44 Power : ไม่ใช่แค่ คสช. ที่มีอำนาจโดยปราศจากความรับผิด กสท. ก็เช่นกัน

44 Power : ไม่ใช่แค่ คสช. ที่มีอำนาจโดยปราศจากความรับผิด กสท. ก็เช่นกัน

27 มี.ค. 2560 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้มีมติพักใช้ใบอนุญาตประกอบกิจการของสถานีโทรทัศน์ VOICE TV เป็นระยะเวลา 7 วัน นับตั้งแต่เวลา 00.00 น.ของวันที่ 28 มี.ค. 2560 เนื่องจาก กสท. พบการกระทำที่ขัดกับ มาตรา 37 พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551, ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 103/2557 จากการเผยแพร่เนื้อหา 3 รายการ คือ

1.รายการใบตองแห้งออนแอร์ ตอน จากธัมมี่ถึงทักกี้ประเทศนี้ยังปรองดองได้อยู่หรือ

2.รายการ In Her View ตอน ไล่เรียงเหตุการณ์จังหวะแห่งข่าวโกตี๋กับอาวุธพร้อมแถลงการณ์แผนลอบสังหาร

3.รายการ Overview ตอน ยันกองทัพป้องทหารยังยิงทิ้งเด็กลาหู่ถูกต้องทุกกรณี

  • คสช. หรือ กสท. ที่จำกัดเสรีภาพสื่อ ?

แม้เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2560 ที่ผ่านมา พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกมายืนยันว่าการปิดสถานีโทรทัศน์ Voice TV ไม่เกี่ยวกับ คสช. แต่เมื่อพิจารณาจากคำร้องที่มาจากคณะทำงานติดตามสื่อ ส่วนงานรักษาความสงบเรียบร้อย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และที่มาของเงื่อนไขที่ กสท. ใช้พิจารณาว่ารายการดังกล่าวมีเนื้อหาที่มี “ผลกระทบต่อความมั่นคง” นั้น ย่อมเกี่ยวข้องกับ คสช. อย่างไม่อาจปฏิเสธได้

ภายหลังการรัฐประหาร คสช. ได้เข้ามามีบทบาทในการควบคุมสื่ออย่างเข้มข้น ผ่านประกาศ คสช. หลายฉบับ (ดูข้อมูลและขั้นตอนการปิดกั้นเนื้อหาในสื่อโทรทัศน์ภายใต้ยุคคสช.) โดย กสท. กลายเป็นองค์กรที่เข้ามามีบทบาทตรวจสอบเนื้อหา ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ และประกาศ คสช. ฉบับที่ 103/2557 ซึ่งยังมีผลบังคับใช้อยู่  โดยประกาศดังกล่าว กำหนดให้สื่อมวลชนทุกประเภทงดเว้นการนําเสนอข้อมูลข่าวสารในลักษณะ

(1) ข้อความอันเป็นเท็จ หรือที่ส่อไปในทางหมิ่นประมาท หรือสร้างความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ องค์รัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์

(2) ข่าวสารที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ รวมทั้งหมิ่นประมาทบุคคลอื่น

(3) การวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อทําลายความน่าเชื่อถือของคณะรักษาความสงบแห่งชาติด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ

(4) ข้อมูลเสียง ภาพ วีดิทัศน์ ความลับของการปฏิบัติงานของหน่วยราชการต่าง ๆ

(5) ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร

(6) การชักชวน ซ่องสุม ให้มีการรวมกลุ่มก่อการอันเกิดการต่อต้านเจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

(7) การขู่จะประทุษร้ายหรือทําร้ายบุคคล อันนําไปสู่ความตื่นตระหนก หวาดกลัวแก่ประชาชน

และในกรณีที่ปรากฏว่าบุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่อาจส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก ดําเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ

ซึ่ง “องค์กรวิชาชีพ” ในกรณีนี้คือ กสท. นั่นเอง โดยอำนาจหลักที่ กสท. รับดำเนินการต่อก็คือ อำนาจตามมาตรา 37 พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ที่มีเนื้อหาว่า

“ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง

ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามวรรคหนึ่ง หากผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการ ให้กรรมการซึ่งคณะกรรมการมอบหมายมีอำนาจสั่งด้วยวาจา หรือเป็นหนังสือให้ระงับการออกอากาศรายการนั้นได้ทันที และให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวโดยพลัน

ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเกิดจากการละเลยของผู้รับใบอนุญาตจริง ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการแก้ไขตามที่สมควร หรืออาจพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้”

  • Voice TV ไม่ใช่กรณีแรก Peace TV ก็โดนมาแล้ว

มาตรการที่ กสท. ใช้ตามมาตรา 37 ไม่ว่าจะเป็นการสั่งให้แก้ไข พักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตนั้นล้วนเป็น “คำสั่งทางปกครอง” ซึ่งโดยปกติแล้วสถานีโทรทัศน์ที่ได้รับคำสั่งดังกล่าว สามารถยื่นเรื่องต่อศาลปกครองให้พิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่ง หรือมาตรการที่ กสท. กำหนดได้ ซึ่งการใช้อำนาจตามมาตรา 37 ในการ “พักใช้ใบอนุญาต” ไม่ใช่กรณีแรก

ก่อนหน้านี้ กสท. เคยมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต PEACE TV แต่ทางสถานีได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อเพิกถอนคำสั่งของ กสท. ที่ให้เพิกถอนใบอนุญาต PEACE TV ระหว่างนั้นศาลปกครองได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาคดี ทำให้ PEACE TV ยังสามารถออกอากาศได้

เมื่อศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทำให้ใบอนุญาต PEACE TV ยังคงอยู่ กสท. จึงมีมติพักใช้ใบอนุญาตของ PEACE TV ต่อมา ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2559 เห็นว่า คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในกรณีที่ PEACE TV ถูก กสท. สั่งเพิกถอนใบอนุญาตยังมีผลบังคับใช้อยู่ หาก กสท. เห็นว่าผู้ฟ้องคดีทำผิดตามหลักเกณฑ์ หรือกฏหมายที่กำกับดูแลก็สามารถนำเอาข้อเท็จจริงมาร้องต่อศาลเพื่อขอให้มีคำสั่งอย่างใด อย่างหนึ่งได้ แต่ทาง กสท. ยืนยันว่าการสั่งพักใช้ใบอนุญาตนั้นเป็นคนละเหตุกับการเพิกถอนใบอนุญาต ทำให้ Peace TV ไม่สามารถออกอากาศได้ 30 วัน ระหว่างวันที่ 21 ก.ค. 2559 – 21 ส.ค. 2559

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่า ภายหลังศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว PEACE TV เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2559 ต่อมาหัวหน้า คสช. ได้ออก คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 41/2559 เรื่อง การกํากับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ซึ่งออกตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เมื่อ 14 ก.ค. 2559 ถือเป็นการขยายอำนาจของ กสท. และ กสทช. มากไปกว่าอำนาจมาตรา 37 พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551

  • มาตรา 44 อำนาจที่ปราศจากความรับผิด

คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 41/2559 เรื่อง การกํากับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ มีเนื้อหาสำคัญสองประเด็นคือ

หนึ่ง กำหนดให้การเสนอข้อมูลข่าวสารหรือการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระขัดกับประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 103/2557 เป็นการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นการกำหนดว่า หากรายการโทรทัศน์มีเนื้อหาขัดต่อประกาศ คสช. เท่ากับขัดต่อมาตรา 37 ด้วยทันที และ

สอง ในกรณีที่ กสทช. กสท. เลขาธิการ กสทช. เจ้าหน้าที่ของสํานักงาน กสทช. หรือบุคคลที่ได้รับมอบอํานาจจากบุคคลดังกล่าว ได้กระทําการไปตามอํานาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีจําเป็น เพื่อควบคุมดูแลมิให้มีการเสนอข้อมูลข่าวสาร หรือการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามข้อ 1. ย่อมได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย  ซึ่งมีผลเป็นการยกเว้น “ความรับผิด” ของกลุ่มบุคคลดังกล่าวในการใช้อำนาจตามมาตรา 37

นอกจากนี้ ตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฯ ซึ่งเป็นฐานที่มาของอำนาจในการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 41/2559 ยังกำหนด “ให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งหรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด” ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 41/2559 นั้นได้ขยายอำนาจของ คสช. ตามมาตรา 44 มาถึงกลุ่มบุคคลดังกล่าวซึ่งรวมถึงกสท. ด้วย  ทำให้การพิจารณาเนื้อหาใด ๆ ของรายการตามประกาศ คสช. ที่ 97/57 และฉบับที่ 103/57 นั้นไม่ได้รับการตรวจสอบถ่วงดุล

เป็นไปได้ว่า คำสั่งพักใช้ใบอนุญาต Voice TV  7 วัน ซึ่งโดยปกตินั้นสามารถยื่นฟ้องให้ศาลปกครองตรวจสอบได้นั้น อาจจะไม่ได้รับการตรวจสอบเพราะคำสั่งหัวหน้า คสช. เช่นเดียวกับผลของคำสั่งที่ส่งผลแทรกแซงอำนาจศาลปกครองในกรณี PEACE TV และเช่นเดียวกับการกระทำอื่น ๆ ของ คสช. ที่ไม่เคยได้รับการตรวจสอบโดยสถาบันตุลาการ

X