ย้อนมองข้อหา ม.116 เครื่องมือทางการเมืองที่ยังคงถูกใช้สืบเนื่องจากยุค คสช.

หลังจาก สุชาติ สวัสดิ์ศรี ต้องตกเป็น “ผู้ต้องหาคดีความมั่นคง” อีกราย เหตุจากถูกกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน ไปกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ไกลถึง สภ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง ด้วยข้อกล่าวหาเพียงจากแชร์คลิปวิดีโอของ iLaw ในเรื่องปัญหาของมาตรา 112 ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2565

ข้อหาที่ถูกเรียกย่อ ๆ ว่า “ยุยงปลุกปั่น” นี้ ถูกบัญญัติไว้ในหมวดความมั่นคงภายในราชอาณาจักรของประมวลกฎหมายอาญา กำหนดโทษจำคุกไว้ไม่เกิน 7 ปี แม้เป็น “ตัวบทกฎหมาย” แต่กลับกลายเป็นอีกข้อกล่าวหาหนึ่งที่สัมพันธ์กับบริบททางการเมืองอย่างยิ่ง การนำมาบังคับใช้ หรือบังคับใช้ในลักษณะเช่นใดล้วน มีความสัมพันธ์กับสถานการณ์ทางการเมืองเป็นอย่างสูง

ข้อกล่าวหานี้ประกอบด้วยปัญหาทั้งในเชิงตัวบท การใช้ถ้อยคำที่คลุมเครือ เปิดช่องให้ตีความได้อย่างกว้างขวาง ทำให้ง่ายจะนำมาใช้กล่าวหาดำเนินคดีเอาไว้ก่อน และอุดมการณ์ของผู้ใช้กฎหมายอย่างเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจที่มุ่งนำมาใช้ปราบปรามการแสดงออกทางการเมืองเป็นหลัก โดยสังคมไม่มีกระบวนการตรวจสอบหรือทัดทานการบังคับใช้ที่บิดเบี้ยวได้อย่างเพียงพอ ทำให้ข้อกล่าวหานี้ถูกนำใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้อย่างง่ายดาย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนทบทวนถึงสถานการณ์การใช้ข้อกล่าวหามาตรา 116 โดยสรุป ตั้งแต่ยุคคณะรัฐประหาร 2557 ซึ่งข้อหานี้ถูกใช้เพิ่มสูงขึ้นมาก จนถึงยุคหลังการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ในปี 2563 จนถึงปัจจุบัน

.

.

คดี ม.116 ยุค คสช. ใช้กล่าวหาผู้ต่อต้านคณะรัฐประหารเป็นหลัก เกือบ 3 ใน 4 ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง

ในยุคก่อนปี 2557 นั้น คดีความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 พบว่าไม่ได้มีจำนวนมากนัก โดยมากเป็นคดีของแกนนำจากการชุมนุมสีเสื้อ ที่ถูกกล่าวหาในช่วงการชุมนุมขนาดใหญ่หรือการแสดงออกโดยการเข้ายึดสถานที่ต่าง ๆ โดยมากเป็นคดีของแกนนำหลักของการชุมนุม ยังไม่ถูกนำมากล่าวหาในลักษณะการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนทั่วไปมากนัก

แต่สถานการณ์ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป ภายใต้การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างเข้มข้นในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พบว่ามีการนำกล่าวหานี้มาใช้กล่าวหาประชาชนทั่วไปซึ่งออกมาชุมนุมต่อต้านการรัฐประหาร หรือการแสดงออกทางการเมืองบนโลกออนไลน์ แม้เป็นการแสดงออกขนาดเล็ก เป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธ หรือการแสดงออกทางสัญลักษณ์ ก็สามารถถูกกล่าวหาดำเนินคดีได้ ทั้งคณะรัฐประหารยังกำหนดให้ข้อหานี้ถูกพิจารณาพิพากษาในศาลทหารอีกด้วย

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 จนถึงสิ้นสุดบทบาทของ คสช. ในปี 2562 มีผู้ดำเนินคดีข้อหาตามมาตรา 116 เท่าที่ทราบข้อมูลอย่างน้อย 129 คน คิดเป็นจำนวน 53 คดี

คดีที่เกิดขึ้นมีหลายรูปแบบ โดยมากมีลักษณะเป็นการกล่าวหาอย่างกว้างขวางเลื่อนลอย มุ่งกล่าวหาต่อผู้แสดงออกลักษณะคัดค้าน หรือต่อต้านการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร ตั้งแต่การชวนชูสามนิ้วต่อต้านการรัฐประหาร, การถ่ายรูปกับขันแดง, การทำเพจล้อเลียน พล.อ.ประยุทธ์, การทำกิจกรรมเดินเท้าไปขึ้นศาลทหาร, นักข่าวเผยแพร่ข่าวการชุมนุมผิดวัน, การส่งจดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ, การชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง เป็นต้น

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เมื่อคดีดำเนินไป พบว่าศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำนวน 26 คดี และพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องจำนวน 13 คดี หากรวมคดีที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องและอัยการสั่งไม่ฟ้อง มีเท่ากับ 39 คดี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 73.5 ของคดีทั้งหมด หรือเกือบ 3 ใน 4

ในช่วงดังกล่าว แม้แต่นักการเมืองพรรคเพื่อไทยเองก็ถูก คสช. และเจ้าหน้าที่ทหาร กล่าวหาดำเนินคดีด้วยมาตรานี้ ทั้งคดีของจาตุรนต์ ฉายแสง กรณีแถลงข่าวต่อต้านการรัฐประหาร 2557 ซึ่งสุดท้ายศาลพิพากษายกฟ้อง, คดีของชูศักดิ์ ศิรินิล-วัฒนา เมืองสุข-จาตุรนต์ ฉายแสง กรณีแถลงข่าวครบรอบ 4 ปี รัฐประหาร สุดท้ายอัยการสั่งไม่ฟ้องคดี, คดีเตรียมแจกจ่ายขันแดงของนักการเมืองพรรคเพื่อไทยที่จังหวัดน่าน สุดท้ายอัยการก็มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีเช่นกัน รวมถึงคดีส่งจดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญก่อนลงประชามติ ที่นักการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนหลายคนถูกกล่าวหา สุดท้ายศาลยกฟ้องคดี

เป้าประสงค์ของการใช้กฎหมายดังกล่าว ดูเหมือนไม่ได้อยู่ที่ “ผลทางคดี” แต่คือการที่ฝ่ายคณะรัฐประหารใช้ปฏิบัติการข่าวสารของการแจ้งข้อกล่าวหานั้น โจมตีต่อผู้ถูกกล่าวหาในขณะนั้น ทำให้ดูเหมือนเป็นเรื่องร้ายแรงเกินจริง และได้สร้างภาระทางคดีกับผู้ถูกกล่าวหา ทั้งต้องไปรายงานตัวต่อตำรวจ อัยการ หรือกระทั่งขึ้นศาล แม้ท้ายที่สุดจะมีคำสั่งไม่ฟ้องหรือศาลยกฟ้องไปอย่างเงียบ ๆ ในท้ายที่สุดก็ตาม แต่ก็ต้องใช้ระยะเวลาต่อสู้คดีนับเป็นปี ๆ บางคดียาวนาน 6-8 ปี กว่าจะสิ้นสุด เนื่องจากความล่าช้าในศาลทหาร และต้องมีการโอนย้ายมาสู้คดีในศาลพลเรือนในภายหลัง  

เป้าประสงค์การใช้ข้อกล่าวหาเช่นนี้ อาจรวมไปถึง “หวังผล” ในการทำให้ผู้ออกมาคัดค้านคณะรัฐประหารหรือแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ เกรงกลัว หรือต้องระมัดระวังในการแสดงออกมากขึ้น เนื่องจากมีตัวอย่างคดีที่ถูกกล่าวหาไว้ก่อน แม้ถึงที่สุดจะไม่เป็นความผิดก็ตาม

การใช้กฎหมายเช่นนี้ ยิ่งทำให้ข้อหานี้มีลักษณะเป็น “การเมือง” มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่สนใจการตีความ หรือขอบเขตจริง ๆ ที่ควรจะเป็น  ทั้งกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะในชั้นตำรวจก็มักดำเนินการโดยไม่มีการกลั่นกรองข้อกล่าวหา หรือในหลายคดี แม้เห็นได้ชัดเจนว่าไม่เข้าองค์ประกอบ แต่อัยการก็ยังสั่งฟ้องคดี ให้เกิดภาระต่อสู้คดีในชั้นศาลอีกด้วย เช่น คดีชุมนุมของคนอยากเลือกตั้งในช่วงปี 2561 ที่อัยการพลเรือนสั่งฟ้องทุกคดี แต่ศาลก็ยกฟ้องทั้งหมด หากก็ต้องใช้เวลาในการต่อสู้คดียาวนาน แม้จนถึงปัจจุบัน ยังมีคดีในชุดนี้อีกหนึ่งคดีที่ยังสืบพยานไม่เสร็จสิ้น ได้แก่ คดี UN62 แม้คดีผ่านมากว่า 6 ปีแล้วก็ตาม

.

.

คดีหลังยุคปี 2563 ถูกนำไปพ่วงกับคดี ม.112 เพิ่มขึ้น กลุ่มประชาชนนำมาใช้กล่าวหาผู้เห็นต่างเพิ่มขึ้น

การใช้มาตรา 116 กล่าวหาผู้แสดงออกทางการเมือง ยังดำเนินสืบเนื่องต่อมา โดยเฉพาะตั้งแต่เริ่มการชุมนุมเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่จนถึงปัจจุบัน โดยศูนย์ทนายฯ พบว่าตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 2563 ซึ่งเริ่มการชุมนุมใหญ่ของเยาวชนปลดแอก จนถึงวันที่ 17 ก.ย. 2567 มีสถิติผู้ถูกกล่าวหาด้วยข้อหานี้ไปแล้ว อย่างน้อย 154 คน ในจำนวน 53 คดี

ลักษณะสำคัญของช่วงเวลานี้ ได้แก่ ข้อหานี้ถูกนำมาใช้กล่าวหาทดแทนข้อหามาตรา 112 ในช่วงต้นของการชุมนุมยุคปี 2563 ท่ามกลางสถานการณ์ที่รัฐมีนโยบายไม่ใช้ข้อกล่าวหามาตรา 112 ในช่วงดังกล่าว ทำให้คดีจากการชุมนุมในช่วงกลางปี 2563 จนถึงปลายปีนั้น มักถูกกล่าวหาด้วยข้อหาตามมาตรา 116 เป็นหลักมากกว่า แม้จะเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกเรื่องสถาบันกษัตริย์ จนกระทั่งหลังวันที่ 19 พ.ย. 2563 เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงว่าจะใช้กฎหมาย “ทุกฉบับ ทุกมาตรา” ที่มีอยู่ ดำเนินการต่อผู้ชุมนุม ทำให้เริ่มมีการนำข้อหามาตรา 112 มากล่าวหาเป็นหลักแทน และเริ่มมีการไล่แจ้งข้อหามาตรา 112 ร่วมด้วยในคดีที่เคยมีการแจ้งข้อหามาตรา 116 ไว้แล้ว

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดคดีมาตรา 116 ที่ถูกกล่าวหาไปพร้อมกับมาตรา 112 เพิ่มมากขึ้น คือจำนวน 29 คดี หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของคดีเท่าที่ทราบข้อมูลทั้งหมด (ในช่วง คสช. มีจำนวนคดีมาตรา 116 ที่มีข้อหามาตรา 112 เป็นข้อหาหลักด้วย จำนวน 6 คดี) ทำให้มีความยากลำบากในการต่อสู้เพิ่มขึ้นด้วย

ขณะที่แนวโน้มของคดีมาตรา 116 ในช่วงนี้ แม้คดียังไม่สิ้นสุดจำนวนมาก แต่ก็พบว่ามีหลายคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลยกฟ้องคดีแล้วเช่นกัน โดยเฉพาะในคดีที่ไม่ได้มีมาตรา 112 เป็นข้อหาหลัก อาทิ อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีของนักกิจกรรม-นักศึกษา 9 คน จากการชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน, อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีไมค์และณัฐชนน กรณีชูป้ายไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระหว่างลงพื้นที่ระยอง, อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีนักศึกษาผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจ “กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย” โพสต์เชิญชวนให้ประชาชนไปร่วมชุมนุม หรือศาลจังหวัดอุดรธานียกฟ้องคดีครูใหญ่-จัสติน ปราศรัยชุมนุม #กฐินราษฎร์ตลาดหลวง

นอกจากนั้นในช่วงปัจจุบัน ยังพบว่ามี “ประชาชนทั่วไป” หรือบุคคลที่เคลื่อนไหวลักษณะเป็น “นักร้อง (เรียน)” นำข้อกล่าวหามาตรา 116 มาใช้กล่าวหาฝ่ายที่เห็นต่างทางการเมืองกับตน เอาไว้เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยพบจำนวน 14 คดี จากสถิติทั้งหมด อาทิ คดีของทิวากร วิถีตน ที่ถูกกลุ่มปกป้องสถาบันกล่าวหาที่จังหวัดลำปาง, คดีชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน ที่ประชาชนผู้เข้าร่วมถึง 38 คน ถูก บัญชา บุญพยุง กล่าวหาในข้อหานี้, คดีปิยบุตร แสงกนกกุล ถูก ณฐพร โตประยูร กล่าวหาจากการพูดคุยในรายการ clubhouse, คดี “ป่าน กตัญญู” ถูก แน่งน้อย อัศวกิตติกร กล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจทะลุฟ้าโพสต์ชวนเชิญให้ไปชุมนุม รวมถึงคดีที่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ สมบัติ บุญงามอนงค์ ถูกศรีสุวรรณ จรรยา กล่าวหาจากกิจกรรม #คาร์ม็อบ19กันยา2564 ด้วย

ในคดีที่เกี่ยวกับการแสดงออกออนไลน์ อย่างคดีของทิวากร วิถีตน หรือล่าสุดในคดีของสุชาติ สวัสดิ์ศรี นี้ การกล่าวหายังเกิดขึ้นข้ามภูมิภาค ไกลจากภูมิลำเนาที่ผู้ถูกกล่าวหาอาศัยอยู่ ทำให้มีภาระต้องเดินทางไกลไปต่อสู้คดีเพิ่มขึ้นอีก

ขณะเดียวกันพบว่าเจ้าหน้าที่ทหาร ก็ยังคงมีบทบาทในการนำข้อหานี้มากล่าวหานักกิจกรรมทางการเมืองต่อเนื่องจากยุค คสช. อยู่ อาทิ คดีที่นักกิจกรรม 4 คน ในจังหวัดเชียงใหม่ ถูกผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 มอบอำนาจไปกล่าวหาจากการนำประกาศคณะราษฎร 2475 มาอ่านในกิจกรรมเรื่องการกระจายอำนาจ รวมถึงการนำมาใช้ต่อการแสดงออกใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างคดีทำบัตรประชามติจำลอง หรือคดีจากกิจกรรมมลายูรายา ที่มีแม่ทัพภาค 4 มอบอำนาจไปกล่าวหาทั้งสองคดี

สถานการณ์ในช่วงหลังปี 2563 นี้ ยังพบว่ามีคดีที่เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 116 จำนวน 3 คน ใน 3 คดี อีกด้วย โดยที่ก่อนหน้านั้นไม่พบว่าเคยมีคดีเยาวชนถูกกล่าวหามาก่อน

ปัญหาการใช้กฎหมายมาตรา 116 ที่ถูกทำให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง และดำเนินสืบเนื่องตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้หากสังคมไทยจะฟื้นฟูปัญหาการใช้กฎหมายที่ละเมิดต่อเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุม จำเป็นต้องคิดถึงการแก้ไข หรือยกเลิกเปลี่ยนแปลงมาตรานี้ต่อไปในอนาคต

.

ดูตาราง สถิติคดีมาตรา 116 “ยุยงปลุกปั่น” ปี 2563-67

.

X