“เราต้องเป็นปาก เป็นกระบอกเสียงให้กับปัญหาของคนตัวเล็กตัวน้อย ปัญหาของชาวบ้าน ปัญหาของคนที่ไม่ได้มีปากมีเสียงในสังคม”
ประโยคข้างต้น คือนิยามของการเป็นสื่อที่ดีในมุมมองของ “เป้” ณัฐพล เมฆโสภณ ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวประชาไท วัย 34 ปี ผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหา “เป็นผู้สนับสนุนทำให้โบราณสถานเสียหาย ทำลาย หรือทำให้เสื่อมค่า” และ “ขีดเขียน พ่นสี ข้อความและภาพบนกำแพงที่ติดกับถนนหรืออยู่ในที่สาธารณะ” จากกรณีลงพื้นที่รายงานข่าวของ “บังเอิญ” เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 และ ยังถูก เสรี สุวรรณภานนท์ วุฒิสภา แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา-ทำให้เสียทรัพย์-ก่อความเดือดร้อนรำคาญ จากกรณีไปทำข่าวนักกิจกรรมติดใบปลิวเรียกร้องให้ สว. ฟังเสียงประชาชนในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่บริเวณตลาดเสรี 2 เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2566
ในทั้งสองคดีนี้ เป้ถูกดำเนินคดีร่วมกันกับ “ยา” หรือ ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพอิสระ อายุ 34 ปี อีกหนึ่งนักสื่อมวลชนซึ่งลงพื้นที่ทำข่าวในวันเดียวกัน
เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (3 พ.ค. ของทุกปี) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพูดคุยกับเป้เกี่ยวกับประสบการณ์ในกระบวนการยุติธรรม ผลกระทบ รวมถึงบทบาทของการเป็นสื่อสารมวลชนและความสำคัญของสื่อต่อการสร้างประชาธิปไตยในประเทศ ในฐานะสื่อมวลชนคนหนึ่งที่ถูกดำเนินคดีในปัจจุบัน
ขึ้นชื่อว่านักข่าว การนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านล้วนเป็นจรรยาบรรณที่นักข่าวทุกคนควรพึงปฏิบัติ ทว่าเป้ไม่คาดคิดเลยว่าการทำตามหลักจรรยาบรรณดังกล่าว จะส่งผลให้ตนต้องตกเป็นผู้ต้องหาถึง 2 คดีในตอนนี้
“ถ้าถามว่ารู้สึกยังไง ช่วงแรกเรารู้สึกหงุดหงิดเหมือนกันนะ มันก็โกรธอยู่เหมือนกันเพราะจริง ๆ ทั้งสองคดีเราก็ไปปฏิบัติหน้าที่ของเราตามปกติ” เป้เล่าถึงความคับข้องใจที่ถูกดำเนินคดี
ประสบการณ์ในกระบวนการยุติธรรม ที่ทำให้เข้าใจความรู้สึกของนักกิจกรรมมากขึ้น
เป้เล่าว่า ในคดีหมิ่นประมาท สว.เสรี ตนยังพอทราบว่าจะมีการแจ้งความดำเนินคดี จึงเตรียมตัวรอหมายเรียกเพื่อไปรับทราบข้อกล่าวหา แต่สำหรับคดีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุนทำให้โบราณสถานเสียหาย เป้ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าจะมีการดำเนินคดีกับตน ตอนโดนตำรวจบุกมาถึงบ้านพร้อมแสดงหมายจับ ก็ทำให้ตกใจอยู่เหมือนกัน เพราะคดีนี้ไม่ได้รับหมายเรียกใด ๆ มาก่อนเลย
“ปกติเราทำข่าวนักกิจกรรม เราก็ไม่เคยรู้ว่ากระบวนการต่าง ๆ ที่เค้าโดนดำเนินคดีมันเป็นอย่างไร แต่ตอนนี้เราคิดว่าพอจะเข้าใจความรู้สึกพวกเขาประมาณนึงเลย มันเป็นความรู้สึกที่เราได้เห็นกระบวนการยุติธรรมที่มันมีปัญหาร่วมกันอะไรแบบนี้ ทั้งการที่ตำรวจนำกำลังมารอหน้า สน.พระราชวัง เยอะมากเพื่อกันผู้ชุมนุม หรือการที่ตำรวจเร่งรีบที่จะพาเราไป สน.ฉลองกรุง ซึ่งไกลมาก ๆ อีก ตอนนั้นเราก็ยังคิดเลยว่า โอ้โห นี่กูเป็นนักโทษอุกฉกรรจ์หรืออะไร แต่เราก็ตั้งข้อสังเกตว่าเขาคงกันไม่ให้มีนักกิจกรรมตามไปเพื่อชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัว”
“ในทางนึงเราก็ตะขิดตะขวงใจว่าเราก็เป็นแค่นักข่าว ต้องพาไปไกลขนาดนั้นเลยเหรอ ทั้งที่เราเองก็เข้าใจว่ามันก็สามารถฝากขังใน สน. ที่เป็นท้องที่เกิดเหตุได้ แล้วตอนอยู่ในรถเค้าก็ขอใส่สายรัดเคเบิ้ลไทร์ที่ข้อมือ ซึ่งด้วยความที่เราไม่เคยโดยดำเนินคดีอะไรแบบนี้ เราก็ไม่ได้ว่าอะไร ตำรวจอยากใส่ก็ใส่ไป แต่ว่าเท่าที่ฟังจากคนรอบตัว เขาก็บอกว่ากระบวนการนี้มีปัญหาเหมือนกัน เพราะจริง ๆ แล้วเราเองก็ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนีด้วย ถ้าเขาขอความร่วมมือให้เดินเข้าไป เราก็เดินเข้าไปได้ไม่ติดขัดอะไร”
“หรืออย่างกระบวนการพิมพ์ลายนิ้วมือ เราพิมพ์แค่คดีแรกเพราะตอนนั้นคิดว่าเป็นครั้งแรกเขาอาจจะต้องมีลายมือของเรา ก็เลยพิมพ์ไป แต่ครั้งที่สองที่เป็นคดี สว.เสรี เรารู้สึกว่าเราก็พิมพ์ไปแล้ว อีกอย่างเราก็เคยได้ยินว่าจริง ๆ แล้วมันเป็นกระบวนการที่ซ้ำซ้อนเกินไป เพราะตั้งแต่ที่โดนคดีแรกเราก็พิมพ์ทั้งที่ สน. พิมพ์ทั้งก่อนที่ก่อนจะถูกส่งตัวไปเรือนจำ พอไปถึงเรือนจำก็พิมพ์อีก มันพิมพ์หลายรอบมาก ก็เลยรู้สึกว่าพิมพ์แค่ครั้งเดียวแล้วทำให้กระบวนการมันไม่ซ้ำซ้อนจะดีกว่าไหม มันก็มีคำถามในใจประมาณนี้ตลอด”
อีกเรื่องที่เป้รู้สึกคับข้องใจคือ กระบวนการไต่สวนฝากขังในชั้นศาล เป้เล่าว่าตอนที่ถูกนำตัวเข้าไปในห้องเวรชี้เพื่อไต่สวนคำร้องฝากขังของตำรวจ ศาลไม่ได้เปิดโอกาสให้จำเลยชี้แจงหรือคัดค้านการฝากขังเลย
“เขาถามว่าจะคัดค้านไหม เราก็บอกคัดค้าน ก็มีการแต่งตั้งทนายด้วย ทนายเขาก็เข้ามา แต่พอเราจะพูดเนี่ย เขาก็ปิดไมค์ ทนายก็พยายามบอกว่า ไม่ฟังคำให้การหรือว่าคัดค้านฝากขังหน่อยเหรอ เขาก็เดินหนีไปเลย ซึ่งอันนี้เป็นกระบวนการที่น่าสนใจมาก เพราะเราก็เพิ่งเคยเห็นว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นในศาลเวลาเขาคัดค้านไม่ให้เราไต่สวนเนี่ย มันเป็นความรู้สึกยังไง”
“ตอนแรกเราคิดว่า เราก็ไม่ได้มีพฤติกรรมหลบหนีนะ เพราะว่ามันเป็นหมายเมื่อประมาณปีที่แล้ว จนมาถึงวันนี้เราก็ไม่เคยหลบหนี ขนาดเขาตามมาจับเราที่บ้านยังเจอเราเลย แต่พอศาลไม่ให้เราให้การ มันก็เป็นความคับข้องใจในเรื่องนี้เหมือนกัน เราแค่รู้สึกว่าศาลควรจะเปิดโอกาสให้เราได้ชี้แจงหรือพูดอะไรบ้าง”
ผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรมที่ไม่มีมาตรฐาน
“จริง ๆ ก็คิดว่าคดีอาจจะยาว อาจจะเป็นเรื่องกังวลอย่างเดียว เพราะเราเองก็ใหม่กับคดีลักษณะนี้เหมือนกันไม่รู้ว่าต้องทำตัวยังไง หรือว่าจุดจบมันจะไปจบที่ตรงไหน หรือว่าผลกระทบที่มันเกิดขึ้นกับเรามันจะเป็นยังไง ซึ่งคิดว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นปัญหาหลักเวลาเราพูดถึงคดีการเมืองด้วย ด้วยความที่เราเขียนข่าวเรื่องพวกนี้มาเยอะ ตอนโดนขังอยู่เราก็คิดว่าตัวเองจะได้ประกันหรือเปล่านะ เพราะเราก็พอทราบว่ามันมีคนที่โดนขังตั้งแต่ชั้นสอบสวนเป็น 100 วัน 200 วัน เลยก็มี เราเลยพอเห็นภาพว่ามันไม่ง่ายแน่นอน ซึ่งมันก็ไม่ง่ายจริง ๆ เพราะเราไม่รู้ว่ามาตรฐานมันอยู่ตรงไหน ไม่สามารถการันตีได้เลยว่าเราจะพ้นผิดในกรณีนี้หรือไม่ ซึ่งเรารู้สึกว่าถ้าเราผิด แล้วกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องปกติ ก็คงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แต่พอกระบวนการมันไม่ถูกต้อง แล้วเราถูกหาว่าผิดแบบนี้ มันเป็นเรื่องที่น่าหงุดหงิดใจอยู่เหมือนกัน”
อย่างไรก็ตาม เรื่องชีวิตการทำงานของเป้หลังจากโดนดำเนินคดีไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปสักเท่าไหร่ เป้เล่าว่า ในการทำงานตนมีการแจ้งที่ทำงานตลอดว่าจะไปทำข่าวอะไรยังไงบ้าง ซึ่งทางที่ทำงานก็ทราบและไม่ได้เห็นว่าตนไปทำอะไรที่นอกเหนือจรรยาบรรณนักข่าว จนเป็นเหตุให้ต้องลงโทษ นอกจากนี้ที่ทำงานก็ยังซัพพอร์ตอยู่เสมอและตนก็ยังทำงานได้ตามปกติ
แต่การต้องไปรายงานตัวทุกเดือนก็ส่งผลกระทบต่อการวางแผนการทำงานของเป้อยู่เหมือนกัน เป้เล่าว่า สำหรับคดีที่ 2 ที่เป็นคดีหมิ่นประมาท สว.เสรี จะมีรายงานตัวทุกเดือน ซึ่งหากเป้อยากจะขอทุนไปทำงานที่ต้องเป็นการไปปักหลักอยู่ที่ต่างประเทศหรือต่างจังหวัดนาน ๆ ก็จะไม่สามารถทำได้ เพราะมีภาระต้องกลับมารายงานตัว หรือหากวันนึงอัยการส่งฟ้องขึ้นมาแล้วตอนนั้นตนอยู่ระหว่างการรับทุนหรือไปทำงานต่างประเทศก็จะทำให้การวางแผนการทำงานไม่ค่อยแน่นอน นอกจากนี้ยังมีเรื่องของค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับมารายงานตัว และยังต้องคอยดูสถานการณ์ตลอดว่าจะมีการเรียกไปเป็นพยานขึ้นศาลในแต่ละคดีอีกเมื่อไหร่ ซึ่งสร้างความลำบากให้กับตนเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ เป้ยังสะท้อนว่า การถูกดำเนินคดี ทำให้ต้องมีการมาทำข้อมูล เก็บรวบรวมหลักฐาน หรือการย้อนกลับไปดูข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในวันนั้นเพื่อที่จะได้นำไปใช้ต่อสู้คดี ช่วงแรกก็ค่อนข้างเป็นปัญหาอยู่เหมือนกัน เพราะเป็นขั้นตอนที่แทรกเข้ามาจากเดิมที่ตนมีภาระงานอยู่แล้ว
“สำหรับเรื่องครอบครัว เพื่อนหรือคนรอบตัวไม่ได้มีทัศนคติลบกับเรา เขาไม่ได้มองว่าเราไปทำผิดหรือไปทำอะไรที่ไม่ถูกต้องมา หลายคนค่อนข้างจะเข้าใจ ก็เลยไม่ได้มีผลกระทบเรื่องความสัมพันธ์กับคนรอบตัวเท่าไหร่ครับ”
หมายจับที่คงค้างถึง 8 เดือน ก่อนถูกจับในช่วงกระแส “ตะวัน-แฟรงค์” กรณีบีบแตรขบวนเสด็จพระเทพฯ
ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุนทำให้โบราณสถานเสียหาย มีเรื่องน่าแปลกใจอีกอย่างก็คือ หมายจับที่เจ้าหน้าที่ใช้จับกุมเป้เป็นหมายจับของศาลอาญาลงวันที่ 22 พ.ค. 2566 ซึ่งหมายความว่าการจับกุมครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังศาลออกหมายจับกว่า 8 เดือนเศษ
เป้ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การจับกุมเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ “แฟรงค์” ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร สองนักกิจกรรม กำลังโดนเพ่งเล็งจากกรณีบีบแตรใส่รถตำรวจที่ดูแลรักษาความปลอดภัยขบวนเสด็จพอดี โดยในวันที่ 13 ก.พ. 2567 เพียงหนึ่งวันหลังจากที่เป้โดนจับ ตะวันกับแฟรงค์ที่มาปักหลักที่ศาลอาญาตั้งแต่ช่วงเวลา 09.00 น. เพื่อติดตามให้กำลังใจกรณีของเป้และยา ก็ถูกจับกุมตามหมายจับในคดี ม.116-พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เช่นกัน โดยที่ทั้งสองก็ยังไม่ได้ประกันตัวเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เป้จึงไม่แน่ใจว่าอาจเป็นผลกระทบเดียวกันจากเรื่องนี้หรือไม่
ในวันดังกล่าว ยังมีกรณีของ “สายน้ำ” นักกิจกรรมวัย 19 ปี ที่ถูกตำรวจเข้าจับกุมตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 22 พ.ค. 2566 ในข้อหาเป็นผู้สนับสนุนทำให้โบราณสถานเสียหาย ซึ่งเป็นเหตุเดียวกันกับที่เป้และยาโดนในวันก่อนหน้า ก่อนได้ประกันในเวลาต่อมา
“ถ้านำบริบทตามช่วงเวลามาอธิบาย ประกอบกับตัวของสายน้ำเองก็ทำกิจกรรมค่อนข้างใกล้ชิดกับตะวันและแฟรงค์ ก็เป็นไปได้ว่าอาจมีการอยากให้ดำเนินคดีกับนักกิจกรรมกลุ่มนี้ในช่วงเวลานี้หรือเปล่า”
คำถามสำคัญคือ แม้การขอออกหมายจับจะเป็นกระบวนการทางกฎหมาย แต่การใช้และเลือกช่วงเวลาจับกุม โดยเฉพาะในคดีทางการเมือง กลับกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองหนึ่งของเจ้าหน้าที่รัฐในการสร้างกระแสข่าวหรือไม่
ภาพ “ตะวัน” “แฟรงค์ “และ “สายน้ำ” ขณะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่หน้าศาลอาญา (ภาพจาก iLaw)
การรายงานข่าว = สนับสนุน ?
เป้เล่าอีกว่า ในทั้งสองคดี ตนเพียงแค่ไปทำข่าวและถ่ายภาพเหตุการณ์เท่านั้น ซึ่งเวลามีนักกิจกรรมจัดกิจกรรมต่าง ๆ ตนก็มีหน้าที่ที่จะต้องไปรายงานข่าว เพรารู้สึกว่ามันเป็นการใช้เสรีภาพทางการแสดงออก ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เมื่อมันตรงกับคุณค่าและหลักการที่ยึดถือ เราก็เลยไปรายงาน
“มันไม่ควรเป็นเรื่องเสี่ยงนะในความคิดผม แบบใครก็ตามที่ทำหน้าที่นักข่าวได้ถูกต้อง ก็ควรจะได้รับการคุ้มครอง ไม่ใช่เรื่องที่เรารู้สึกว่ามันต้องมาเสี่ยงที่จะโดนดำเนินคดี”
“จริง ๆ การทำหน้าที่สื่อสารมวลชนมีเส้นแบ่งที่ชัดเจนอยู่แล้วเวลาเราจะทำข่าว มันต้องมีระยะห่างและแม้ใน code of conduct ของประชาไทเองก็ระบุชัดเจนว่าเราเป็นสื่อที่ยึดมั่นในคุณค่าหลักการประชาธิปไตย แต่ในทางนึงก็คือเราไม่สามารถเข้าไปร่วมเป็นผู้ดำเนินการได้อยู่แล้ว เพราะมันมีหลักการขัดกันแห่งผลประโยชน์อยู่ ซึ่งเรื่องนี้มีการเน้นย้ำในที่ทำงานตลอด สมมติว่าเราไปร่วมกิจกรรมทางการเมือง ในฐานะสื่อ เราก็ไม่ควรจะรายงานข่าวของตัวเอง ฉะนั้นในทางหนึ่งก็คือเราวางจุดยืนตัวเองอยู่แล้วว่าเราไม่ได้ไปมีส่วนร่วม หรือมีส่วนในการวางแผนทำกิจกรรม เราแค่ไปรายงานข่าว”
“เราไม่แน่ใจว่าคนภายนอกเขารู้สึกยังไง แต่ถ้าถามเรื่องหลักการก็คือมันมีสิ่งที่เรายึดถืออยู่แล้ว ซึ่งมันก็เป็นคุณค่าทั่วไปซึ่งน่าจะเหมือนกับที่อื่น ๆ ก็เลยไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือสว. ที่ฟ้องเรา หรือว่าคนที่มองจากภายนอกเค้าถึงเห็นว่ามันเป็นการร่วมสนับสนุนไปได้”
ฟ้องปิดปาก? หรือเป็นกระบวนการตรวจสอบสื่อ
“ถ้าถามว่าสิ่งที่เราโดนนับเป็นคดีการเมืองไหม ผมคิดว่าคดีแรกอาจจะให้ความรู้สึกแบบนั้นมากกว่า เพราะมันมีข้อที่เราสังเกตได้ว่ามันไม่น่าจะถูกต้องตามหลักกฏหมาย หรือมีข้อสังเกตทางด้านกระบวนการยุติธรรมระหว่างทางอีกเยอะมาก ซึ่งมันก็เกิดคำถามตลอดว่าทำไมต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หรือว่ามันมีอะไรบางอย่างหรือเปล่าที่ทำให้คดีมันออกมาเป็นรูปแบบนี้”
ส่วนคดีที่สองกรณีหมิ่นประมาท สว.เสรี เป้มองว่าตัว สว. เขาก็มีสิทธิ์ตั้งคำถามกับสื่ออยู่เหมือนกัน ก็เลยไม่ได้รู้สึกว่าเป็นคดีการเมือง เขาอาจจะรู้สึกว่าตัวเขาเองได้รับผลกระทบด้านชื่อเสียงจริง ๆ ก็เลยฟ้อง เพราะว่าเขาอาจจะเข้าใจว่าเรามีส่วนร่วมด้วยกับนักกิจกรรม
“แต่เราก็ต้องยืนยันว่าเราแค่ไปทำข่าว จริง ๆ เรายืนยันตามหลัก code of conduct เราเลย ทั้งให้เขาถ่ายภาพป้ายหรือบัตรนักข่าว ผมก็เลยรู้สึกว่าคดีร่วมหมิ่นประมาทก็ไม่ค่อยเป็นธรรมสำหรับผมเหมือนกัน แต่จริง ๆ ก็สามารถมองเป็นการตรวจสอบสื่อก็ได้ แต่ในทางนึงเราก็ยืนยันชัดเจนว่าเราไปในฐานะนักข่าวจริง ๆ เพราะเราก็มีการชี้แจงตัวเอง ทั้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเองด้วยและเจ้าหน้าที่ของตลาดที่อยู่ตรงหน้างานนั้นด้วย”
“ผมคิดว่าในทางพฤตินัยเอง ทั้งสองกรณีสามารถเรียกว่าเป็นการฟ้องปิดปากสื่อ (SLAPP) ได้ เพื่อที่จะไม่ให้สื่อทำงาน หรือว่าไม่ให้คนมาวิพากษ์วิจารณ์ เพราะว่าถ้าสื่อรู้สึกว่าเราไปตามทำข่าวนักกิจกรรมแล้วเราอาจถูกฟ้องกลับมา มันอาจจะทำให้นักข่าวคิดเยอะขึ้นในกระบวนการทำงานว่าควรจะไปดีหรือไม่”
ภาพจาก Voice TV
สื่อต้องเป็นกลาง?
เมื่อพูดถึงคำว่า “สื่อต้องเป็นกลาง” เป้สะท้อนให้ฟังว่า เวลาที่ประชาไทลงข่าว จะมีคอมเมนต์ในลักษณะนี้มาบ้าง เช่นการหาว่าเราเป็นสื่อจริงเหรอ ทำไมถึงไม่มีจรรยาบรรณสื่อ ไหนบอกว่าสื่อไม่เลือกข้าง หรือเป็นสื่อไม่ควรทำตัวแบบนี้
“ถ้าถามเราเรารู้สึกเฉย ๆ นะ เพราะเขาก็มีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์เหมือนกัน คือมันไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะว่าเขาก็ไม่ได้เข้ามาทำร้ายร่างกาย ไม่ได้มาคุกคาม ไม่ได้โทรมาขู่ทำร้ายอะไร ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์จุดยืนมันเป็นเรื่องที่ทำได้อยู่แล้ว เราก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร”
“คนมักจะถามว่าสื่อจำเป็นต้องเป็นกลางไหม อย่างประชาไทเองก็ระบุใน code of conduct อยู่แล้วว่าเราเป็นสื่อที่ยึดถือคุณค่าเดียวกับประชาธิปไตย อันนี้จะถือว่าเป็นกลางไหม ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่ในทางนึงก็คือ ในเรื่องของการทำงานข่าว เราก็ยึดหลักตามปกติ คือให้โอกาสคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายได้มีโอกาสชี้แจง ผมคิดว่าจริง ๆ แล้วเรื่องพวกนี้อาจจะเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า หมายถึงว่าสื่ออาจจะมีท่าทีหรือจุดยืนแบบใดแบบหนึ่งก็ได้ แต่เมื่อเรานำเสนอข่าวเองแล้วเราก็ต้องยึดหลักตามคุณค่าจรรยาบรรณของสื่อ ก็คือให้น้ำหนักพื้นที่บาลานซ์กันทั้งสองฝ่าย มีการเช็คข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนก่อนรายงาน”
เมื่อเกิดการคุกคามสื่อ รัฐบาลต้องเป็นแกนนำในการปกป้องเสรีภาพ
เป้ไม่มั่นใจเลยว่าภาครัฐมองว่าตนกับนักกิจกรรมเป็นฝ่ายเดียวกันหรือไม่ แต่คิดว่ารัฐน่าจะเข้าใจว่าเราเป็นสื่อที่ทำข่าวเรื่องนักกิจกรรมเยอะ ซึ่งจริง ๆ เรื่องการคุกคามสื่อ กรณีของเป้อาจจะไม่ได้เป็นกรณีแรก แค่เป็นกรณีแรกที่เกิดขึ้นในสมัยของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่นำโดยนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน แต่ช่วงก่อนหน้านี้ในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีสื่อจำนวนมากที่โดนคุกคามหรือโดนจับ
“เราคิดว่าน่าจะเป็นความขัดแย้งเดิมที่มีกับสื่ออยู่แล้วด้วย แต่พอเข้ามาอยู่ในยุคของรัฐบาลเศรษฐาเอง คนก็คงคาดหวังว่าพอเป็นรัฐบาลพลเรือนแล้ว เรื่องของการจำกัดเสรีภาพสื่อหรือว่ากระบวนการยุติธรรมน่าจะดีขึ้น ก็เลยทำให้คนรู้สึกผิดหวังมากกว่า แต่ถ้าถามว่าคู่ขัดแย้งระหว่างสื่อกับรัฐบาลน่าจะมีอยู่แล้ว ซึ่งจริง ๆ ในการทำงาน เราเองก็คงไม่สามารถเป็นสื่อฟากเดียวกับรัฐบาลได้ตลอด เพราะมันก็ต้องมีการตั้งคำถามแล้วก็ตรวจสอบรัฐบาลด้วย”
ถึงที่สุดแล้วเป้คิดว่า ยังไงรัฐบาลก็ยังต้องเป็นแกนนำในเรื่องของการปกป้องเสรีภาพ หรือว่าการใช้กระบวนการยุติธรรมให้มันถูกต้องเป็นไปตามหลักการตามกฎหมาย เราไม่สามารถที่จะแยกความรับผิดชอบนี้ออกจากรัฐบาลได้เลย รวมทั้งการให้ความเห็นของรัฐบาลเองต่อกรณีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
“ต่อให้รัฐบาลจะเป็นตัวแปรสำคัญหรือไม่เป็นตัวแปรสำคัญในการดำเนินคดี แต่ผมคิดว่าเจตจำนงของตัวรัฐบาลที่จะปกป้องเสรีภาพของผู้ที่ออกมาใช้เสรีภาพทางการแสดงออกหรือเสรีภาพสื่อมวลชนเนี่ยเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องยืนยันตรงจุดนี้ไว้ บางคนอาจจะถามว่าเป็นรัฐบาลผสมแล้ว ยิ่งทำให้สถานการณ์มันยากขึ้นหรือเปล่าในเรื่องของการยืนยันจุดยืนอะไรบางอย่าง แต่ผมก็คิดว่าเป็นสิ่งที่พรรคแกนนำรัฐบาลจะต้องรับมือกับมัน ว่าเราก็ต้องยืนยันในหลักการเสรีภาพของของประชาชนหรือของสื่อไว้ด้วย”
ถ้าเสรีภาพสื่อยังเลือนราง การทำข่าวก็อาจตกเป็นผู้ต้องหาได้
เป้สะท้อนว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นกับตน คนรอบตัวหลายคนรู้สึกว่าเป็นเหมือน wake-up call อยู่เหมือนกัน คือเหมือนเราน่าจะต้องเริ่มทำอะไรบางอย่าง มีหลายสื่อที่ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ หรือผู้สื่อข่าวที่ทำงานร่วมกันกับตนก็ให้ความเห็นในกรณีด้วย รวมทั้งมีการพยายามเรียกร้องเรื่องสหภาพแรงงานที่เป็นคนทำสื่อขึ้นมาด้วย เพื่อให้ปกป้องคุณภาพชีวิตของคนทำงานสื่อด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม เป้ไม่แน่ใจว่าสื่อมวลชนรายอื่น ๆ หรือสื่อมวลรายใหญ่มองเรื่องการทำข่าวนักกิจกรรมที่มาแสดงออกทางการเมืองอย่างไรบ้าง เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ก็ไม่ได้เหมือนปี 2563-2564 ที่กระแสการเรียกร้องทางการเมืองของคนรุ่นใหม่กำลังแรงอยู่ บางสำนักข่าวอาจจะรู้สึกว่าตัวเองต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น ถ้าต้องทำข่าวหรือลงข่าวเกี่ยวกับนักกิจกรรมทางการเมือง
“ถ้าถามว่าไทยมีเสรีภาพสื่อจริงไหม บอกไม่ถูกเลยเพราะกรณีที่เกิดขึ้นมันทำให้สื่อทุกคนที่ทำข่าวก็มีสิทธิตกเป็นผู้ต้องหาได้ เลยไม่ค่อยมั่นใจว่ามันเสรีจริงรึเปล่าในการทำงานสื่อ เขาอาจจะบอกว่าถ้าคุณทำตามหลักจรรยาบรรณคุณก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรนะ ปัญหาก็คือที่ผมกำลังโดนกล่าวหาอยู่เนี่ย ผมก็ทำตามหลักจรรยาบรรณอยู่เหมือนกัน
“ทีนี้เส้นแบ่งหรือขอบเขตการทำงานที่คุณจะกล่าวหาว่าสื่อมีปัญหาเนี่ยมันอยู่ตรงไหน คือคุณเห็นสื่อลงพื้นที่แล้วไปเจอนักกิจกรรม คุยกัน แล้วคุณก็บอกแล้วว่าเราร่วมสนับสนุน ทั้ง ๆ ที่เวลาสื่อไปลงพื้นที่ทำข่าวก็ต้องมีการถาม มีการพูดคุยกับแหล่งข่าวว่ามีข้อมูลอะไรยังไงบ้าง เพื่อที่จะเก็บข้อมูลไปทำข่าว แบบนี้แล้วจะให้ผมทำยังไงถึงจะเรียกว่าเป็นสื่อที่แท้จริง หรือสื่อที่มีอาชีวปฏิญาณ เลยไม่รู้ว่าเรามีเสรีภาพสื่อกันจริงไหม”
นิยามของ ‘สื่อที่ดี’ และความสำคัญของสื่อต่อการสร้างประชาธิปไตยในประเทศ
เมื่อถามถึงนิยามคำว่า ‘สื่อที่ดี’ เป้กล่าวว่า “ตอบแบบง่าย ๆ อย่างแรกคือเราต้องเป็นปากเป็นกระบอกเสียงให้กับปัญหาของคนตัวเล็กตัวน้อย ปัญหาของชาวบ้าน ปัญหาของคนที่อาจจะไม่ได้มีปากมีเสียงในสังคม วอยซ์เสียงของพวกเขาขึ้นมา แล้วก็ทำให้เห็นว่าปัญหาที่พวกเขาเผชิญอยู่มันเกี่ยวข้องกับปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างไร แล้วจะแก้ไขยังไงได้บ้าง
“อย่างที่สอง สื่อที่ดีอาจจะต้องให้ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสียได้มีโอกาสอธิบายหรือว่าชี้แจงตัวเอง บางทีปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะเกิดจากการที่ไม่ได้มีการชี้แจงหรือไม่ได้มีการคุยกัน”
“เพราะงั้นสื่อเนี่ยสามารถเป็นสื่อกลางที่นำปัญหาพวกนี้มาคุยกัน แล้วก็หาทางแก้ หาทางออกร่วมกัน ผมไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นสื่อที่อยากวิจารณ์ฝั่งตรงข้ามตลอดเวลานะ แค่คิดว่าตัวเองเป็นสื่อที่ถ้าเราเห็นปัญหาบางอย่างแล้วคนกลุ่มนั้นเขาไม่สามารถมีเสียงให้ตัวเองขึ้นมาเนี่ย เราก็ควรที่จะไปเป็นกระบอกเสียงให้กับเขา ให้ทุกคนเห็นถึงปัญหาของมันแล้วก็เห็นตัวตนของพวกเขาเหล่านั้นขึ้นมา”
เมื่อถามว่าสื่อมีความสำคัญอย่างไรกับประชาธิปไตย “เราคิดว่าในทางนึง สื่อก็คงเป็นกลไกหรือระบบตรวจสอบผู้ที่มีอำนาจหรือผู้ที่อยู่ในตำแหน่งทางการเมือง และอาจจะใช้อำนาจนั้นในทางที่ผิดอยู่ คือยิ่งเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่สื่อสามารถตั้งคำถามได้อย่างเป็นระบบและมีอิสระ กลไกในการตรวจสอบกระบวนการเลือกตั้ง กลไกในการตรวจสอบผู้ใช้อำนาจรัฐก็จะเข้มแข็ง ซึ่งเราคิดว่าสิ่งนี้มันเป็นโครงสร้างที่จะช่วยผลักดันทำให้ตัวของกระบวนการประชาธิปไตยหรือประชาธิปไตยในประเทศ มันมีรากฐานที่ดีขึ้นมาได้” เป้กล่าว
“อีกบทบาทหนึ่งของสื่อที่น่าสนใจก็คือ เรื่องของการทำความเข้าใจบุคคลต่าง ๆ หรือความเห็นต่างทางการเมืองจากหลายฝ่าย เราคิดว่าถ้าสื่อสามารถนำเสนอเรื่องเหล่านี้โดยไม่ถูกสกัดหรือขวางกั้น หรือว่าไม่มีกฎหมายที่มาดำเนินคดีเนี่ย มันอาจจะทำให้คนในสังคมที่มีความเห็นแย้งกันในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อ่อนไหวหรือไม่อ่อนไหวเองเนี่ย ได้รับการเข้าใจกันมากขึ้น
“สุดท้ายแล้วมันก็คือประชาธิปไตย เพราะมันคือการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมที่อาจจะมีความเห็นไม่ตรงกัน แต่ว่าตรงจุดไหนล่ะที่เราจะเข้าใจแล้วก็นำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกัน หรือหาทางออกร่วมกันได้ เลยคิดว่าบทบาทของสื่อกับประชาธิปไตยมันไปด้วยกันได้ และในทางนึงมันก็ช่วยส่งเสริมกันด้วย”
หวังให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปตามวิถีปกติ – ฝากฝ่ายการเมืองแก้กฎหมายที่กระทบสิทธิปชช. – ขอบคุณทุกคนที่ช่วยออกมาพูดถึงปัญหา
เป้ยังมีความหวังว่ากระบวนการยุติธรรมจะดำเนินไปในวิถีทางปกติ เป็นไปตามที่มันควรจะเป็นและถูกต้องตามหลักการ มีหลักนิติรัฐ นิติธรรม เพราะหากกระบวนการยุติธรรมไม่มีมาตรฐาน ก็อดคิดไม่ได้เลยว่าเราจะได้รับสิทธิอย่างที่ควรจะเป็นหรือเปล่า หรือจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แม้ว่าจะรู้สึกหงุดหงิดกับเรื่องการถูกดำเนินคดี ต้องมาต่อสู้คดี แต่เป้ก็รู้สึกว่ามันก็เป็นกระบวนการที่สามารถตรวจสอบเราได้ เลยอยากให้กระบวนการนี้เป็นไปโดยปกติที่สุด
“ในเรื่องของกระบวนการยุติธรรม แค่ทำอะไรให้มันเป็นไปตามหลักสิทธิที่ประชาชนหรือผู้ต้องหาควรได้แค่นี้ก็เป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ อยู่แล้วครับ ส่วนทางฝ่ายพรรคการเมืองเองก็หวังว่าเขาจะพิจารณาถึงกฎหมายที่มันทำให้เกิดการพยายามฟ้องปิดปาก ก็อยากให้มีการพิจารณาเรื่องการแก้ไข เช่น กฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาท มันอาจจะต้องมีกฎหมายที่ขึ้นมาคัดกรองก่อนไหม หรือว่ามีกฎหมาย Anti-SLAPP ไหม ถ้าสมมติพิสูจน์ได้ว่าข้อเท็จจริงเป็นการฟ้องเพื่อกลั่นแกล้งกัน หรือควรมีการยกฟ้องตั้งแต่แรกหรือไม่เพื่อไม่ให้เกิดภาระกับผู้ที่ตกเป็นจำเลยในคดี เพราะอย่างเราเองพอเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็ไม่รู้มันจะไปจบที่ตรงไหน ต่อให้สุดท้ายแล้วพิสูจน์ออกมาได้ว่าเป็นการฟ้องเพื่อกลั่นแกล้งกันก็ตาม
“เลยอยากฝากฝ่ายการเมืองช่วยพิจารณาเรื่องกฎหมายที่ทำให้ตัวของประชาชนสามารถมีสิทธิเสรีภาพอย่างที่มันควรจะเป็น หรือเป็นไปตามประเทศต่าง ๆ ที่เป็นต้นแบบในเรื่องของกรณีนี้ ทำให้เรื่องของการวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ที่อยู่ในอำนาจทางการเมือง สามารถทำได้ เพราะว่าสุดท้ายแล้วกระบวนการพวกนี้ก็จะกลายเป็นกระบวนการตรวจสอบ แล้วคนที่ได้ประโยชน์มันก็คือทุกคนที่อยู่ในนั้น ภาครัฐเอง ประชาชนเองก็จะสามารถได้ประโยชน์จากเรื่องพวกนี้ได้”
สุดท้ายนี้ เป้อยากขอบคุณทุก ๆ คนที่ออกมาแสดงออก ออกมาพูด หรือนำเรื่องที่เกิดขึ้นกับตนไปเผยแพร่บนช่องทางต่าง ๆ แล้วทำให้เกิดกระแสขึ้นมา
“มันก็เป็นกำลังใจกับคนทำงานข่าวด้วย และทำให้คนในวงการสื่อเองมองเห็นปัญหา เลยคิดว่าต้องขอบคุณที่เอาเรื่องการจับกุมเราหรือปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นไปพูดบนสื่อออนไลน์ มันเป็นกำลังใจให้กับพวกเราที่ถูกดำเนินคดี ทำให้มันผ่านช่วงเวลาที่เราต้องเผชิญกับกระบวนการยุติธรรมในลักษณะนี้มาได้”