พลเรือนยังคงขึ้นศาลทหาร: เปิดสถิติคดีพลเรือนในศาลทหาร ปีที่ 3

แม้ในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 55/2559 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับคดีบางประเภทที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ลงวันที่ 12 ก.ย. 59 กำหนดให้ความผิดที่เคยมีประกาศคสช.ให้ต้องถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร ได้แก่ คดีความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ความผิดตามประกาศหรือคำสั่งคสช. และคดีความผิดเกี่ยวกับอาวุธ ที่เกิดขึ้นภายหลังการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับนี้ กลับมาอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม

คำสั่งฉบับนี้ แม้จะทำให้พลเรือนไม่ต้องขึ้นศาลทหาร หากแต่คดีที่การกระทำเกิดขึ้นก่อนวันที่ 12 ก.ย. 59      ก่อนจะมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับนี้ และคดีที่ถูกสั่งฟ้องศาลทหารไปก่อนหน้าวันนี้ทั้งหมด ยังต้องถูกนำขึ้นพิจารณาในศาลทหาร คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับนี้ จึงไม่ได้ทำให้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร อย่างการนำพลเรือนขึ้นพิจารณาคดีในศาลทหาร สิ้นสุดลง

สองปีที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ประสานขอข้อมูลสถิติจำนวนคดีของพลเรือนที่ถูกพิจารณาในศาลทหารจากกรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม มาแล้วสองครั้ง และได้นำเสนอเป็นรายงานสองชิ้นไปก่อนหน้านี้ ได้แก่ รายงานปีที่หนึ่ง สถิติตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 57- 30 ก.ย. 58 และรายงานปีที่สอง สถิติตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 57- 31 พ.ค. 59

ในปีนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ประสานขอข้อมูลสถิติจากกรมพระธรรมนูญอีกครั้ง และได้รับข้อมูลสถิติตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. 57 – 30 พ.ย. 59 สรุปจำนวนคดีของพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 1,716 คดี  คิดเป็นจำนวนผู้ต้องหาและจำเลยรวม 2,177 คน เป็นคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี 416 คดี และคดีที่ศาลพิจารณาคดีเสร็จสิ้นแล้ว 1,300 คดีซึ่งสามารถแบ่งเป็น

  • คดีฝ่าฝืนคำสั่งหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติจำนวน 44 คดี
  • คดีมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา (หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ) จำนวน 86 คดี
  • คดีมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา (ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องฯ) จำนวน  9  คดี
  • คดีตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธ พ.ศ. 2490 จำนวน 1,577 คดี

จากสถิติภาพรวมดังกล่าว หากแบ่งตามพื้นที่ในต่างจังหวัดที่ขึ้นต่อศาลมณฑลทหารบก มีจำนวนคดีทั้งหมด 1,502 คดี ผู้ต้องหาและจำเลยรวม 1,850 คน เป็นคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี 316 คดี และคดีที่ศาลพิจารณาคดีเสร็จสิ้นแล้ว 1,186 คดี แบ่งเป็น

  • คดีฝ่าฝืนคำสั่งหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติจำนวน 11 คดี
  • คดีมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา จำนวน 31 คดี
  • คดีมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา จำนวน  3  คดี
  • คดีตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธ พ.ศ. 2490 จำนวน 1,457 คดี

ในขณะที่ศาลทหารกรุงเทพมีจำนวนคดีทั้งหมด 214 คดี ผู้ต้องหาและจำเลยรวม 327 คน เป็นคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี 100 คดี และคดีที่ศาลพิจารณาคดีเสร็จสิ้นแล้ว 114 คดี แบ่งเป็น

  • คดีฝ่าฝืนคำสั่งหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติจำนวน 33 คดี
  • คดีมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา จำนวน 55 คดี
  • คดีมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา จำนวน  6 คดี
  • คดีตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธ พ.ศ. 2490 จำนวน 120 คดี

ขณะเดียวกัน ทางกรมพระธรรมนูญ ยังระบุข้อมูลการออกหมายจับบุคคลพลเรือนที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารระหว่างวันที่ 25 พ.ค. 57 – 31 ต.ค. 59(เหตุในคดีเกิดระหว่างวันที่ 25 พ.ค.57 -11 ก.ย.59)  โดยเป็นหมายจับที่ได้รับการอนุมัติแล้ว แต่ยังไม่ได้ตัวผู้ต้องหามาฟ้องคดีต่อศาล ว่ามีจำนวน 528 หมายจับ ตัวเลขดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าเป็นหมายจับในคดีใดบ้าง แต่แยกเป็น

  • หมายจับที่ออกโดยศาลทหารกรุงเทพ จำนวน 401 หมาย
  • หมายจับที่ออกโดยศาลมณฑลทหารบก จำนวน 127 หมาย

ข้อสังเกตศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนต่อสถิติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร

1. จากสถิติคดีทั้งในพื้นที่ต่างจังหวัดและกรุงเทพมหานคร พบว่าคดีซึ่งสู่การพิจารณาในศาลทหารมากที่สุดยังคงเป็นประเภทคดีตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธ พ.ศ. 2490 โดยคิดเป็นร้อยละ 91.9 ของคดีพลเรือนที่ขึ้นศาลทหารทั้งหมด

ในจำนวนนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่ามีบางคดีที่มีมูลเหตุแห่งคดีหรือประวัติของผู้ถูกกล่าวหาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งการเมือง เช่น คดีขอนแก่นโมเดล หรือคดีระเบิดศาลอาญา เป็นต้น แต่อยู่ในสัดส่วนคดีที่ไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนคดีที่เกิดขึ้นจริง โดยคดีที่เกี่ยวกับอาวุธส่วนใหญ่นั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง ทังคดีบางส่วนเป็นคดีที่ชาวบ้านครอบครองปืนแก๊ป หรือปืนโบราณโดยไม่มีใบอนุญาต

กล่าวได้ว่าการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหารตลอดสองปีกว่าที่ผ่านมา มีคดีเพียงส่วนน้อยซึ่งเกี่ยวข้องทางการเมือง แต่คดีส่วนใหญ่เป็นคดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นโดยเหตุซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจทางการเมือง แต่กลับต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหารซึ่งมีหลักประกันสิทธิการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมน้อยกว่าศาลยุติธรรม

2. เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติคดีก่อนหน้านี้ ช่วงระหว่างวันที่ 22 พ.ค. 57 – 31 พ.ค. 59 พบว่าคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนคำสั่งหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง คสช. (เช่น คดีชุมนุมทางการเมือง คดีไม่ไปรายงานตัว) มีสถิติคงเดิม จำนวน  44 คดี แต่ตัวเลขคดีในศาลมณฑลทหารบกลดลงจาก 20 คดี เหลือ 11 คดี ซึ่งอาจเกิดจากความผิดพลาดของข้อมูลจากกรมพระธรรมนูญที่ตัวเลขคดีโดยรวมลดลงจากช่วงเวลาก่อนหน้า ขณะที่ตัวเลขคดีในศาลทหารกรุงเทพ เพิ่มขึ้นจาก 24 คดี กลายเป็น 33 คดี การลดลงของตัวเลขคดีในศาลมณฑลทหารบกนี้ กรมพระธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าเป็นเพราะสาเหตุใด

อีกทั้ง ในช่วงเวลาก่อนวันที่ 30 พ.ย. 2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่า ศาลมณฑลทหารบกยังได้รับฟ้องคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 อีกอย่างน้อย 3 คดี จำเลยอย่างน้อย 27 ราย ได้แก่ คดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่ จ.หนองบัวลำภู 3 ราย จ.อุดรธานี 4 ราย และ จ.สกลนคร 20 ราย นอกจากนี้ ยังมีผู้ถูกดำเนินคดีชุมนุมทางการเมือง ตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 อีกอย่างน้อย 11 คดี จำนวนผู้ต้องหาอย่างน้อย 174 ราย จากทั้งการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติในหลายจังหวัด การแจกเอกสารโหวตโน หรือการจัดกิจกรรมเสวนาในมหาวิทยาลัย ซึ่งอยู่ระหว่างชั้นสอบสวน และอาจถูกฟ้องร้องต่อศาลทหาร ตัวเลขสถิติคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนคำสั่งหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง คสช. จึงจะมีเพิ่มมากขึ้นอีกหลายคดี

3. สถิติของกรมพระธรรมนูญระบุว่ามีคดีตามมาตรา 116 ในศาลทหาร จำนวน 9 คดี แยกเป็นในกรุงเทพฯ 6 คดี และในต่างจังหวัด 3 คดี แต่จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีตามมาตรา 116 ที่ถูกสั่งฟ้องขึ้นสู่ศาลทหารทั่วประเทศจนถึงปัจจุบัน มีจำนวนอย่างน้อย 13 คดี แบ่งเป็น 10 คดีที่ถูกฟ้องในศาลทหารกรุงเทพ ได้แก่ คดีจาตุรนต์ ฉายแสง, คดีสมบัติ บุญงามอนงค์, คดีพลเมืองรุกเดินของพันธ์ศักดิ์, คดีมอบดอกไม้ของปรีชา, คดีรินดา โพสต์ข่าวลือเรื่องพล.อ.ประยุทธ์ (คดีนี้หลังการสั่งฟ้อง ศาลทหารมีความเห็นว่าไม่เข้าองค์ประกอบตามมาตรา 116 จึงสั่งจำหน่ายคดี), คดีชญาภา, คดีฐนกร, คดี 8 แอดมินเพจเรารักประยุทธ์, คดีโปรยใบปลิวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, และคดีธเนตร อนันตวงษ์ แชร์ผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ส่วนในศาลมณฑลทหารบก มี 3 คดี ได้แก่ คดีชัชวาลย์, คดีพลวัฒน์, และคดีส่งจดหมายวิจารณ์รัฐธรรมนูญ 

นอกจากนั้นยังมีอีกหลายคดีที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 116 ที่ยังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน และชั้นพิจารณาของอัยการทหาร ทำให้เป็นไปได้ว่าข้อมูลสถิติของกรมพระธรรมนูญดังกล่าว อาจยังไม่ครบถ้วนตามความเป็นจริง

4. เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติคดีพลเรือนในศาลทหารก่อนหน้านี้ พบว่าคดีมาตรา 112 มีอัตราการเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยมากกว่าคดีลักษณะอื่นๆ โดยตัวเลขของกรมพระธรรมนูญหลังรัฐประหารจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 58 มีคดีมาตรา 112 ถูกพิจารณาในศาลทหารจำนวน 34 คดี หากนับจนถึงวันที่ 31 พ.ค. 59 ตัวเลขเพิ่มขึ้น 29 คดี รวมเป็น 63 คดี และนับจนถึงวันที่ 30 พ.ย. 59 ตัวเลขเพิ่มขึ้นอีก 23 คดี รวมเป็น 86 คดี

แนวโน้มดังกล่าว ยังไม่นับคดีที่มีเหตุเกิดขึ้นหลังวันที่ 13 ต.ค. 59 ภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีเหตุการณ์ไล่ล่าแม่มด และกล่าวหาดำเนินคดีจากการแสดงความคิดเห็นเพิ่มขึ้นอีกหลายคดี โดยคดีในช่วงนี้ได้ถูกนำกลับมาพิจารณาในศาลพลเรือน จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้แนวโน้มของประเด็นการใช้มาตรา 112 ปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออก และปัญหาในกระบวนยุติธรรมของการพิจารณาคดีตามมาตรานี้ จะยังคงเข้มข้นและน่าจับตาสำหรับสังคมไทยต่อไป

5. แม้คดีของพลเรือนที่เกิดเหตุตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย. 59 จะถูกพิจารณาในศาลยุติธรรมแล้ว แต่ยังคงมีคดีอย่างน้อย 416 คดีที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลทหาร  รวมทั้งคดีที่ยังมีหมายจับ โดยยังไม่ได้ตัวผู้ต้องหามาฟ้องต่อศาล อีก 528 หมายจับ นอกจากนี้ตัวเลขคดีพลเรือนในศาลทหารสามารถเพิ่มขึ้นได้อีก ทั้งในส่วนของการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 12 ก.ย. 59 ที่อาจถูกนำมากล่าวหาดำเนินคดีใหม่ ทั้งในส่วนของผู้ต้องหาที่คดียังดำเนินอยู่ในชั้นสอบสวนหรืออัยการทหาร ที่อาจถูกสั่งฟ้องต่อศาลทหารเพิ่มขึ้นดังเช่นกรณีคดีของทนายความศิริกาญจน์ เจริญสิริ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา  116 ประมวลกฎหมายอาญา และฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/58 ร่วมกับ 14 ขบวนประชาธิปไตยใหม่ซึ่งคดียังอยู่ระหว่างการสอบสวน  และต้องถูกดำเนินคดียังศาลทหารหากมีการฟ้องคดี

ทั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังพบว่าคดีที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาในศาลทหาร และจำเลยเลือกจะต่อสู้คดี ยังคงมีแนวโน้มดำเนินไปอย่างล่าช้า ด้วยรูปแบบการนัดสืบพยานของศาลทหาร 2-3 เดือนต่อครั้ง นัดเฉพาะในช่วงเช้า ทั้งยังมีการเลื่อนสืบพยานบ่อยครั้ง เนื่องจากอัยการทหารไม่สามารถนำพยานโจทก์มาสืบได้ในวันนัด ทำให้ในบางคดีจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าการต่อสู้คดีจะแล้วเสร็จ เช่น ในคดีขอนแก่นโมเดล ที่โจทก์อ้างพยานบุคคลรวม 90 ปาก ซึ่งหากสืบพยานได้ปีหนึ่งราว 10-12 ปาก อาจต้องใช้เวลากว่า 7-9 ปี เป็นต้น

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ปัญหาการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหาร จะยังคงดำรงอยู่ต่อไป แม้จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ และกระทั่งหากมีการจัดการเลือกตั้งในช่วง 1-2 ปีนับจากนี้ ภายหลังจากนั้น สังคมไทยก็จะยังคงมีพลเรือนอีกมากที่ต้องต่อสู้คดีในศาลทหาร

อ่านเพิ่มเติม

ประมวลข้อมูลสถิติในศาลทหารปีก่อนหน้านี้

รายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารเพิ่มเติม

X