้ ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะเขาไม่เคยทราบเรื่องการมีหมายเรียกหรือหมายจับมาก่อน
“พอผมทราบเรื่อง ก็โทรติดต่อกับตำรวจ ยืนยันจะขอเข้ามอบตัวที่ สภ. เอง แต่ตำรวจเขาก็แจ้งว่าจะขอมารับเอง ก็เลยตกลงตามนั้น นัดจุดที่จะมาเจอกัน ไม่แน่ใจว่าเขากลัวเราหนีไหม พอนัดแนะเรียบร้อย ก็มารับตัวที่จุดนัดหน้าปากซอย พาไป สภ. บางแก้ว
“ที่มันคลาดเคลื่อนคือ ตอนทำบันทึกจับกุม ตำรวจระบุว่า เจอตัวผมที่หน้าปากซอย แล้วจึงลงมาทำการจับกุม ซึ่งมันน่าเกลียดมาก เพราะเราเป็นคนติดต่อขอมอบตัวเอง”
แม้จะถูกขังนานข้ามวัน แต่ภราดรระบุว่า ยังดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้มีท่าทีคุกคาม และมีการกรอกน้ำมาให้ดื่ม ในส่วนของผู้แจ้งความ เขายืนยันว่าไม่เคยรู้จักกันมาก่อน และไม่ทราบว่าเป็นใคร
ทั้งนี้ คดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 ที่ สภ.บางแก้ว คดีที่ 14 แล้ว เท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทราบข้อมูลตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา แต่ละคดีมีประชาชน 2 รายหลัก ที่เป็นผู้ไปแจ้งความร้องทุกข์เอาไว้ที่สถานีตำรวจนี้ โดยทุกคดีเกี่ยวเนื่องกับการโพสต์ข้อความในช่วงปี 2563 หลายคดีถูกสั่งฟ้องและอยู่ระหว่างรอการสืบพยานที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการในขณะนี้
ดูตาราง สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-65