จากความขัดแย้งทางการเมืองและการรัฐประหาร 2 ครั้งล่าสุดในปี 2549 และปี 2557 ทำให้เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา มีประชาชนตัดสินใจลี้ภัยทางการเมืองไปยังต่างประเทศมากกว่า 100 คน ด้วยเหตุผลเบื้องหลังหลายประการ อาทิ ถูกดำเนินคดีความหรือเกรงถูกดำเนินคดี ถูก คสช.ออกคำสั่งเรียกรายงานตัว ถูกคุกคามติดตาม ทำให้ชีวิตไม่ปกติสุข ฯลฯ
แม้ว่า มีบางช่วงเวลาที่สถานการณ์ทางการเมืองมีแนวโน้มดีขึ้น คนที่ถูกคุกคามบางคนวางใจที่จะเดินทางกลับ หรือเมื่อประกาศ คสช. ที่กำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวสิ้นผลไป เนื่องจากถูกชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญ แต่ยังคงมีผู้ลี้ภัยทางการเมืองอีกหลายคนที่ยังไม่วางใจที่จะเดินทางกลับแผ่นดินเกิด
ล่าสุด ผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่มีคดีความหรือคาดว่ามีคดีความยังคงมีจำนวนไม่น้อยกว่า 104 คน คดีที่ทำให้ประชาชนตัดสินใจลี้ภัย เท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทราบข้อมูล ดังนี้
อันดับ 1 จากเหตุคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 66 คน
อันดับที่ 2 จากเหตุจากคดีอาวุธ/ระเบิด อย่างน้อย 14 คน
อันดับที่ 3 จากเหตุจากคดีมาตรา 116 อย่างน้อย 5 คน
ที่เหลือจากเหตุจากคดีหรือกรณีอื่น ๆ อย่างน้อย 19 คน
หากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ได้รับความเห็นชอบและผลักดันจนถูกบังคับใช้เป็นกฎหมาย จะเป็นการลบล้างคดีความทางการเมืองเสมือนว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองทุกคนจะได้รับการลบประวัติอาชญากรรมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และแน่นอนว่านิรโทษกรรมรวมคดีมาตรา 112 ทันทีโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชน
ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน จึงเป็นทางเลือกสำคัญที่จำเป็นเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ โดยเฉพาะเพื่อพาคนไทยทุกคนที่ต้องลี้ภัยไปต่างแดนจากการถูกดำเนินคดีการเมือง การถูกคุกคาม ติดตาม ข่มขู่ จนไม่มีหลักประกันความปลอดภัยในชีวิต ได้กลับบ้านอย่างวางใจ แม้ว่าหลายคนไม่คิดจะกลับมาใช้ชีวิตในเมืองไทยอีกแล้ว แต่สิ่งดังกล่าวควรเป็นสิทธิที่เขาเลือกได้ในฐานะพลเมืองไทย ไม่ใช่ถูกบังคับด้วยกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม
อ่านร่างนิรโทษกรรมฉบับเต็ม : https://tlhr2014.com/archives/61625