ในการประชุมทบทวนการบังคับใช้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) รอบของประเทศไทย ในวันที่ 13-14 มีนาคม นี้ ที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ นอกจากตัวแทนของรัฐบาลจะจัดทำรายงานการปฏิบัติตามพันธกรณีของกติกา ICCPR ที่ไทยเป็นภาคีต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) แล้ว องค์กรภาคประชาสังคมและหน่วยงานสิทธิมนุษยชนต่างๆ ที่ไม่ใช่ของรัฐ ยังสามารถดำเนินการจัดส่ง “รายงานเงา” (shadow report) เพื่อรายงานถึงสถานการณ์ในประเทศในแง่มุมต่างๆ ที่รายงานของรัฐอาจไม่ได้กล่าวถึง รายงานเงาดังกล่าวจึงเป็นข้อมูลจากภาคประชาชนที่คณะกรรมการฯใช้ประกอบการพิจารณา เพื่อทบทวนสถานการณ์การปฏิบัติตามพันธกรณีของแต่ละประเทศด้วย (ดู 10 ข้อควรรู้ก่อนการประชุม ICCPR)
ในการประชุมที่เจนีวารอบของประเทศไทยครั้งนี้เอง ก็มีหลายองค์กรภาคประชาสังคมจัดส่งรายงานเงาร่วมให้คณะกรรมการฯ พิจารณา รวมแล้วมีจำนวน 17 ฉบับ (ดูรายงานทั้งหมดได้ที่เว็บไซต์ OHCHR) โดยทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกับคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists – ICJ) ได้จัดทำรายงานสถานการณ์การปฏิบัติตามกติกา ICCPR ของประเทศไทย เสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติด้วย (ดู รายงานภาษาอังกฤษฉบับเต็ม Joint submission to the UN Human Rights Committee by the ICJ and Thai Lawyers for Human Rights)
รายงานฉบับนี้พยายามทบทวนสถานการณ์สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองตามกติกา ICCPR ของประเทศไทย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 โดยมีเนื้อหาโดยสังเขปดังต่อไปนี้
การดำเนินการตามกติกา ICCPR ในกรอบรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
รัฐธรรมนูญให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่ คสช. และศาลปฏิเสธการตรวจสอบ
รายงานระบุว่ากรอบของรัฐธรรมนูญและกฎหมายของไทย ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญภายหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และได้จำกัดสิทธิที่ได้รับการรับรองโดยกติกาฯ ในลักษณะต้องห้าม โดยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ได้ให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่ คสช. โดยเฉพาะในมาตรา 44 และ 47 ที่มีผลทำให้คำสั่งและประกาศ คสช. รวมถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. ไม่ต้องถูกทบทวนตรวจสอบโดยฝ่ายตุลาการ เพราะถูกบัญญัติให้ “ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นที่สุด” ลักษณะอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้นี้ขัดกับหลักการพื้นฐานของทั้งหลักนิติธรรม หลักการแบ่งแยกอำนาจ และหลักสิทธิมนุษยชน รวมถึงความเสมอภาค ความรับผิดชอบ และความมั่นคงแน่นอนของกฎหมาย
ศาลไทยได้ตีความว่ามาตรา 47 ไม่อนุญาตให้ฝ่ายตุลาการทบทวนตรวจสอบคำสั่งและประกาศ คสช. เช่น ในหลายคำวินิจฉัยจากกรณีที่จำเลยยื่นคัดค้านการพิจารณาคดีพลเรือนโดยศาลทหาร หรือกรณีศาลปกครองกลางยกคำร้องของนักการเมืองรายหนึ่ง ซึ่งร้องขอให้เพิกถอนคำสั่ง คสช. ที่ห้ามบุคคลเดินทางออกนอกประเทศ ทั้งสองกรณี ศาลอ้างอิงความเป็นที่สุดโดยไม่ต้องตรวจสอบ ตามมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวเช่นเดียวกัน
รวมทั้ง ศาลไทยก็ปฏิเสธที่จะทบทวนความชอบด้วยกฎหมาย และความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของคำสั่งที่ออกตามมาตรา 44 อาทิเช่น เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 ศาลปกครองกลางยกคำฟ้องของพลเมืองรายหนึ่งที่ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 24/2558 เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน 2559 ศาลปกครองสูงสุดได้ยกคำร้องคัดค้านคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 4/2559 ว่าด้วยการยกเว้นการใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับกิจการบางประเภท ทั้งสองกรณี ศาลวินิจฉัยว่ามาตรา 44 บัญญัติให้คำสั่งหัวหน้าคสช. ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นที่สุด
บทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญซึ่งผ่านการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 เอง ก็ยืนยันอีกครั้งถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ของคำสั่ง ประกาศ และการกระทำทั้งหมดของ คสช. ทั้งในอดีตและอนาคต ทั้งยังบัญญัติว่าการยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหรือประกาศ คสช. ให้กระทำโดยพระราชบัญญัติ
การสร้างภาวะปราศจากความรับผิดให้ คสช.
หัวหน้า สมาชิก และตัวแทนของ คสช. ยังได้รับความคุ้มกันจากความรับผิดทางกฎหมายสำหรับการกระทำทั้งปวง ตามมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยศาลไทยเองก็ได้รับรองการไม่ต้องรับผิดชอบของ คสช. ดังกล่าว เช่น ในกรณีที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับยื่นฟ้องพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพวกอีก 5 คน ในข้อหากบฏจากการทำรัฐประหาร โดยทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกคำร้อง ด้วยเหตุผลว่ามาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้ยกเว้น คสช. จากความรับผิดตามกฎหมาย
ความเปลี่ยนแปลงในลักษณะของกฎหมายภายหลังการรัฐประหาร ยังได้กีดกันผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้ไม่สามารถแสวงหาการเยียวยา รวมทั้งค่าชดเชยความเสียหาย อันขัดกับมาตรา 2 ของกติกา ICCPR เช่น กรณีที่นายฮาซาน อุเซ็ง ซึ่งกล่าวอ้างว่าเขาถูกซ้อมทรมานโดยหน่วยงานความมั่นคงในสามจังหวัดภาคใต้ แต่ถูกศาลจังหวัดปัตตานีมีคำพิพากษาว่าเขาไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยความเสียหาย เนื่องจากคำร้องของเขาเป็นไปตามมาตรา 32 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้วในขณะมีคำพิพากษา
กลุ่มพลเมืองโต้กลับยื่นฟ้องพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและพวก ในข้อหาร่วมกันล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 113 แต่ต่อมาทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกคำร้อง
คำสั่งและประกาศเชิงปราบปรามของ คสช.
คสช. เอง ยังได้ออกคำสั่งทั่วไปอย่างน้อย 202 ฉบับ และประกาศอีก 125 ฉบับ ซึ่งหลายฉบับขัดกับพันธกรณีภายใต้กติกา ICCPR อาทิ การกำหนดใช้เคอร์ฟิวทั่วประเทศ, การห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป, การจำกัดเสรีภาพสื่อ, การเรียกตัวบุคคลไปยังค่ายทหาร และการลงโทษผู้ที่ไม่หรือปฏิเสธที่จะไปรายงานตัว, การให้ดำเนินคดีกับพลเรือนในศาลทหารสำหรับความผิดบางประเภท
ในกรณีคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ที่ประกาศใช้แทนกฎอัยการศึก ได้ให้อำนาจ “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” ตามคำสั่งนี้ โดยมีอำนาจอย่างกว้างขวางมากกว่ากฎอัยการศึก อาทิ อำนาจในการสอบสวนที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการกระทำตามคำสั่งจะไม่ต้องถูกตรวจสอบ และไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยความเสียหายได้
ส่านคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2559 ได้ให้อำนาจ “เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม” ที่ได้รับแต่งตั้ง รวมทั้งผู้ช่วยที่คัดเลือกมาจากเจ้าหน้าที่ทหาร มีอำนาจอย่างกว้างขวางในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม 27 ประเภท ซึ่งรวมความผิดต่อความสงบของประชาชน เสรีภาพและชื่อเสียง การเข้าเมือง การค้ามนุษย์ ยาเสพติด และอาวุธ ทั้งมีอำนาจในการสอบสวน อำนาจในการจับกุม คุมขัง และค้นตัวผู้ต้องสงสัย โดยปราศจากหมายศาล ตลอดจนควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไว้ในสถานที่ซึ่งไม่มีการรับรองว่าเป็นสถานที่คุมขังอย่างเป็นทางการได้ถึงเจ็ดวัน นอกจากนั้น ยังได้รับการยกเว้นจากการตรวจสอบการกระทำใดๆ โดยฝ่ายตุลาการ
ภาวะฉุกเฉิน
แม้ในภาวการณ์ประกาศกฎอัยการศึก ประเทศไทยจะแจ้งของดเว้นสิทธิบางส่วนของกติกา ICCPR ภายใต้มาตรา 4 (1) ต่อสหประชาชาติไปเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2557 แต่การงดเว้นสิทธิดังกล่าวก็ยังมีมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะยกเลิกกฎอัยการศึกไปแล้ว ทั้งยังมีการแสดงข้อกังวลอย่างมากว่าสถานการณ์ปัจจุบันในประเทศไทย นำมาซึ่ง “เหตุฉุกเฉินสาธารณะที่เป็นภัยต่อความอยู่รอดของชาติ” หรือไม่ ตามที่กำหนดในมาตรา 4 ของกติกา ICCPR ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเคยมีความเห็นทั่วไปว่ามาตรการงดเว้นสิทธิจะต้องมีลักษณะเป็นการยกเว้นและชั่วคราวเท่านั้น อยู่ภายในขอบเขตที่จำเป็นต่อสถานการณ์เร่งด่วน และเป็นไปตามหลักการของความได้สัดส่วน โดยไม่ว่ากรณีใดก็ตาม มาตรการจำเพาะที่รัฐบาลไทยนำมาใช้ถือว่าไม่ได้สัดส่วนและเหตุผล ส่วนใหญ่ที่ยกขึ้นมาอ้างไม่ได้ถูกยอมรับโดยกติกาฯ ว่าเป็นมูลเหตุรับฟังได้เพื่อการจำกัดสิทธิมนุษยชน
จากรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 กสม.ยังมีความเห็นว่าสถานการณ์หลังการรัฐประหารไม่เข้าข่ายภาวะฉุกเฉินที่เป็นภัยต่อความอยู่รอดของชาติ กสม.จึงเห็นว่าการบังคับใช้กฎอัยการศึกและ/หรือกฎหมายอื่นใดที่จำกัดสิทธิมนุษยชนของประชาชน เป็นมาตรการซึ่งไม่สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้กติกา ICCPR
สิทธิที่จะมีชีวิต: ข้อห้ามเรื่องการซ้อมทรมานและการบังคับให้สูญหาย
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เคยรายงานเรื่องซ้อมทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้ายต่อบุคคลผู้ถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกภายหลังการรัฐประหาร พบอย่างน้อย 18 กรณี โดยผู้อ้างว่าถูกซ้อมทรมานเองก็หวาดกลัวที่จะยื่นคำร้องเรียน เนื่องจากพวกเขากำลังถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาทางอาญาและหลายคนยังถูกจองจำอยู่ ทั้งคำกล่าวอ้างเรื่องซ้อมทรมานและการปฏิบัติอย่างเลวร้ายรูปแบบอื่น การบังคับให้สูญหาย และการเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว–โดยเกี่ยวข้องกับตำรวจและ/หรือทหาร – มักไม่ได้รับการสืบสวนอย่างรวดเร็ว เป็นกลางและมีประสิทธิภาพโดยทางการไทย
นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน ผู้ต้องหาในคดีปาระเบิดศาลอาญา ที่ร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมานในขณะถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังได้รับรายงานของ กสม. ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งสรุปว่ายังขาดหลักฐานทางการแพทย์และนิติเวชที่บ่งชี้ถึงการซ้อมทรมาน ทางกสม. ยังระบุว่าการสืบสวนดังกล่าวต้องหยุดชะงักลงเนื่องมาจากอุปสรรคในการเข้าถึงพยานหลักฐานในเวลาอันสมควร และด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าการสืบสวนนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง กสม.ยังกล่าวด้วยว่าอำนาจคุมขังบุคคลได้ถึงเจ็ดวันภายใต้กฎอัยการศึกโดยปราศจากการเปิดเผยสถานที่คุมขังก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ผู้ต้องคุมขังจะถูกซ้อมทรมานได้
ในหลายกรณี ผู้เสียหายที่กล่าวอ้างว่าถูกซ้อมทรมาน หรือครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิตอันเป็นผลจากการซ้อมทรมานได้รับการชดเชยความเสียหาย แต่ไม่มีการนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ยกตัวอย่างเช่น กรณีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ซึ่งมีคำกล่าวหาว่าถูกซ้อมทรมานและเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของทหารเมื่อเดือนมีนาคม 2551 ภายหลังการไกล่เกลี่ยโดยศาลแพ่ง ครอบครัวของเขาได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 5.2 ล้านบาท แต่ตราบจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิด ในอีกคดีหนึ่ง ศาลปกครองสั่งให้สำนักนายกรัฐมนตรีจ่ายเงินชดเชยจำนวน 500,000 บาท แก่ครอบครัวของนายอัสฮารี สะมาแอ หลังจากมีรายงานว่าเขาถูกซ้อมทรมานและฆ่าระหว่างถูกควบคุมตัวโดยทหาร จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีนายทหารหรือบุคคลใดถูกดำเนินคดีเกี่ยวเนื่องกับการเสียชีวิตของเขา
ปัญหาอีกประการหนึ่งคือ หากผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของกองทัพ เฉพาะอัยการทหารเท่านั้นที่สามารถฟ้องคดีต่อศาลทหารได้ จึงทำให้ความเป็นไปได้ที่ผู้เสียหายจากการซ้อมทรมานหรือครอบครัวของพวกเขาจะได้รับความยุติธรรมลดน้อยลงไป
ขณะที่ในเรื่องของการบังคับให้สูญหาย มีการรายงานกรณีสูญหายโดยถูกบังคับหรือโดยไม่สมัครใจในประเทศไทย 82 กรณี ต่อคณะทำงานเรื่องการสูญหายโดยถูกบังคับแห่งสหประชาชาติ ระหว่าง พ.ศ.2523 ถึง 2559 กรณีสำคัญที่เป็นสัญลักษณ์ของปัญหาเรื่องนี้ ได้แก่ กรณีของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ทำงานในภาคใต้ และกรณีนายพอละจี “บิลลี่” รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง
สิทธิในเสรีภาพ-ความปลอดภัยของบุคคล และสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม
การจับกุมคุมขังตามอำเภอใจภายใต้กฎหมายพิเศษ
จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่การรัฐประหารจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2559 เจ้าหน้าที่ทหารได้เรียกบุคคลอย่างน้อย 1,006 คน ให้มารายงานตัว หรือ “ปรับทัศนคติ” และมีบุคคลอย่างน้อย 579 คน ถูกจับกุมภายใต้กฎอัยการศึกหรือคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 แต่จำนวนผู้ถูกจับกุมทั้งหมดทั่วประเทศไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด เนื่องจากไม่มีการเปิดเผยจากฝ่ายรัฐ โดยตลอดมา ญาติและทนายความประสบความยากลำบากในการขอเข้าพบผู้ถูกจับกุม หรือควบคุมตัวโดยไม่มีการตั้งข้อหาดังกล่าว
อีกทั้ง ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2559 เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจที่จะดำเนินการกับบุคคลที่ถูกพิจารณาว่าเป็น “ผู้มีอิทธิพล” ซึ่งมีพฤติกรรมที่ “เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อย” หรือ “บ่อนทำลายระบบสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ” มูลเหตุที่กว้างขวางและคลุมเครือเช่นนี้ เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่มีการใช้อำนาจในทางที่ผิด เช่น มีบุคคลบางคนที่เป็นผู้นำชุมชนท้องถิ่น ซึ่งคัดค้านโครงการพัฒนาและอุตสาหกรรมถูกควบคุมตัวตามคำสั่งนี้ เช่น กรณีนายทวีศักดิ์ อินกว่าง ผู้นำในการคัดค้านโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ หรือนายละม่อม บุญยงค์ ประธานของกลุ่มปากน้ำบ้านเรา เป็นต้น
นายทวีศักดิ์ อิ่นกว่าง แกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าขยะเชียงราก ถูกเจ้าหน้าที่ทหารอ้างคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/59 เรียกตัวไปพูดคุย
แม้ในมาตรา 9 (4) ของกติกา ICCPR และมาตรา 90 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทย มีบทบัญญัติให้สามารถคัดค้านต่อศาลถึงความชอบด้วยกฎหมายของการควบคุมตัวได้ แต่ศาลไทยได้ละเลยที่จะตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวภายใต้คำสั่งหัวหน้าคสช. เช่น กรณีการควบคุมตัวแปดแอดมิเพจ “เรารักพลเอกประยุทธ์” ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมโดยปราศจากหมายศาล และไม่ได้ระบุสาเหตุการจับกุมหรือแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ ให้พวกเขาทราบ กรณีนี้ศาลปฏิเสธที่จะไต่สวนความชอบด้วยกฎหมายของการควบคุมตัวที่เกิดขึ้น
อีกทั้ง ยังมีการคุมขังบุคคลไว้ในสถานที่คุมขังทางทหาร ได้แก่ เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี ซึ่งตั้งอยู่ภายในมณฑลทหารบกที่ 11 ตามข้อมูลที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร พบว่าในช่วงระหว่างวันที่ 14 กันยายน 2558 ถึง 8 มีนาคม 2559 มีผู้ถูกคุมขังที่ไม่ใช่ทหาร ถูกคุมขังในเรือนจำนี้จำนวน 47 คน โดยมีผู้ถูกคุมขังอย่างน้อย 2 คนที่เสียชีวิตขณะถูกควบคุมตัว และมีผู้ถูกคุมขังอีกรายหนึ่งร้องเรียนเรื่องการถูกซ้อมทรมาน ทนายความของผู้ถูกคุมขังยังร้องเรียนว่าเกิดการละเมิดสิทธิของลูกความที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม รวมทั้งทนายความเองก็ได้รับอนุญาตให้พบกับลูกความก็ต่อเมื่อมีเจ้าหน้าที่ทหารอยู่ร่วมด้วยเท่านั้น
ความเป็นอิสระของตุลาการ และการใช้ศาลทหารดำเนินคดีกับพลเรือน
จากข้อมูลของกรมพระธรรมนูญ ระบุว่าระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ถึง 30 พฤศจิกายน 2559 มีพลเรือนอย่างน้อย 2,177 คน ใน 1,716 คดี ถูกดำเนินคดีในศาลทหารทั่วประเทศ ถึงแม้ว่าการดำเนินคดีกับพลเรือนในศาลทหารถูกยกเลิกผ่านคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 55/2559 เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2559 แต่คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้เฉพาะกับความผิดที่กระทำในวันหรือถัดจากวันที่คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับ โดยไม่ใช้บังคับกับคดีที่เกิดขึ้นในอดีตหรืออยู่ระหว่างการดำเนินคดี
ตามมาตรฐานระหว่างประเทศระบุไว้ว่าศาลทหารขาดอำนาจ ความอิสระและความเป็นกลางในการดำเนินคดีกับพลเรือน และโดยหลักการไม่ควรใช้ศาลทหารยกเว้นแต่ในกรณีพิเศษอย่างแท้จริง ควรจำกัดเขตอำนาจศาลทหารให้อยู่เฉพาะในเรื่องทางการทหารหรือบุคลากรทางทหารเท่านั้น
ระบบยุติธรรมของทหารแยกเป็นอิสระจากระบบยุติธรรมพลเรือน และขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม ในศาลทหารชั้นต้นมีเพียงผู้พิพากษาหนึ่งในสามคนเท่านั้น ที่ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมพระธรรมนูญผู้ผ่านการฝึกอบรมด้านกฎหมายมาแล้ว ในที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติสมัยที่ 28 เมื่อเดือนมีนาคม 2558 ประเทศไทยอ้างว่า “มีเพียงไม่กี่คดีและเฉพาะผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดร้ายแรงเท่านั้น ที่ถูกฟ้องต่อศาลทหาร” อย่างไรก็ตาม กลับมีการดำเนินคดีกับบุคคลบางคนในศาลทหารด้วยข้อหาเพียงใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมและแสดงความคิดเห็น อย่างเช่น ผู้ประท้วงอย่างสงบ ผู้ชูป้ายคัดค้านรัฐประหารหน้าศูนย์การค้า หรือในร้านแม็คโดนัลด์ เป็นต้น
ในทางปฏิบัติ ยังพบ “ความผิดปกติของกระบวนการ” อันหลากหลายในศาลทหารที่ดำเนินคดีกับพลเรือน จึงนำไปสู่ข้อกังวลเกี่ยวกับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม อาทิเช่น การใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะส่งสำเนาคำฟ้องให้จำเลย, การไม่อนุญาตให้ทนายความคัดสำเนาคดี รวมถึงคำสั่งต่างๆ ที่สำคัญ, การที่ผู้พิพากษาไม่ยอมระบุชื่อในคำพิพากษาที่เป็นลายลักษณ์อักษร, การไม่ให้ประชาชนเข้าร่วมรับฟังการไต่สวนบางคดี ทั้งในกรณีที่ศาลสั่งพิจารณาเป็นการลับ หรือจากข้อเท็จจริงที่ว่าศาลตั้งอยู่ในค่ายทหาร หรือเนื่องจากห้องพิจารณาคดีมีขนาดเล็ก, การปฏิเสธที่จะให้ประชาชนจดบันทึก, เวลาเปิดทำการของศาลที่ผิดปกติ, การขาดผู้พิพากษาประจำการที่ศาล และความล่าช้ายาวนานด้านบริหารจัดการเนื่องจากบุคลากรของศาลทหารไม่สามารถจัดการกับคดีที่ล้นมือมากขึ้นได้ เป็นต้น
นอกจากนั้น ในคดีที่เกิดระหว่างการบังคับใช้กฎอัยการศึก จำเลยยังไร้ซึ่งสิทธิในการอุทธรณ์และฎีกา ทนายความยังตั้งข้อสังเกตไว้ว่าระยะเวลาโดยเฉลี่ยของการพิจารณาคดีในศาลทหารในกรณีที่จำเลยต่อสู้คดี ยาวนานเพิ่มขึ้นกว่าศาลพลเรือน โดยมีอย่างน้อยที่สุดหนึ่งคดีที่พลเรือนตัดสินใจยอมรับผิดแทนการรอคอยผลการพิจารณาคดีอย่างยาวนานโดยศาลทหาร
ข้อมูลจำนวนคดีพลเรือนในศาลทหารตั้งแต่หลังการรัฐประหารถึงวันที่ 30 พ.ย.59
เสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ
เสรีภาพในการแสดงออก
นับจากการรัฐประหาร คสช. ได้ใช้กรอบกฎหมายใหม่และกฎหมายที่มีอยู่ก่อน ได้แก่ การหมิ่นประมาททางอาญา, มาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์’, มาตรา 112 และ 116 ของประมวลกฎหมายอาญา เพื่อจับกุมลงโทษนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักเคลื่อนไหว ทนายความ นักวิชาการ ผู้สื่อข่าว และฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ซึ่งก่อให้เกิดข้อกังวลเรื่องการละเมิดสิทธิในเสรีภาพของการแสดงออก การสมาคมและการชุมนุมโดยสงบ
จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 มีประชาชนประมาณ 588 คน ถูกจับกุมเพียงเพราะใช้สิทธิในเสรีภาพของการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ อย่างไรก็ดี สำหรับจำนวนรวมทั้งหมดทั่วประเทศยังไม่สามารถทราบได้แน่ชัด เพราะรัฐบาลไม่เปิดเผยตัวเลขอย่างเป็นทางการ
นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักเคลื่อนไหว ผู้สื่อข่าว และผู้ปฏิบัติงานอื่นๆ ในภาคประชาสังคมต่างเผชิญกับการฟ้องร้องข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา และหากการหมิ่นประมาทนั้นกระทำผ่านระบบคอมพิวเตอร์ จำเลยมักถูกตั้งข้อหาด้วยข้อความคลุมเครือในมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งมีโทษสูงสุดจำคุกห้าปี อาทิเช่น กรณีบริษัทเนเชอรัลฟรุตจำกัดยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาและทางแพ่งจำนวน 4 คดีต่อนายแอนดี้ ฮอลล์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักวิจัยด้านแรงงานชาวอังกฤษ, กรณีกองทัพเรือไทยยื่นฟ้องคดีอาญาต่อบรรณาธิการของเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ “ภูเก็ตหวาน”, กรณีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน.แจ้งความดำเนินคดีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสามรายที่จัดทำรายงานเรื่องซ้อมทรมานในจังหวัดชายแดนใต้ หรือกรณีการฟ้องคดีหมิ่นประมาทกับสมาชิกชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา
แม้ว่าในตอนสิ้นสุดของคดีเหล่านี้บางคดี เจ้าหน้าที่อัยการหรือศาลจะได้ดำเนินการอย่างสอดคล้องกับหลักการเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น แต่คดีดังกล่าวก็ส่งผลกระทบในทางที่ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวที่จะใช้สิทธิของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออก
ตั้งแต่การรัฐประหารเป็นต้นมา ยังมีการนำความผิดฐาน “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 มาใช้มากขึ้นเพื่อตั้งข้อหากับนักการเมือง นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักศึกษา ที่รวมตัวกันอย่างสงบเพื่อแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร จากข้อมูลของ iLaw มีประชาชนอย่างน้อย 62 คน ถูกกล่าวหาและ/หรือดำเนินคดีข้อหานี้
เช่นเดียวกับข้อหามาตราหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามมาตรา 112 พบว่าหลังการรัฐประหาร มีการพิจารณาคดีนี้อย่างน้อย 90 คดี โดยศาลทหารและศาลอาญา ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากช่วงก่อนรัฐประหาร โดยข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนอันเกิดจากการพิจารณาคดีนี้ ได้แก่ การปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวแม้ว่าบุคคลผู้ต้องคดีมีปัญหาสุขภาพร้ายแรง และการพิจารณาคดีปิดลับ
ไม่เพียงแต่จำนวนคดีที่เพิ่มขึ้น แต่ในบางคดียังถูกลงโทษจำคุกด้วยโทษที่หนักหน่วงด้วย เช่น กรณีศาลทหารกรุงเทพและเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2558 ตัดสินลงโทษจำคุกชายหนึ่งคนและหญิงหนึ่งคนเป็นเวลา 30 ปีและ 28 ปี ตามลำดับ ภายหลังจากที่พวกเขารับสารภาพผิด ด้วยข้อหาโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กหลายข้อความในทำนองวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ สำนักข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (‘OHCHR’) กล่าวว่าโทษดังกล่าวเป็นโทษสูงสุดในคดีข้อหานี้ นับแต่เริ่มบันทึกรวบรวมในปี 2549
นอกจากนี้แล้ว ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับบุคคลที่ถูกตั้งข้อหานี้ เพียงเพราะแชร์ข่าวสารต่อในเฟซบุ๊ก หรือลงข้อความในเฟซบุ๊กเมสเซนเจอร์ อาทิเช่น คดีของนายจตุภัทร (“ไผ่”) บุญภัทรรักษา ถูกตั้งข้อหาจากการแชร์บทความของบีบีซีไทยเกี่ยวกับประวัติรัชกาลที่ 10 หรือคดีของนางสาวพัฒน์นรี ชาญกิจ มารดาของนักกิจกรรมที่มีชื่อเสียงคน เนื่องจากใช้คำว่า ‘จ้า’ ตอบในเฟซบุ๊กเมสเซนเจอร์ระหว่างบทสนทนาส่วนตัว
นายจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่” ถูกคุมขังในเรือนจำ จากคดีมาตรา 112 กรณีแชร์รายงานข่าวของบีบีซีไทย
การแทรกแซงกิจกรรมทางสังคม และเสรีภาพในการชุมนุม
เจ้าหน้าที่ไทยยังมีการเข้าแทรกแซงและปิดกั้นกิจกรรมทางสังคมและการเมืองจำนวนมาก โดยจำนวนอย่างน้อย 34 กิจกรรม ในปีพ.ศ. 2559, 68 กิจกรรมในปี พ.ศ. 2558 และ 42 กิจกรรมในปี พ.ศ. 2557 ภายหลังการแทรกแซง บางกิจกรรมต้องยกเลิกไป
ทั้งในช่วงระหว่างการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 มีการใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 เพื่อปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์ การถกเถียง และการแสดงออกรวมทั้งการรณรงค์แบบอื่นๆ เกี่ยวกับกระบวนการลงประชามติ โดยปรากฏว่ามีประชาชนจำนวนอย่างน้อย 207 คน ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกดังกล่าว โดยในจำนวนนี้ อย่างน้อยมี 47 คนที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ประชามติรัฐธรรมนูญ
หลังรัฐประหาร ยังมีการดำเนินคดีต่อประชาชน กรณีการรวมตัวตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง โดยเฉพาะการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร ทั้งด้วยข้อหาตามประกาศคสช. ที่ 7/2557 และต่อมาโดยคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558
รวมทั้งตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ที่กำหนดว่าการชุมนุมสาธารณะซึ่งจัดขึ้นโดยปราศจากการยื่นขออนุญาตล่วงหน้า หรือการชุมนุมสาธารณะที่ถูกห้ามโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบถือเป็นการชุมนุมโดยผิดกฎหมาย นำไปสู่การตั้งข้อหากับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วยข้อหานี้ อาทิเช่น กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ซึ่งคัดค้านเหมืองทองคำในจังหวัดเลย ถูกกล่าวหาว่าละเมิด พ.ร.บ.นี้ เนื่องจากไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ล่วงหน้าเกี่ยวกับการรวมตัวกันหน้าอาคารราชการในขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังพิจารณาเรื่องสัมปทานเหมืองแร่
ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลย 7 ราย ถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ เนื่องจากไม่แจ้งการชุมนุมที่หน้าอาคารราชการก่อน
ข้อเสนอแนะ
ในส่วนสุดท้าย ทาง ICJ และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังได้สรุปข้อเสนอแนะต่อทางรัฐบาลไทยในการปฏิบัติตามพันธกรณีของกติกา ICCPR ด้วย อาทิเช่น
– ยกเลิกหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยเฉพาะในมาตรา 44, 47 และ 48 ตลอดจนดำเนินขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อให้หลักประกันในการนำกลับคืนมาซึ่งรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน
– แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 เพื่อให้หลักประกันความสอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้กติกาฯ
– ยกเลิกบรรดากฎหมายรวมทั้งคำสั่งและประกาศ คสช. ที่จำกัดการใช้สิทธิตามกติกาฯตลอดจนคำสั่ง หัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 และ 13/2559 ตลอดจนยกเลิกการเพิกถอนสิทธิที่ได้แจ้งไว้ตามมาตรา 4 ของกติกา ICCPR
– ดำเนินการสืบสวนโดยเร็ว อย่างเป็นกลาง อิสระและมีประสิทธิภาพต่อกรณีบังคับให้สูญหาย ซ้อมทรมานและปฏิบัติอย่างโหดร้ายอื่นๆ การเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวภายใต้สถานการณ์ขัดแย้ง และให้การเยียวยาและชดเชยความเสียหายอย่างมีประสิทธิผลแก่ผู้เสียหายและครอบครัวเท่าที่เกี่ยวข้อง และดำเนินขั้นตอนที่จำเป็นทั้งหลายเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
– บังคับใช้กระบวนการจับกุมและคุมขังที่ยึดถือกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมถึงข้อกำหนดที่ว่าจะต้องนำตัวผู้ต้องคุมขังทุกคนไปปรากฏต่อหน้าผู้พิพากษาโดยเร็วเพื่อโต้แย้งเรื่องความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการคุมขัง
– ถ่ายโอนบรรดาคดีพลเรือนที่ต้องถูกพิจารณาคดีในศาลทหารไปยังศาลพลเรือน สั่งให้มีการพิจารณาคดีใหม่ในศาลพลเรือนสำหรับพลเรือนที่ต้องคำพิพากษาของศาลทหารว่ามีความผิด และแก้ไขกฎอัยการศึกและพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 เพื่อห้ามการดำเนินคดีกับพลเรือนในศาลทหาร
– ให้หลักประกันว่าในทุกคดี รวมถึงการดำเนินคดีกับบุคลากรทางทหาร หากจำเลยถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง อาทิ การสังหารนอกกฎหมาย การบังคับให้สูญหายและการซ้อมทรมาน จะต้องพิจารณาคดีเหล่านี้ในศาลพลเรือน
– ยกเลิกมาตรา 326 ถึง 328 ของประมวลกฎหมายอาญาซึ่งบัญญัติให้เสรีภาพในการแสดงออกเป็นความผิดทางอาญาทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยในด้านกฎหมายระหว่างประเทศภายใต้กติกาฯ
– แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อให้หลักประกันว่าจะไม่ถูกนำมาใช้เพื่อทำให้เสรีภาพในการแสดงออกเป็นความผิดทางอาญา ไม่ว่าในสถานการณ์เช่นใด
– แก้ไขมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยในด้านกฎหมายระหว่างประเทศภายใต้กติกาฯ
– ให้หลักประกันว่าจะไม่นำมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญามาใช้ดำเนินคดีกับบุคคลใดที่ใช้สิทธิมนุษยชน รวมถึงเสรีภาพในการแสดงออกและการสมาคม
– อนุญาตให้มีการจัดกิจกรรมทางการเมืองและสังคมโดยสงบ ซึ่งเป็นการสอดคล้องกับสิทธิของเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมและสมาคมอย่างสงบ โดยตระหนักว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมเสรีประชาธิปไตย
– ยุติการพิจารณาคดีทั้งปวงต่อบุคคลที่เผชิญกับการสืบสวน การตั้งข้อหา หรือการฟ้องร้องเพียงเพราะพวกเขาใช้สิทธิภายใต้กติกาฯ และให้การเยียวยาพร้อมค่าชดเชยตามความเหมาะสม
อ่านเพิ่มเติม
เปิด “คำถาม” คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน UN และ “คำตอบ” รัฐบาลไทย ก่อนเวทีทบทวน ICCPR ที่เจนีวา
10 ข้อควรรู้ ก่อนการประชุมทบทวนการบังคับใช้ ICCPR ของไทย ที่นครเจนีวา
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)