สถานการณ์ผู้ลี้ภัยไทย: ยังมี 104 คนอยู่ต่างแดน เรียกร้องศาลให้ประกันคดีการเมืองเพื่อไม่เพิ่มผู้ลี้ภัย-รบ.เร่งนิรโทษไม่เว้น 112  

“…เราจึงขอแสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจศาลไทย โดยการละเมิดทุกเงื่อนไขที่ศาลตั้งไว้ และปฏิเสธอำนาจศาลไทยในทุกมิติ ด้วยการเดินทางมายื่นลี้ภัยการเมืองในประเทศที่ไม่ยอมรับกฏหมายมาตราดังกล่าว” 

ส่วนหนึ่งของถ้อยคำในแถลงการณ์ปฏิเสธอำนาจศาลของ “มิ้นท์ นาดสินปฏิวัติ” จำเลยคดีมาตรา 112 ที่โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2565 ภายหลังเดินทางถึงประเทศฝรั่งเศส และได้รับความคุ้มครองทางกฏหมายจากศูนย์แรกรับผู้ลี้ภัยของฝรั่งเศสแล้ว

20 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันผู้ลี้ภัยโลก เว็บไซต์ UNHCR ประเทศไทย ระบุว่า เป็นวันสากลที่ถูกกำหนดขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติเพื่อผู้ลี้ภัยทั่วโลก เพื่อระลึกถึงความเข้มแข็งและความกล้าหาญของผู้คนที่ถูกบังคับให้หนีออกจากประเทศบ้านเกิดจากความขัดแย้งและการประหัตประหาร สำหรับวันผู้ลี้ภัยโลกในปีนี้ มีแนวคิดหลักคือความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อสร้างโลกที่ผู้ลี้ภัยได้รับการยอมรับ รวมถึงยุติความขัดแย้งเพื่อให้พวกเขาสามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย 

หากมองแคบเข้ามา คือประเทศไทย สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในห้วงเกือบ 20 ปี นอกจากส่งผลให้เกิดรัฐประหาร 2 ครั้ง มีรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยลดน้อยถอยลง 3 ฉบับ ประชาชนเสียชีวิตกว่า 100 ราย บาดเจ็บคาดว่าไม่ต่ำกว่า 2,500 ราย และถูกดำเนินคดีอีกกว่า 6,000 ราย แล้ว ยังทำให้มากกว่า 100 คน ตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศเพื่อลี้ภัยทางการเมือง ทั้งด้วยความรู้สึกไม่ยอมรับอำนาจคณะรัฐประหาร ความรู้สึกไม่เป็นธรรมที่ถูกดำเนินคดี หรือเกรงไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดี ความหวาดกลัวว่าจะถูกดำเนินคดี ถูกคุมขัง กระทั่งความหวาดกลัวจากการคุกคามจนเกรงจะเกิดอันตรายถึงชีวิต 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงชวนทบทวนสถานการณ์และเรื่องราวของผู้คนที่ได้ชื่อว่าเป็น ผู้ลี้ภัยทางการเมืองของไทย ผู้คนที่เป็นเพื่อนร่วมชาติแต่พวกเขาไม่สามารถอยู่ร่วมกับพวกเราด้วยเหตุจากสถานการณ์ทางการเมืองดังที่กล่าวมา เพื่อตระหนักถึงทั้งความเข้มแข็ง ความหวาดกลัว และความกล้าหาญของพวกเขา ตลอดจนตระหนักถึงความสำคัญของการยุติความขัดแย้งที่ดำรงอยู่เป็นเวลาเกือบ 2 ทศวรรษนี้ เพื่อให้พวกเขาทั้งหมดสามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย 

ที่ก้าวแรกนั้นคือ การนิรโทษกรรมประชาชน รวมถึงคดีมาตรา 112 และก่อนไปถึงจุดนั้นหากศาลให้ประกันผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง จะทำให้ไม่เกิดผู้ลี้ภัยรายใหม่เพิ่มขึ้นอีก

.

.

1. ผู้ลี้ภัย ม.112 หลังรัฐประหาร 2549 อย่างน้อย 12 ราย 

ในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2548 นำไปสู่การรัฐประหารในปี 2549 และเกิดกระแสการเคลื่อนไหวของประชาชนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ตลอดจนฝ่ายที่มีความเห็นแตกต่าง ในอีกหลายปีต่อมานั้น เริ่มมีผู้ที่แสดงออกทางการเมืองได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะจากการใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เพิ่มมากขึ้นจากช่วงก่อนหน้านั้นอย่างเห็นได้ชัด และตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศเพื่อลี้ภัยทางการเมือง 

“ผมตัดสินใจทิ้งชีวิตออกมาสู่ชีวิตของผู้ลี้ภัย เพราะผมต้องการมาตามหาเสรีภาพเมืองไทยที่มันตกหล่นไปและกลับคืนไปใส่ให้มันครบ”

จักรภพ เพ็ญแข แกนนำ นปช. และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 ให้สัมภาษณ์ใน Thais in Exile โดย เนติ วิเชียรแสน 

.

“ผมไม่สามารถยอมรับหรือยอมที่จะอยู่ในสภาพการจับกุมคุมขังได้”

“ปรวย” หรือ เนติ วิเชียรแสน ผู้กำกับหนังโฆษณา ถูกดำเนินคดี 112 จากการโพสต์ความเห็นในเว็บบอร์ด ให้สัมภาษณ์ใน รู้จัก ‘ปรวย’ ผู้ลี้ภัย-ผู้กำกับหนังลุงนวมทอง /Democracy After Death โดย ประชาไท, 16 ม.ค. 2560

.

หรือกรณี ใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถูกดำเนินคดีจากการเขียนหนังสือ A Coup for the Rich, เอกภพ เหลือรา หรือ “ตั้ง อาชีวะ” อดีตนักศึกษาอาชีวะ ที่ขึ้นปราศรัยบนเวที นปช. ในการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปลายปี 2556

จากสถานการณ์การเมืองในช่วงดังกล่าวจนถึงก่อนรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 พบว่า ประชาชนอย่างน้อย 12 ราย ที่ต้องเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง ทั้งโดยการเดินทางออกนอกประเทศ และอยู่ในประเทศอื่นก่อนแล้ว แต่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกในประเด็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ 

.

2. ผู้ลี้ภัยยุค คสช. ขั้นต่ำ 102 คน ทั้งเหตุ ม.112 – ไม่รายงานตัว – คดีอาวุธ

ทันทีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยึดอำนาจการปกครอง เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 22 พ.ค. 2557 ได้ออกประกาศและคำสั่งหลายร้อยฉบับ เพื่อควบคุมประเทศในทุกมิติ รวมถึงการออกคำสั่งเรียกให้บุคคลเข้ารายงานตัว 

โดยปรากฏรายชื่อผู้ถูกเรียกเป็นนักการเมืองทั้งฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้าน, แกนนำและการ์ด นปช., แกนนำ กปปส., นักกิจกรรม สื่อมวลชน สื่ออิสระ กระทั่งศิลปินและนักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตย โดยเฉพาะคนที่เคยแสดงออกในเชิงวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ จำนวนมากถูกควบคุมตัวตามค่ายทหาร 3-7 วัน หรือนานกว่านั้น 

ทำให้ไม่กี่วันหลังจากนั้น ผู้ที่มีรายชื่อถูกเรียกรายงานตัวไม่ต่ำกว่า 30 คน รวมถึงคนที่เกรงกลัวถูกคุกคาม ก็ตัดสินใจ “ลี้ภัย” คสช. ออกไปนอกประเทศ 

วัฒน์ขณะลี้ภัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน (ภาพจากสารคดีไกลบ้าน)

“ทำไมวันนี้เราต้องหมอบราบคาบแก้ว สูญเสียความเป็นเสรีชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์… เรื่องความลำบากที่ต้องจากบ้านมา เป็นเรื่องเล็กมาก ถ้าเทียบกับปัญหาหลัก ๆ ของประเทศชาติ ของสังคมไทย… อยู่นอกคุกมันก็ดีกว่าอยู่ในคุก สำหรับการเมืองที่เราคาดไม่ได้  นี่คือเหตุผลของการถอย ยุทธศาสตร์ก็คือการสู้แบบเสรีชน คือไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน” 

วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนที่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเผด็จการมาตลอดชีวิต, คุยกับวัฒน์ วรรลยางกูร: ปีที่ 61 ของชีวิต ปีที่ 2 ของการลี้ภัย และหนังสือเล่มใหม่ โดย ประชาไท, 22 ม.ค. 2559 

.

“ผมไม่คิดว่าพวกเขามีอำนาจเรียกตัวผม และไม่เชื่อมั่นว่าเขาจะปฏิบัติกับผมเสมือนที่พลเมืองจะได้รับการปฏิบัติในระบอบประชาธิปไตย” 

นิธิวัต วรรณศิริ หนึ่งในสมาชิกวงไฟเย็น ให้สัมภาษณ์ใน ชะตากรรมคนคิดต่าง สำรวจชีวิตผู้ลี้ภัยการเมือง โดย ประชาไท, 9 ต.ค. 2558

.

 “กลัวจะโดนฆ่า โดนเก็บ โดนจับเข้าคุก ไม่มีใครอยากอยู่ในคุกไทยแบบอนาถ 10 ปี ยิ่งเราเป็นกะเทยไปอยู่ในคุกก็ลำบาก ฮอร์โมนก็ไม่มี แถมมีเรื่องความรุนแรงทางเพศ เรื่องสุขอนามัย จึงต้องวางแผนออกจากประเทศไทย” 

ศรัณย์ ฉุยฉาย หรือ “อั้ม เนโกะ” อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ใน ชีวิตใหม่ของคนนอกขนบ ‘อั้ม เนโกะ’ และเส้นทางต่อสู้เพื่อสิทธิ LGBT โดย the 101, 6 ส.ค. 2562 

.

“เราเองน่ะเป็นพลเรือน มีแต่ปากกา ต่อให้เป็นรัฐมนตรีมหาดไทยก็ไม่สามารถที่จะต่อกรกับเขาได้ มีทางเดียว คือ แสดงเจตนารมณ์ว่า ‘ฉันไม่ยอม ฉันสู้ สู้ไม่ได้ในประเทศไทย ฉันก็ออกมานอกประเทศจะได้มีอิสระเสรีภาพในการต่อสู้’”  

จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ใน 15 ปีรัฐประหาร 49 (2) ความฝัน ความหวัง และชีวิตหลังลี้ภัยของ ‘จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ’ โดย ประชาไท, 17 ก.ย. 2564

.

จรัลในฝรั่งเศส ภาพโดย Way Magazine

“แน่นอนว่าการอยู่ในคุกมันสามารถสู้ต่อได้ แต่มันสู้ได้มากได้น้อยแค่ไหน เมื่อเปรียบเทียบกับการลี้ภัยไปยังประเทศอื่นๆ ถ้าเรายอมติดคุกก็เท่ากับว่าเรายอมรับอำนาจรัฐประหาร  ยอมรับอำนาจเผด็จการ ผมไม่ยอมรับอยู่แล้ว และการลี้ภัยเป็นสิทธิมนุษยชน มันเป็นสิทธิที่จะลี้ภัย”

จรัล ดิษฐาอภิชัย อดีต กสม. และแกนนำ นปช. ให้สัมภาษณ์ใน ‘จรัล ดิษฐาอภิชัย’ การลี้ภัยเป็นสิทธิมนุษยชน โดย the Momentum, 20 พ.ค. 2564

.

ไม่เพียงเท่านั้น ยุค คสช.ยังมีการเร่งรัดจับกุมดำเนินคดีประชาชนด้วยข้อหามาตรา 112, ข้อหาเกี่ยวกับอาวุธ ทั้งกรณีฟื้นคดีก่อนรัฐประหาร และคดีใหม่ รวมถึงดำเนินประชาชนที่แสดงออกต่อต้าน คสช.จำนวนมาก คดีเหล่านี้ส่วนใหญ่ต้องถูกพิจารณาคดีในศาลทหารตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 ซึ่งผู้ถูกดำเนินคดีมักเจอกับกระบวนการที่บิดเบี้ยว เช่น ถูกนำตัวไปสอบถามในค่ายทหารก่อนส่งให้ตำรวจดำเนินคดี, ไม่ได้รับการประกันตัว, พิจารณาคดีลับ กระทั่งถูกพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยด้วยอัตราโทษที่สูงกว่าปกติ (ดูสรุปคดี 112 ใต้ยุค คสช.

บรรยากาศเช่นนี้กดดันให้ผู้ที่เกรงว่าตนจะถูกดำเนินคดี หรือบางคนถูกจับกุมคุมขังระยะหนึ่งแล้วได้รับการประกันตัวออกมา หาทาง “ลี้ภัย” ออกนอกประเทศ มากกว่าอยู่เผชิญกับกระบวนการที่เขาไม่เชื่อมั่นว่ายุติธรรม ศูนย์ทนายฯ พบว่า ช่วง 5 ปี ที่ คสช. ครองอำนาจ มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่เป็นผลจากการเข้ายึดอำนาจของ คสช. มีจำนวนขั้นต่ำที่นับได้ถึง 102 คน

.

“รู้สึกกลัวความไม่ปลอดภัย ไม่ต้องการเดินทางไปรายงานตัวกับศาลทหารตามเงื่อนไขการประกันตัว และไม่ต้องการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดว่าไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองใด ๆ”

อดีตนักศึกษาซึ่งถูกดำเนินคดีขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.และ พ.ร.บ.ประชามติฯ กรณีร่วมรณรงค์โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ในสัมภาษณ์ใน ยากแค่ไหนหากขอลี้ภัยในอังกฤษ โดย BBC ไทย, 5 ต.ค. 2560 

.

ภาพจากเฟซบุ๊ก Chanoknan Ruamsap

“เราคิดว่าลี้ภัยก็คือการต่อสู้แบบหนึ่ง เราไม่อยากจะสู้ในกฎ ตอนที่เราออกมากฎหมายมันไม่ได้แฟร์ เหมือนรู้ว่าแพ้ตั้งแต่ยังไม่ทำอะไร” 

ชนกนันท์ รวมทรัพย์ นิสิตจุฬาฯ และนักกิจกรรมกลุ่ม NDM ผู้ถูกดำเนินคดี 112 จากการแชร์ข่าว BBC ให้สัมภาษณ์ใน ใครจะรู้ว่าแค่แชร์บทความ จะต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย คุยกับ การ์ตูน-ชนกนันท์ โดย The Matter, 19 มิ.ย. 2566

.

“คำถามคือทำอย่างไรเราจึงจะไม่ติดคุกอีก เพราะไม่อย่างนั้นจิตใจเราอาจจะไม่ไหวแล้ว แม่เราก็เช่นกัน สุดท้ายเลยนำไปสู่คำตอบคือการลี้ภัย” 

ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์ พนักงานบริษัท ถูกดำเนินคดี 112 จากข้อความในแชทส่วนตัว ให้สัมภาษณ์ใน ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์ – 112 เท่าที่เล่าได้

.

3. ผู้ลี้ภัยระลอกใหม่ หลังยุค คสช. และการกลับมาของ 112 ไม่น้อยกว่า 30 ราย 

หลัง คสช. สิ้นสุดอํานาจในวันที่ 16 ก.ค. 2562 รัฐบาลจากการเลือกตั้งเดือน มี.ค. 2562 เข้าปฏิบัติหน้าที่ แต่นายกรัฐมนตรียังคงเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารคนเดิม สืบทอดโครงสร้างและวัฒนธรรมการเมืองแบบเผด็จการทหารครอบงำสังคมไทยต่อไป สถานการณ์ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนจึงยังไม่ดีขึ้นพอให้เหล่าผู้ลี้ภัยการเมืองไทยได้กลับบ้าน 

เพราะแม้แต่ก่อน คสช.หมดอำนาจ ได้ยกเลิกประกาศ / คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. รวม 70 ฉบับ จาก 557 ฉบับ แต่ก็ยังไม่ยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 ทำให้ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. ยังคงอยู่ 

“..เงื่อนไข ภาวะวิสัย อุณหภูมิตอนนี้ ยังไม่พร้อมที่จะให้ไปสู้ในประเทศ (แม้จะผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้แล้ว?) ก็ยังไม่ไปครับ ยังต้องดูสถานการณ์ก่อน จนกระทั่งสังคมเริ่มเข้าสู่กฎเกณฑ์ เราก็จะเข้าไปสู่การต่อสู้ต่อไป..”

สุนัย จุลพงศธร อดีต สส. ให้สัมภาษณ์ใน คุยกับ ‘จอม-สุนัย’ ผู้ลี้ภัยการเมืองในสหรัฐฯ หลัง 5 ปีรัฐประหาร 2557 โดย VOA Thai, 22 พ.ค. 2562

.

“ไม่คิด (กลับไทย) เลยครับ ไม่ชะเง้อรอในสภาพที่สังคมไทยเป็นแบบนี้”

วัฒน์ วรรลยางกูร ให้สัมภาษณ์ใน วัฒน์ วรรลยางกูร “นกปีกหัก” กับ “รังใหม่” ที่ปลอดภัยในฝรั่งเศส โดย BBC ไทย, 2 ก.ค. 2562

.

มากไปกว่านั้น เมื่อประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ ออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล เรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ นับตั้งแต่ห้วงกลางปี 2563 เป็นต้นมา  นอกเหนือไปจากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎหมายอื่น ๆ มาดำเนินคดีกับแกนนำและผู้ชุมนุมจำนวนมาก เพื่อหยุดยั้งกระแสการเคลื่อนไหว รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีกับประชาชนที่แสดงออกในเชิงวิพากษ์วิจารณ์หรือตั้งคำถามกับสถาบันกษัตริย์ แม้ว่าช่วงกว่า 2 ปี ก่อนหน้านั้นไม่มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว โดย พล.อ.ประยุทธ์ อ้างว่า เป็นพระเมตตาของรัชกาลที่ 10   

จำนวนคดีและผู้ถูกดำเนินคดีที่ทวีมากขึ้นทุกเดือน โดยเฉพาะคดีมาตรา 112 ที่มีประชาชน รวมถึงเด็กและเยาวชนถูกดำเนินคดีจำนวนมากอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ จากการตีความขยายขอบเขตของ 112 ไปอย่างกว้างขวางของเจ้าหน้าที่ และจากการที่ประชาชนทั่วไปเข้าแจ้งความร้องทุกข์ได้ 

ประกอบกับการที่ศาลไม่ให้ประกันแกนนำและประชาชนบางรายเป็นเวลานานหลายเดือนแม้คดียังไม่มีคำพิพากษา ทั้งในคดีมาตรา 112 และคดีเกี่ยวกับระเบิดหรือวางเพลิงในการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊ส นอกจากนี้ เมื่อศาลทยอยมีคำพิพากษา จำนวนมากถูกลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา 

ยิ่งกว่านั้นแม้คดีจะยังไม่สิ้นสุด จำเลยยังสู้คดีในชั้นอุทธรณ์และฎีกาต่อได้ แต่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกามีแนวโน้มไม่ให้ประกันตัวเลย โดยเฉพาะตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ. 2566 ส่งผลให้ผู้ต้องขังทางการเมืองทั้งคดีสิ้นสุดและระหว่างการต่อสู้คดีพุ่งสูงถึง 37 คน เมื่อสิ้นปี 2566 และยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2567 

ที่น่ากังวลมากยิ่งกว่าการถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย คือการถูกติดตามคุกคามนอกกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่และบุคคลไม่ทราบฝ่าย ทั้งต่อตัวผู้ถูกดำเนินคดี ครอบครัว หรือแม้แต่ทรัพย์สิน 

สถานการณ์โดยรวมเช่นว่านี้ผลักดันให้มีผู้ลี้ภัยหน้าใหม่เดินทางออกนอกประเทศเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แทบทั้งหมดเป็นกรณีลี้ “ภัย” มาตรา 112

และเป็นครั้งแรกที่เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี เลือกที่จะกลายเป็นผู้ลี้ภัย

.

“เรารู้สึกว่าได้ใช้ชีวิตที่นี่ในฐานะมนุษย์คนนึงจริงๆ ไม่เหมือนตอนอยู่ไทยที่เราใช้ชีวิตเป็นตัวอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่มีความฝัน ไม่มีอนาคต ไม่มีอะไรเลย ปลายทางมีแต่ติดคุก ติดคุก ติดคุก… ซึ่งเราก็ไม่อยากจะติดคุกตั้งแต่อายุ 18-19 เพราะมันเป็นวัยที่ควรจะได้เรียนมหา’ลัย ได้ใช้ชีวิตกับเพื่อน”

“พลอย” เบญจมาภรณ์ นักกิจกรรมเยาวชน ถูกดำเนินคดี 112 ถึง 2 คดี จากการแชร์โพสต์และทำโพล ให้สัมภาษณ์ใน  ไทยไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก” คุยกับ ‘พลอย’ ผู้ลี้ภัย ม.112 ที่อายุน้อยที่สุด โดย the Matter, 14 ม.ค. 2566

.

“สู้ไปก็ไม่ชนะ มีจุดจบเดียวคือถูกขัง เพราะเราเข้าไปอยู่ในกระบวนการของเขาแล้ว เขาเป็นคนสร้างกฎขึ้นมา เราเป็นผู้ถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียว ไม่ว่าจะขยับตรงไหนก็ต้องรอเขาอนุญาต มันให้ความรู้สึกว่าสู้คดีในไทย สู้ไปยังไงก็แพ้”

พรพิมล แม่ค้าออนไลน์วัย 22 ปี ตกเป็นจำเลย 112 จากการโพสต์ข้อความ ให้สัมภาษณ์ใน ‘พรพิมล’ จากแม่ค้าออนไลน์เชียงใหม่ ผู้เคยถูกจับ-ขัง คดี ม.112 สู่ชีวิตใหม่หลังขอลี้ภัย โดย ประชาไท, 15 ต.ค. 2564

.

“การคุกคามที่เราเจอมันเหนือความคาดหมายของเรามาก มันทำให้เรารู้สึกกลัว ยอมรับว่าการคุกคามของรัฐส่งผลกระทบทำให้เราเกิดอาการแพนิก และ PTSD ทุกครั้งที่เราได้ยินเสียงกลอนประตู หรือเสียงคนเดินอยู่ข้างนอกห้อง เราจะเด้งตัวขึ้นมาและเกิดอาการระแวงไปหมด… จุดที่ทำให้เราตัดสินใจออกมาทันทีเลย คือเจ้าหน้าที่รัฐมาคุกคามพ่อแม่ ช่วงนั้นพอดีกับเจ้าหน้าที่ทหารส่งข้อความมาข่มขู่เราว่า พวกเขาจะไม่จัดการเราด้วยกฎหมายแล้ว เราก็เลยรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ออกมาดีกว่า”

“เมนู” สุพิชฌาย์ ชัยลอม นักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 รวม 3 คดี ให้สัมภาษณ์ใน จาก ‘เมนู’ สู่ ‘เมลิญณ์’ ในวันที่กรงขังไม่อาจจองจำเธอได้ โดย The 101, 6 พ.ย. 2565  

.

แม้ในเดือน พ.ค. 2566 เราจะผ่านการเลือกตั้งอีกครั้ง และมีรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยอย่างพรรคเพื่อไทย แต่สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับคดีทางการเมืองก็ดูเหมือนแทบจะไม่มีความเปลี่ยนแปลง ตำรวจยังคงเรียกนักกิจกรรมมาแจ้งข้อหาคดีใหม่ ๆ แม้ว่าส่วนใหญ่เป็นคดีที่มีเหตุก่อนหน้ารัฐบาลนี้, อัยการยังมีคำสั่งฟ้องคดีอย่างต่อเนื่อง, ผู้ต้องขังทางการเมืองที่ถูกขังมาก่อนรัฐบาลนี้ปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะผู้ต้องขังคดี 112 ยังคงไม่ได้ประกัน ขณะที่มีผู้ต้องขังระหว่างต่อสู้คดีรายใหม่เพิ่มขึ้นแทบทุกเดือน เนื่องจากศาลพิพากษาจำคุกและไม่ให้ประกันตัว ตลอดจนการติดตามประชาชนที่ถูกดำเนินคดี 112 ก็ยังเกิดขึ้น

ทำให้ภายใต้รัฐบาลเศรษฐาที่ประกาศต่อรัฐสภาและประชาคมโลกว่า จะมุ่งมั่นให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และสิทธิมนุษยชน ผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 6 คน เลือกที่จะเดินทางออกนอกประเทศไปแสวงหาสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพในประเทศอื่นในฐานะ “ผู้ลี้ภัย”

และทำให้จนถึงปัจจุบัน (25 มิ.ย. 2567) ศูนย์ทนายฯ พบว่า ผู้ลี้ภัยระลอกใหม่หลังยุค คสช. และการกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกครั้ง มีไม่น้อยกว่า 30 ราย กว่าครึ่งเป็นเยาวชนและคนรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 30 ปี

.

ภัคภิญญา ภาพจาก X iLawFX

“ตอนแรกอยากสู้ถึงฎีกาไปเลย มัน 9 ปี เหมือนเราฆ่าคนตาย เพราะเราแชร์ข้อความ 3 โพสต์ ก็เลยตั้งใจจะสู้ถึงฎีกา แต่ปี 66 เปลี่ยนรัฐบาล ปกตินราธิวาสไม่ขังใครเลย ถ้ามาปกติ รายงานตัว ก็ให้ประกันตัวได้…ปลายเดือนสิงหาคม พี่อุดมไปฟังอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ยืนยันคำพิพากษาเดิม… ศาลฎีกาก็สั่งไม่ให้ประกันตัว เราก็คิดว่ามันเกี่ยวข้องกันไหม พอเปลี่ยนรัฐบาลปุ๊บก็เข้มขึ้นเลย” 

ภัคภิญญา ประชาชนชาวกรุงเทพฯ ผู้ถูกดำเนินคดี 112 ที่นราธิวาส จากการแชร์โพสต์ ให้สัมภาษณ์ใน แบมบู ภัคภิญญา’ อดีตบรรณารักษ์ เหยื่อ ม.112 สู่ผู้ลี้ภัยในออสเตรเลีย โดย ประชาไท, 12 มิ.ย. 2567

.

“ในสภาวะที่ศาลไทยไม่สามารถให้ความมั่นใจกับประชาชนได้เรื่องความยุติธรรม ก็ไม่มีความเชื่อใจใดที่ผมจะต้องรีบไปศาลในวันนี้ หลายท่านคงเห็นว่าศาลไทยพยายามเร่งตัดสินคดีทางการเมืองในช่วงนี้จำนวนมาก และมีคนสูญเสียอิสรภาพเป็นรายวัน คุกเคยเข้าแล้ว แต่ขอเลือกวันเข้าด้วยตัวเอง”

ภาณุพงศ์ จาดนอก นักกิจกรรมกลุ่ม “ราษฎร” วัย 27 ปี ถูกดำเนินคดี 112 รวม 9 คดี และถูกขังมาแล้ว 4 ครั้ง เกือบ 300 วัน โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อ 28 มี.ค 2567 

นักเคลื่อนไหว นักกิจกรรม นักวิชาการ นักการเมือง นักธุรกิจ ศิลปิน ประชาชนธรรมดา จำนวนกว่า 100 คน ที่ตัดสินใจลี้ภัยทางการเมืองในช่วงเวลาเกือบ 20 ปี ของความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทย ต้องเผชิญกับชะตากรรมหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่คาดว่าเกิดจากการกระทำของรัฐ และจากความยากลำบากของการใช้ชีวิตขณะลี้ภัย อาทิ

ถูกบังคับสูญหาย อย่างน้อย 7 ราย

นอกจากผู้ลี้ภัยต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในการใช้ชีวิตในแผ่นดินอื่นที่ตนไม่ได้เป็นสมาชิก กลุ่มที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านยังต้องเผชิญกับภาวะถูกคุกคามที่รุนแรงถึงขั้นถูกบังคับให้สูญหาย เริ่มตั้งแต่การหายตัวไปของ “ดีเจซุนโฮ” หรืออิทธิพล สุขแป้น อดีตนักกิจกรรมที่เดินทางข้ามไปฝั่งลาว หลังปรากฏชื่อถูก คสช.เรียกรายงานตัว ระหว่างที่อยู่ในลาวอิทธิพลยังคงเคลื่อนไหวจัดรายการวิทยุวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ และ คสช. ก่อนหายตัวไประหว่างเดินทางกลับบ้านในคืนวันที่ 22 มิ.ย. 2559 และคนใกล้ชิดไม่ทราบชะตากรรมของเขาอีกเลย 

หลังกรณีของอิทธิพล ยังมีนักกิจกรรมที่ลี้ภัยในลาวและจัดรายการวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทย รวมถึงนักกิจกรรมที่ลี้ภัยไปอยู่กัมพูชา ถูกบังคับสูญหายอีก 6 ราย ได้แก่ “โกตี๋” วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ อดีตดีเจเสื้อแดงปทุมธานี ถูกกลุ่มชายชุดดำปิดบังใบหน้า เข้าจับตัวในบ้านพักเมื่อคืนวันที่ 29 ก.ค. 2560 

สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หายตัวจากบ้านพักกลางดึกคืนวันที่ 12 ธ.ค. 2561 พร้อมกับ 2 คนสนิท “ภูชนะ” ชัชชาญ บุปผาวัลย์, “กาสะลอง” ไกรเดช ลือเลิศ ซึ่งเป็นทีมจัดรายการ “ปฏิวัติประเทศไทย” ทางยูทูบ ก่อนที่อีกราว 2 อาทิตย์ถัดมา มีคนพบศพบริเวณตลิ่งแม่น้ำโขงในจังหวัดนครพนม และพิสูจน์ดีเอ็นเอว่าเป็นชัชชาญและไกรเดช ขณะที่ยังไม่มีใครรู้ชะตากรรมของสุรชัยจนถึงปัจจุบัน

สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ภาพจาก ประชาไท

“ลุงสนามหลวง” ชูชีพ ชีวะสุทธิ์, “สหายยังบลัด” กฤษณะ ทัพไทย และสยาม ธีรวุฒิ ซึ่งจัดวิทยุใต้ดินร่วมกันในนาม “สามทหารเสือ” มีข่าวว่าทั้งสามถูกส่งตัวกลับไทยเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2562 หลังถูกจับกุมที่ประเทศเวียดนามมาระยะหนึ่ง แต่ทั้งทางการไทยและเวียดนามกลับปฏิเสธเรื่องดังกล่าว ขณะที่ไม่มีใครติดต่อพวกเขาได้อีกเลย  

วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมที่ปฏิเสธเข้ารายงานตัว คสช. และลี้ภัยไปอยู่ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ถูกลักพาตัวไปจากบริเวณหน้าที่พักเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2563 และสูญหายไปนับตั้งแต่นั้น 

วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ภาพจาก ประชาไท

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเผยของแอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชล ว่า ร.ท.เฉลิมศักดิ์ เรือนมงคล ซึ่งถูกสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับเพจเฟซบุ๊กที่โพสต์ข้อความดูหมิ่นกษัตริย์ หายตัวไปเมื่อต้นเดือนเมษายน 2561 ขณะหลบหนีไปที่ฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ยังไม่มีการยืนยันข้อมูลจากคนใกล้ชิด หรือแหล่งข่าวอื่น

กรณีการบังคับสูญหายของบุคคลดังกล่าว ซึ่งล้วนอยู่ในช่วงการครองอำนาจของ คสช. และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แต่ คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แม้ว่าเกือบทุกคนมีชื่อปรากฏในรายชื่อผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ที่ คสช.ต้องการตัวกลับมาดำเนินคดี เพราะถือเป็น “ภัยความมั่นคง” และตัวแทนรัฐบาลเดินทางไปเจรจากับตัวแทนรัฐบาลลาวและกัมพูชาเป็นระยะเพื่อขอให้มีการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลุ่มดังกล่าว รวมทั้งช่วงเวลาที่บางคนถูกทำให้หายตัวไปเป็นช่วงเดียวกับที่มีคนของ คสช.เดินทางไปที่ประเทศลาว 

ขณะที่คณะผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้ส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทย, รัฐบาลลาว, รัฐบาลเวียดนาม และรัฐบาลกัมพูชา เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2563 ชี้ถึงประเด็นการบังคับสูญหายนักกิจกรรมทางการเมืองและผู้เห็นต่างจากรัฐบาลที่ลี้ภัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า ล้วนเกิดขึ้นในรูปแบบที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐ  

ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2567 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีมติว่า กรณีการหายไปของบุคคลทั้ง 9 ราย ซึ่งต่อมาพบศพแล้ว 2 ราย น่าเชื่อว่าเป็นการบังคับให้บุคคลสูญหาย ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และยังเห็นว่าการที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการอย่างเพียงพอในการอำนวยความยุติธรรมในการสืบสวนสอบสวนติดตามหาตัวผู้กระทำผิด การดำเนินการให้ทราบชะตากรรมของผู้ถูกบังคับให้สูญหาย รวมถึงละเลยการเยียวยาให้แก่ญาติและครอบครัว ถือเป็นการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

.

เสียชีวิต ไม่ต่ำกว่า 10 ราย

นอกจากการเสียชีวิตของชัชชาญและไกรเดช ซึ่งยังคงปริศนาที่ครอบครัวเองและสังคมไทยต้องการคำตอบว่า ใครเป็นผู้ทำให้เกิดขึ้น ยังมีผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่เสียชีวิตในประเทศที่ไปอยู่ด้วยสาเหตุด้านสุขภาพอีกอย่างน้อย 3 ราย ได้แก่ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และแกนนำ นปช. เสียชีวิตในวัย 65 ปี เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2557 ด้วยอาการปอดติดเชื้อ ขณะลี้ภัยมาตรา 112 อยู่ที่ประเทศฟิลิปปินส์ 

วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนรางวัลศรีบูรพาและนักเคลื่อนไหว เสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2565 ด้วยวัย 67 ปี หลังเดินทางออกนอกประเทศไทยเพื่อลี้ภัย คสช.กว่า 7 ปี, สมเจตน์ คงวัฒนะ อดีตนักศึกษาที่เคยเข้าป่าช่วงปี 2519 และร่วมเคลื่อนไหวช่วงปี 2553 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2565 หลังลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้านเกือบ 8 ปี และป่วยเป็นอัมพาตอยู่หลายปี รวมอายุ 68 ปี 

ล่าสุดคือเมื่อเดือน ธ.ค. 2566 ดารุณี กฤตบุญญาลัย อดีตนักแสดงและแกนนำ นปช. เสียชีวิตที่สหรัฐอเมริกาในวัย 74 ปี รวมเวลาที่ลี้ภัยออกจากประเทศไทย 9 ปี

แม้ว่าทั้งสี่จะเสียชีวิตจากสาเหตุด้านสุขภาพ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ความกังวลและความเครียด จากสถานะที่ไม่ถูกกฎหมายในประเทศอื่น และการคุกคามไล่ล่าของรัฐไทย ส่งผลต่อสุขภาพของพวกเขา ตลอดจนการที่บางรายไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่ดีในโรงพยาบาล นำมาสู่การเสียชีวิตของพวกเขาในที่สุด 

ศูนย์ทนายฯ ยังมีข้อมูลว่า มีผู้ลี้ภัยอีกอย่างน้อย 4 ราย ที่สุขภาพทรุดโทรมลงหลังการลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้านเป็นระยะเวลาหนึ่ง ทำให้พวกเขาตัดสินใจกลับมาอยู่กับครอบครัว หรือเพื่อนผู้ลี้ภัยส่งกลับมารักษา แต่การตกเป็นเป้าหมายของ คสช.และรัฐไทย ก็ทำให้การกลับมาอยู่ในประเทศมีสภาพยากลำบากไม่ต่างจากอยู่นอกประเทศ และผลลัพธ์คือการสูญเสียชีวิตเช่นกัน

.

ถูกจับกุม-นำตัวกลับมาดำเนินคดี 2 ราย   

กฤษดา ไชยแค ซึ่งมีชื่อถูกออกหมายจับในคดีปาระเบิดใส่เวที กปปส.ช่วงต้นปี 2557 และเดินทางหลบหนีไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน ถูกตำรวจไทยร่วมกับตำรวจกัมพูชาจับกุมที่ชายแดนไทยใกล้กับด่านตรวจคนเข้าเมือง จ.สระแก้ว เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2561 ก่อนนำตัวกลับมาดำเนินคดี 

อีกรายคือ ประพันธ์ อดีตหมอนวดแผนโบราณที่ถูกออกหมายจับข้อหายุยงปลุกปั่น และเป็นอั้งยี่ กรณีสวมเสื้อดำที่ห้างเดอะมอลล์ บางกะปิ เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2561 ถูกตำรวจมาเลเซียจับกุมระหว่างรอลี้ภัยไปประเทศที่สาม ก่อนถูกส่งตัวกลับมาที่ประเทศไทย ตามที่ทางการไทยร้องขอ และตำรวจกองปราบนำตัวไปดำเนินคดี 

.

เดินทางกลับหลายราย

อรรถชัย อนันตเมฆ อดีตนักแสดงและนักเคลื่อนไหวกลุ่ม นปช. ซึ่งถูกออกหมายจับคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. กรณีไม่มารายงานตัว ตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทยในเดือน มิ.ย. 2565 หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 30/2563 ให้ประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 และ 41/2557 ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. มีความผิดทางอาญานั้น ขัดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 29 ทำให้ประกาศฉบับดังกล่าวไม่มีผลบังคับใช้อีกต่อไป และผู้ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. จากการไม่เข้ารายงานตัว ก็จะไม่มีความผิด 

ยังมีผู้ลี้ภัยอีกหลายรายเดินทางกลับไทยด้วยเหตุผลเช่นเดียวกับอรรถชัย นอกจากนี้ อีกหลายรายที่ลี้ภัย คสช. ไปด้วยเหตุจากความหวาดกลัวการคุกคาม โดยไม่ได้ถูกออกหมายจับในคดีใด ๆ เมื่อรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น หรือแน่ใจว่าตนเองไม่มีคดีก็เลือกที่จะเดินทางกลับมาอยู่กับครอบครัวในประเทศไทย ขณะเดียวกันอีกหลายรายก็เลือกที่จะไม่เดินทางกลับ 

หรือผู้ลี้ภัยบางคนแม้มีคดีติดตัว หากแต่สำหรับพวกเขาการมีชีวิตอยู่ในประเทศอื่นที่ห่างไกลครอบครัว ญาติ และเพื่อนฝูง เป็นความทุกข์และยากลำบาก คนกลุ่มนี้จึงตัดสินใจเดินทางกลับมาเผชิญกับคดีความและกระบวนยุติธรรม เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองดีขึ้นบ้าง ซึ่งรวมถึงทักษิณ ชินวัต และจักรภพ เพ็ญแข ที่เดินทางกลับไทยภายหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุด หลังการลี้ภัยราว 15 ปี  

.

ผ่านชะตากรรมทั้งที่เลือกได้ ถูกบังคับเลือก หรือไม่ได้เลือก ทำให้ล่าสุด (25 มิ.ย. 2567) มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองของไทยที่อยู่ในประเทศต่าง ๆ อย่างน้อย 104 คน โดยมีเหตุจากคดีมาตรา 112 จำนวน 67 คน, คดีเกี่ยวกับอาวุธหรือระเบิด 14 คน, คดีมาตรา 116 จำนวน 5 คน, คดีไม่รายงานตัว คสช. 5 คน ที่เหลือ 13 คน มีเหตุจากคดีอื่น ๆ หรือถูกคุกคาม

พวกเขา… ไม่ใช่ทั้งหมดที่ได้สถานะเป็นผู้ลี้ภัยหรือพลเมืองที่ได้รับความคุ้มครองและสวัสดิการในประเทศใหม่ บางคนยังต้องรอหรือใช้ความพยายามเพื่อให้ได้มาซึ่งสถานะดังกล่าว และอีกจำนวนหนึ่งยังคงต้องใช้ชีวิตหลบ ๆ ซ่อน ๆ เป็นบุคคลที่ไม่ได้รับรองทางกฎหมายใด ๆ อยู่ในประเทศอื่น ขาดไร้ซึ่งความมั่นคง สวัสดิภาพ และสวัสดิการทั้งปวง

พวกเขา… ครั้งหนึ่งเพียงใฝ่ฝันอยากเห็นประชาธิปไตย ความเป็นธรรม ความเท่าเทียม คุณภาพชีวิตที่ดี งอกงามในสังคมไทย เป็นคุณค่าที่เขาและเราล้วนใฝ่ฝันเช่นเดียวกัน 

.

“เราคงขับเคลื่อนไปเรื่อย ๆ พร้อมการใช้ชีวิต ได้ทำสิ่งที่ชอบ เช่น วาดรูป ดูหนัง ทำไปเรื่อยจนกว่าจะเห็นสังคมดีขึ้นจริง ๆ เราทนเห็นคนที่เจอความอยุติธรรมไม่ได้ ทนเห็นคนมีคุณภาพชีวิตแย่ ๆ ไม่ได้ ทนเห็นการกดขี่ไม่ได้อีกแล้ว” 

“พลอย” เบญจมาภรณ์ นักกิจกรรมเยาวชน ให้สัมภาษณ์ใน “การตั้งคำถามไม่ใช่เรื่องผิด” พลอย ทะลุวัง กับเสียงเรียกร้องแห่งยุคสมัย โดย The 101, 27 พ.ค. 2565

.

“ทุกคนมีความฝันว่าอยากให้ประเทศไทยดีขึ้น คนไทยในทุกภูมิภาคก็ล้วนอยากให้ประเทศไทยดีขึ้นในแบบของตน ดังนั้นคนทุกคนควรมีสิทธิในการออกเสียงกำหนดอนาคตประเทศ นั่นคือความฝันของเรา”

ชนกนันท์ รวมทรัพย์ ให้สัมภาษณ์ใน เปิดใจ”การ์ตูน”นักกิจกรรมจากรั้วจามจุรี “คนไทยทุกคนควรมีสิทธิ์กำหนดอนาคตประเทศ” โดย Arm Worawit, 30 ม.ค. 2559

.

“ที่ตัดสินใจออกมา (ชุมนุม) ก็คือว่าเหมือนมันไม่ไหวแล้ว ก็เลยต้องออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยด้วย ออกมาเรียกร้องคุณภาพชีวิตด้วย คือนับวันระบบต่าง ๆ ระบบการศึกษา รัฐสวัสดิการ มันเริ่มถอยลง ๆ”

“ฟรายเดย์” หรือ “เปปเปอร์” ให้สัมภาษณ์ใน สัมภาษณ์เปิดใจสมาชิกใหม่ และผู้ลี้ภัยไทยรายล่าสุด, เพจ Thai Rights Now, 1 พ.ค. 2564 

.

พวกเขา… จึงมิใช่ “คนอื่น” ที่สังคมไทยจะหลงลืม หรือไม่นับเป็นพวก    

ในวันที่พวกเขาเลือกที่จะไม่สยบยอมต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรมเพื่อรักษาเสรีภาพและความฝันของตน พวกเขาต้องแลกด้วยการละทิ้งสิ่งอันเป็นที่รักและคุ้นเคย ตั้งแต่บ้าน ครอบครัว เพื่อนมิตร การงาน การเรียน หรือกระทั่งชีวิต ขณะเดียวกันสังคมไทยก็สูญเสีย “Active Citizen” หรือพลเมืองที่กระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาสังคม อันเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง

ในวันนี้ที่ประเทศไทยกลับมามีรัฐบาลจากการเลือกตั้งอีกครั้ง และการพูดถึงการหาทางยุติหรือทางออกจากความขัดแย้งที่ทอดยาวมานานเกือบ 20 ปี เป็นประเด็นที่ได้รับการขานรับจากทุกฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้ง โดยรูปธรรมที่ทำได้เร็วที่สุดเพื่อเป็นก้าวแรกก็คือ การนิรโทษกรรมประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองในห้วงดังกล่าว แต่กระนั้นก็ยังมีข้อถกเถียงว่าจะนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ด้วยหรือไม่  

แม้เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน เข้าสู่สภา โดยมีรายละเอียดให้คดีที่มีแรงจูงใจทางการเมืองรวมถึงคดีมาตรา 112 ได้รับการนิรโทษกรรมในทันทีที่กฎหมายบังคับใช้ แต่ล่าสุด คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางตรากฎหมายนิรโทษกรรมฯ ของสภา ยังไม่มีมติชัดเจนกรณีของคดีมาตรา 112 

แต่หากนับบุคคลผู้ลี้ภัยเป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตจากความขัดแย้งทางการเมือง และนับพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองไทย การยุติความขัดแย้งเพื่อให้พวกเขาสามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัยจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรวมถึงการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่ของผู้ที่ลี้ภัยมีเหตุมาจากคดี 112 

แม้ว่าหลายคนของผู้ลี้ภัยไม่คิดจะกลับมาใช้ชีวิตที่เมืองไทยอีกแล้ว แต่การกลับบ้านมาพบปะครอบครัวที่รอคอย เยี่ยมเยือนและใช้ชีวิตในแผ่นดินที่เกิดและเติบโต ควรเป็นสิทธิที่ทำได้โดยเสรีอย่างพลเมืองไทยโดยทั่วไป  

การเร่งผลักดันให้มีและบังคับใช้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่รวมถึงคดี 112 โดยเร็ว ระหว่างนั้นเรียกร้องให้ศาลพิจารณาให้ประกันผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองที่คดียังไม่ถึงที่สุด รวมถึงยุติการคุกคามนอกกฎหมาย เพื่อไม่กดดันให้เกิดผู้ลี้ภัยรายใหม่ จึงเป็นหน้าที่ที่จำเป็นของรัฐบาลปัจจุบันในอันที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อพลเมืองไทย และต่อประชาคมโลก เพื่อให้เป็นรัฐบาลที่มุ่งมั่นให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และสิทธิมนุษยชน ดังที่ประกาศไว้

X