“สาวคดีขันแดง” เผยถูกตรวจร่างกายขณะเข้าเรือนจำเช่นเดียวกับ นศ.มธ.

ภายหลังจากมีกระแสข่าวกรณีของ กรกนก คำตา หรือ “ปั๊บ” นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 จากกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ และในวันที่อัยการส่งฟ้องคดีต่อศาลทหาร ได้มีการนำตัวเธอไปที่ทัณฑสถานหญิงกลาง และถูกดำเนินการตรวจภายในในลักษณะเป็นนักโทษ ท่ามกลางสายตาคนอื่นๆ จำนวนมากในเรือนจำ ทั้งที่เธอยังอยู่ในระหว่างรอผลการยื่นขอประกันตัว และต่อมาก็ได้รับการประกันตัวออกมา จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนและละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งมีการเรียกร้องให้ยกเลิกการตรวจภายในกรณีผู้ต้องโทษหญิงที่ไม่ใช่คดียาเสพติดอีกด้วย (ดูรายงานข่าวบางส่วนในข่าวสด ไทยรัฐ มติชนหรือรายงานในเพจ Fahroong Srikhao)

.

ธีรวรรณ เจริญสุข ผู้ต้องหาในคดีขันแดง ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ได้เปิดเผยกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ว่าเธอก็ได้รับการปฏิบัติในลักษณะเดียวกันกับกรณีของนักศึกษารายดังกล่าวเช่นกัน โดยเธอระบุว่าเมื่อวันที่ 29 มี.ค.59 ซึ่งพนักงานสอบสวนได้นัดหมายเธอมาที่ศาลทหาร เพื่อมาขออำนาจศาลฝากขัง และศาลทหารได้อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาได้ จากนั้นเพื่อนของธีรวรรณจึงได้ยื่นหลักทรัพย์ขอปล่อยตัวชั่วคราว และศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวแล้ว แต่ขณะกำลังรอเจ้าหน้าที่ศาลทำหมายปล่อยตัวอยู่นั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกลับจะพาตัวเธอไปยังเรือนจำ โดยระบุว่าต้องไปปล่อยตัวจากเรือนจำ แล้วเจ้าหน้าที่ศาลจะนำหมายปล่อยไปที่เรือนจำอีกที แม้เธอจะพยายามคัดค้าน แต่ก็ไม่เป็นผล

ธีรวรรณระบุว่าเธอถูกพาตัวไปยังทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ แม้จะพยายามแจ้งเจ้าหน้าที่เรือนจำแล้วว่าศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวแล้ว และกำลังรอหมายปล่อยตัวจากศาล แต่เธอกลับยังถูกนำตัวไปตรวจร่างกายเพื่อเข้าเรือนจำ โดยมีการใช้ห้องเล็กๆ ห้องหนึ่ง ที่มีผู้คุมอยู่ด้วยสองคน ให้เธอถอดเสื้อผ้าทุกชิ้นออกทั้งหมด และยังให้ทำกิริยานั่งแล้วลุก-นั่งแล้วลุกหลายต่อหลายครั้ง เพื่อตรวจดูว่ามีการซุกซ่อนสิ่งใดไว้ในช่องคลอดหรือไม่ แต่กรณีของเธอ เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการล้วงเข้าไปในช่องคลอด เนื่องจากเห็นว่ามีอายุมากแล้ว

เมื่อตรวจร่างกายเสร็จ ก็มีการให้เธอใส่ชุดผู้ต้องขัง และนำตัวเข้าไปส่วนทะเบียน เพื่อจัดทำประวัติ ปั๊มลายมือ ถ่ายรูป และแจกอุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็นบางส่วนสำหรับนักโทษ พร้อมกับให้แขวนป้ายสีเหลืองที่แสดงถึงความเป็นนักโทษใหม่ ก่อนจะนำตัวเข้าไปภายในแดน 1 ซึ่งเป็น “แดนแรกรับ” อันเป็นแดนที่ผู้ต้องขังใหม่จะเข้ามาก่อนเป็นแห่งแรก ธีรวรรณระบุว่าเธอถูกนำตัวเข้าไปในเรือนจำราวชั่วโมงเศษ ทางเรือนจำก็มีการประกาศชื่อเธอว่ามีหมายปล่อยตัวมาแล้ว จึงได้มีการคืนเสื้อผ้าชุดเดิม และให้เปลี่ยนจากชุดนักโทษได้

ธีรวรรณยังระบุว่าสภาพในเรือนจำมีการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในลักษณะเหมือนนายกับบ่าว โดยนักโทษจะต้องคลานเข่าเข้าไปหาผู้คุมในเรือนจำ และต้องยกมือไหว้ขณะพูดคุยด้วย

เธอระบุความรู้สึกหลังจากถูกปฏิบัติในลักษณะดังกล่าวว่า “ทำให้เราสติแตก รู้สึกเหมือนกับเข้าไปในนรก เหมือนกับเป็นนักโทษไปแล้ว ไม่เคยคิดเลยว่าจะโดนแบบนี้ ทั้งที่เราก็ได้ประกันตัวอยู่แล้ว” โดยขณะปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำ เธอมีอาการร้องไห้เสียใจ และเพื่อนๆ ต้องพากันไปทำบุญรดน้ำมนต์และสะเดาะเคราะห์ที่วัดในตัวเมืองเชียงใหม่อีกด้วย

สำหรับ ธีรวรรณ อายุ 54 ปี ก่อนหน้านี้เคยเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับคนเสื้อแดงในเชียงใหม่ เธอถูกทหารกล่าวหาตามมาตรา 116 จากกรณีการถ่ายภาพคู่กับขันน้ำสีแดง และภาพโปสเตอร์ซึ่งมีรูปภาพของนายทักษิณ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม) คดีนี้ยังอยู่ในชั้นสอบสวน โดยพนักงานสอบสวนเพิ่งขออำนาจศาลทหารฝากขังเป็นผัดที่ 4

.

e0b8a0e0b8b2e0b89ee0b8a1e0b895e0b8b4e0b88ae0b899

ภาพขณะธีรวรรณได้รับการปล่อยตัวจากทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 มี.ค.59 (ภาพจากมติชนออนไลน์)

.

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายสิทธิฯ พบว่าแม้ระเบียบปฏิบัติของเรือนจำหญิงทั่วประเทศ จะให้มีการตรวจค้นร่างกายของผู้ต้องขังที่ถูกนำตัวมาจากศาลทุกคน แต่โดยปกติในศาลพลเรือน กรณีผู้ต้องหาถูกฝากขังหรือถูกสั่งฟ้องคดีต่อศาล และอยู่ในระหว่างการทำเรื่องขอประกันตัว จะมีการควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ที่ห้องขังใต้ถุนศาล โดยไม่ได้มีกระบวนการตรวจร่างกาย และหากได้รับการประกันตัว ก็จะมีการปล่อยตัวจากที่ศาล ไม่จำเป็นต้องนำตัวไปปล่อยที่เรือนจำแต่อย่างใด

แต่ในกรณีของการพิจารณาในศาลทหาร กลับมีการอ้างระเบียบว่าจำเป็นต้องนำตัวผู้ต้องหาไปปล่อยตัวที่เรือนจำ แม้ผู้ต้องหารายนั้น ศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวแล้วก็ตาม ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากกระบวนการตรวจค้นร่างกายก่อนเข้าเรือนจำในกรณีของผู้ต้องหาหญิงหลายราย

นอกจากนี้ ศูนย์ทนายสิทธิฯ เห็นว่าการค้นตัวผู้ต้องขังในลักษณะดังกล่าวนั้น ละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และขัดต่อข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขัง [United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners (the Mandela Rules)] หรือ ‘ข้อกำหนดแมนเดลา’ ซึ่งได้รับการรับรองเป็นมาตรฐานสากลใหม่ในการคุ้มครองสิทธิผู้ถูกคุมขังทั่วโลกเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สนับสนุนข้อกำหนดดังกล่าว ข้อกำหนดดังกล่าวได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการค้นตัวผู้ต้องขังว่า “จะต้องไม่ใช้การค้นเพื่อการคุกคาม ข่มขู่ หรือเป็นการล่วงล้ำโดยไม่จำเป็นต่อความเป็นส่วนตัวของผู้ต้องขัง” และ “การค้นตัวที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว รวมทั้งการค้นแบบถอดเสื้อผ้าและการค้นตามซอกหลืบต่างๆ ของร่างกาย ให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดเท่านั้น…ซึ่งหากจำเป็นก็ต้องกระทำในที่ลับ” ซึ่งศูนย์ทนายสิทธิฯ เห็นว่าเราสามารถใช้วิธีการอื่นในการตรวจสอบผู้ต้องขังโดยไม่ละเมิดต่อความเป็นส่วนตัวของผู้ต้องขังได้

ข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขัง ระบุว่า

“ข้อกำหนด 51  จะต้องไม่ใช้การค้นเพื่อการคุกคาม ข่มขู่ หรือเป็นการล่วงล้ำโดยไม่จำเป็นต่อความเป็นส่วนตัวของผู้ต้องขัง เพื่อให้สอดคล้องกับหลักความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ผู้บริหารเรือนจำจะต้องเก็บรักษาบันทึกการค้นตัวอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะกรณีที่เป็นการค้นแบบถอดเสื้อผ้าและการค้นตามซอกหลืบต่าง ๆ ของร่างกาย และการค้นในห้องขัง รวมทั้งเหตุผลของการค้น ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ทำการค้นและผลของการค้นตัว”

“ข้อกำหนด 52

  1. การค้นตัวที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว รวมทั้งการค้นแบบถอดเสื้อผ้าและการค้นตามซอกหลืบต่าง ๆ ของร่างกาย ให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดเท่านั้น ผู้บริหารเรือนจำควรได้รับการสนับสนุนให้มีการคิดค้นและการใช้วิธีการที่เป็นทางเลือกอื่นอันเหมาะสมกว่าแทนที่จะใช้การค้นตัวที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวของผู้ต้องขัง ซึ่งหากจำเป็นก็ต้องกระทำในที่ลับ และให้ผู้ค้นเป็นเจ้าหน้าที่ ซึ่งผ่านการอบรมและมีเพศเดียวกับผู้ต้องขังนั้น
  2. การค้นตามซอกหลืบต่างๆ ของร่างกายให้กระทำได้เฉพาะโดยบุคคลากรทางการแพทย์มีคุณสมบัติเหมาะสมเท่านั้น ไม่ใช่ผู้ที่รับผิดชอบการพยาบาลเบื้องต้น หรือโดยอย่างน้อยต้องเป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งผ่านการอบรมอย่างเหมาะสมจากเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ให้เข้าใจถึงมาตรฐานด้านอนามัย สุขภาพ และความปลอดภัย”

อ้างอิงจาก United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners (the Mandela Rules)

.

X