วันที่ 19 ก.ย. 2567 เวลา 14.00 น. ที่ห้อง 221 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สุชาติ สวัสดิ์ศรี หรือ “สิงห์สนามหลวง” บรรณาธิการ-นักคิดนักเขียน-ศิลปินแห่งชาติผู้ถูกถอดถอน พร้อมทีมทนายความ จัดแถลงข่าวถึงกรณีถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หลังจากสมาชิกของกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันไปแจ้งความกล่าวหาไว้ที่สถานีตำรวจภูธรศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง จากเหตุแชร์คลิปวิดีโอจากเพจ iLaw เรื่อง “10 ข้อที่คนไม่รู้เกี่ยวกับ #มาตรา112” พร้อมเขียนข้อความประกอบว่า “ทำไมจึงต้องยกเลิก ม.112 เราจะเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายชัดเจนเรื่อง ‘ยกเลิก ม.112’ #ปล่อยเพื่อนเรา”
.
.
สุชาติ สวัสดิ์ศรี เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า อาจจะเป็นความตื่นเต้นและรื่นรมย์ครั้งท้าย ๆ ในชีวิตของตน ที่ได้รับหมายเรียกในคดี ม.116 โดยหมายเรียกที่มา เป็นหมายเรียกครั้งที่ 3 ทันที โดยไม่เคยได้รับหมายเรียกครั้งที่ 1 และ 2 ทำให้ถ้าไม่ไปตามนัด อาจจะมีการไปขอออกหมายจับ
ต่อมา ตนพบว่าเป็นคดีที่ถูกไปกล่าวหาไว้ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงประมาณ 1 ปี ภายหลังจากตนถูกกระทรวงวัฒนธรรมปลดออกจากการเป็นศิลปินแห่งชาติ โดยไม่ชอบว่าเป็นความจงใจ หรือกระบวนการต่อเนื่องกันมาหรือเปล่า เป็นการพยายามทำให้เสียหน้าและเสียเกียรติ ในเรื่องดังกล่าว ตนก็ได้ฟ้องเรื่องไปยังศาลปกครอง โดยศาลปกครองรับฟ้องแล้ว แต่ไม่มีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราว และคดียังรอการพิจารณาของศาลปกครอง
สุชาติตั้งคำถามว่า หลังจากที่ตนโดยปลด การที่มีคนไปฟ้องในปีต่อมา เป็นความเกี่ยวเนื่องกันหรือไม่ อาจเพื่อให้มีเรคคอร์ดเรื่องคดีไว้ และใช้ข้อหาอย่าง ม.116 ที่เป็นคดีความมั่นคงมากล่าวหา
สุชาติยังระบุว่า ก่อนหน้าได้รับหมายเรียกประมาณ 1 เดือน ลูกชายตนก็พบว่ามีบุคคลมาแอบถ่ายรูปที่หน้าบ้าน หลังจากนั้น 1 เดือน ก็มีตำรวจในพื้นที่บ้านตนมาส่งหมายเรียก บอกเพียงข้อหา แต่ไม่มีรายละเอียดข้อกล่าวหา โดยมีระยะเวลา 7 วัน ในการไปตามหมาย จึงได้ขอให้ทนายความเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาออกมา และไปรับทราบข้อหาเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2567
.
บันทึกข้อกล่าวหาในคดีของสุชาติ สวัสดิ์ศรี
.
สัญญา เอียดจงดี ทีมทนายความ กล่าวว่าคดีนี้มีการกล่าวอ้างว่าคุณสุชาติ โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2565 โดยแชร์คลิปของ iLaw เกี่ยวกับ 10 ประเด็นที่เสนอให้มีการยกเลิกมาตรา 112 เนื้อหานำเสนอปัญหาของกฎหมาย และขั้นตอนการเสนอแก้ไขกฎหมาย โดยมีการแนบลิงก์ลงชื่อต่าง ๆ จากนั้นผู้แจ้งความอ้างว่า วันถัดมา เขาเดินทางไปที่อำเภอศรีนครินทร์ และพบโพสต์ที่เป็นของคุณสุชาติแชร์โพสต์ดังกล่าว แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นโพสต์ของคุณสุชาติหรือไม่ เราก็ได้ขอให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้
ประเด็นสำคัญ คือหลังจากวันที่อ้างว่าแจ้งความ ผ่านไปสองปี เพิ่งมีการยกคดีนี้ขึ้นมา โดยทราบว่าคดีนี้เป็นคดีนโยบายแน่ ๆ มีขั้นตอนดำเนินการของทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนวนคดีนี้มีคณะทำงานตำรวจที่เข้ามาดู และผู้แจ้งความยังมีลักษณะไปไล่แจ้งความแบบปูพรม ในหลายพื้นที่ ผู้แจ้งอาจมีวาระซ่อนเร้น มากกว่าจากที่อ้างว่าใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีหลายคดีไปแจ้งความในพื้นที่ห่างไกล หรือมีการเชื่อมโยงกับกลุ่มอำนาจในพื้นที่ภาคใต้หรือไม่
สัญญา ระบุว่า สถานการณ์ที่ผู้กล่าวหาแจ้งความในพื้นที่ห่างไกล ทำให้เกิดภาระกับผู้ต้องหา คุณสุชาติอายุจะ 80 ปีในไม่กี่วันนี้ ต้องเดินทางไป 1,000 กว่ากิโลเมตร เพื่อไปรับทราบข้อกล่าวหา และต่อสู้คดี
เบื้องต้น ทางทนายเห็นว่าจะยื่นคำร้องต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้โอนคดีนี้มายังส่วนกลาง เพื่อให้สอบสวนเรื่องนี้แทน และยังเรียกร้องไปทางอัยการ ว่าคดีนี้ ไม่มีข้อความใดเลยที่จะเข้าข่ายมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ถ้ายึดมั่นในหลักกฎหมาย คดีนี้ควรสั่งไม่ฟ้อง และการฟ้องเองก็ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะเลย
.
กฤษฎางค์ นุตจรัส ทีมทนายความ กล่าวว่า ในเรื่องนี้แสดงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศนี้ คุณสุชาติที่เป็นศิลปินแห่งชาติตัวจริง ซึ่งไม่ได้อยู่ที่ใครแต่งตั้ง ตอนนี้ถูกปลดจากการเป็นเสรีชน กลายเป็นผู้ต้องหา เรื่องนี้ในทางกฎหมาย ถ้าดูบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา พบว่าเป็นเรื่องตลกและไร้สาระ ข้อหามาตรา 116 ควรดำเนินคดีกับคนที่นำรถถังมารัฐประหาร ไม่ใช่นักเขียนที่เขียนเรื่องการแก้ไขกฎหมายแบบนี้ คดีจึงเป็นเรื่องของเสรีภาพที่ในการแสดงความคิดเห็น ถ้าเสนอความเห็นแค่นี้ไม่ได้ ประเทศก็ไม่เป็นประชาธิปไตย
กฤษฎางค์ เห็นว่า คดีนี้ควรจะเป็นคดีตัวอย่าง ที่รัฐบาลชุดใหม่เพิ่งแถลงนโยบายว่าจะรักษาไว้ซึ่งหลักนิติรัฐและนิติธรรม ประชาชนอาจจะมีสิทธิที่จะแจ้งความ แต่ตำรวจควรจะพิจารณาว่ามันเข้าข่ายหรือไม่ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติเองก็อยู่ภายใต้การดูแลของนายกรัฐมนตรี ตอนนี้หลายคนได้รับผลกระทบจากการกล่าวหาดำเนินคดีของฝ่ายเผด็จการ จึงขอเรียกร้องให้การดำเนินคดีในชั้นตำรวจมีความชัดเจนและโปร่งใส และเรื่องนี้ก็มีความชัดเจนว่าเป็นการกลั่นแกล้งกัน
กฤษฎางค์ ระบุว่า จากตัวอย่างคดีนี้ เห็นว่าเราจะต้องต่อสู้เพื่อให้เรื่องแบบนี้ไม่เกิดกับคนอื่นอีก ยกตัวอย่างว่าไม่ใช่ใครก็ได้ ไปแจ้งความคุณแพทองธาร ไว้ที่ สภ.เกาะยาว จ.กระบี่ แบบนี้ ตำรวจจะรับคดีหรือไม่ คดีนี้จึงจะเป็นการพิสูจน์หนึ่งว่าการบริหารประเทศด้วยหลักนิติรัฐและนิติธรรมเป็นอย่างไร การเรียกร้องให้ยกเลิกหรือเสนอให้แก้ไขมาตรา 112 ไม่เป็นความผิดใด ๆ ทำไมนักเขียนอาวุโสถึงจะเขียนเสนอให้แก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้
กฤษฎางค์ ระบุว่า เจตนาในการแถลงข่าวครั้งนี้ คือเราไม่อยากให้การใช้กฎหมายแบบนี้เกิดขึ้นกับคนอื่น ๆ อีก ที่เป็นคนธรรมดา คนเล็กคนน้อย อยู่ที่หนึ่ง แต่ถูกไปแจ้งความถึงเบตง เป็นต้น มีลักษณะเป็นคดีที่เลือกเวทีในการชกที่ห่างไกล สร้างความไม่เป็นธรรมที่ถูกกล่าวหา กระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาล ต้องร่วมกันทำให้เรื่องแบบนี้ไม่เกิดขึ้นอีก
.
.
สุชาติ สวัสดิ์ศรี กล่าวเสริมในตอนท้ายของการแถลงข่าวว่า ดูเหมือนเขาอยากจะใช้คดีของตนเป็นตัวอย่าง จะในลักษณะไหนก็แล้วแต่ แต่เขามีเข็มมุ่งมาที่ตน ทำให้เห็นว่าตนมีประวัติด่างพร้อย มีความเสื่อมเสียมาจากการปลดจากการเป็นศิลปินแห่งชาติ
“คดีที่เกิดขึ้นทำให้ผมรู้สึกเศร้า แต่ความเศร้านั้นเป็นราคาของความรัก สำหรับผมก็คือเสรีภาพ คือประชาธิปไตย คือความเป็นธรรม เหมือนคนที่หนุ่มสาวเรียกร้องเรื่องเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ที่เขาชูสามนิ้ว แล้วผมก็ไปชูสามนิ้วกับเขาด้วย ผมก็เห็นด้วย เพราะมันเป็นความหวังความฝันของผมตั้งแต่ผมเริ่มทำหนังสือ ผมเริ่มเขียนบทนำลงในสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปี 2512 คำประกาศของความรู้สึกใหม่ สิ่งที่ผมเรียกร้องไม่แตกต่างกัน”
สุชาติกล่าวอีกด้วยว่า ยินดีที่จะเดินทางไปทุกแห่งในประเทศนี้ แต่ให้คดีมันเป็นตัวอย่างหนึ่ง ว่าตอนนี้เรื่องความมั่นคงภายใน มันเป็นความมั่นคงของใคร
สุชาติระบุในตอนท้ายว่า จากเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ ตนก็ขอร่วมเรียกร้องให้พื้นที่สภาเป็นพื้นที่ในการพูดคุยเรื่องปัญหามาตรา 112 และขอให้สภาออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับคดีทางการเมือง ที่รวมมาตรา 112 ด้วย อยากให้คนหนุ่มสาวที่เผชิญกับชะตากรรมในที่ต่าง ๆ และกว่า 40 คนถูกคุมขังจากคดีทางการเมือง และอยากให้ประเทศมีเสรีภาพในการแสดงออก เคารพความเห็นที่แตกต่าง และไม่ควรมีนักโทษการเมือง
“ถือว่าเป็นความรื่นรมย์ครั้งสุดท้าย the last joy ของผม” สุชาติกล่าวบางช่วงตอน
.
—————————–
อ่านสรุปสถานการณ์การใช้ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ม.116 ย้อนมองข้อหา ม.116 เครื่องมือทางการเมืองที่ยังคงถูกใช้สืบเนื่องจากยุค คสช.
.