“ซี จันทนา”: 7 ปีในคุกรัฐประหาร และคนรักที่ถูกอุ้มฆ่า

23 กุมภาพันธ์ 2565 เธอเดินลงมาจากบันไดสูงชันของศาลอาญา รัชดา ส่วนมือสองข้างโอบอุ้มเอาต้นไม้ยอดแทงเหนือศีรษะ จำนวนสองต้นหิ้วลงมาด้วย ต้นหนึ่งเป็นว่านสี่ทิศ อีกต้นคือเศรษฐีวิลสัน ที่เพื่อนอดีตผู้ต้องขังยกมาฝากเธอ เมื่อทราบว่าเธอเดินทางเข้ามาเมืองกรุง

เดิมทีตั้งใจมารอรับอานนท์ นำภา และ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่คาดว่าจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากคดีการเมือง หลังถูกจองจำระหว่างการพิจารณาคดีกว่า 200 วัน แต่วันนั้นก็เป็นอีกครั้งที่ศาลปฏิเสธคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว  เธอจึงไม่ได้พบอานนท์ กับเพนกวิน

.

“ซี จันทนา” หรือ ‘จันทนา วรากรสกุลกิจ’ หญิงเสื้อแดงวัย 53 ปี เพิ่งพ้นโทษจากเรือนจำเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 กว่า 7 ปีที่ถูกจองจำจากข้อหาครอบครองอาวุธฯ ภายใต้การประกาศกฎอัยการศึกของคณะรัฐประหาร และข้อหาอื่นตามมาภายหลัง

กล่าวได้ว่าภาพจำของเธอต่อสาธารณะมีอยู่ไม่น้อย บ้างเป็นภาพของ “ผู้หญิงแย่งปืน” ที่เข้าขัดขวางทหารไม่ให้ใช้อาวุธสงครามสังหารเพื่อนเสื้อแดง ระหว่างการชุมนุมในปี 2553 บ้างเป็นภาพของการต่อสู้คดีอย่างเด็ดเดี่ยวในศาลทหารและศาลยุติธรรมหลังการรัฐประหาร 2557 

การต่อสู้ที่ยากลำบาก บีบคั้นให้ครั้งหนึ่ง ‘ซี จันทนา’ ถึงกับกล่าวประโยคสำคัญต่อหน้าบัลลังก์ว่า “หากคุณคิดว่าผู้หญิงคนเดียว เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ก็ให้สั่งประหารชีวิตไปเลย”

ส่วนคนรักของเธอ คือ “พี่โต้ง” หรือ ชัชชาญ บุปผาวัลย์ (สหายภูชนะ) ก็เป็นหนึ่งในผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ถูกอุ้มหาย ซ้อมทรมาน และสังหารโยนศพทิ้งลงแม่น้ำโขง เรื่องราวมากมายทำให้ชีวิตของเธอเกี่ยวพันกับวิกฤติการเมืองหลังรัฐประหาร 2557 อย่างแยกขาดกันแทบไม่ออก ชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งเปลี่ยนแปลงพลิกผันไปกับสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศ

.

วันนี้ ซี จันทนา ไม่ต้องเดินทางเข้าออกห้องพิจารณาคดีระหว่างใต้ถุนศาลกับทัณฑสถานหญิงอีกแล้ว ชีวิตของเธอมิได้เป็นเพียงอดีตจำเลยคดีความมั่นคงอีก หากยังเป็นพยานทางประวัติศาสตร์ของสามัญชน

บทสัมภาษณ์นี้บอกเล่าเส้นทางการต่อสู้ของซี จันทนา จุดพลิกผันในชีวิต สภาพการต่อสู้คดีหลังรัฐประหาร มากกว่านั้นยังบอกเล่าความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมความคิดอีกจำนวนหนึ่ง

เชิญทุกท่านอ่านบทสัมภาษณ์ ‘จันทนา วรากรสกุลกิจ’

.

.

ช่วงที่เริ่มต้นออกมาเคลื่อนไหวกับคนเสื้อแดง พี่ซีทำงานอะไร ครอบครัวเป็นอย่างไร 

พี่ซีเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวนะ เลี้ยงลูกคนเดียวตั้งแต่ลูกอายุ 2 ขวบเศษๆ ช่วงนั้นก็เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ แล้ว แต่ว่าทุกสัปดาห์ก็ยังต้องกลับต่างจังหวัดอยู่ เพราะสามีพี่ป่วยหนัก ตอนนั้นก็จะขายปลาอโรวาน่าที่จตุจักร ปลาแบบนี้ต้องมีชิฟเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนั้นเราก็ขายปลาเลือดผสมอินโดกับมาเลย์ ปลาชิลี ตัวหนึ่งบางทีมีราคาเป็นแสน ก็เลี้ยงตั้งแต่ตัวเล็กๆ ขุนให้มันใหญ่ และก็ขายตะขาบมาเลย์ซึ่งตัดเขี้ยวออกแล้ว และจิ้งหรีดไว้เป็นอาหารให้ปลาอโรวาน่า

แต่ก่อนหน้านั้นพี่ซียังมีลูกชายคนโต แต่เขาเสียไปตอน 9 ขวบกว่า พี่ซีก็ไม่อยากพูดถึงเรื่องส่วนตัวหรอก เพราะเป็นสิ่งที่เราเจ็บปวดมาตลอด เราก็ไม่ใช่คนดี เราโตมากับธุรกิจสีเทา ทำบ่อน รับหวย และจริงๆ แล้ว เราทิ้งครอบครัวมานานมาก พอมาถึงจุดหนึ่งเราก็ไม่อยากให้ที่บ้านมาเดือดร้อนกับเรา เพราะที่บ้านเป็นเสื้อเหลืองกันหมด ไม่ใช่เหลืองธรรมดาด้วย แต่เหลืองโคตรๆ

.

ออกมาเคลื่อนไหวครั้งแรกก็ตอนมีเสื้อแดง

ออกมาชุมนุมทางการเมืองไม่ได้เริ่มที่ 2553 นะ พี่ซีชอบไปชุมนุมอยู่แล้ว ก็ไปตั้งแต่ปี 2535 ออกไปไล่สุจินดา (พลเอกสุจินดา คราประยูร – คณะรัฐประหาร รสช.) ตอนนั้นศรัทธาจำลอง ศรีเมือง แต่พอเห็นภาพที่มันเอาผู้หญิงล้อมแล้วไปหลบข้างหลังผู้หญิง เลิกศรัทธาเลย เพราะเราคิดว่าในการต่อสู้ ถ้าแกนนำกลัวตายก็คือจบ คุณถามพวกเราก่อนว่าพร้อมสู้ไหม พอพวกเราพร้อมค่ะ แต่คุณช็อตเรา เหมือนดึงปลั๊กออกเลย พูดไปก็เหมือนกับกรณีสลายพวกเราเมื่อวันที่ 10 เมษา 53 คือถ้าคุณบอกว่ากลัวจะสูญเสียมากกว่าเดิม คุณก็ต้องหยุดตั้งแต่ 10 เมษา แล้ว เพราะจะต้องรู้ว่ามันจะมาหนักขึ้นเรื่อยๆ วันนั้นเป็นสัญญาณเตือนแล้วว่าเขาไม่เอาเราแน่

.

ช่วยเล่าถึงเหตุการณ์วันที่ 10 เมษา 53 จากจุดที่พี่ซียืนอยู่ ให้ฟังได้ไหม

ตอนเริ่มปะทะกัน เราก็ปาก้อนหินไปใส่ทหาร แต่พอปาไป ทหารมันก็ปากลับมา มันไม่เป็นอะไรมากเพราะมันมีหมวกสนาม คนที่อยู่ข้างหน้าเขาก็บอกคนข้างหลังว่าให้หยุดปาก่อน เพราะพวกเราเสื้อแดงหัวแตกกันหลายคน สักพักก็มีเสียงปืนหลายนัด พี่ซีก็เลาะๆ หลบๆ ไปตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คนก็กรูกันออกมาเพราะมีเสียงระเบิด

ถึงตอนที่หยุดปะทะ เราก็ไปมุงดูศพคุณวสันต์ ภู่ทอง (คนเสื้อแดงคนแรกที่เสียชีวิต บริเวณแยกคอกวัว) หลังจากวันนั้นพี่ซีรู้สึกแย่มาก กินข้าวไม่ได้เป็นอาทิตย์ ไม่ออกไปไหนเลย เอาแต่นั่งร้องไห้ เพราะภาพที่เราเห็น แต่ละคน แต่ละศพมันเลวร้าย

หลังสลายการชุมนุมตั้งแต่นั้นมา เราก็เริ่มหันไปฟังอาจารย์สุรชัย (สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์) แต่ก็ไม่ได้เสื่อมศรัทธาจากแกนนำเดิมหรอกนะ เพราะคนที่ชอบจริงๆ คือจตุพร พรหมพันธุ์ ชอบที่เขาพูดว่า “ใครตายก็ตายไป แต่คนที่เหลือต้องสู้ต่อ แม้เราจะต้องเหลือแค่คนเดียว แต่เราต้องไปให้ถึงเส้นชัย” หลังๆ มาก็ยังโทรไปด่าจตุพรอยู่ 

.

อยู่ในที่ชุมนุมทำหน้าที่อะไร ชอบไปอยู่ตรงไหน

เราก็เป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งไม่โดดเด่นอะไร คนก็ไม่ได้รู้ว่า ‘ผู้หญิงแย่งปืน’ คือเรา และเราก็ไม่ได้สนใจ เวลาไปชุมนุมก็มักออกไปชุมนุมคนเดียว แต่บางทีก็จะมีคนจำได้ก็จะถามว่า ใช่เจ๊หรือเปล่าที่พูดว่า “เขาปลูกข้าวให้คุณกิน คุณฆ่าเขาทำไม” เขาก็พยายามลากเราไปถ่ายรูป แต่เราก็พยายามจะเลี่ยง

ตอนย้ายมาราชประสงค์ ด่านที่ชอบไปอยู่คือด่านศาลาแดง ก็อยู่ตรงนั้นตลอด แต่พอ 4 ทุ่มปุ๊บ ก็จะไปยืนฟังณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กับจตุพรปราศรัย และก็จะกลับไปอยู่แต่หน้าด่านเหมือนเดิม บางครั้งพวกมันก็จะเอาสลอดมาผสมกับกาแฟให้พวกเราท้องเสีย บางทีตอนเคลื่อนขบวนก็มีเอาน้ำร้อนมาสาดพวกเรา เอาลูกเหล็กมายิงพวกเราหัวแตกกันระเนระนาด ด่านศาลาแดงเป็นด่านที่สนุกที่สุดและด่านที่น่ากลัวที่สุด

ที่นั่น เราก็จะคิดถึงคนที่ถูกยิงต่อหน้าเราที่ด่านนั้นตลอด หลังจากยุติการชุมนุมก็จะมาเริ่มทำเสื้อรณรงค์ ปั๊มซีดีแจกแล้ว บางครั้งเวลาขึ้นรถโดยสารก็จะทอล์กโชว์เลย พูดจนคนทั้งคันปรบมือให้ ผู้โดยสารคนหนึ่งบอกว่า “เจ๊หนูเป็นกระเป๋ารถเมล์อยู่ วันไหนเจ๊ไปขึ้นรถหนูบ้างนะ” แต่บางครั้งก็มีเหมือนกันที่ด่ารัฐบาลอภิสิทธิ์อยู่ มันก็จะมีคนบอกว่า “มึงเงียบได้หรือยัง” ไอ้เราก็บอกให้คนขับรถจอดเลย คือจะชวนเขาไปตีกันข้างล่าง (หัวเราะ)

“กูด่าไอ้อภิสิทธิ์ มึงเป็นเหี้ยอะไร มันเป็นพ่อมึงเหรอ” ก็ด่าเขาไปแบบนี้

.

.

พอเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 ยังเคลื่อนไหวอยู่ไหม เพราะเหมือนกับว่าคนเสื้อแดงจะเริ่มถอย

เอาจริงๆ ปรกติ ไม่ชอบไปเลือกตั้งนะ ไม่เคยไปเลือกเลยที่ผ่านมา แต่พอเลือกตั้งปี 2554 ก็พาลูกชายนั่งรถกลับไปเลือกตั้งที่โคราช เพราะบ้านเกิดอยู่ที่นั่น นั่งรถตู้ไปกลับค่ารถ 1,000 บาท เพื่อเลือกยิ่งลักษณ์ พอกลับมาถึงกรุงเทพฯ ส่งลูกเสร็จเราก็ไปทำงานต่อ แต่การเคลื่อนไหวก็ยังอยู่ เรามีการเตรียมตัวตลอด เพราะคาดว่าพวกมันจะทำร้ายเราอีก

การเตรียมตัวของพวกเรา เริ่มมาตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 (หมายถึงกรณีรัฐบาลเพื่อไทยพยายามแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 18-22/ 2555)

ศาลวินิจฉัยให้รัฐบาลยกเลิกการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ช่วงนั้นมีเอกสารที่หลุดออกมาเหมือนกับว่ามันจะซิกแซกเอายิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่งให้ได้ ตอนนั้นเราเดินสายแจกใบปลิวการปฏิวัติประชาชน นี่คือแนวทางพี่ซีนะ เราคิดอย่างเดียวว่าเรารู้ว่าเราสู้อยู่กับใคร และพยายามบอกเพื่อนบอกทุกคน ตอนนั้นเหนื่อยมาก เพราะต้องทำให้คนอื่นเห็น ในกลุ่มเดียวกันมีพี่ซีเป็นผู้หญิงคนเดียว และผู้ชายอีกหลายคนในกลุ่มเขาท้อถอยนะ ก็จะถามเราเรื่อยๆ ว่า “ซีมันจะเป็นไปได้เหรอ”

เราไม่ได้คิดถึงความรุนแรงเลย เราคาดหวังแค่ว่าถ้าเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง คนจะลุกขึ้นมากันเต็มถนน ตอนนั้นโซเชียลยังไม่ขนาดนี้ คนยังดูวีซีดีอยู่บ้าง พี่ซีก็อัดซีดีแจก แฉหลายเรื่อง เช่น ทำไมน้ำมันแพงบ้าง ใครอยู่เบื้องหลังการล้มรัฐบาลบ้าง พวกเอกสารหรือซีดีก็จะเอาไปทิ้งไว้ตามหน้าห้าง หรือที่ที่คนพลุกพล่าน

.

มีช่วงที่พี่ซีได้พักบ้างไหม

มันจะมีช่วงสั้นๆ ที่เรารู้สึกมีความสุขคือหลังการเลือกตั้งปี 54 แต่ก็เห็นแล้วว่าไม่ได้ยาวนานมากหรอก เรารู้ดี และก็มาเจอเหตุการณ์น้ำท่วม ช่วงนั้นพี่ซีทิ้งลูกไปช่วยน้ำท่วม ไปอยู่ศูนย์ช่วยเหลือน้ำท่วมทั้งที่ดอนเมือง และที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ก็ไปช่วยเขาแบกข้าวสาร ไปช่วยต่อแพที่ทำจากถังน้ำมัน ไปคัดเสื้อผ้าให้คนที่ประสบภัย รวมถึงไปแจกข้าวที่ธรรมศาสตร์ รังสิต เราตั้งใจไปอุทิศช่วยคน แต่เราก็ไม่ใช่คนดีอะไร ทำไม่ดีมาก็เยอะ แต่พอถึงจุดที่ต้องช่วยคน ชีวิตสุดท้ายแล้วอยากให้มันเต็มที่ ดีก็ขอดีให้ถึงที่สุด

.

เคยคิดบ้างไหมว่าถูกติดตาม ถูกจับกุม ช่วงก่อนรัฐประหารพี่ซีเคลื่อนไหวยังไง

พี่ซีถูกจับตาแล้ว ตั้งแต่เริ่มมีม็อบ กปปส. ครั้งสุดท้ายคือ เพื่อนบอกให้ขึ้นเรือไปเถอะ พี่บอกว่า “กูมาไกลเกินกว่าที่กูจะถอยได้” สู้มาขนาดนี้แล้ว ตายก็ตาย น้องๆ ก็เลยยอม พี่ซีไม่เคย worry ให้กับเรื่องตายเลยนะ แต่ไม่เคยเผื่อใจให้กับการติดคุก เพราะพี่โต้งจับพี่ซีนอนเต๊นท์มา 2 ปีกว่า ฝึกตัวเองมาตลอด ไม่ได้ใช้ชีวิตสบายเลย แต่พอ 13 กรกฎาคม 2555  ตรงนี้เป็นจุดพลิกผันในชีวิต

พอมาเจอเหตุการณ์ที่ราชมังคลาฯ (การชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2556) ก็คิดว่าไม่ได้แล้ว เพราะเราโดนล้อมไว้หมด ในขณะที่คนอยู่ข้างในที่ชุมนุมร้องรำทำเพลง คนข้างนอกโดนยิงเข้ามาตลอด พี่โต้งตะโกนมาว่า “ไอ้ซีมาเร็วประตู 5 มีคนของเราถูกยิง” เราไม่ได้เป็นการ์ด พวกเราไม่มีใครเป็นการ์ด ไม่ได้เงินจากแกนนำสักสลึง ยังจำได้เลยว่า ตอนตี 2 พี่ซีกินข้าวอยู่ มีระเบิดปิงปองลงมากลางสนามหญ้า เราไม่รู้ว่าเรามีหน้าที่อะไร แต่รู้ว่าเราต้องปกป้องคนเสื้อแดง

เราก็ชอบด้วยแหละ มันตื่นเต้น มันเหมือนว่าเป็นช่วงจังหวะที่เราจะได้เอาคืน เพราะคนเสื้อแดงโดนตีมาตั้งแต่ตอนกลางวัน ผู้หญิงถูกจี้ไปกดหัวไว้ ทำไมมันสารเลวเหลือเกิน เราก็เลยแค่อยากเป็น Batman

พอถึงตอนยิงกันที่หลักสี่ จนมีคุณลุงคนหนึ่งตาย หมวกใบนั้นยังอยู่กับพี่ซีอยู่เลย เรารู้ว่าพวกนั้น (กปปส.) เป็นทหาร เพราะการ์ดของพวกเขาเป็นทหารที่ฝึกมาอย่างดี เราทำได้ดีที่สุดคือป้องกันกลุ่มคนของเรา เพราะพี่ซีเชื่ออย่างหนึ่งว่า ถ้าเมื่อใดที่เราทำร้ายผู้บริสุทธิ์ เราก็จะเลวเหมือนเขา นี่คือหลักการของเรา แต่ถ้าถึงการรบเราก็ต้องสู้ แต่สุดท้ายก็เหมือนจะชะตากำหนดว่าไม่ให้เราทำร้ายใคร

.

.

ช่วยเล่าถึงวันที่ถูกจับได้ไหม

เขาบอกว่าวันนั้นพี่ซีโชคดี เกือบหายเข้าไปในค่ายทหารแล้ว ตอนนั้นถูกจับที่กระทุ่มแบน เขามาถามหาผู้หญิงชื่อซีสักพักแล้ว ที่นั่นพี่เช่าบ้านไว้นาน แต่ไม่ได้ไปอยู่ เช่าไว้ให้คนงานอยู่ คนงานก็พวกเสื้อแดงด้วยกัน ก่อนถูกจับนี่มีรายได้เดือนละ 140,000 บาท นะ วันสุดท้ายก่อนโดนจับเหลือเงินติดตัวอยู่ 8,000 บาท แค่นั้น เพราะเงินมันจะต้องรอบิล ทำใบเสร็จส่งมอบงานให้ซัพพลายของเรา พวกพี่ซีนี่ขยัน ทำงานกันไม่มีวันหยุด ซัพพลายเขาก็จะรักเรามาก

ช่วงเวลานั้น วันหนึ่งๆ จะนอน 3 ชั่วโมง กลับมาทำเอกสารเสร็จ มีภาพตั้งแต่ตอกกาว เชื่อม เข้าสายติดตั้งไฟฟ้า มิเตอร์ พอเสร็จโทรเช็คไปที่ศูนย์ กลับมานอน 3 ชั่วโมง สาม-สี่ทุ่มก็ออกไปชุมนุมแล้ว จนถึงวันที่เขามาจับ เราก็อยู่ตรงนั้น แต่พยานหายไป 1 คน จนถึงตอนนี้ยังไม่เจอ

.

สภาพการต่อสู้คดีหลังรัฐประหารเป็นอย่างไร ลำบากแค่ไหน

พี่ซีเพิ่งมามีทนายความต่อสู้คดี ก็หลังฝากขังครบ 7 ฝาก 84 วัน ทนายเสาวลักษณ์ โพธิ์งาม เป็นคนมาเยี่ยม ไม่มีใครมาหาเราหรอก ตอนหลังจึงมีการประสานทนายคนอื่นๆ ให้เข้ามา ช่วงที่อยู่ในนั้นรับจ้างทุกอย่าง ทั้งล้างถาด 3 เวลา ซักผ้าห่ม เพื่อให้มีเงินไปซื้อของใช้สบู่ ยาสีฟัน ฯลฯ

บอกตัวเองว่าเราต้องทำใจ ต้องอยู่ให้ได้ พี่ซีก็รอ คิดว่าวันหนึ่งต้องมีคนเข้ามาหา แต่ในระหว่างรอ เราก็ต้องทำงาน ภูมิใจจะตาย พอได้มาแล้วเราก็ได้ไปช่วยคนแก่ คนไม่มีญาติ แบ่งผงซักฟอกสบู่ให้เขาใช้ได้ บางครั้งก็ล่ารายชื่อปลดเจ้าหน้าที่ที่เอาเปรียบนักโทษ

ครั้งหนึ่งมีการเปลี่ยน “กฎออฟชั้น” (สิทธิในการสอบเลื่อนชั้นของนักโทษ) ให้มีผลตั้งแต่หลังวันที่ 31 สิงหาคม 2559 คือหมายถึง ไม่ให้นักโทษที่มีโทษตั้งแต่ 20 ปี ขึ้นไป มีสิทธิสอบชั้น 5 ปี และพี่ซีเองก็ต้องโทษ 17 ปี 18 เดือน เราก็เริ่มเขียนบันทึกถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และล่ารายชื่อคนที่รอการพิจารณาในคุก เขียนไปว่า กฎนี้มันต้องใช้กับนักโทษที่กระทำผิดซ้ำ หรือ “เด็กรอบ” แต่กับนักโทษครั้งแรกไม่ควรต้องรับกฎนี้ คุณต้องให้โอกาสเขา

กฎนี้มันมีปัญหาตรงที่ว่า นักโทษที่กระทำผิดวินัยหลังวันที่ 31 สิงหาคม 2559 ต้องโดนออฟชั้น มันทำให้คนที่เป็นนักโทษชั้นเยี่ยมที่กระทำผิดไม่โดนออฟชั้น แต่นักโทษที่อยู่ระหว่างชั้นกลาง ชั้นดี ชั้นดีมาก ได้รับผลกระทบ ทั้งหมดโดนร่วม 20 คน ซึ่งใน 20 คนนี้ มี 10 คนที่มีการตั้งคณะกรรมการสอบ และงดเยี่ยมญาติ 3 เดือน เจ้าหน้าที่ก็บอกว่า “เซ็น เซ็นไปเถอะ” เขาก็พากันเซ็นกันไปสิ เพราะคิดว่ากระบวนการมีแค่นี้ แต่พอเขาสอบชั้นเสร็จและมีการส่งรายชื่อไปที่กรม กรมกลับตีหนังสือกลับมา พอเขาเช็คชื่อแล้วไม่มีชื่อพวกเขา เขาก็ร้องไห้มาหาเรา เราก็บอกว่าเรื่องมันเป็นแบบนี้ เราชี้ให้เห็นว่ากฎนี้มันจึงเป็นสองมาตรฐาน

บางคนเห็นด้วยนะ แต่ไม่กล้าลงชื่อ เราก็บอกว่าคุณดีใจทำไม คุณต้องช่วยลงชื่อ เราก็ทำจนสำเร็จ คิดว่าเหตุผลที่สำเร็จอย่างหนึ่งเพราะเขากลัวเราปลุกระดม แต่เราก็อยู่ภายใต้กฎระเบียบของเขานะ แต่คืออย่าโง่ อยู่ในคุกต้องตามอง หูฟัง คอยจับพฤติกรรม และพี่ซีเองเป็นคนช่างสังเกตจะคอยเก็บข้อมูลข้าราชการคนไหนมีแผล เราจะเก็บไว้ อยู่ในนั้นก็จะเป็นที่พึ่งให้เพื่อนนักโทษได้

.

อ่านในหนังสือเรื่อง “มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ” พบว่ามีเรื่องเล่าพี่ซีอยู่หลายเรื่อง 

(หัวเราะ) เออ บางทีมีคนพม่า เขมรเข้ามาในคุกแล้วเขาไอ พี่ซีต้องกวาดคอให้พวกมัน ก็เอายาเขียว มะนาว เกลือ บีบมะนาวให้มันละลายแล้วคนให้เข้ากัน แล้วล้วงเข้าไปในคอเพื่อกวาดเอาเสมหะออกมา แต่พี่ซีต้องเป็นคนกวาดเองนะ เพราะว่ามันต้องกวาดไปให้ถึงต้นคอเพื่อไปให้ถึงเม็ดที่มันทำให้เราไอ วิชานี้ได้มาตั้งแต่พี่ซีใช้เลี้ยงลูก เพราะเราชอบยาเขียวที่มันสามารถไว้ใช้แก้ไข้ เราก็เอามาโมดิฟายรักษาคนอื่น เพราะเกลือมันฆ่าเชื้อ มะนาวก็ฆ่าเชื้อได้

.

.

เข้าใจว่าจดหมายของพี่โต้งมีส่วนพยุงความคิดจิตใจพี่ซีด้วย ช่วยเล่าถึงความสัมพันธ์นี้ได้ไหม

“มันไม่โรแมนติกหรอก”

เราเริ่มรู้จักกันตอนไปประชุมกับเพื่อนเสื้อแดง เราก็ฟังวิทยากรไปได้สักพัก ก็ขออนุญาตแสดงความเห็น “ขอโทษนะคะ คุณสู้มาตั้งแต่สมัยโน้นแล้ว ตอนนี้ยังไม่ชนะยังจะมาสอนแนวทางนี้อีกเหรอ” (ยิ้ม)

พี่โต้ง เขาก็อยู่ด้วย พอเลิกประชุม เขาก็มาขอเบอร์โทรเรา เราก็เป็นผู้หญิงคนเดียว ก็จะโทรมาทุกวัน ตอนนั้นเราก็ร่วมทำกิจกรรมด้วยกัน ตั้งแต่ทำเสื้อสกรีนคำว่า “Revolution” ลงทุนเอง ทำไปทำมาขาดทุน เพราะเอาไปแจกซะเยอะ (หัวเราะ)

ช่วงที่อยู่ด้วยกันพี่ซีเป็นคนทำกับข้าว พี่ซีเป็นคนจีนนะ ส่วนถ้าพี่โต้งเขาอยากกินอาหารอีสาน เขาก็จะทำเอง อย่างซุปมะเขือ ที่เมื่อก่อนเราจะปลูกต้นมะเขือกัน ก็ไปเก็บมาทำกัน ส่วนพี่ซีไม่ชอบกินข้าวเหนียว พี่ซีชอบกินก๋วยเตี๋ยว เขาก็จะนึ่งข้าวเหนียวกินกันไป พี่ก็กินของพี่ หรือถ้าเขาอยากทำลาบก้อย เขาก็จะทำให้สุกเผื่อพี่ด้วย เราก็อยู่ร่วมกันได้นะ

และเวลาเราทำกับข้าวก็จะเผื่อลูกน้องนะ พวกนี้รักพี่ซีจะตาย คือเราร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาเยอะ ลูกน้องบางคนเป็นหนี้ 18,000 บาท พี่ซีก็โอนให้เลย พี่โต้งก็จะบอกว่า “โอ เมียกูเป็นพระเวสสันดรกลับชาติมาเกิด” พี่ซีก็จะบ่นๆ บ่นๆ นะ แต่ก็บอกว่ามึงเอาบัญชีมา

.

ก็คือยังออกไปทำกิจกรรมด้วยกันเหมือนกับปี 2552-2553

ตอนที่มีการจัดกิจกรรมปฏิญญาหน้าศาล ที่อาจารย์หวาน (สุดา รังกุพันธ์) จัดกิจกรรมพี่ก็ไปกับพี่โต้ง ตอนลูกชายคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดข้าวให้พ่อที่ติดคุกอยู่พี่ก็ไป อาจารย์หวานก็จะจำได้ บอกว่าไปไหนก็เจอพี่ซีตลอด แม้กระทั่งตอนไม้หนึ่ง ก.กุนที ถูกยิง พี่ก็ขับรถรีบกลับมาจากต่างจังหวัด การทำงานเหมือนการทำรอเวลาปฏิวัติ

แต่มีความคิดที่ต่างกันอยู่บ้าง อย่างวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 ที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เป็นวันเดียวกันกับลูกชายพี่แขนหัก โรงเรียนโทรมาถามว่าคุณแม่จะมารับลูกไปใส่เฝือกเองหรือจะให้ทางโรงเรียนพาไปโรงพยาบาล พี่ซีก็ตอบแบบไม่คิดเลยว่า “จัดการไปเลย” เพราะเรากำลังจะไปสู้กดดันไม่ให้มีการยุบสภาหากเกิดอะไรขึ้น พี่โต้งต่างหากที่บอกเราว่า “ไปรับลูกเถอะ เราเป็นแม่” เลยได้พาลูกไปโรงพยาบาลวิภาวดี

แต่เมื่อเสร็จแล้วก็กลับมาติดตามคำตัดสินของศาลนะ ซึ่งกว่าจะรู้ผลก็บ่ายสามโมงกว่า ถ้ายกฟ้องก็จบภารกิจของเรา ซึ่งสุดท้ายก็ยกฟ้อง

ตอนไปชุมนุมพี่โต้งก็ออกไปกับพี่ตลอด บางทีเขาก็ประชดบอกว่า “ออกไปชุมนุมเลยนะ แล้วไม่ต้องกลับ” เราก็ออกไปจริงๆ เอากระติก หม้อหุงข้าวไป (หัวเราะ) บางทีออกไปหายไปเป็นอาทิตย์เลย เขาก็จะโทรไปตาม เข้าใจว่าพี่บ้าป่าว ส่วนพี่โต้งเป็นคนใจเย็น

.

คิดว่าจะไม่ได้เจอพี่โต้งอีกไหม

แต่ถ้าถามว่าคิดไหมว่าจะไม่ได้เจอพี่โต้งอีก ตอนนั้นใจหายตอนที่มองเขานั่งรถออกไป เราคิดว่าอุดมการณ์ต้องมาก่อนครอบครัว เรารู้อยู่แล้วว่าไม่เขาก็เรา มันไม่น่าเล่าให้ใครฟัง แต่มันเป็นเรื่องจริง

พี่โต้งเขียนจดหมายมา 5-6 ฉบับ แต่จดหมายฉบับสุดท้ายพี่ซีเอาออกมาไม่ได้ มันเป็นวันปีใหม่ เป็นปีที่พี่ย้ายเรือนจำจากจังหวัดตราดมาที่กรุงเทพฯ จดหมายฉบับนี้มันทิ้งห่างเป็นพิเศษ ก็คิดว่าเป็นอะไรหรือเปล่า เขาคงจะลำบากนะ

ปกติพี่จะเก็บไว้ทุกฉบับ เวลาส่งมาพวกนักโทษมันชอบเอาไปอ่าน บอกโอ้ยย พี่ซีซึ้งมากเลย เนื้อหาส่วนมากก็จะบรรยายให้เห็นภาพว่าในแต่ละวันเขาทำอะไร

ส่วนพี่ซีอยู่ในคุกก็แต่งกลอนด้วยนะ เริ่มต้นว่า “จากลูกกรงลาดยาวใครจะเห็น แสนลำเค็ญอย่างไรใจยังมั่น…” กลอนนี้ยาวมาก พี่ซีจะชอบบันทึกไว้ นอกจากกลอนก็จะบันทึกชีวิตในแต่ละวัน

แต่แปลกนะ ชีวิตในคุกที่เหมือนไม่มีอะไร แต่ในบันทึก 100 วัน ชีวิตเรามีเรื่องที่ไม่ซ้ำเรื่องเลย 7 ปีกว่าไม่มีวันไหนเหมือนกันซักวัน

.

.

3 คดีภายใต้เผด็จการทหาร: ศาลยุติธรรมตัดสินจำคุก 2 ยกฟ้อง 1

ภายหลังทหารประกาศกฎอัยการศึกในเวลาก่อนรุ่งเช้าวันที่ 20 พ.ค. 2557 “ซี” จันทนา ก็ถูกจับกุมที่ห้องพักใน อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ในเช้าวันที่ 21 พ.ค. 2557 และถูกดำเนินคดีในข้อหาครอบครองอาวุธถึง 3 คดี ได้แก่ คดีของศาลอาญา ศาลจังหวัดตราด และศาลจังหวัดลพบุรี โดยเฉพาะคดีที่ศาลจังหวัดตราด ซีถูกกล่าวหาในข้อหาร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน รวมทั้งเป็นอั้งยี่ด้วย โดยถูกเชื่อมโยงกับคดีก่อเหตุยิงเวที กปปส. จังหวัดตราด 

ในคดีของศาลอาญา ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาจำคุก 27 ปี 9 เดือน และปรับ 6,000 บาท จันทนาให้การเป็นประโยชน์ ศาลจึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 18 ปี 6 เดือน และปรับ 4,000 บาท แม้ว่าจันทนาจะต่อสู้ว่า อาวุธสงครามของกลางในคดีไม่ได้ถูกยึดในห้องพักของจำเลย และไม่มีการพิสูจน์ว่า มีลายนิ้วมือของเธออยู่ที่ของกลาง 

ขณะที่คดีของศาลจังหวัดตราดนั้น ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าจันทนามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีอย่างไร จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง

ส่วนคดีของศาลจังหวัดลพบุรี ซึ่งซีถูกซัดทอดจากอดีตทหารพรานที่ถูกจับกุมก่อนหน้าพร้อมอาวุธสงครามที่บ้านพักในจังหวัดลพบุรี ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง ระบุว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐาน มีเพียงคำซัดทอดของพยาน มีเหตุควรสงสัย จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กลับคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุก 4 ปี 24 เดือน

อย่างไรก็ดี ซีถูกคุมขังใน 4 เรือนจำ รวมเวลา 7 ปี 3 เดือน 10 วัน โดยหลังถูกจับกุมเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2557 เธอถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ก่อนถูกย้ายไปที่เรือนจำจังหวัดตราดในเดือนสิงหาคม 2560 ต่อมา หลังศาลจังหวัดตราดพิพากษายกฟ้องปลายปี 2561 ซีก็ถูกย้ายไปที่เรือนจำกลางลพบุรี กระทั่งก่อนพ้นโทษไม่นาน ซีถูกย้ายไปที่เรือนจำชั่วคราวแคน้อย จ.เพชรบูรณ์ เพื่อเข้าโครงการของกรมราชทัณฑ์และได้รับการปล่อยตัวที่นั่น ในวันที่ 30 ส.ค. 2564 

.

X