จากทหารห้ามจำหน่ายหนังสือ “จำนำข้าว” ถึงคำถามเรื่องการใช้อำนาจปิดกั้นเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์

หลังจากที่วานนี้ (11 มิ.ย. 60) นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่าได้มีเจ้าหน้าที่ทหารจำนวน 8 นาย จากกองทัพภาคที่ 2 เดินทางไปที่บ้าน เพื่อนำ 4 คำถามของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปให้ตอบ ทั้งที่มีการเปิดให้ตอบคำถามอยู่แล้วที่ศูนย์ดำรงธรรม

เช้าวันนี้ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้ชี้แจงต่อสื่อมวลชนถึงเรื่องดังกล่าว ว่าเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยทหารไปพบนายยุทธพงศ์จริง แต่เป็นเรื่องของการเผยแพร่หนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ค “ทำลายจำนำข้าว แต่ฆ่าชาวนา” ที่ทางคสช.เคยห้ามแจกจ่ายเมื่อช่วงปลายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา โดยนายยุทธพงศ์เป็นหนึ่งในผู้เขียน ทางทหารร่วมกับเจ้าหน้าที่ของจังหวัดจึงไปขอร้องและเชิญมาพูดคุยในเรื่องนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องคำถาม 4 ข้อแต่อย่างใด โดยผบ.ทบ.ยังย้ำว่าหนังสือดังกล่าว ทางคสช.เคยให้ระงับการแจกจ่ายไปแล้ว

ทหารปิดกั้นงานเปิดตัวหนังสืออย่างน้อย 2 ครั้ง และยังคลุมเครือว่ามีการห้ามจำหน่ายหรือไม่

สำหรับหนังสือ “ทำลายจำนำข้าว แต่ฆ่าชาวนา” เป็นประเด็นที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารติดตามปิดกั้นการเผยแพร่ หรือการจัดกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับหนังสือตลอดสองสามเดือนที่ผ่านมา โดยหนังสือเล่มดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นนโยบายในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมถึงผลกระทบที่ชาวนาได้รับเมื่อไม่มีโครงการดังกล่าว หนังสือมีผู้เขียนเป็นอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย ทั้งหมด 5 คน ได้แก่ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร, นายสุรสาล ผาสุข, นายสมคิด เชื้อคง, นายสุชาติ ลายน้ำเงิน, นายนิยม ช่างพินิจ

ในการจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ เมื่อวันที่ 25 มี.ค.60 เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้อ้างอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการชุมนุมทางการเมือง เพื่อสั่งให้ผู้จัดยกเลิกการแถลงข่าวที่สวนวชิรเบญจทัศหรือสวนรถไฟ โดยระบุว่ากิจกรรมดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการเมือง จึงจะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับดังกล่าว

ต่อมา วันที่ 29 เม.ย. ยังได้มีเจ้าหน้าที่ทหารไปขอให้ทางห้างสรรพสินค้ายกเลิกการให้ใช้พื้นที่เปิดตัวหนังสือที่บริเวณร้านซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ สาขาไชยแสง จังหวัดสิงห์บุรี ทั้งยังมีการใช้กำลังทหารตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบคุมพื้นที่ด้านในและนอกห้างสรรพสินค้า

ภาพการเข้าปิดกั้นงานเปิดตัวหนังสือที่จังหวัดสิงห์บุรี (จาก Kittiratt Na Ranong)

นอกจากนั้น ยังมีการบุกเข้าตรวจค้นบ้านของผู้เขียนหนังสือ โดยเมื่อวันที่ 27 พ.ค. ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารพร้อมอาวุธครบมือเข้าตรวจค้นบ้านที่จังหวัดลพบุรีของนายสุชาติ ลายน้ำเงิน อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย ผู้เขียนหนังสือ ก่อนที่จะมีการยึดหนังสือเรื่องจำนำข้าวดังกล่าว จำนวนทั้งหมด 190 เล่มไปด้วย โดยไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจใดในการตรวจค้นและยึดหนังสือดังกล่าว

ขณะเดียวกัน หลังหนังสือเริ่มวางขายในช่วงกลางเดือนเมษายน ทางฝ่ายอดีตส.ส.ได้ระบุว่ามีการห้ามวางจำหน่ายหนังสือเล่มนี้ในร้านหนังสือหลายสาขา  แต่ทางผู้จัดการฝ่ายการตลาดของร้านหนังสือซีเอ็ดได้ระบุเมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้ ว่าไม่ได้มีการห้ามขายหนังสือเล่มดังกล่าวแต่อย่างใด แต่เกิดจากการที่ไม่ได้สต๊อกสินค้าไว้เยอะ ทำให้ไม่มีวางจำหน่ายในบางสาขา หากทางซีเอ็ดก็ยอมรับว่าเคยมีการขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ห้ามไม่ให้จัดงานเปิดตัวหนังสือที่จังหวัดสิงห์บุรีมาแล้ว

 

คำถามเรื่องการใช้อำนาจห้ามเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์

จากรายงานข่าว จนกระทั่งทางผบ.ทบ. ระบุว่าเคยให้ระงับการแจกจ่ายไปแล้ว จึงไม่ปรากฏชัดว่าเจ้าหน้าที่มีการใช้อำนาจตามกฎหมายใดในการห้ามจำหน่ายจ่ายแจกหนังสือ แม้จะมีการอ้างคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ในการห้ามจัดกิจกรรมเปิดตัวหนังสือก็ตาม แต่คำสั่งดังกล่าวก็ไม่ได้ให้อำนาจที่เกี่ยวข้องกับการห้ามเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์แต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้ โดยปกติ การจะสั่งห้ามเผยแพร่หนังสือหรือสื่อสิ่งพิมพ์ ตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 จะให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจออกคำสั่ง โดยกำหนดกรอบเนื้อหาสิ่งพิมพ์ที่จะออกคำสั่งห้ามว่าเป็น “สิ่งพิมพ์ใด ๆ ที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือจะกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” ทั้งยังกำหนดให้มีการประกาศคำสั่งห้ามเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา และให้อำนาจผบ.ตร.มีอำนาจริบและทำลายหนังสือที่ถูกสั่งห้ามดังกล่าว

ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 22 พ.ค.57 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้เคยมีการอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ดังกล่าว ออกคำสั่งเรื่องการห้ามสั่งเข้าหรือนำเข้าสิ่งพิมพ์เพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักร มาแล้ว 3 ฉบับ โดยทั้งหมดเป็นสิ่งพิมพ์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้แก่ หนังสือ A Kingdom in Crisis (คำสั่งสตช.ที่ 609/2557 ลงวันที่ 11 พ.ย.57), นิตยสารภาษาฝรั่งเศสชื่อ Marie Claire ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2558 (คำสั่งสตช.ที่ 156/2559 ลงวันที่ 16 มี.ค.59) และบทความ “Thailand : Colossally Popular” จากหนังสือ The New Age of the Kings: Modern Monarchies In Malaysia and the World (คำสั่งสตช.ที่ 196/2559 ลงวันที่ 4 เม.ย.59)

หนังสือ A Kingdom in Crisis ซึ่งถูกห้ามนำเข้าเผยแพร่ในราชอาณาจักรหลังรัฐประหาร

ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ยังเคยมีรูปแบบการห้ามเผยแพร่หนังสือในลักษณะอย่างไม่เป็นทางการ อาทิเช่น กรณีหนังสือ A Coup for the Rich ที่ไม่เคยมีการออกประกาศเป็นทางการในราชกิจจานุเบกษา แต่เมื่อปี 2551 กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้เคยออกหนังสือเรื่องการขอความร่วมมือให้งดจำหน่าย ส่งถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อให้ศูนย์หนังสือของมหาวิทยาลัยหยุดขายหนังสือดังกล่าว โดยอ้างว่ามีเนื้อหาดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์

นอกจากพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ดังกล่าวแล้ว หลังการรัฐประหาร 2557 นี้  คสช.ยังมีการออกประกาศหลายฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสื่อต่างๆ โดยเฉพาะประกาศคสช.ฉบับที่ 97/2557 ที่ระบุห้ามบุคคลและสื่อทุกประเภทสัมภาษณ์นักวิชาการ อดีตข้าราชการ และองค์กรอิสระ ในลักษณะที่อาจขยายความขัดแย้งหรือนำไปสู่ความรุนแรง และยังห้ามการวิพากษ์ วิจารณ์การปฏิบัติงานของคสช. และบุคคลที่เกี่ยวข้อง หากฝ่าฝืนให้ระงับการจำหน่าย จ่าย แจก หรือเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์ได้ทันที

แต่เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์และคัดค้านจากสมาคมวิชาชีพสื่อ ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีการออกประกาศคสช.ฉบับที่ 103/2557 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศฉบับที่ 97 ดังกล่าว โดยเปิดให้สื่อวิจารณ์การทำงานของ คสช. ได้บ้าง แต่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์โดยมีเจตนาไม่สุจริต เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของคสช. ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ และแก้เรื่องการระงับการเผยแพร่ได้ทันที เป็นให้พนักงานเจ้าหน้าที่อาจส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพดําเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแทน ตามประกาศคสช.ฉบับนี้ จึงไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารสั่งระงับการจำหน่ายหรือเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์ได้ทันที

แม้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ามีการอ้างอำนาจตาม “กฎหมาย” ใดหรือไม่ในการสั่งห้ามการเผยแพร่หรือจำหน่ายหนังสือ “ทำลายจำนำข้าว แต่ฆ่าชาวนา” แต่สถานการณ์ที่คสช.และเจ้าหน้าที่กล่าวอ้างอำนาจอย่างคลุมเครือ กว้างขวาง ไม่มีความชัดเจน และตรวจสอบไม่ได้ แม้แต่การใช้ประกาศคำสั่งที่ออกมาโดยคณะรัฐประหารเองก็ตาม ก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ.2560 จะรองรับสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้อย่างไรก็ตาม

 

X