ปี 2567 การต่อสู้คดีการเมืองยังดำเนินต่อไป ท่ามกลางข้อเรียกร้องนิรโทษกรรมประชาชน

ปี 2567 ยังเป็นปีที่สถานการณ์การดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองจำนวนมากจากช่วงปี 2563-65 ดำเนินสืบเนื่องมา ไม่มีทีท่าจะสิ้นสุดลง หลายคดียังทยอยขึ้นสู่ศาล และมีคำพิพากษาออกมาในระดับชั้นอุทธรณ์เพิ่มมากขึ้น ขณะที่การออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนในทุกคดีทางการเมือง ยังเป็นประเด็นข้อถกเถียงสำคัญ โดยเฉพาะในคดีมาตรา 112 ซึ่งยังคงต้องติดตามสถานการณ์ในปีถัดไป

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 2563 ซึ่งเริ่มต้นการชุมนุมเยาวชนปลดแอก จนถึงวันที่ 27 ธ.ค. 2567 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองไปแล้วไม่น้อยกว่า 1,960 คน ในจำนวน 1,311 คดี

ตลอดทั้งปี 2567 มีคดีความเพิ่มขึ้นใหม่อย่างน้อย 47 คดี ผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้น 22 คน (นับเฉพาะคนที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) เฉลี่ยแล้วในแต่ละเดือน มีคดีจากการแสดงออกทางการเมืองเพิ่มขึ้นเดือนละราว 4 คดี

แนวโน้มคดีที่เพิ่มขึ้น โดยมากเป็นคดีมาตรา 112 หรือมาตรา 116 ที่มีผู้แจ้งความทิ้งไว้ในปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในพื้นที่ทางภาคใต้และกรุงเทพฯ ก่อนตำรวจเพิ่งออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในช่วงปีนี้ โดยมีทั้งคดีของประชาชนทั่วไปและนักกิจกรรมทางการเมือง นอกจากนั้น ยังมีคดีตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ จากการชุมนุมของประชาชนในประเด็นย่อยต่าง ๆ ที่ถูกกล่าวหาเพิ่มด้วย

จากจำนวนคดีทั้งหมดดังกล่าว พบว่ามีคดีที่ยังไม่สิ้นสุดทั้งคดีอีกกว่า 714 คดี หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 54 ของทั้งหมด เท่ากับมีคดีอีกเกินครึ่งหนึ่งที่ยังดำเนินอยู่ หากไม่มีการแก้ไขปัญหาในระดับนโยบาย หรือการนิรโทษกรรมคดีการเมืองเกิดขึ้น คดีเหล่านี้ยังจะดำเนินสืบเนื่องในปีถัด ๆ ไป

ในปีนี้ ศาลชั้นต่าง ๆ มีคำพิพากษาในคดีจากการชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมืองที่เกิดเหตุตั้งแต่ปี 2563 ไม่น้อยกว่า 167 คดี และอัยการยังทยอยมีคำสั่งฟ้องคดีชุมนุม แม้เป็นคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลยกฟ้องแทบทั้งหมดก็ตาม การต้องต่อสู้คดีเหล่านี้ ยังคงสร้างภาระให้กับผู้ที่ออกมาชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่องต่อไป

.

.

คดี 112 ทั้งปีเพิ่มขึ้น 21 คดี ศาลมีคำพิพากษา 82 คดี

ในปี 2567 เท่าที่ทราบข้อมูล มีคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 21 คดี คิดเป็นผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่ไม่น้อยกว่า 14 คน 

สำหรับ ยอดรวมสถิติผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาตามมาตรา 112 ตั้งแต่ปลายปี 2563 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการใช้ข้อกล่าวหานี้ เป็นต้นมา จนถึงสิ้นปี 2567 มีไม่น้อยกว่า 276 คน ในจำนวน 308 คดี 

แนวโน้มในปีนี้ เหตุแห่งการถูกดำเนินคดียังเป็นกรณีจากการโพสต์ หรือเผยแพร่ข้อความทางออนไลน์เป็นหลัก ได้แก่ จำนวน 13 คดี, ลำดับต่อมา ได้แก่ กรณีการกล่าวปราศรัยจำนวน 5 คดี (มีจำนวน 3 คดี ที่เป็นคดีเดิม แต่มีจำเลยหลายราย และมีจำเลยที่กลับคำให้การ ทำให้ถูกพิพากษา และแยกฟ้องจำเลยรายอื่นเป็นคดีใหม่), กรณีอ่านแถลงการณ์ในกิจกรรมทางการเมือง 2 คดี และกรณีเกี่ยวกับการติดป้ายข้อความ 1 คดี

นอกจากนั้น คดีที่เพิ่มขึ้นใหม่หลายคดียังเป็นคดีในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ ในจังหวัดพัทลุง ถึง 7 คดี เหตุเนื่องจากกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันไปแจ้งความกล่าวหาคดีไว้ในพื้นที่ดังกล่าว และตำรวจทยอยออกหมายเรียกมาแจ้งข้อกล่าวหา นอกเหนือจากนั้นเป็นคดีในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด โดยไม่มีรายงานคดีใหม่ในภูมิภาคอื่น ๆ เลย

  • คำพิพากษาในศาลชั้นต้น จำเลยให้การรับสารภาพมากกว่าเล็กน้อย จะรอลงอาญาหรือไม่ ยังคาดเดาได้ยาก

ในปีนี้ ศาลมีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ออกมาไม่น้อยกว่า 82 คดี โดยแยกเป็นคำพิพากษาในศาลชั้นต้น 52 คดี ศาลอุทธรณ์ 29 คดี และศาลฎีกา 1 คดี 

แนวโน้มคำพิพากษาในศาลชั้นต้น หากจำเลยต่อสู้คดี (จำนวนทั้งหมด 23 คดี) พบว่าหากศาลเห็นว่ามีความผิด จะพิพากษาให้ลงโทษจำคุก โดยไม่รอการลงโทษในสัดส่วนมากกว่า โดยพบจำนวน 17 คดี ส่วนคดีที่ให้รอการลงโทษมีเพียง 2 คดี  ส่วนคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องในปีนี้มีจำนวน 4 คดี 

ปีนี้ อานนท์ นำภา และชินวัตร จันทร์กระจ่าง นับเป็นสองผู้ที่เผชิญกับการพิพากษาคดีมาตรา 112 มากที่สุด คือรวม 5 คดีเท่ากัน และศาลพิพากษาว่าทั้งคู่มีความผิดทุกคดี แต่กรณีของอานนท์เป็นการต่อสู้ทุกคดี ส่วนชินวัตร เขาตัดสินใจให้การรับสารภาพทุกคดี แต่ทั้งคู่ยังประสงค์จะอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป

ในส่วนคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ พบว่าศาลชั้นต้นมีแนวโน้มจะให้รอการลงโทษมากกว่าเล็กน้อย ได้แก่ จากทั้งหมด 29 คดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ มีจำนวน 16 คดี ที่ศาลให้รอการลงโทษจำคุกไว้ แต่ก็มีอีกถึง 13 คดี ที่ศาลไม่ให้รอการลงโทษ โดยการพิจารณาว่าจะรอการลงโทษจำคุกหรือไม่ ยังเป็นประเด็นคาดเดาได้ยากสำหรับฝ่ายจำเลย

น่าสังเกตว่าแม้แต่ในคดีที่ศาลลงโทษจำคุกค่อนข้างสูง ยังมีคดีที่ศาลเห็นควรให้รอการลงโทษได้ เช่น คดีของ “ภูเขา” ซึ่งถูกศาลจังหวัดนนทบุรีลงโทษจากการโพสต์เฟซบุ๊ก 6 โพสต์ เป็นโทษจำคุกถึง 6 ปี 36 เดือน (ประมาณ 9 ปี) แต่ศาลวินิจฉัยให้รอการลงโทษจำคุกไว้เป็นระยะเวลา 5 ปี

  • ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนเป็นส่วนใหญ่ แต่มีชุดคดีปาสีใส่รูป แก้แนวการวินิจฉัย และยังมีคดีที่ลงโทษสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ส่วนในศาลอุทธรณ์ พบว่าแนวโน้มที่ศาลจะพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นมีมากกว่า คือในปีนี้ มีจำนวน 17 คดี ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน (แยกเป็นคดีที่พิพากษายืนยกฟ้อง 5 คดี และยืนเห็นว่ามีความผิด-ลงโทษตามเดิม 12 คดี) ขณะเดียวกันยังมีคดีที่ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษารวม 3 คดี จากเดิมที่ศาลชั้นต้นยกฟ้อง เมื่อขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ กลายเป็นเห็นว่ามีความผิดและลงโทษจำคุก ได้แก่ คดีของพชร, คดีของฉัตรมงคล และคดีของทิวากร ทั้งหมดต้องต่อสู้ชั้นฎีกาต่อไป โดยกรณีของทิวากรยังไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างฎีกาอีกด้วย

นอกจากนั้น ยังมีคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ลงโทษหนักขึ้น จำนวน 6 คดี โดยที่สำคัญได้แก่ ชุดคดีของ “สมพล” กรณีปาสีใส่พระบรมฉายาลักษณ์ ที่เดิมศาลชั้นต้นยกฟ้องข้อหามาตรา 112 แต่ศาลอุทธรณ์แก้เป็นว่ามีความผิดในข้อหานี้ทั้งหมด 3 คดี โดยพิจารณาเจตนาของจำเลยใหม่ ว่าการปาสีในหลายท้องที่ของจำเลยมีเจตนาดูหมิ่นกษัตริย์และราชินี ก่อให้เกิดการตีความเจตนาของจำเลยที่ต่างกันของศาลสองระดับ

ปีนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ทำสถิติลงโทษในคดีมาตรา 112 สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ได้แก่ สองคดีของ “บัสบาส” กรณีโพสต์เฟซบุ๊ก 27 โพสต์ เดิมศาลชั้นต้นเห็นว่ามีความผิด 14 โพสต์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แก้คำพิพากษาเป็นเห็นว่ามีความผิดเพิ่ม 11 โพสต์ แม้เป็นโพสต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอดีตกษัตริย์ ทำให้เขาถูกลงโทษจำคุกรวมถึง 50 ปี  ต่อมาบัสบาสยังถูกศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนในคดีที่สาม ลงโทษจำคุกอีก 4 ปี รวมโทษจำคุกของเขาจากคดีมาตรา 112 เป็น 54 ปี นับว่าสูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน และเขาไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างต่อสู้ชั้นฎีกา

สุดท้าย ยังมีคดีที่ศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยจากเดิมให้ลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา แก้เป็นว่าให้รอการลงโทษจำคุกไว้ จำนวน 3 คดี ได้แก่ คดีเยาวชน “เบลล์” ที่จังหวัดพัทลุง, คดีของสุทธิเทพ และคดีของพิทักษ์พงษ์ 

สำหรับในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีคำพิพากษา 1 คดี ในกรณีของ “ธนพร” แม่ลูกอ่อนจากอุทัยธานี ถูกกล่าวหาคอมเมนต์ท้ายโพสต์ในเฟซบุ๊ก คดีนี้ เดิมศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 2 ปี โดยให้รอการลงโทษจำคุกไว้ แต่อัยการได้อุทธรณ์คดี และศาลอุทธรณ์แก้เป็นว่าไม่ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลย ก่อนที่ศาลฎีกาจะพิพากษายืน ทำให้ธนพรกลายเป็นผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 อีกรายหนึ่งในปีนี้

  • ผู้ต้องขัง ม.112 ที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณา ได้ประกันตัวรายเดียว – ขณะ “บุ้ง” เสียชีวิตขณะถูกคุมขัง

ในส่วนสถานการณ์ด้านการประกันตัว เมื่อมีคดีที่ศาลมีคำพิพากษามากขึ้น ทำให้มีแนวโน้มที่หากศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกแล้ว จำเลยจะไม่ได้รับการประกันตัว โดยจนถึงปลายปี 2567 มีผู้ต้องขังที่ไม่ได้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 จำนวน 15 คน (แยกเป็นผู้ต้องขังระหว่างอุทธรณ์ 9 คน และระหว่างฎีกา 6 คน) 

ในปีนี้ในกลุ่มผู้ต้องขังมาตรา 112 ที่ไม่ได้รับการประกันตัวมาก่อน มีเพียงกรณีของ “บูม จิรวัฒน์” เพียงคนเดียว ที่มาได้รับการประกันตัวในภายหลัง หลังจากถูกคุมขังมากว่า 1 ปี และมีความพยายามยื่นประกันถึง 9 ครั้ง

ขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ที่คดีสิ้นสุดเพิ่มมากขึ้น คือจำนวน 9 คน ในจำนวนนี้มีจำนวน 4 คน ซึ่งในปีนี้ถูกคุมขังไม่ได้ประกันตัว ทำให้ตัดสินใจไม่ต่อสู้คดีต่อ และมีอีก 2 คน ที่ถูกคุมขังหลังจากศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว

นอกจากนั้น ปีนี้ยังเกิดกรณีของ “บุ้ง” เนติพร นักกิจกรรมผู้ถูกถอนประกันตัวในคดีมาตรา 112 กรณีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ เธอต่อสู้จากภายในเรือนจำ ผ่านวิธีการอดอาหารและน้ำ จนนำไปสู่การเสียชีวิตภายในความดูแลของราชทัณฑ์ ก่อให้เกิดคำถามต่อการคุมขังในคดีมาตรา 112 และการดูแลของเรือนจำ โดยยังติดตามการแสวงหาความเป็นธรรมต่อกรณีการเสียชีวิตของบุ้งในปีถัดไป

สถานการณ์การพิพากษา รวมทั้งการคุมขังในคดีมาตรา 112 ยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตาต่อ รวมทั้งสถานการณ์ผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้ ในท่ามกลางการผลักดันการนิรโทษกรรมประชาชน ที่เรียกร้องให้นับรวมข้อหานี้ด้วย

.

.

คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แนวโน้ม ศาลยังยกฟ้องมากกว่า ส่วนคดี พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เพิ่มขึ้น 6 คดี

สถานการณ์การดำเนินคดีต่อการชุมนุมสาธารณะในรอบปีนี้ มีไม่ค่อยมากนัก เนื่องจากไม่ค่อยมีสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่ มีเพียงการชุมนุมของกลุ่มประชาชนรายประเด็นต่าง ๆ โดยพบว่ามีคดีตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ เพิ่มขึ้น 6 คดี แยกเป็นคดีของกลุ่ม P-move ที่ชุมนุมประเด็นเรื่องการจัดการทรัพยากรและสิทธิชุมชนถึง 4 คดี, คดีของกลุ่มประชาชนกัญชา 1 คดี และคดีจากการชุมนุมทางการเมืองปี 2563 ที่เพิ่งมีการแจ้งข้อกล่าวหา 1 คดี แต่คดีหมดอายุความแล้ว

ในปีนี้ พบว่าคดีตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องหลายคดีที่น่าสนใจ ได้แก่ คดีจากการชุมนุมในช่วง APEC2022 มีทั้งคดีที่ศาลยกฟ้องด้วยเหตุที่ไม่ชัดเจนว่าจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุม และคดีที่ยกฟ้องเนื่องจากเห็นว่ากิจกรรมไม่ได้มีการเชิญชวนให้บุคคลอื่นเข้าร่วม จึงไม่เข้าข่ายเป็นการชุมนุมสาธารณะ

สถานการณ์การใช้และตีความ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ยังคงมีความสำคัญต่อการใช้เสรีภาพการชุมนุมในช่วงปีต่อไป ไปจนกระทั่งถึงการทบทวน-แก้ไขปรับปรุงตัวกฎหมายการชุมนุม ซึ่งออกมาภายใต้ยุคเผด็จการ คสช. ยังคงเป็นประเด็นสำคัญต่อไป

ในส่วนคดีจากการชุมนุมในช่วงปี 2563-65 ที่ถูกกล่าวหาในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พบว่ามีคดีอีกกว่า 402 คดี ที่ยังไม่สิ้นสุด จากจำนวนไม่น้อยกว่า 674 คดี ที่ทราบข้อมูล โดยมีมากกว่า 247 คดีที่ยังคาอยู่ในชั้นสอบสวน 

ในปีนี้ ในคดีที่จำเลยต่อสู้คดี ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเพิ่มเติมออกมาอีก 23 คดี ในจำนวนนี้แยกเป็นพิพากษาให้ยกฟ้องข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวน 12 คดี และเห็นว่ามีความผิดในข้อหานี้ จำนวน 11 คดี นอกจากนั้นยังมีคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องอีกจำนวน 11 คดี

ขณะเดียวกัน ยังมีคำพิพากษาในศาลอุทธรณ์ออกมาอีก 13 คดี โดยทั้งหมดศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คือเห็นว่ามีความผิดใน 12 คดี และยืนยกฟ้องอีก 1 คดี

แนวโน้มที่น่าสนใจหนึ่ง คือพบว่าคดีจากเหตุการณ์ชุมนุมเดียวกัน ในระหว่างคดีของเยาวชน และคดีของผู้ใหญ่ ซึ่งถูกพิจารณาแยกกัน ศาลเยาวชนฯ มีแนวโน้มจะเห็นว่ามีความผิด แต่ศาลในคดีผู้ใหญ่กลับมีคำพิพากษายกฟ้อง แม้ในชั้นศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่พิจารณาคดีเยาวชน ก็มีแนวโน้มจะพิพากษายืนในคดีเยาวชน แม้ศาลจะเพียงลงโทษปรับ แต่แนวทางการใช้ดุลยพินิจที่แตกต่างกันเช่นนี้ ก็ก่อให้เกิดคำถามต่อแนวคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นในคดีเยาวชน 

หากดูโดยภาพรวมคำพิพากษาในช่วงปีก่อนหน้าด้วย จะพบว่ามีคดีที่ศาลยกฟ้องมากกว่าคือราวร้อยละ 60 ของคดีที่จำเลยต่อสู้คดี แต่ฝ่ายจำเลยก็ต้องใช้ระยะเวลาต่อสู้คดีนับปี หลายคดียังต้องต่อสู้ในชั้นศาลอุทธรณ์-ฎีกาต่อไป โดยคาดว่าในปีถัดไป จะมีคำพิพากษาในชั้นฎีกาในเรื่องนี้ออกมาด้วย

ในท่ามกลางแนวโน้มคดีที่ศาลยกฟ้องมากกว่า และสภากำลังผลักดันเรื่องการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง อัยการก็ยังทยอยสั่งฟ้องคดีจากการชุมนุมเป็นระยะ โดยเฉพาะคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง จากการชุมนุมในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ที่แทบทั้งหมดเมื่อขึ้นสู่ศาล ศาลยกฟ้อง แต่อัยการกลับทยอยฟ้องเพิ่มเติมในช่วงปลายปีนี้จำนวนอย่างน้อย 3 คดี ทำให้ในปีต่อไป ภาระการต่อสู้คดีเหล่านี้ ยังดำเนินต่อไป

.

.

สถานการณ์น่ากังวล การดำเนินคดีสื่อมวลชนที่ไปทำข่าวกิจกรรม-การดำเนินคดี ม.116 ต่อ “ศิลปินแห่งชาติผู้ถูกถอดถอน” ไกลถึงพัทลุง

ในปี 2567 ยังมีสถานการณ์การดำเนินคดีที่น่ากังวล ได้แก่ การดำเนินคดีต่อสื่อมวลชน 2 ราย ได้แก่ “เป้” ณัฐพล เมฆโสภณ นักข่าวประชาไท และ “ยา” ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพอิสระ จากการไปทำข่าวและถ่ายภาพการทำกิจกรรมของกลุ่มนักกิจกรรม ถึง 2 คดี 

คดีแรก ได้แก่ คดีไปทำข่าวการแสดงออกพ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว ของ “บังเอิญ” เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 และคดีไปทำข่าวนักกิจกรรมติดใบปลิวเรียกร้องให้ สว. ฟังเสียงประชาชนในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่บริเวณตลาดเสรี 2 เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2566  ในคดีแรกนั้น ทั้งคู่ยังถูกจับกุมโดยตำรวจไปขอศาลออกหมายจับ และไม่เคยออกหมายเรียกมาก่อนด้วย

ตำรวจพยายามกล่าวหาทั้งคู่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการทำกิจกรรมดังกล่าว แต่ผู้ถูกกล่าวหายืนยันว่าตนไปปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน ไม่ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนกิจกรรมแต่อย่างใด

แม้ทั้งสองคดีนี้จนถึงปัจจุบัน ยังอยู่ในชั้นพนักงานอัยการ และต้องจับตาต่อคำสั่งต่อไป แต่การจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาเช่นนี้ ก็สร้างความน่ากังวลต่อสถานการณ์เสรีภาพของสื่อมวลชนในการติดตามทำข่าวกิจกรรมทางการเมือง และการพยายามปิดปากสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่ในประเด็นแหลมคม

ขณะเดียวกัน ยังมีสถานการณ์การดำเนินคดีมาตรา 116 ต่อ สุชาติ สวัสดิ์ศรี หรือ “สิงห์สนามหลวง” บรรณาธิการและศิลปินแห่งชาติผู้ถูกถอดถอน วัย 79 ปี ที่ถูกกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันไปกล่าวหาไกลถึง สภ.ศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง จากเหตุแชร์คลิปวิดีโอจากเพจ iLaw ในเรื่อง “10 ข้อที่คนไม่รู้เกี่ยวกับ #มาตรา112” 

กรณีนี้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือข้อหา “ยุยงปลุกปั่นฯ” ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุค คสช. นำมาใช้กล่าวหาต่อผู้ใช้เสรีภาพการแสดงออก เปิดโอกาสให้ใครก็ได้ไปกล่าวหา ส่งผลให้เกิดคดีแจ้งความทางไกลเช่นนี้ สร้างภาระสำหรับการต่อสู้คดี แม้ในท้ายที่สุดคดีส่วนมากอัยการจะสั่งไม่ฟ้องหรือศาลยกฟ้องก็ตาม

ภาพรวมในปีนี้ มีคดีตามมาตรา 116 เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 8 คดี มีทั้งคดีที่ถูกกล่าวหาพ่วงกับมาตรา 112 (3 คดี) หรือคดีของนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีมาในปีก่อนหน้า ถูกแยกพิจารณากัน ทำให้นับจำนวนคดีเพิ่มเติม (2 คดี) 

นอกจากคดีของสุชาติ ยังมีคดีมาตรา 116 ที่สังคมให้ความสนใจ คือคดีของตะวัน-แฟรงค์ กรณีถูกกล่าวหาว่าบีบแตรใส่ขบวนเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพฯ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2567 ทั้งสองคนต้องถูกคุมขังตั้งแต่ชั้นสอบสวนไปจนถูกสั่งฟ้องคดี โดยไม่ได้รับการประกันตัว เป็นระยะเวลา 105 วัน กรณีนี้ก่อให้เกิดคำถามต่อการพยายามกล่าวหาจนเกินจริง และใช้เป็นเครื่องมือในปลุกปั่นทางการเมือง ซึ่งยังต้องติดตามการต่อสู้คดีในศาลต่อไป

.

.

จับตาการนิรโทษกรรมประชาชน-การใช้กฎหมายในรัฐบาลแพทองธาร

ในปี 2568 ที่กำลังจะมาถึง การจัดการทางนโยบายเพื่อยุติการดำเนินคดีทางการเมือง ผ่านการนิรโทษกรรม ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องจับตา เมื่อมีร่างกฎหมายหลายร่างรอการพิจารณาของสภา รวมทั้งร่างนิรโทษกรรมประชาชน ซึ่งในปีนี้ ภาคประชาชนร่วมกันลงชื่อเสนอกฎหมายเข้าสภา โดยร่างนี้ยืนยัน “การนิรโทษกรรมทุกคดี รวมมาตรา 112” 

ท่ามกลางความพยายามไม่แตะต้องปัญหามาตรา 112 ของรัฐบาลเพื่อไทย ทำให้หลายพรรคการเมืองยังยืนยันถึงการไม่นับรวมมาตรานี้เป็นส่วนหนึ่งของการนิรโทษกรรม ทั้งที่ข้อกล่าวหานี้เป็นใจกลางสำคัญของความขัดแย้งทางการเมือง หากไม่แก้ไขปัญหาเรื่องนี้ การนิรโทษกรรมก็เพียงการแตะต้องปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอย่างผิวเผินเท่านั้น และการแก้ไขปัญหาเรื่องมาตรา 112 ยังคงเป็นความจำเป็นต่ออนาคตของสังคมไทยต่อไป 

ขณะเดียวกัน สถานการณ์การใช้กฎหมายและการดำเนินคดีที่กระทบต่อเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมในยุครัฐบาลที่นำโดยแพทองธาร ชินวัตร ก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องจับตา ว่าจะสร้างความแตกต่างใดจากช่วงรัฐบาลก่อนหน้านั้นหรือไม่ หรือปล่อยให้ปัญหาการใช้กฎหมายแบบที่เป็นอยู่นี้ดำเนินต่อไป

.

X