ให้ภาพถ่ายเล่าความจริง : “ยา” ณัฐพล ช่างภาพข่าวหัวขบถ

กว่า 10 ปีแล้ว ที่ “ยา” ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ วัย 34 ปี ตะเวนออกหามุมโปรดที่ใช่ถ่ายภาพเป็นอาชีพ และกว่า 4 ปีแล้วที่ได้ผันตัวโลดแล่นเป็นช่างภาพข่าวสายสังคมการเมือง 

แต่เชื่อว่าหลายคนเพิ่งจะคุ้นชื่อและหน้าของเขาคนนี้ก็เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลังกลายเป็นสื่อมวลชนที่ถูกจับกุมในยุครัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน (จากเหตุตั้งแต่สมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา) พร้อมกับ “เป้” ณัฐพล เมฆโสภณ นักข่าวประชาไท จากการลงพื้นที่ถ่ายภาพเหตุการณ์พ่นสีกำแพงพระบรมมหาราชวัง เมื่อปี 2566 

(ภาพจาก ธนัญชัย แก้วโสวัฒนะ / เอพี)

น้อยคนที่จะรู้ว่านอกจากการถูกจับกุมในครั้งนั้น ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาที่สวมหมวกช่างภาพข่าวสายม็อบ เขาต้องบอบช้ำจากการถูกกระทำสารพัดอย่าง ไม่ว่าจะถูกทำร้ายร่างกายจากผู้เห็นต่าง ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามถึงคอนโดส่วนตัว ถูกล้อมจับกลางที่สาธารณะ ฯลฯ

ในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พฤษภาคม ของทุกปี ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนมองภาพ ‘ความจริง’ ผ่านเลนส์ชีวิตของช่างภาพอิสระที่ชื่อ ‘ยา’ หาคำตอบไปพร้อมกันถึงคำถามสำคัญที่ว่าสื่อมีหน้าที่ควรทำอะไรหรือไม่ควรทำอะไร ต้องวางตัวเป็นกลางจริงไหม ผิดแค่ไหนถ้าสื่อจะเลือกข้าง (ประชาชน) และสื่อที่เคียงข้างประชาชนด้วยกันต้องเผชิญชะตากรรมแบบใดบ้างเมื่ออยู่ในประเทศนี้

(ภาพโดยไข่แมวชีส)

ความจริงเรื่องที่ 1
ผมไม่ชอบเรียน ผมชอบถ่ายรูป 

ย้อนกลับไปในสมัยที่ยาเป็นนักเรียนชั้นมัธยม เขาบอกว่าตัวเองเป็นเด็กหลังห้อง เกเร ไม่ชอบเรียนหนังสือ เรียนอยู่ที่โรงเรียนวัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ จ่ายค่าเทอมหลักพัน เรียนจบมัธยมปลายด้วยเกรดเฉลี่ยหนึ่งกว่า ๆ ต่างกันลิบลับกับพี่สาวและน้องสาวทั้ง 2 คนที่สนใจเอาดีเรื่องการเรียน ได้เข้าเรียนโรงเรียนหญิงล้วนชื่อดังในกรุงเทพฯ ที่มีค่าเทอมหลักหมื่น จนเติบใหญ่เอาดีทางสายอาชีพสายวิทยาศาสตร์และสายสุขภาพตามกันไปทั้งสองคน

กับยาเขาเพิ่งค้นพบสิ่งที่ชอบและใช่ก็เมื่อเรียนอยู่ชั้น ม.6 แล้ว 
โดยมี “กล้องดิจิตอล” ของพ่อเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตไปตลอดกาล

จุดเริ่มต้นมาจากช่วงปีนั้นครอบครัวของยากำลังจะไปออกทริปที่จังหวัดเชียงใหม่ พ่อจึงถือโอกาสถอยกล้องถ่ายภาพตัวแรกไว้ใช้เก็บภาพความทรงจำสมาชิกทุกคน กล้องที่ว่ายาจำได้แม่น คือกล้องดิจิตอล ยี่ห้อฟูจิ ตัวเล็ก ๆ สเปคธรรมดา ราคาไม่ได้แพงมาก ตอนนั้นใช้กับเมมโมรี่การ์ดความจำขนาด 128 KB ขนาดค่อนข้างน้อยมากเมื่อเทียบกับเดี๋ยวนี้ที่ใคร ๆ ก็ใช้หน่วย GB กันทั้งนั้นแล้ว

จับไปจับมา เขาเริ่มถูกใจมัน หลังจบทริปเชียงใหม่ยาหยิบกล้องของพ่อติดเป้ไปถ่ายรูปเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนแทบจะทุกวัน จากหนึ่งรูป เป็นสิบรูป เป็นร้อย ๆ รูป ถ่ายมันไปทุกวัน วันแล้ววันเล่า

(ผลงานภาพถ่ายจากกล้องดิจิตอลของยาสมัยเรียนชั้น ม.6)

ชอบอะไรในการถ่ายภาพ?

เริ่มแรกเลย ตอนนั้นเราก็ยังไม่รู้หรอกว่าถ่ายไปทำไม เราก็ถ่ายไปเรื่อย แต่พอได้กลับมานั่งดูรูปว่าวันนั้นถ่ายอะไรมาบ้าง แล้วเหมือนว่าวันนั้นมันมีเหตุการณ์ที่เพื่อนตีกัน ซึ่งเราก็ถ่ายไว้ได้ เราเลยรู้สึกชอบอุปกรณ์ที่เก็บเหตุการณ์อย่างนี้ไว้ได้ ชอบที่กล้องมันได้เก็บโมเมนต์ที่เกิดขึ้น ณ ตอนนั้น ๆ ไว้ได้  

ตอนนั้นพอถ่ายเสร็จแต่ละวันเราก็โหลดลงคอมฯ แล้วก็ส่งให้เพื่อน
คอมฯ ที่ใช้ก็เป็น PC เก่า ๆ ที่มีมาตั้งแต่ ม.3 แล้ว เอาไว้เล่นเกม 

เมื่อถึงเวลาต้องเลือกโค้งในสุดท้ายของชีวิต ม.ปลาย ยานั่งลงทบทวนว่าตัวเองชอบอะไรที่สุด อยากจะทำอะไรกันแน่ต่อจากนี้ แน่นอนว่าคณะสาขาสายวิชาการไม่ใช่ทางของเขาแน่ ๆ แต่เขารู้ว่าตัวเอง ‘ชอบวาดรูป’ เขา ‘ชอบถ่ายภาพ’ มีก็แค่ 2 อย่างนี้ที่น่าจะพอไปวัดไปวาได้บ้าง สุดท้ายยาเลือกเรียนต่อในสาขาวิชาศิลปะภาพถ่าย ที่วิทยาลัยเพาะช่าง ที่นับว่าเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดแล้ว (ในตอนนั้น) ท่ามกลางเสียงคัดค้านของคนในครอบครัว

ทำไมต้อง ศิลปะภาพถ่ายที่เพาะช่าง

ตอนสมัยผมมันไม่มีให้คำปรึกษา ไม่มีให้หาข้อมูล โซเซียลมันยังไม่ได้บูมขนาดนี้
คนในครอบครัวไม่มีใครเคยถ่ายรูปมาก่อนเลย ไม่มีคนรู้จักที่ถ่ายรูปเลย ผมก็ไม่รู้ว่าจะต้องปรึกษาใคร
ไม่รู้ว่าจะไปต่ออะไรก็ซิ่วไปปีหนึ่งเลย เสียเวลาไปปีหนึ่งเลยถึงเพิ่งรู้ว่า เห้ย! ที่เพาะช่างมันมีเอกถ่ายภาพโดยเฉพาะเลยนะ 

ตอนนั้นช้อยส์มันมีไม่เยอะ มันจะมีที่เทคนิคกรุงเทพฯ แต่เทคนิคก็ต้องเรียนวิทยาศาสตร์ด้วย ซี่งผมไม่ชอบ แต่ที่เพาะช่างเป็นเอกถ่ายภาพโดยเฉพาะ เรียนคู่กับศิลปะ มันก็เข้ากับผมเลย เพราะผมก็ชอบวาดรูปอยู่แล้ว ผมเรียนเลือกเรียนที่นี่

ความจริงเรื่องที่ 2
ระบบอาวุโสหยั่งรากฝังลึกในสังคมไทย

ชีวิตนักศึกษาภาพถ่ายตลอด 4 ปีของยาไม่ใช่เรื่องง่าย เขายอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าที่สถาบันเพาะช่างแห่งนี้มี ‘ระบบการนับถือรุ่น’ ที่เข้มข้น เฉกเช่นกับอีกหลายสถาบันในสมัยนั้น  

เมื่อเลื่อนเป็นนักศึกษาปีที่ 2 ซึ่งเป็นชั้นปีที่ต้องรับผิดชอบกิจกรรมต้อนรับนักศึกษาใหม่แบบเบ็ดเสร็จ ยาและเพื่อน ๆ หลายคนพยายามที่จะปฏิรูประบบรับน้องเสียใหม่ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่ากิจกรรมทุกอย่างต้องมีความสมเหตุสมผล และผ่านการยอมรับจากเสียงส่วนใหญ่ในชั้นปีแล้วว่าดีและเหมาะสมกับน้องใหม่ 

ความหัวขบถ กล้าชน กล้าเปลี่ยน 

ทำให้ยาได้รับเสียงโหวตข้างมากเป็น ‘ประธานรุ่น’ ในปีนั้น

แต่เพียงไม่นาน กลับมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ชั้นปีที่สูงกว่านัดหมายเพื่อนร่วมรุ่นของยาไปเลือกประธานรุ่นคนใหม่แบบลับ ๆ โดยไม่บอกให้ยาและเพื่อนจำนวนหนึ่งรู้ ทั้งที่ตอนนั้นยาได้รับเลือกให้เป็นประธานรุ่นไปแล้ว 

ยาและกลุ่มเพื่อนที่ต้องการ ‘เปลี่ยน’ 

ถูกบีบออกไปเป็นคนนอก เหมือนว่าสิ่งที่ทำ ‘สูญเปล่า’

ถ้อยคำถากถางจากรุ่นสู่รุ่นถูกใช้อีกครั้ง 

มึงไม่เอารุ่น มึงไปไม่รอดหรอก …

แค่นี้มึงยังทนไม่ได้ แล้วโตไปมึงจะทำงานอะไรไหว …

มึงไม่เหมาะกับที่นี่หรอก มึงลาออกไปเถอะ …

ฯลฯ

ถึงอย่างนั้นยาก็อดทนเรียนต่อเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า ‘ไม่จริง’ คนจะเก่งได้ไม่จำเป็นจะต้องก้มหัวให้กับระบบที่กดขี่แบบนี้เสมอไป และเมื่อพบอีกว่าการเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวคงจะไม่เพียงพอ เขาจึงเริ่มต้นรับจ้างถ่ายภาพควบคู่ไปด้วยตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 1 กับกล้องตกรุ่นคู่ใจ Nikon D200

เรื่องนี้ก็เป็นปัญหาการเมือง (ปัญหาการสอนในห้องเรียน) การเมืองมีอยู่ทุกที่ (หัวเราะ) เอาจริงกับห้องเรียนผมให้แค่ 40% มันได้แค่บางวิชา อีก 60% คิดว่าได้จากข้างนอกที่เราไปฝึกทำงานเอง ผมคิดว่า ‘การรับงาน’ คือตัวเร่งที่ทำให้พัฒนาขึ้นเยอะ เพราะเราต้องรับลูกค้า เราต้องถ่ายให้ถูกใจคน เราต้องแก้ปัญหาสารพัด… 

ระหว่างเรียน 4 ปี ยารับถ่ายภาพแทบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นงานรับปริญญา งานแต่งงาน ถ่ายผลิตภัณฑ์สินค้าและอาหาร แต่งานที่จำได้ขึ้นใจจนถึงวันนี้ คือ การถูกเชิญไปตามถ่ายรูปงานรับน้องใหม่ ‘นอกสถานที่’ ของวิทยาลัยเทคนิคแห่งหนึ่ง

เป็นการรับน้องที่โคตรพีค! พีคทุกอย่าง ที่เคยออกข่าวมีทุกอย่าง มีมากกว่านั้นอีก

พอไปถึงปุ๊บเขาแยกผู้หญิงผู้ชายเลย ผู้หญิงไม่ต้องทำอะไร ไปอยู่ในรีสอร์ต แต่ผู้ชายจะถูกพาไปในป่า ที่ลับตาคนหน่อย ณ วินาทีที่คุณไปถึงตรงนั้นเสื้อผ้าคุณไม่เหลือแล้ว คุณเหลือแค่บ็อกเซอร์ 

สุดท้ายแล้วก็คือ ‘เห็นทุกอย่าง’ ชั่วโมงนั้นทุกคนแทบจะเปลือยหมดแล้ว แล้วพี่ก็จะแกล้งสารพัดที่แกล้งได้ เอาสเปรย์จุดไฟเผาตูด เผาข้างหน้า วันที่ 2 กิจกรรมเข้าฐานให้เอาอวัยวะเพศ 3 – 4 คนมาชนกันแล้วเอาน้ำตาเทียนหยดให้เชื่อมติดกัน แล้วต้องไม่ให้ขาดจากกันด้วยนะ มีเอาให้ช่วยตัวเองกับไก่ต้ม กับแตงโม ให้กินน้ำปลาทั้งขวดผสมเหล้าขาวแกว่งอวัยวะเพศลงในน้ำผสมพริก ฯลฯ

ระหว่างนั้นก็ต้องใช้กล้องถ่ายไปด้วยตลอด

ใช่, ทุกคนเห็นกันหมด คิดดูคนเยอะแค่ไหน แต่ละรุ่นมี 50 – 60 คน รุ่นพี่อีก 20 – 30 คน ก่อนถ่ายเขาจะเอาเมมมาให้ แล้วพอถ่ายเสร็จเขาก็จะมาเอาเมมไปเลย เพื่อไม่ให้รูปหลุด แม่งแย่มากทุกอย่าง! 

สมัยนั้นเรายังไม่ได้มาซึมซับเรื่องสิทธิหรอก เขาจ้างเราก็ไป ตอนนั้นเราคิดแบบนั้นนะ เพราะเรารับงานมาแล้ว ตอนรับงานเราก็ไม่รู้รายละเอียดหรอก รู้แค่ว่าเป็นงานรับน้องเฉย ๆ แต่พอคิดดูสมัยนี้ จริง ๆ ไม่ต้องสมัยนี้เลย สมัยนั้นก็แย่แล้ว จำได้เลยตอนนั้นเราก็จะได้ยินคีย์เวิร์ดเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ตลอดว่า เพื่อนมึงที่มันไม่มาเนี่ย เพราะมันไม่รักพวกมึง มันไม่อยากได้รุ่น มึงไม่ต้องยุ่งกับพวกแม่ง อะไรแบบนี้ 

เราก็ไม่รู้ว่า มึงจะพิสูจน์ตัวมึงด้วยการทำแบบนี้ไปทำไมวะ เพื่อให้ได้ ‘เสื้อช้อป’ กับ ‘รุ่น’ แค่นี้เองเหรอ เราก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน …

ระบบอาวุโส มาก่อนเป็นพี่ มาทีหลังเป็นน้อง 

วัฒนธรรมเช่นนี้ ‘ทำร้าย’ ยามาตั้งแต่ตอนเรียน จนกระทั่งเข้าสู่วัยทำงาน 

กับวงการอาชีพช่างภาพ ยาก็เจอปัญหากับตัวเองหลายครั้งแล้ว ตั้งแต่การรับรู้ได้ถึงความรู้สึกไม่เป็นที่ชื่นชอบ บานปลายเป็นการถูกกล่าวหาว่าไม่ให้ความเคารพ ไม่ยกมือไหว้ หนักที่สุดถึงขั้นถูก ‘ท้าต่อย’ หลายครั้ง จนนำไปสู่การถูกทำร้ายร่างกายจริง ๆ ในที่สุด และมันเกิดขึ้นในระหว่างที่ยากำลังถือกล้องถ่ายรูปอยู่ในห้องประชุมที่รัฐสภาเกียกกาย ซึ่งมี สส. เกือบ 10 คนกำลังนั่งประชุมกันอยู่อย่างเคร่งเครียด  

วันนั้นยา ‘ถูกเตะ’ ให้ล้มระหว่างการทำงาน และเมื่อออกจากห้องประชุมแล้ว ในบริเวณรัฐสภาเกียกกาย ยาถูกคนทำงานอาชีพเดียวกันที่อายุมากกว่า ‘ต่อย’ เข้าที่ท้องอีกหลายครั้งอย่างโจ่งแจ้ง 

รู้มั้ยเขาพูดกับผมว่าไง? ยาถามเรา

เขาบอกว่า ‘มึงรุ่นไรว่ะ’ ‘มึงรู้เปล่ากูรุ่นไหน’ ผมก็ถามว่ามึงเป็นเหี้ยไรวะ ปัญญาอ่อนปะเนี่ย รุ่นอะไร 

มันก็ถามอีกว่า มึงไม่มีรุ่นใช่มั้ย มึงไม่มีรุ่น มึงรู้ซะบ้างว่ากูรุ่นไหน มึงดูด้วย …

มายด์เซ็ทเขาเป็นแบบนี้ เขาคิดว่าเข้าทำงานนี้ก่อน เป็นผู้ใหญ่กว่าเรา จะทำอะไรเราก็ได้ เราต้องยอมเขาตลอด ซึ่งไม่ใช่แค่ผมโดนคนเดียวนะ เด็กเจนใหม่โดนกันหมด ช่างภาพข่าวเด็กที่ทำงานอยู่ทุกวันนี้โดนกันทุกคน แต่ละคนก็มีวิธีรับมือไม่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะเลี่ยงไม่ปะทะ 

เชื่อว่าถ้าหมดคนรุ่นนี้ไปเรื่องแบบก็จะไม่มีแล้วนะ 

เพราะเด็กรุ่นใหม่ ๆ เขาไม่มีใครเอาเรื่องแบบนี้กันแล้ว 

ถ้าเด็กมันพร้อมจะไหว้มันก็จะไหว้เอง แต่นี่คุณใช้อำนาจเข้าว่าแล้วใครมันจะไปเอา ใช่มั้ย … 

(5 ภาพถ่ายของตัวเองที่ยาชอบมากที่สุด)

ความจริงเรื่องที่ 3
ภาพถ่ายไม่เคยโกหก

หลังเรียนจบจากวิทยาลัยเพาะช่าง ยาเป็นฟรีแลนซ์รับงานถ่ายภาพแนว Landscape ภาพทิวทัศน์ ซึ่งเป็นงานประเภทที่ถนัดและหลงใหลในตอนนั้นอยู่นาน 3 – 4 ปี และเมื่อถึงคราวที่มีการระบาดของโควิด-19 ในช่วงปี 2563 ยามีโอกาสได้ทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งทำโครงการ “คลองเตยดีจัง” ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบที่ชุมชนคลองเตย กลายเป็นจุดเริ่มต้นความสนใจในประเด็นสิทธิมนุษยชน รวมถึงการถ่ายภาพแนวสารคดี วิถีชีวิตของผู้คน พร้อมกับความตั้งใจนำเสนอถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างมีศาสตร์และศิลป์ผ่านภาพถ่าย

ที่เราชอบประเด็นคนตัวเล็กคนน้อย ก็เพราะพอเรารู้จักงานพวกนี้แล้ว เรารู้สึกว่า ‘แม่งเจ๋งว่ะ’ งานชิ้นหนึ่งมันสามารถสะท้อนเสียงของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งออกมาได้ สะท้อนปัญหาออกมาได้ บางงานมันทำให้เกิดการแก้ไขได้จริง เราชอบตรงนี้

ตอนโควิดระบาดปีแรก เขารณรงค์ให้อยู่บ้านกันใช่มั้ย ผมไม่อยู่ครับ ผมไปอยู่กับ ‘คลองเตยดีจัง’ เขาจะลงไปช่วยคนในคลองเตย คนคลองเตยประสบปัญหาเยอะมากจากการถูกล็อกดาวน์ พวกเขาออกไปทำงานไม่ได้ ส่วนใหญ่พวกเขาทำงานรับจ้างรายวัน พอไม่มีงานก็ไม่มีเงินกินข้าวก็มีองค์กรพวกนี้เข้าไปช่วย 

(ภาพถ่ายที่ชุมชนคลองเตยช่วงที่มีการระบาดโควิด โดยยา)

ช่วงนั้นเราไปตามอยู่เป็นปี ๆ เลย ซึมซับอะไรมาได้เยอะ 

อย่างไอเดียเรื่องการอย่าตัดสินคนจากสิ่งที่เราได้เห็นแค่แวบแรก เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าที่เขาเป็นอยู่อย่างนี้เกิดขึ้นเพราะปัจจัยอะไรบ้าง ไอเดียอะไรแบบนี้ก็ติดตัวเรามาเรื่อย ๆ เลยนะ 

หรืออย่างไอเดียเรื่อง ‘คน’ กับ ‘รัฐ’ ไม่มีทางเท่ากันอยู่แล้ว รัฐมีทรัพยากรทุกอย่าง มีมากกว่าเสมอ เราจะบอกว่าประชาชนกับรัฐเสมอกัน ไม่มีทาง ประชาชนอยู่ต่ำกว่าเสมออยู่แล้ว ไอเดียเรื่องนี้มันติดตัวมาจนถึงตอนทำข่าวเลยนะ 

ตอนทำข่าวคนก็จะชอบเข้ามาถามว่า ‘ทำไมชอบไปถ่ายแต่ฝั่งผู้ชุมนุม ทำไมไม่ไปถ่ายเจ้าหน้าที่บ้าง’ ผมก็ให้เหตุผลว่า ฝั่งเจ้าหน้าที่ถ้าเขาต้องการจะให้ประชาชนรู้อะไร เขามีช่องทางร้อยแปดพันเก้าที่จะทำให้คุณรู้ให้ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคุณไม่จำเป็นต้องช่วยรัฐเลยก็ได้ แต่กับฝั่งประชาชน ถ้าคุณไม่ไปทำข่าวพวกเขาก็จะไม่มีใครรู้เลยนะว่าพวกเขาจะเป็นยังไง เป็นตายร้ายดียังไง 

(ภาพถ่ายคืนหนึ่งในการชุมนุมที่ดินแดง เจ้าหน้าที่คฝ.กำลังใช้ปืนยิงกระสุนยางบนรถกระบะ ถ่ายโดยยา)

ชอบอะไรในงานถ่ายภาพข่าวเหตุการณ์เคลื่อนไหวทางการเมือง

ผมชอบโมเมนต์ตอนมีเหตุการณ์ที่สำคัญจริง ๆ เกิดขึ้น แล้วเราสามารถเอาภาพถ่ายมาโชว์ให้คนได้เห็นว่ามันมีเกิดสิ่งนี้ขึ้นจริง ๆ นะ และมันขัดแย้งกับคำให้การของรัฐ 

อย่างปี 2564 #ม็อบ13กุมภา64 ที่สนามหลวง มีการชุมนุมใหญ่มากปิดสนามหลวงด้วย มีตำรวจเข้ามาสลาย วันนั้นมีจังหวะที่ตำรวจ ‘กระทืบ’ อาสาพยาบาล ซึ่งผมถ่ายภาพนั้นไว้ได้ วันนั้นมีคนถ่ายได้แค่ 2 คน คือผมกับช่างภาพของสำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters) เพราะว่าทุกคนไปอยู่หลังแนวตำรวจหมด

ม็อบนั้นเป็นม็อบแรก ๆ เลยที่ตำรวจสลายการชุมนุม ก่อนจะสลายตำรวจก็ตั้งแนวมา แล้วนักข่าวทุกคนก็ถอยหลังไปอยู่หลังแนวตำรวจหมด พอจังหวะที่ตำรวจสลายผู้ชุมนุมเขาก็กันไม่ให้นักข่าวเข้าไป ฉะนั้นหลังแนวตำรวจจะไม่มีใครเห็นอะไรเลย จบ … ยาพูดพร้อมกับทำสีหน้าสิ้นหวัง

เราจะได้เห็นแค่สิ่งที่เขาต้องการให้เห็น 
แต่ผมไม่เข้าไปตั้งแต่แรก ความคิดอยู่ในหัวเราตลอดว่า ‘เราจะอยู่ข้างผู้ชุมนุมเสมอ’ 

ตอนนั้นพอตำรวจสลายการชุมนุมปุ๊บ พอเราวิ่งตามถ่ายมาเรื่อย ๆ จากสนามหลวงเรื่อยมาถึงหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ จนได้ภาพที่มีคนขับมอเตอร์ไซค์แล้วมีตำรวจเยอะมากวิ่งตามเหมือน ‘ซอมบี้’ คนที่ขี่มอเตอร์ไซค์รอด แต่มันมีคนที่วิ่งตามไม่ทัน คนนั้นแหละถูก ‘กระทืบ’ แล้วผมก็ถ่ายได้ตอนเขาถูกกระทืบ พอรูปนั้นของผมออกไปมันเป็นไวรัลมาก คนกดไลก์น่าจะ 4 หมื่นกว่าคนได้

(ภาพถ่ายเจ้าหน้าที่คฝ.กำลังรุมทำร้ายอาสาพยาบาลที่เป็นไวรัลในโซเซียลมีเดีย ซึ่งยาถ่ายไว้ได้)

อย่างไรก็ตาม ในวันรุ่งขึ้น พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ในขณะนั้นได้ออกมาแถลงข่าวกับสื่อมวลชนว่า รูปภาพดังกล่าวนั้นไม่ใช่เหตุการณ์ที่ตำรวจรุมทำร้ายประชาชนตามที่สังคมเข้าใจ แต่ตำรวจกำลังเข้าไป ‘ช่วยอุ้ม’ อาสาพยาบาลที่นอนอยู่ขึ้นมาต่างหาก ยาจึงตัดสินใจเผยแพร่ภาพถ่ายเหตุการณ์ดังกล่าวเพิ่มเติมไปอีกประมาณ 4 รูป ซึ่งเป็นภาพที่เห็นตั้งแต่จังหวะที่เจ้าหน้าที่ คฝ. ง้างไม้จะหวดตี และตีโดนอย่างจังจริง ๆ  

(เซ็ทภาพถ่าย คฝ.รุมทำร้ายอาสาพยาบาลที่ออกจากพื้นที่ชุมนุมไม่ทัน)

เออเนี่ย! ผมชอบความจริงที่สามารถเอามาโต้แย้งได้ ขนาดเรามีหลักฐานเขาก็ยังแย้งอีกว่าคนในรูปไม่ใช่แพทย์อาสานะ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นเท่าไหร่ ประเด็นสำคัญก็คือไม่ว่าจะเป็นใคร คุณก็ไม่ควรไปกระทืบเขา แล้วเรื่องทำนองนี้มันก็มีอีกหลายครั้งนะ

อย่างตอนที่ตำรวจใช้กระสุนยางยิงผู้ชุมนุมครั้งแรก ๆ แล้วมีคนบาดเจ็บ ตำรวจก็จะออกมาบอกว่าตำรวจดำเนินยุทธวิธีตามหลักสากลทุกอย่าง ยิงกระสุนยางต่ำกว่าเอว ยิงลงพื้น ซึ่งภาพที่ผมถ่ายไว้ได้คือเขาเล็งแทบจะยิงหัวผู้ชุมนุมอยู่แล้ว

คือถ้าไม่มีรูปพวกนี้เป็นหลักฐาน คือจบเลยนะ! 

เขาจะพูดอะไรก็ได้ เขาก็พูดไปเรื่อย 

หรืออย่างที่ ‘ม็อบดินแดง’ นี่ชัดเจนมากเลย กลางคืนตำรวจทำอย่างหนึ่ง พอกลางวันมาพูดแถลงอีกอย่างหนึ่ง ที่เหี้ยสุดอย่างหนึ่ง วันนั้นหลังเคอร์ฟิวแล้วมันก็จะมีเด็กเดินอยู่ตรงสามแยกดินแดงกันเยอะมากใช่มั้ย จู่ ๆ ตำรวจขับรถกระบะเปิดไฟมา แต่ไม่ได้เปิดเสียงนะ แล้วก็ชนเด็กกระเด็น ลอยยยยยยยย ปั๊ก!  

เหตุการณ์นี้ผมถ่ายไม่ทัน แต่ทุกคนเห็นและมีคลิป พอคลิปถูกปล่อยออกไปมันก็มีกลุ่มคนบางกลุ่มออกมาบอกว่า เนี่ยะ, เด็กในคลิปไม่เป็นอะไรหรอก บอกว่ามันเป็นไปตามหลักอะไรไม่รู้ที่ถ้าเด็กกระเด็นลอยลงมาจะไม่เป็นอะไร แบบนี้จะเจ็บไม่หนัก แต่ถ้าเกิดว่าชนแล้วเด็กอยู่กับที่หรือถูกลากไปถึงจะเจ็บหนัก

ผ่านไปสองวัน ผมเจอเด็กแม่งมาล้างแผลที่หน่วยแพทย์อาสา รอยเล็บที่หัวแม่งยาวแบบเนี่ยะ (ทำทีใช้นิ้วชี้กรีดลากบนหัวไกลประมาณ 1 คืบ) 30 กว่าเข็ม, ผมก็เลยถ่ายรอยเย็บที่หัวเด็กไปลง คิดในใจว่า ‘นี่ไงที่มึงบอกว่าเด็กไม่เป็นไร’… 

(ภาพผู้ชุมนุมอิสระซึ่งเป็นเยาวชนอายุ 14 ปี ถูกตำรวจขับรถชนจนต้องเย็บศีรษะกว่า 30 เข็ม ถ่ายโดยยา)

สุดท้ายเรื่องก็เงียบ เออ! ซึ่งก็ตลก 

แล้ววันนั้นตำรวจก็แถลงว่าไม่ได้ชนเด็ก 

ไม่มีเด็กคนไหนบาดเจ็บ แต่ว่าสุดท้ายมันก็มีคลิปยืนยัน มีรูปยืนยัน

การมีสื่ออยู่ตรงนั้นเป็นส่วนสำคัญนะ ไม่งั้นจะไม่มีใครมี ‘หลักฐาน’ หรือเป็น ‘ประจักษ์พยาน’ กับเรื่องพวกนี้เลย นี่พูดถึงสื่ออิสระด้วยนะ เพราะตอนนั้นสื่อหลักส่วนใหญ่กลับกันตั้งแต่พระอาทิตย์ตกแล้ว แต่เราก็ไปว่าเขาไม่ได้ เพราะเขาทำงานใต้องค์กร องค์กรสั่งให้กลับ เขาก็ต้องกลับ

หากยังพอจำกันได้ การชุมนุมของผู้ชุมนุมอิสระที่ย่านดินแดง กรุงเทพฯ ในช่วงแรกมีสื่อเกือบทุกสำนักลงพื้นที่เกาะติดรายงานข่าว ทั้งทีวีช่องเบอร์ใหญ่ สื่อออนไลน์เบอร์ต้น ๆ ของไทย ไปรวมกันอยู่ที่นั่น แต่แล้วเมื่อสถานการณ์ยืดเยื้อ เริ่มมีความรุนแรงจากทั้งฝั่งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงการกดปราบของตำรวจที่เข้มข้น สื่อมวลชนค่อย ๆ บางตาลง แต่ละวันจะถอนตัวออกจากพื้นที่ตั้งแต่หัวค่ำ 

ที่เหลืออยู่ในพื้นที่ในช่วงสถานการณ์พีค ๆ ในแต่ละคืนเห็นจะมีแต่สื่อพลเมือง สื่ออิสระ กับสำนักข่าวแค่ไม่กี่เจ้า โดยเฉพาะช่วงหลังเวลาเคอร์ฟิวมักจะเกิดเหตุการณ์กวาดจับ ยิงกระสุนยาง ล้อมจับผู้ชุมนุม ในหลายคืนยิ่งดึกสถานการณ์ยิ่งร้อนแรง ซึ่งในการชุมนุมครั้งนั้นที่กินระยะเวลายาวนานกว่า 3 เดือน มีประชาชนถูกจับกุม ดำเนินคดี บาดเจ็บ และมีคนต้องสูญเสียชีวิตด้วย 

ความจริงเรื่องที่ 4
เห็นต่างต้องยอมแตก (สลาย)

ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงตอนนี้เป็นเวลาเกือบ 4 ปีแล้วของการทำงานเป็นช่างภาพข่าว เกาะติดเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมือง กิจกรรมทางการเมือง และการชุมนุมบนท้องถนนนับครั้งไม่ถ้วน และเชื่อหรือไม่ว่าตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ช่างภาพข่าวที่ชื่อ ‘ยา’ คนนี้ต้องมีเรื่องให้ประจันหน้ากับคุกตาราง ต้องเจ็บตัว ต้องเจ็บใจ ‘ทุกปี’ เพียงเพราะต้องการนำเสนอภาพการต่อสู้ของประชาชนที่กำลังคัดง้างกับอำนาจรัฐ

ปี 2564 – เกือบถูกจับในม็อบแยกราษฎร์ประสงค์ เพราะเป็น ‘สื่ออิสระ’

ปี 2565 – ถูกชายไม่ทราบชื่อ 4 คน ดักรุมทำร้ายหน้าร้านแมคโดนัลด์ 

ปี 2566 – ถูกล้อมตำรวจนับสิบพยายามล้อมจับและยึดกล้อง เพราะถ่ายรูป ‘พ่นสีกำแพงวัง’

ปี 2567 – ถูกจับ นอนคุก 1 คืน ก่อนพบตกเป็นผู้ต้องหาคดีการเมืองถึง 2 คดี

ปี 2564 : เกือบถูกจับในม็อบ เพราะเป็น ‘สื่ออิสระ’

ในช่วงปี 2563 – 2565 ยารับจ้างถ่ายภาพอิสระ หรือ ‘ฟรีแลนซ์’ ขายภาพที่ถ่ายได้ให้กับสำนักข่าวหลายแห่งที่มองเห็นถึงฝีมือของเขา แน่นอนว่าข้อดี คือมีอิสระในการทำงานมากกว่า เลือกเวลาทำงานได้ เลือกประเด็นได้เอง มีความคล่องตัวมากกว่า ขณะเดียวกันการไม่ได้สังกัดกับสำนักข่าวใดเลยมักจะตามมาด้วยการถูกตั้งคำถามว่าเป็นสื่อมวลชน ‘ตัวจริง’ หรือ ‘ตัวปลอม’ 

ช่วงปี 2564 สื่อพลเมืองและสื่ออิสระหลายคนที่ลงพื้นที่ทำงานในการชุมนุมมักจะเผชิญกับปัญหาอย่างเดียวกันนี้ ไม่ว่าจะเป็นลุงดร เกตุเผือก, โอปอล สำนักข่าวราษฎร, กะเทยแม่ลูกอ่อน, ยูดีดีนิวส์ – UDD news ฯลฯ 

(ภาพเหตุการณ์ที่ยากำลังถูกเจ้าหน้าที่ คฝ.ขอดูบัตรประจำตัวสื่อมวลชน)

ผมเคยโดนตำรวจพยายามจับตอนการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ตำรวจเข้ามาสลายการชุมนุม แต่ผมถอยออกไม่ทัน เพราะกำลังถ่ายรูปเด็กคนหนึ่งที่กำลังโดนตำรวจจับอยู่ สุดท้ายพอตำรวจยึดพื้นที่ได้แล้วเขาก็เข้ามาล้อมผม แล้วถามหา ‘บัตรสื่อ’ ผมก็พยายามอธิบายว่าผมไม่มีบัตรสื่อหรอก ผมเป็นฟรีแลนซ์ แล้วก็พยายามเปิดหลักฐานการขายภาพถ่ายให้ดูว่าเคยขายให้กับสำนักข่าวไหนบ้าง

ตำรวจเขาก็พูดสไตล์ตำรวจ เขาไม่สนใจ พอเราไม่มีบัตรสื่อจากกรมประชาสัมพันธ์ก็ฟันเลยว่าเราไม่ได้เป็นสื่อ ซึ่งบัตรสื่อจากกรมประชาสัมพันธ์เนี่ย ‘สื่อมวลชนก็ไม่ได้มีกันทุกคน’ เพราะเป็นบัตรที่เอาไปใช้ที่ไหนไม่ได้เลย เข้าสภาฯ ก็ใช้ไม่ได้ เข้าทำเนียบก็ใช้บัตรนี่ไม่ได้ … 

ในตอนนั้นผมพยายามจะโต้แย้งตำรวจว่าบัตรนี้ไม่สามารถใช้ตรวจสอบได้ 100% ว่าใคร ‘เป็นสื่อ’ หรือ ‘ไม่ได้เป็นสื่อจริง’ ในความจริงนอกจากสื่อหลักแล้วก็ยังมีสื่ออิสระ สื่อฟรีแลนซ์เยอะแยะไปหมด แล้วตอนหลังการตรวจบัตรแบบนี้มันก็ค่อย ๆ ซาลงไป 

ผมคิดว่านี่หนึ่งในวิธีที่ตำรวจ ‘กีดกัน’ ให้สื่อทำงานไม่ได้หรือทำงานได้น้อยที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้ภาพที่ไม่ต้องการให้คนข้างนอกได้รู้ ‘หลุดออกไป’

ปี 2565 : ถูก 4 ชายปริศนารุมทำร้ายโจ่งแจ้งหน้าแมคฯ

โดนปกป้องสถาบันฯ ตีหัวที่แมคฯ หลังมีม็อบมูเตลู เดี๋ยวๆๆ (ก้มหน้าลงไปกดดูโทรศัพท์มือถือ) เพิ่งครบ 2 ปีไปเมื่อวานเองเนี่ยะ นี่ไง 22 เม.ย. 2565 แล้วเขาก็ให้ดูโพสต์แจ้งเตือนครบรอบบนมือถือ

(ภาพบาดแผลที่ยาได้รับจากการถูกทำร้าย โดยแมวส้ม และ DemAll)

ยากำลังพูดถึงการชุมนุม #ม็อบ22เมษา65 ที่ใช้ชื่อว่า ‘มังกรปฏิวัติทัวร์มูเตลูขอแฟน’ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งจัดโดยเครือข่ายกลุ่มมังกรปฏิวัติ วันนั้นยาเกาะติดถ่ายภาพกิจกรรมเหมือนเคย จนกระทั่งการชุมนุมยุติลงในช่วงเวลาประมาณ 18.00 น. เขาถึงได้เข้าไปนั่งในร้านแมคโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อจัดการอัปโหลดไฟล์ภาพถ่ายจากกล้อง 

วันนั้นยาทำงานเสร็จล่าช้า จนเพื่อน ๆ และน้อง ๆ ที่มาพร้อมกันขอตัวกลับไปก่อน เมื่อจัดการธุระงานจนเสร็จเรียบร้อยแล้วในเวลาประมาณ 3 ทุ่มครึ่ง ยาเดินออกมาหามอเตอร์ไซค์ของตัวเองที่จอดไว้บนฟุตบาทแถวหน้าร้านเพื่อเตรียมตัวกลับที่พัก แต่จู่ ๆ กลับถูกชายไม่ทราบชื่อถึง 4 คนพยายามหาเรื่องและทำร้ายร่างกาย   

ตอนผมออกมาจากประตูแมคฯ แล้วมองไปทางซ้าย (ฝั่งโรงเรียนสตรีวิทยา) ผมเห็นแล้วว่ามีผู้ชายคนหนึ่ง (คนที่ 1) ยืนมองผมอยู่ เป็นการมองค้าง ซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่โอเคแล้วล่ะ ผมก็เลยรีบเดินไปเอารถ จังหวะถอยมอเตอร์ไซค์กำลังจะออก เขาก็เข้ามาชาร์ตพอดี

เขาเข้ามาหาเรื่องผม พยายามถามผมว่า ‘มึงเป็นสื่อหรือเปล่า’ 
ผมก็บอกว่า ‘ใช่ผมเป็นสื่อ’ เขาก็ถามอีกว่า ‘ไหนมึงเอาโทรศัพท์มาดูหน่อย’ 
ผมไม่ให้ มันก็พยายามจะแย่งโทรศัพท์ในกระเป๋าผมไป 

(ภาพจากกล้องวงจรปิดหน้าแมคฯ ขณะเกิดเหตุชายไม่ทราบพยายามเข้าหาเรื่องกับยา)

ผมเห็นท่าไม่ดีแล้ว เลยคิดว่าจะเข้าไปในร้านแมคฯ ก่อน เลยพยายามตั้งขารถ พอผมลงจากรถกำลังจะวิ่งไปแมคก็มีผู้ชายอีกคน (คนที่ 2) วิ่งเข้ามาชาร์ต ผมก็วิ่ง แล้วคนที่มาหาเรื่องผมคนแรกมันก็สะบัดกระบองดิ้วออกมาแล้วก็ ‘ฟาดหัวผม’ ดีที่ตอนนั้นผมใส่หมวกกันน็อคอยู่ก็เลยโดนหมวกกันน็อค ปั๊ก ๆๆๆ!!! จังหวะที่ผมวิ่งหนีมันก็ยังฟาดมาเรื่อย ๆ ผมก็เลยโดนตีตั้งแต่หัว ไหล่ แขน อีกสองคน (คนที่ 3 -4) ก็เข้ามาพยายามจับ พยายามต่อย เตะ จนผมวิ่งเข้าไปในแมคฯ ได้    

วันนั้นตลกมาก! พอไปแจ้งความตำรวจบอกว่าให้ไปเอาไฟล์กล้องวงจรปิดที่แมคฯ  

ตำรวจสั่งให้ไปเอาไฟล์ภาพเอง

ใช่, ตลกมะ (หัวเราะ) ถึงบอกว่าตลกไง 

พอผมมาถึงแมคฯ ปุ๊บ ก็เจอผู้ชายแต่งตัวเหมือนตำรวจนอกเครื่องแบบ 2 คนมาพร้อมกันพอดี
ผมก็เข้าที่เคาน์เตอร์เพื่อขอคุยกับผู้จัดการ เขา 2 คนถึงแสดงตัวว่าเป็น ‘นอกเครื่องแบบ’
แล้วก็พยายามไล่ผมกลับทำนองว่า ‘เฮ้ย น้องกลับไปเถอะ, ไฟล์กล้องวงจรปิดเอาไม่ได้หรอกวันนี้’ 

แม่งไม่ให้ ผมคุยกับผู้จัดการ! บอกผมว่ายังไงวันนี้ก็ยังเอาไฟล์ไม่ได้
อ้างว่าผู้จัดการต้องใช้เวลานานกว่าจะได้ไฟล์ก็วันจันทร์นู่นแหละ
กลับไปพักผ่อนเถอะ เขาพยายามจะไล่กลับเพื่อไม่ให้ผมดูกล้องวงจรปิด

ผมเอะใจมาก เฮ้ย ผมเป็นผู้เสียหายก็มีสิทธิที่จะดูป่ะ! ทำไมถึงไม่ให้ดู ผมก็ยืนยันว่าไม่กลับ ผมจะดู จนเขาต้องดึงตัวผู้จัดการไปคุยกันเอง คุยอะไรก็ไม่รู้ไม่ให้ผมรู้ด้วยนะ สิ่งนี้คือผิดสังเกตมาก หลังจากนั้นผู้จัดการก็หายเข้าไปหลังร้านแล้วไม่ออกมาอีกเลย

ระหว่างนั้นก็พยายามจะไล่ผมกลับตลอด แต่ผมไม่ยอมกลับ จนเขา 2 คนกลับไปเอง พอตำรวจกลับไป ผู้จัดการถึงยอมออกมาคุยกับผม เขารู้สึกว่ามันผิดสังเกตเหมือนกันเลยเป็นเหตุผลที่ผู้จัดการเข้าไปอยู่ข้างหลังร้านไม่ยอมออกมา จนสุดท้ายผมก็ได้ไฟล์กล้องวงจรปิดมา 

ระหว่างที่ยารอไฟล์ภาพอยู่ที่แมคฯ ยานั่งให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่มารอทำข่าวอยู่และไลฟ์สาธารณะด้วย แต่จู่ ๆ ก็มีกลุ่มชายประมาณ 10 คนมารอที่หน้าร้าน โดยมี ‘เต้’ อัคราวุธ ไกรศรีสมบัติ แกนนำกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบัน เข้ามาพยายามชี้แจงว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำร้ายร่างกายยาและร้องขอให้แก้ข่าว

(ภาพที่ ‘เต้’ อัคราวุธ พยายามเข้ามาชี้แจงว่ากลุ่มของตนเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำร้ายยา)

คนที่ตีหัวผมในตอนแรกก็มาด้วย แล้วก็ยืนอยูุ่ในกลุ่มนั้นด้วย ‘ตลอดเวลา’ แต่ตอนนั้นผมจำไม่ได้ สุดท้ายก็มีการทำร้ายร่างกายกันเกิดขึ้นอีก คนที่ตีหัวผมในตอนแรกไปต่อยน้องผู้ชายคนหนึ่ง (ไม่ทราบชื่อ) จนได้รับแผลที่เปลือกตาด้านซ้าย 

สุดท้ายพอเหตุการณ์นี้สงบ ผมก็ไปโรงพัก ผมเลยได้ไปย้อนดูกล้องวงจรปิดถึงรู้ว่า ‘คือคนเดียวกันนี่หว่า’ คนที่ต่อยน้องผู้ชายคือคนเดียวกันกับที่ตีหัวผม ซึ่งแบบเหี้ยมาก พอตีผมเสร็จเขาก็ไป ‘เปลี่ยนเสื้อ’ แล้วก็ย้อนกลับมาอีกทีเพื่อมาบอกว่า ‘พวกผมไม่ได้เป็นคนตีนะ’… 

แล้วที่มันตลกร้ายไปกว่านั้นก็คือ หลังจากนั้นผมกลับไปที่ สน. เขาบอกว่าไม่ได้ส่งตำรวจคนไหนไปที่แมคฯ เลยนะ ซึ่งผมก็งงว่าแล้วนอกเครื่องแบบ 2 คนนั้นพวกเขาเป็นใคร แล้วที่ตลกร้ายไปกว่านั้นอย่างที่ 2 คือจนถึงตอนนี้ 2 ปีแล้ว ‘คดีนี้ยังไม่สิ้นสุดเลย’… 

หลังจากผ่านวันเกิดเหตุในวันที่ 22 เม.ย. 2565 จวนจะครบ 1 ปีแล้ว
แต่เรื่องคดีความทำร้ายร่างกายของยา ที่ สน.ชนะสงครามยังไม่คืบหน้า จนต้องเดินทางไปตามเรื่องด้วยตัวเองและได้พบว่าในตอนนั้นว่าตำรวจเจ้าของสำนวนได้ลาออกไปกว่า 4 เดือนแล้ว คดีจึงไม่มีผู้รับผิดชอบทำต่อ และความล่าช้านี้ก็ได้ถูกเขียนรายงานเป็นข่าวเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มของ Work point Today  

ตอนนั้นพอข่าวออกไปได้ 2 อาทิตย์มั้งคดีขึ้นชั้นศาลเลย ทีนี้คดีไปไวมาก
สรุปว่าคนที่ทำร้ายผมทั้งหมด 3 คน แต่มีหลักฐานเอาผิดแค่ 2 คน คือคนที่ตีผมกับคนที่เข้ามาต่อยผม คนที่ตีผมศาลตัดสินว่าเป็นการกระทำผิดครั้งแรกให้คุมความประพฤติ ส่วนอีกคนหนึ่งที่ต่อยผมมีคดีทำร้ายร่างกายติดตัวอยู่ 10 คดี รวมของผมเป็น 11 คดี ศาลสั่งจำคุกทันที 6 เดือน แต่ว่าเขายื่นขอประกันตัวออกมาแล้วสู้ต่อในชั้นอุทธรณ์

จนถึงทุกวันเนี่ยะ! ศาลอุทธรณ์ยังไม่ตัดสินเลย

จากวันที่ยาถูกรุมทำร้ายจนได้บาดเจ็บหลายจุด ถึงวันนี้กว่า 2 ปีแล้ว 

แต่คดีความยังไม่ถึงที่สุด และคนร้ายยังคงไม่ได้รับโทษที่ก่อไว้ 

ปี 2566 : ถูกตำรวจนับสิบล้อมจับกลางกรุง 
ถูกติดตามถึงคอนโด เพราะถ่ายรูป ‘พ่นสีกำแพงวัง’

ในเหตุการณ์การแสดงออกของ ‘บังเอิญ’ ผ่านการพ่นสีสเปรย์ลงบนกำแพงพระบรมมหาราชวังเป็นข้อความ 112 พร้อมขีดทับ และเครื่องหมายสัญลักษณ์ “อนาคิสต์” เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 ยาเองได้ลงพื้นที่ไปถ่ายภาพในบริเวณนั้นด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นเหตุผลเอาผิดและดำเนินคดีกับทั้งยาและ ‘เป้’ ณัฐพล นักข่าวประชาไท

(ภาพกำแพงพระบรมหาราชวังที่ถูกพ่นสีเสปย์ ถ่ายโดยยา)

เหตุการณ์วันนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง

วันนั้นพอถ่ายรูปเสร็จก็มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ หูว! 10 – 20 คน มาล้อมผมแล้วก็พยายามดึงกล้องไปจากมือผม ทุกคนพูดแต่ว่า เอากล้องมานี่ ๆ, ลบรูปเดี๋ยวนี้! ผมก็พยายามแย้งว่า พี่ไม่มีสิทธิเอาของผมไปนะ  ผมไม่ได้ทำผิดกฎหมายข้อไหน ถ้าผมทำผิดกฎหมายข้อไหนพี่บอกมาเลย แต่เขาก็ตอบไม่ได้ 

เขาล้อมผมตรงแยกศาลหลักเมือง ผมก็พยายามเลี่ยงจนหลุดออกมาได้ คิดว่าต้องออกจากพื้นที่ตรงนั้นให้ได้ คิดจะเดินเลี่ยงไปแถวเสาชิงช้าน่าจะดี แต่ยังเดินไม่ถึงกระทรวงกลาโหมเลย ฝั่งตรงข้ามที่มีป้อมจราจร เหมือนว่านอกเครื่องแบบจะวอไปหา จราจรวิ่งปรี่เข้ามาหาผมเลย จะเข้ามาจับผม แล้วก็ยังมีนอกเครื่องแบบวิ่งมาจากอีกฝั่งอีก 4 คน เข้ามาล้อมผม ล้อมทุกทิศทาง เยอะมาก 

ตอนนั้นเราอยู่ตัวคนเดียวเลย

ใช่, ผมไม่ไหวแล้ว ตอนนั้นคิดว่าต้องไปอยู่ในที่ที่คนเยอะ ๆ เท่านั้น เพราะไม่รู้ว่าเขาจะอุ้มหรือจะทำอะไรผมรึเปล่า ทีนี้ถนนฝั่งตรงข้ามรถกำลังติดไฟแดงพอดี ตอนนั้นมันช่วงประมาณ 6 โมงเย็น รถติดมาก ผมตัดสินใจวิ่งข้ามไปยืนหน้ารถเมล์เลย ยืนอยู่กลางถนนเลย

ยาและตำรวจประจันหน้ากันแบบ 1 ต่อ 20 ถึงอย่างนั้นยาก็พยายามอย่างถึงที่สุดที่จะปกป้องกล้องถ่ายภาพที่เป็นทรัพย์สินของตัวเอง รวมถึงความปลอดภัยของชีวิต ท่ามกลางความงุนงงว่าทำผิดกฎหมายข้อไหน การปะทะด้วยวาจาดำเนินไปเกือบ 15 นาที สุดท้ายตำรวจถึงยอมล่าถอยเพราะเห็นแก่การจราจรที่ติดงักและเสียงบีบแตรดังระงม

อย่างไรก็ตาม ตำรวจยังไม่เลิกติดตามยาโดยทันที เขายังถูกติดตามไปจนถึงศาลฎีกา ณ เวลาซึ่งกลุ่มคนที่ยืนหยุดขังไม่มีใครเหลืออยู่แล้ว เพราะตามไปหาหยกที่ถูกจับกุมไป สน.พระราชวัง ตามหมายจับในคดี ม.112 

ทำให้เกิดการล้อมของเจ้าหน้าที่อีกครั้ง แต่ในที่สุดยาก็ฝ่าวงล้อมออกมาได้

ผ่านไปประมาณ 6 วัน ประมาณวันที่ 4 เม.ย. 2566 ยาสังเกตว่าเหมือนจะมีตำรวจนอกเครื่องแบบมาเฝ้าที่คอนโด เพราะรู้สึกเอะใจกับรถยนต์ที่ไม่คุ้นตา แต่จะจอดแช่อยู่ใต้คอนโดในโซนสำหรับให้รถส่งของและอาหารจอดเพียงชั่วครู่ 

ช่วงนั้นทำงานทุกวัน ออกเช้ากลับมืดก็ยังเจอ ‘รถคันเดิม’ จอดที่เดิมติดกันประมาณ 2-3 วัน เราก็รู้สึกว่ามันเริ่มผิดสังเกตแล้ว 

จนวันที่ 4 ยามมากระซิบบอกว่า เห้ย! น้องมีตำรวจมาเฝ้านะรู้ตัวมั้ยเนี่ย, เราก็ตกใจว่าทำไมเขาถึงรู้ เราเลยตัดสินใจไปแจ้งความใน สน.พื้นที่ ผมบอกว่าใครไม่รู้มาเฝ้าและมาแอบถ่ายรูป แต่เขาไม่รับแจ้งความ  เขาบอกว่าแจ้งความไม่ได้ เพราะเขาแค่มาเฝ้ายังไม่ได้ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย, ตลกปะ … ยายิ้มหน้าเจื่อน ๆ 

อย่างไรก็ตาม ตำรวจยอมออกให้เพียง ‘บันทึกประจำวัน’ เท่านั้น ยาใช้สิ่งนี้เป็นหลักฐานเพื่อขอดูไฟล์ภาพวงจรปิดกับนิติคอนโด เมื่อได้คุยกันถึงได้รู้ว่าตำรวจบุกมาที่คอนโดของยาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. หรือเพียง 3 วันหลังลงพื้นที่ถ่ายภาพพ่นสีกำแพงวัง

นิติของคอนโดเล่าให้ฟังว่า ตำรวจมาครั้งแรกเพื่อนำจดหมายขอความร่วมมือ ซึ่งออกโดยกองบังคับการตำรวจนครบาล 5 มาเจรจากับนิติฯ ให้ร่วมมือในการให้ข้อมูลส่วนตัวของยาทุกอย่างกับเจ้าหน้าที่ รวมถึงให้พาเจ้าหน้าที่ขึ้นไปที่ห้องพักของยาด้วย

นิติฯ เป็นผู้หญิงหมดเลย พวกเขาก็กลัวกันมาก แต่เขาก็ยังยืนยันตามกฎหมายว่าให้ข้อมูลของผมไม่ได้ ถ้าอยากได้ต้องเอา ‘หมายศาล’ มาเท่านั้น แล้วตำรวจก็ขู่จะดำเนินคดีกับนิติด้วยนะ ซึ่งนิติก็ไม่ยอม จนตำรวจเขาก็บอกว่าพรุ่งนี้จะมาใหม่พร้อมกับหมายศาล

วันที่ 2 เม.ย. ตำรวจก็มาอีกตามที่บอกไว้ แต่ก็ยังไม่มีหมายศาลมาด้วย นิติก็ไม่ยอมให้ความร่วมมืออีก สุดท้ายนิติก็เลยทำได้เต็มที่คือการขึ้นไปถ่ายรูปหน้าห้องผมแล้วก็ส่งให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งผมก็คิดว่าไม่เป็นไร มันเป็นความพยายามหาทางออกที่ดีที่สุดแล้วสำหรับพวกเขาในตอนนั้น 

หลังจากที่ยาไปพบกับนิติคอนโดและได้รับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดแล้ว หลังจากนั้นอีกประมาณ 1 สัปดาห์ต่อมา ยาก็เจอว่ามีชายคล้ายเจ้าหน้าที่ที่มักมาติดตามเฝ้าที่คอนโดคนเดิมกลับมาอีกครั้ง มาถ่ายรูปยาตอนขับรถเข้าจอด ตอนยาเดินเข้าประตูลิฟต์เลยพยายามถือกล้องถ่ายรูปเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวกลับบ้าง เพื่อพยายามสื่อสารว่า ‘ฉันรู้ตัวแล้วนะ’

พอเขารู้ว่าเราถ่ายรูป เขาไม่พอใจมาก แม่งเดินเข้ามาเลย ผมเข้าลิฟต์ไม่ทัน เขาเลยเข้ามาประชิดพอดี เข้ามาหาเรื่องเลย ด่าเราว่าถ่ายรูปเขาทำไม เขาพยายามทำตัวเหมือนว่าเป็นคนธรรมดา เป็นผู้เช่า จนสุดท้ายเถียงสู้ผมไม่ได้ เขาก็เลยยอมแสดงตัวว่าเป็น ‘เจ้าหน้าที่’ แล้วก็ยังพยายามบ่ายเบี่ยงด้วยการหาเรื่องผมต่อ ตอนนั้นผมเลยยกกล้องอัดคลิปไว้ มันมีจังหวะหนึ่งที่เขาพยายามเอาลิ้น ‘เลีย’ กล้องผม และไม่ยอมหยุดจนผมต้องกดไลฟ์สด

พอเห็นผมไลฟ์สดเขาแม่งถอยเลย

หลังจากนั้นอีก 2-3 วัน ยาสังเกตได้อีกว่าที่เสาไฟฟ้าถนนบริเวณหน้าคอนโดมีการติดกล้องวงจรใหม่อีก 2 ตัว กล้องหันหน้าเข้าหาทางเข้า – ออกหลักของคอนโด ซึ่งไม่แน่ใจเหมือนกันเกี่ยวข้องกับการติดตามสอดแนมของเจ้าหน้าที่หรือไม่ 

ปี 2567 Part 1: คดีแรกในชีวิตช่างภาพข่าว
ถูกจับ ขังคุก 1 คืน เพราะ ‘ถ่ายภาพ’ พ่นสีกำแพงวัง

จากการลงพื้นที่ถ่ายภาพและทำข่าวนักกิจกรรมแสดงออกด้วยการพ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว ในต้นปี 2566 ยาและเป้ไม่เคยรู้ตัวเลยว่าการปฏิบัติหน้าที่ ‘คนข่าว’ ครั้งนั้นทำให้พวกเขาถูกดำเนินคดีฐาน ‘เป็นผู้สนับสนุนฯ’ ทำลายโบราณสถานและพ่นสีกำแพงที่สาธารณะ และศาลได้ออกหมายจับแล้วตั้งแต่ 22 พ.ค. 2566 โดยไม่เคยมีการออกหมายเรียก และไม่เคยมีการติดต่อจากตำรวจให้ทั้งสองคนไปรับทราบข้อกล่าวหาเลย

กระทั่งหลังเกิดเหตุการณ์ที่ ‘ตะวัน’ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ ‘แฟรงค์’ ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ถูกกล่าวหาว่าบีบแตรใส่ขบวนเสด็จ ซึ่งไม่กี่วันต่อมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้ทวีตข้อความผ่านเอกซ์ในวันที่ 12 ก.พ. 2567 ว่า “ผมและคณะรัฐมนตรีไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง และขอให้มีบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อปกป้องสถาบันฯ ครับ” และในวันเดียวกันนั้นยาและเป้ก็ถูกจับกุมทันทีด้วยคดีที่ไม่เคยรู้ว่ามีมาก่อน

เล่าเหตุการณ์วันที่ถูกจับให้ฟังหน่อย

เรารู้สึกตัวว่ามีตำรวจตามตอนนั่งอยู่ร้านกาแฟ เราสังเกตเห็นว่ามีรถคันเดิม คนขับคนเดิมขับผ่านหน้าร้านประมาณ 3 รอบแล้ว เราเห็นท่าไม่ดีเลยจะกลับ ระหว่างทางแวะคุยมือถือพอดีที่แถวหน้าร้านข้าวมันไก่ หน้าวัดสุทธิวราราม ตำรวจก็บุกมาจับเราเลย คนแถวนั้นเขาก็ออกมามุงดูกันเต็มเลย

ตอนนั้นเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 5-6 คนได้ เริ่มจาก 1 คนขับมอเตอร์ไซค์มาดึงกุญแจรถผมออก แล้วทีเหลืออีกประมาณ 3 คนวิ่งมาสมทบ เหมือนว่านั่งซุ่มอยู่แถวนั้นอยู่แล้ว แล้วทุกคนก็มาล้อมผมไว้ จากนั้นก็มีรถเก๋งขับมาจอดประกบข้างอีกคัน แล้วอีกสักพักก็มีรถกระบะตำรวจมาอีกเพิ่มคันหนึ่ง  

ตำรวจเล่นใหญ่ไปไหม

ใช่ ใช่! คนตรงนั้นคงต้องคิดว่าผมค้ายา 

พอไปถึง สน.พระราชวัง คนคุ้มกันก็เยอะมาก เกือบ 30 คนได้ยืนเรียงกันหน้า สน. พอผมเห็น ผมก็ถามเขาว่า ‘นี่พี่ทำเพื่อผมเหรอเนี่ย, พี่ทำเพื่อผมขนาดนี้เลยเหรอ’ (หัวเราะ) แสดงว่าเขาวางแผนตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะจับเราสองคนวันนี้ การที่เขาเล่นใหญ่ขนาดนี้ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเพื่อให้สังคมเข้าใจคดีนี้ว่า ‘มันร้ายแรง’ 

(ภาพบรรยากาศการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พระราชวัง ในวันที่ยาและเป้ถูกจับกุม)

แต่สิ่งที่ร้ายแรงจริง ๆ คือ กระบวนการยุติธรรมที่ละเมิดสิทธิและเต็มไปด้วยคำถามถึงการบังคับใช้ เริ่มจากเหตุคดีนี้เกิดตั้งแต่ปี 2566 แต่ตำรวจไม่เคยเรียกยาและเป้ไปเพื่อสอบถามอะไรเลย หมายจับออกโดยศาลอาญาตั้งแต่ปี 2566 เช่นกัน แต่อยู่ ๆ กลับมีการจับกุมในปี 2567 ในสถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจงกับกระแสข่าวทางการเมือง และชั้นจับกุมตำรวจยืนยันหนักแน่นที่จะไม่ให้ประกันตัว ในคืนนั้นยังส่งยาไปขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง ซึ่งห่างไกลออกไปเกือบครึ่งชั่วโมงและไม่ใช่ สน. ในพื้นที่เกิดเหตุด้วย 

(ภาพจาก นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

กระบวนการชั้นจับกุมที่ สน.พระราชวัง ลิดรอนสิทธิทุกอย่าง ยาบอก

ผมเพิ่งมารู้ตอนหลังว่าผมมีสิทธิมากกว่าแค่ได้เจอทนาย แต่เขาไม่ให้สิทธิอะไรผมเลย แม้กระทั่งคนไว้วางใจก็ไม่บอกว่าสามารถให้พาเข้ามาได้ หัวหน้าผมที่ออฟฟิศที่ตามมาตอนแรกเขาก็จะไม่ให้เข้า ต้องร้องขอกันอยู่นานเขาถึงจะยอมให้เข้า ผู้กำกับ สน.พระราชวัง ออกมาพูดกับผมว่า ‘ตอนนี้คุณเป็นผู้ต้องหานะคุณไม่มีสิทธิอะไรสักอย่าง’ แต่ที่จริงผมมีสิทธิตามกฎหมายทุกอย่าง

แล้วอีกวัน (13 ก.พ. 2567) ที่ต้องไปศาลก็ตลก! ผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์มาใช่มั้ยเพื่อไต่สวนการฝากขัง แล้วทนายขอคัดค้านการฝากขัง แต่ผู้พิพากษาขึ้นมาแล้วก็พูดสั้น ๆ แค่ว่า ‘ไม่อนุญาตให้คัดค้านการฝากขังค่ะ’ … แล้วก็ลุกไปเลย ทนายกำลังจะลุกขึ้นพูด แต่เขาไม่ฟังอะไรเลย

ทีนี้ก็เลยต้องรอประกันตัวจนถึงเย็น เท่ากับ 2 วันที่ผมไม่ได้เล่นโทรศัพท์เลย 

เป็นครั้งแรกที่นั่งรถห้องขัง ครั้งแรกที่นอนคุก ไม่เคยเจอเรื่องพวกนี้เลย ตอนนั้นนอนมองลูกกรงแล้วก็คิดว่าแบบ ไอเหี้ย, เราแม่งมาถึงขนาดนี้เลยเหรอว่ะ มาถึงจุดนี้ได้ยังไง ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะมาถึงจุดนี้ เราคิดมาตลอดว่าเราทำหน้าที่ วางตัวชัดเจน ไม่เคยทำอะไรที่ล้ำเส้นเลย…

ตอนที่ถูกขังอยู่ที่ สน.ทุ่งสองห้อง ไม่ได้รู้สึกแย่มาก มันมารู้สึกแย่มากตอนที่อยู่ในห้องขังใต้ถุนศาล หลังจากที่ศาลไม่อนุญาตให้คัดค้านการฝากขัง หลังจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่จากเรือนจำพาไปพิมพ์ลายนิ้วมือ ฝากของอะไรเสร็จหมดแล้ว 

ตอนนั้นความรู้สึกมันแย่มากนะ พอพวกเราเข้ามาทำงานเกี่ยวกับม็อบเยอะ ๆ เราคุยกันเสมอว่า สมมุติถ้าวันหนึ่งโดนจับขึ้นมาด้วยสาเหตุอะไรก็ไม่รู้แหละ จะรับกันได้มั้ย, ผมก็พูดกับเพื่อนว่า ‘รับได้’ เพราะชีวิตก่อนหน้านี้ของเราก็ไม่ได้สบาย คิดว่าแค่ติดคุกก็คงเอาตัวรอดได้, สบาย … 

แต่พอมาถึงจุดนั้นจริง ๆ โห! มันแย่มากนะ ในหัวมันจะเสียงอยู่เสมอว่า กูไม่ได้ทำอะไรผิด ทำไมต้องมาเจออะไรแบบนี้ ทำไมต้องมาทำอะไรแบบนี้กับเราด้วย แต่สุดท้ายศาลก็ให้ประกัน

(ภาพจาก ธนัญชัย แก้วโสวัฒนะ / เอพี)

ปี 2567 Part 2 : คดีที่ 2 ในชีวิตช่างภาพข่าว
ถูก สว.ฟ้องหมิ่นประมาท หลังตามถ่ายกิจกรรมให้ สว. เคารพเสียง ปชช.

หลังจากได้รับการประกันจากศาลในคดีความแรกของชีวิต เพียง 1 สัปดาห์เศษต่อมาในวันที่ 22 ก.พ. ที่ผ่านมา ทั้งยาและเป้ก็ได้รับหมายเรียกคดีที่ 2 โดยมี สว.เสรี สุวรรณภานนท์ กล่าวหาในข้อหา ‘ร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา’ จากการลงพื้นที่ตลาดเสรี 2 เพื่อเกาะติดทำข่าวและถ่ายภาพการทำกิจกรรมของกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ซึ่งเรียกร้องวุฒิสภาโหวตนายกฯ ตามเสียงของประชาชน เมื่อ ส.ค. 2566

คดีนี้เราเห็นโพสต์เชิญชวนบนเฟซบุ๊กก็เลยตามไปถ่ายรูป วันนั้นระหว่างที่เราตามถ่ายรูปเก็ทกับเพื่อน ๆ ทำกิจกรรมก็มีเจ้าหน้าที่ของตลาดมาถ่ายรูปและถ่ายวิดีโอเก็บไว้ ทั้ง ๆ ที่ผมกับพี่เป้ก็แสดงตัวชัดเจนนะว่าเราเป็นสื่อ ขอไม่ให้ถ่ายติดหน้าเราได้ไหม แต่เขาก็ไม่ฟัง แถมยังถ่ายรูปบัตรเราไปด้วย 

สุดท้ายหลังเสร็จกิจกรรมตำรวจก็มา เจ้าหน้าที่ตลาดก็ยังโวยวาย จะให้ตำรวจจับพวกเราตรงนั้นเดี๋ยวนั้นเลย ซึ่งเขานับรวมผมกับพี่เป้ไปด้วย ซึ่งเราทั้งสองคนก็บอกไปอีกว่า เฮ้ย! ไม่เกี่ยวกับพวกเรานะ พวกเราแค่มาทำงาน

ตำรวจที่ยืนตรงนั้นเขาก็ยังเข้าใจ เขาก็เห็นด้วยว่าพวกเรามาทำงาน บอกว่าเราเป็นสื่อ เราไม่ได้เกี่ยว ซึ่งคืนนั้น สว.เสรี ก็โพสต์เฟซบุ๊กว่า จะดำเนินคดีกับ ‘กลุ่มคนพวกนี้ 6 คน’ ซึ่งอ้าว! กลายเป็นว่านับรวมผมกับพี่เป้ไปด้วยซะงั้น โพสต์แขวนรูปพวกเราด้วยเรียบร้อย 

(ภาพจากประชาไท)

ทำไมวันนั้นมีสื่อแค่ 2 คนที่ถูกดำเนินคดี

ที่สื่อโดนกัน 2 คนเพราะไม่มีสื่อไหนไปเลย และไม่ใช่แค่กิจกรรมครั้งนี้ที่ไม่มีสื่อไป แต่มีหลายกิจกรรมที่ไม่มีสื่อไปตามเลย เท่าที่เห็นก็มีแค่ประชาไท 

ต้องยอมรับตามตรงว่าม็อบหรือกลุ่มการเคลื่อนไหวไม่ได้เป็นที่จับตาขนาดนั้นแล้ว ‘ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ’ คนเคลื่อนไหวเองก็มีน้อยลง สื่อเองก็ไม่ได้ให้ความสนใจตามขนาดนั้นแล้ว แต่ด้วยความที่ผมตามมาตั้งแรก ผมก็อยากจะตามต่อเท่าที่ไหว 

ความจริงเรื่องที่ 5
เสรีภาพของสื่อแปรผันตามประชาธิปไตย

วันนี้เชื่อว่าหลายคนรู้จัก ‘ยา’ กันบ้างแล้ว ในฐานะสื่อมวลชนที่ได้ชื่อว่าถูกจับกุมและดำเนินคดีในยุครัฐบาลเศรษฐา (ด้วยเหตุตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา) และเชื่อว่าหลายคนก็พอจะจำได้ว่าหนึ่งในผลกระทบที่ยาได้รับหลังถูกจับกุมและดำเนินคดีแรกในชีวิต นั่นคือ การที่สำนักข่าวต้นสังกัดออกประกาศสาธารณะขึ้นจั่วหัวว่า “อย่าเอาสื่อไปรับใช้จุดยืนทางการเมืองส่วนตัว” มีสาระคำสัญสั่งให้หยุดงานเป็นเวลา 5 วัน ตั้งแต่ 14 – 18 ก.พ. 2567 

(แถลงการณ์สั่งให้ยาหยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยบริษัทเดอะสเปซบาร์)

ปัจจุบันยายังคงเป็นช่างภาพข่าวที่สำนักข่าวแห่งเดิม แต่ถูกโยกย้ายจากโต๊ะ ‘การเมือง’ ไปทำงานโต๊ะ ‘บันเทิงและไลฟ์สไตล์’ แทนอย่างถาวร ซึ่งยาบอกว่าไม่ใช่ประเภทงานที่เขาถนัดเอาซะเลย นอกจากนี้เขายังยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ผลพวงจากคดีความยังกระทบไปถึงชีวิตในอีกหลายมิติอย่างเลือกไม่ได้ 

อย่าเอาสื่อไปรับใช้จุดยืนทางการเมืองส่วนตัว

‘สื่อ’ ในความหมายของยามีหน้าที่อะไร

สำหรับผมมันเป็นแค่ง่าย ๆ เลย อย่างที่บอกว่า ‘คน’ กับ ‘รัฐ’ มันไม่เท่ากันอยู่แล้ว เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ ว่ารัฐอยู่ในที่สว่าง ใครก็สามารถมองเห็นได้ รัฐทำอะไรก็ตามคนจะเห็นได้ง่ายและชัดเจนอยู่แล้ว แต่กับประชาชนมันมีอยู่หลายที่ อยู่ในลึบ ในเงา เราเป็นสื่อเรามีพาวเวอร์ช่วยให้คนในเงาได้ถูกมองเห็น เราต้องส่องแสงให้คนที่อยู่ในมุมมืดให้ได้รับแสงสว่าง แค่นั้นเอง 

เรื่องสื่อคนจะชอบบอกว่าจะต้องวางตัว ‘เป็นกลาง’ เท่านั้น เรื่องนี้สำหรับคนอื่นผมไม่รู้ว่าเขาจะคิดกันยังไงนะ แต่สำหรับผมสื่อไม่จำเป็นต้องเป็นกลาง ไม่มีใครเป็นกลางอยู่แล้ว แต่สื่อต้องนำเสนอข่าวตามความจริง ไม่บิดเบือนความจริง ความจริงคืออะไร คุณนำเสนอแค่นั้น สิ่งนั้นคือหน้าที่ของสื่อ 

เสรีภาพของสื่อในประเทศ

ถามว่ามีมากมั้ย ผมว่ามันมีมาก แต่ไม่ได้ถึงกับมากพอ ถ้าคะแนนเต็ม 10 เสรีภาพของสื่อมวลชนในประเทศนี้อาจจะอยู่แค่ประมาณ 7 แค่นั้นเอง มันไม่ได้มากไปกว่านั้น 

อีก 3 คะแนนที่หายไป รัฐช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง

จริง ๆ ไม่ต้องซัพพอร์ทเราก็ได้ รัฐบาลแค่ตั้งมายด์เซ็ทตัวเองใหม่ก็พอว่า ‘สื่อทำหน้าที่เป็นสื่อ’ ทุกวันนี้รัฐบาลยังไม่มีมายด์เซ็ทแบบนี้เลย เราเป็นสื่อมีหน้าที่แค่รายงานสิ่งที่เกิดขึ้น แค่สังเกตการณ์เรื่องข้างหน้าเท่านั้นเลย

ผมว่าสิ่งเหล่านี้มันควบคู่กับเรื่องประชาธิปไตย ประชาธิปไตยประเทศเรายังไม่มีเลย เพราะฉะนั้นมายด์เซ็ทพวกนี้เจ้าหน้าที่เขาก็จะไม่มีแน่นอน เพราะเขาตั้งธงว่าสื่อเป็นคู่ขัดแย้งของเขาเสมออยู่แล้ว ตราบใดที่ประชาธิปไตยยังไม่เต็มใบ สิทธิเสรีภาพมันก็คงจะร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ยาก …

(ภาพจากไข่แมวชีส)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

นักข่าวประชาไท – ช่างภาพอิสระ ถูกจับนอน สน. 1 คืน เหตุทำข่าวพ่นสีกำแพงวัง แจ้งข้อหาสนับสนุนให้โบราณสถานเสียหาย ก่อนศาลให้ประกันตัว

“เป้ ประชาไท-ยา ช่างภาพ” ถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาท ‘สว.เสรี’ กรณีไปทำข่าวนักกิจกรรมติดใบปลิวเรียกร้อง สว. ฟังประชาชน

X