“พี่เชื่อว่าวิญญาณพวกเขาคงยังไม่ได้ไปเกิด ดวงวิญญาณคงยังล่องลอยอยู่ ตราบใดที่คนชั่วยังไม่ถูกลงโทษ สิ่งเดียวที่เราทำได้ คือการระลึกถึงพวกเขา”
ซี จันทนา
.
แด่ดวงวิญญาณผู้ลี้ภัย
เสียงสวดมนต์ เปล่งคลอไปกับเสียงนกและจักจั่น ลอยออกมาจากบ้านหลังเล็กๆ แห่งหนึ่ง กลางสวนผลไม้ ขณะที่หน้าบ้านหลังนี้ ได้รับการตกแต่งชวนสะดุดตา หุ่นไล่กา 2 ตัว ห้อยป้ายกระดาน บันทึกตัวอักษรรำลึกถึงผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ถูกอุ้มหาย และซ้อมทรมาน ก่อนจะถูกสังหารโยนทิ้งลงแม่น้ำโขง พร้อมๆ กับข้อความประณามฆาตกรอำมหิต อย่างไม่อ้อมค้อม
ต้นไม้ที่กำลังเติบโต มองปราดเดียวก็รู้ว่าอายุคงไม่ถึงขวบปี แต่กำลังสวยงามพอดี รอวันผลิบาน ขนาบล้อมด้วยยางรถยนต์เก่า หินที่ถูกทาสี และสัญลักษณ์ 3 ขีด แทนความหมายการต่อสู้ร่วมสมัยของคนหนุ่มสาวราษฎรในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บ้านอันแสนร่มรื่นและถ้อยคำรณรงค์ทางการเมืองเช่นนี้ พอจะบอกนิสัยใจคอของผู้อยู่อาศัยไม่มากก็น้อย
หน้าร้อนของปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้คนจากต่างทิศกลับมารวมตัวกัน บ้างมาจากบ้านใกล้เรือนเคียง บ้างมาจากกรุงเทพฯ บ้างมาจากสมุทรปราการ แต่เธอและเขามีจุดร่วมเดียวกันคือมาร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่สูญเสียชีวิตไป ขณะจากบ้านเกิดเมืองนอน ระหว่างช่วงปี 2559-2565
.
.
ย้อนไปสัก 10 กว่าปีที่แล้ว หนุ่มสาวหลากวัย ราวๆ 20 ชีวิตนี้ คือ เพื่อนผู้ผ่านการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย ในนาม “คนเสื้อแดง” เช่นเดียวกันเพื่อนอีกหลายชีวิตต้องจากไปจากการถูกสลายการชุมนุมด้วยกระสุนจริง เพื่อนอีกหลายคนต้องติดคุก แต่ใครจะล่วงรู้ละว่า การปราบปรามมันไม่ได้หยุดเพียงวันนั้น เพราะยังมีการไล่ล่าต่อเนื่องมาจวบจนถึงปัจจุบัน
อาหารคาวหวาน ที่ต่างเตรียมกันมา ถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบ มีตั้งแต่หมูรวนเค็ม ขนมจีนน้ำยา แกงเขียวหวาน ผัดผักรวมมิตร ขนมหวาน ฯลฯ เตรียมถวายให้พระสงฆ์ที่มาสวดอุทิศส่วนกุศล และร่วมรับประทานอาหารด้วยกัน ภายใต้ความเชื่อแบบพุทธที่ถือกันว่า การถวายภัตตาหาร สวดมนต์ และกรวดน้ำจะส่งบุญกุศลไปยังเพื่อนที่จากไปอยู่อีกภพหนึ่งได้ ด้วยการอธิษฐานดวงจิตจากคนที่ยังมีชีวิตอยู่
.
.
ทางแยกของเพื่อนสองภพ
รัฐประหาร 2557 คือ ทางแยกระหว่างหลายชีวิตที่บ้านหลังนี้กับผู้ลี้ภัยทางการเมือง การยึดอำนาจนอกจากจะทำให้เพื่อนกลุ่มเดียวกัน จำต้องจากลากัน ทัั้งที่เป็นการ ‘ลาที’ เช่น ถูกจับกุม ต้องโทษจำคุก ภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่ไม่ปรกติ ขณะที่บางคนถูกบังคับให้ต้อง “ลาก่อน” เพราะต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ไปยังดินแดนที่ไม่คุ้นเคย และที่นั่นบางชีวิตต้องจากโลกนี้ไป โดยไม่มีโอกาสได้ร่ำลา
ชื่อของผู้ลี้ภัยถูกเอ่ยถึงระหว่างพิธีกรรมรำลึกเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็น “สยาม ธีรวุฒิ” นักกิจกรรมที่หายไปปลายหน้าร้อนของปี 2562 ร่วมกับนักจัดรายการวิทยุใต้ดินชื่อดังอย่าง “ลุงสนามหลวง” พร้อมผู้ติดตามอีกคนหนึ่งถูกจับกุมตัวที่เวียดนาม การลี้ภัยไปยังประเทศที่สอง สาม หรืออาจจะสี่ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และบีบคั้นมากยิ่งขึ้น ในรอบ 4-5 ปี
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากภาพของผู้ลี้ภัยอย่างน้อย 2 ราย เผยแพร่ตามแพลทฟอร์มสื่อมวลชน คือ “สหายภูชนะ” และ “กาสะลอง” ทั้งสองถูกพบศพในแม่น้ำโขง หลังจากถูกฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยม ส่วนอีก 1 รายเป็นอดีตปฏิวัติฝ่ายซ้ายอย่าง สุรชัย แซ่ด่าน ก็ยังไม่พบตัวจนปัจจุบัน
กล่าวเฉพาะสอง หรืออาจจะสามศพหลัง พวกเขาถูกพบศพเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2561 เมื่อร่างของพวกเขาลอยมาติดริมฝั่งโขง ช่วงหน้าวัดหัวเวียง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม จากนั้นญาติได้เข้ามาติดต่อและได้ทำการพิสูจน์ผลตรวจ DNA ก่อนจะยืนยันว่าหนึ่งในนั้นคือ “สหายภูชนะ” หรือชัชชาญ บุปผาวัลย์
ซี จันทนา ซึ่งเป็นคนรักของชัชชาญ หัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการจัดงานทำบุญครั้งนี้ ต้องทราบข่าวเศร้าระหว่างที่เธอถูกจองจำ แต่เมื่อพ้นโทษออกมาเธอก็เริ่มบูรณะบ้านหลังนี้ขึ้นใหม่ ซีเล่าว่าบ้านหลังนี้คือที่ที่เธอเคยอยู่กับเขา และต้องจากกันก่อนรัฐประหารเพียง 1 วัน เมื่อเธอถูกจับกุมและดำเนินคดี ก่อนจะต่อสู้คดีอยู่ในคุก เป็นเวลากว่า 7 ปี ขณะที่ชัชชาญ เลือกเดินทางลี้ภัยไปยังต่างประเทศ ก่อนจะพบว่าเสียชีวิตในที่สุด โดยทั้งคู่ไม่มีโอกาสได้พบกันอีก
การฆาตกรรมที่โหดร้ายในครั้งนั้น ได้รับการายงานไปทั่วโลกจากทั้งสื่อไทยและสื่อต่างประเทศ พ้นไปจากว่าผู้เสียชีวิตคือ ผู้ลี้ภัยทางการเมือง ประเด็นสำคัญคือ รูปแบบการทำให้เสียชีวิตที่โหดเหี้ยมเกินกว่ามนุษย์ทั่วไปจะทำได้ เนื่องจากทั้งคู่มีรอยที่ลำคอถูกรัดด้วยเชือก และถูกของแข็งทุบหน้าจนเละ ก่อนจะคว้านท้องจนไม่เหลือเครื่องใน ยัดด้วยเสาปูนยาว 1 เมตร ขณะที่มือถูกใส่กุญแจไขว้แขนไว้ด้านหน้า ห่อด้วยกระสอบป่านเย็บติด 2-3 กระสอบ ห่อหุ้มด้วยตาข่าย แล้วโยนทิ้งลงแม่น้ำโขง
.
.
ย้อนกลับไปยังการชุมนุมเมื่อปี 2552-2553 พวกเขาเคยพบกันบ้างในที่ชุมนุม ซึ่งรอดชีวิตจากการสลายการชุมนุมครั้งนั้น ด้วยความที่เอาใจใส่ในการเรียกร้องประชาธิปไตย และเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เรียงร้อยให้เจตจำนงของพวกเขาผูกหัวใจเข้าด้วยกัน
แต่หลังรัฐประหาร 2557 นอกจากการที่คณะรัฐประหารออกคำสั่งเรียกรายงานตัวประชาชนกว่า 472 คน จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่ามี ผู้ลี้ภัยทางการเมืองอย่างน้อยถึง 104 คน หลากหลายแวดวงทางสังคม นับตั้งแต่ อดีตรัฐมนตรี ผู้สื่อข่าว นักเขียน อดีตนายตำรวจมือปราบน้ำดี นักเคลื่อนไหว ศิลปิน นักวิชาการ เกษตรกร ฯลฯ
ข่าวดีที่พอมีอยู่บ้างคือ มีจำนวนไม่น้อยที่สามารถเดินทางไปสู่ประเทศตะวันตกได้โดยปลอดภัย เนื่องจากที่นั่นผู้ลี้ภัยได้รับการดูแลตามหลักสากล แต่การที่เขาและเธอไม่ได้กลับบ้านเนื่องจากประเทศไทยยังไม่ปรกตินี้ ก็ทำให้พบเรื่องเศร้าอยู่เนืองๆ ดังช่วงเวลาใกล้เคียงกับการทำบุญครั้งนี้ “วัฒน์ วรรลยางกูร” นักเขียนคนสำคัญของสังคมไทย ที่ลี้ภัยไปพำนักอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ได้เสียชีวิตลง
ทำให้วัฒน์ถือเป็นผู้ลี้ภัยคนแรกที่ได้จัดงานศพนอกประเทศตนเอง ในขณะที่ผู้ลี้ภัยหลายคน ยังไม่มีโอกาสได้จัดพิธีกรรมนี้ เนื่องจากตามหาร่างพวกเขาไม่พบ
.
.
ผู้ลี้ภัยภายในประเทศ
“บ้านเมืองนี้ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง อนาคตของลูกหลานเราคือสิ่งสำคัญ เราต้องช่วยกัน”
เสียงของหนุ่มใหญ่สวมเสื้อสีแดงสด ไม่มีลวดลายโทนสีพาสเทล กล่าวขึ้นระหว่างที่ไลฟ์สดพิธีกรรมทำบุญอุทิศส่วนกุศล ช่วยให้เห็นได้ว่าพวกเขามองการเคลื่อนไหวทางการเมืองของลูกหลานในปัจจุบันด้วยท่าทีเช่นไร
สมศักดิ์ เป็นผู้หนึ่งที่มาร่วมงาน เขานำข้าวปลาอาหารมาแบ่งปันในกิจกรรมครั้งนี้ ร่างกายที่ดูเหมือนจะเคยแข็งแรง หล่นหายไปหลังจากถูกจับกุมหลังรัฐประหาร 2557 เขาเล่าว่า ถูกเจ้าหน้าที่จำนวนมาก รัดแขนและพาตัวออกจากโรงแรม ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการสอบสวนที่ไม่ปรกติ นั่นคือ การพาตัวเข้าไปยังที่ที่เขาไม่รู้จักด้วยการเอาถุงดำคลุมศีรษะ และในระหว่างที่ควบคุมตัว สมศักดิ์เป็นคนหนึ่งที่ถูกทำร้าย ซึ่งทิ้งร่องรอยไว้บนแขน ใบหน้า ลำตัว และอาจจะถึงจิตใจของเขา แม้ว่าเขาจะพ้นความผิดกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ ในเวลาต่อมา แต่ใครเล่าจะคืนชีวิตจิตใจที่ร่วงหายไประหว่างการจำคุกระหว่างการพิจารณาคดี
.
จะว่าไปกรณีนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากผู้คนจดจำ และไม่แกล้งลืม หลังการรัฐประหารมีรายงานประชาชนที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมและซ้อมทรมานไม่น้อยกว่า 18 กรณี เช่น กลุ่มผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาร่วมกันปาระเบิดศาลอาญา ไม่น้อยกว่า 4 ราย ระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวได้ถูกชกต่อย การกระทืบบริเวณศีรษะ ทรวงอก หลัง และข่มขู่ว่าจะทำร้ายเพื่อให้ได้ซึ่งข้อมูลการสอบสวน
โดยเฉพาะกรณีสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน ที่นอกจากการถูกเจ้าหน้าที่ขู่ตะคอก ตบหน้า ชกเขาที่บริเวณลิ้นปี่และชายโครง รวมถึงเหยียบบริเวณลำตัว เขายังถูกเจ้าหน้าที่ใช้ไฟฟ้าช็อตที่บริเวณต้นขาด้วย โดยเขาประมาณว่าถูกช็อตไม่ต่ำกว่า 30-40 ครั้ง
ขณะที่วิธีการ “นำถุงคลุมศีรษะ” ระหว่างการถูกควบคุมตัว ก็เป็นวิธีที่ทหารใช้ต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งประชาชนทั่วไปที่ถูกจับกุมในคดีต่างๆ ไปจนถึงนักกิจกรรมอย่าง “นิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, กริชสุดา คุณาแสน หรือนักกิจกรรมกลุ่มเส้นทางสีแดง รวมทั้งการถูกนำผ้ามาปิดตาเพื่อไม่ให้รู้ทิศทาง อย่างกรณีของทัศนีย์ บูรณุปกรณ์
.
ในทางหนึ่ง ชีวิตผู้คนเหล่านี้เราอาจจะนับเป็น “ผู้ลี้ภัยภายในประเทศ” ได้ หากว่าผู้ลี้ภัยทางการเมืองหมายถึงการต้องเคลื่อนย้ายตัวเองไปยังดินแดนอื่น โดยมิได้มีความเต็มใจ หากแต่ถูกอำนาจเผด็จการบังคับ การเป็นผู้ลี้ภัยในประเทศที่รับรองสิทธิเสรีภาพ ก็เป็นส่วนหนึ่ง การลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้านก็อาจจะเป็นประเภทหนึ่ง
แต่การลี้ภัยในบ้านเกิดตัวเอง อาจจะเป็นเรื่องที่ “คนเสื้อแดง” และประชาชนอีกจำนวนมาก ต้องแบกรับมันตลอด 7-8 ปีที่ผ่านมา เฉกเช่นชีวิตของสมศักดิ์และผู้ถูกซ้อมทรมานคนอื่นๆ
.
.
บทสวดที่ลงท้ายด้วย “ศักดินาจงพินาศ”
การรัฐประหาร 2557 ผลักดันให้เกิด “ผู้ลี้ภัยทางการเมือง” ซึ่งรวมทั้งการแสวงหาที่ลี้ภัย (Asylum Seeker) และผู้ลี้ภัย (Refugee) หลายกรณีมาจากความผิดฐานฝ่าฝืนการเรียกรายงานตัวของคณะรัฐประหาร ความผิดซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนและวัตถุระเบิด
บุคคลนับร้อยต้องตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศ เนื่องจากกังวลและหวาดกลัวต่อการถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีตามอำเภอใจจากเจ้าหน้าที่รัฐ จนต้องไปอาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงประเทศอื่นๆ ที่รับเอาผู้ลี้ภัยให้อยู่อาศัยได้
.
.
“เราจะรำลึกถึงพวกเขา (ผู้ลี้ภัย) เรื่อยๆ จนกว่าพวกเขาจะได้รับความยุติธรรม”
ผู้ร่วมงานที่เดินทางมาจากสมุทรปราการคนหนึ่ง กล่าวระหว่างพระสวด อะไรคือความยุติธรรม เมื่อได้ฟังเช่นนั้นดูเหมือนว่าความหวังนั้นจะห่างไกล แต่ใครเล่าจะบอกว่ามันไม่มีอยู่จริง
สิ้นเสียงสวดมนต์แล้ว ผู้ร่วมงานต่างนำข้าวปลาอาหารมารับประทานด้วยกัน บ้างออกมายืนพูดคุย ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ สนทนาการเมืองตั้งแต่ประเด็นเยาวชนทะลุวัง ไปจนถึงวิกฤติการรุกรานประเทศยูเครน บางจังหวะจากการสนทนากับยกระดับไปสู่การโต้เถียงหน้าดำคร่ำเครียด แต่ก็สุดท้ายก็ลงเอยด้วยเสียงหัวเราะ ตามประสามิตรสหาย
จนบ่ายคล้อยผู้ร่วมงานจึงค่อยๆ ทยอยเก็บข้าวของกลับบ้าน กล่าวขอบคุณกัน อวยพรกัน ให้กำลังใจกัน
แต่เสียงที่น่าจดจำครั้งหนึ่ง ในฐานะผู้เฝ้ามอง เป็นเสียงที่เกิดขึ้นหลังพระสงฆ์สวดมนต์เสร็จ เขาและเธอเติมส่วนท้ายของบทสวดมนต์ลงไปอีกบรรทัดว่า
“ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ”
.