นับตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรค ‘เพื่อไทย’ ได้สำเร็จและเข้ารับการถวายสัตย์ปฏิญาณตน เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2566 ปัจจุบัน (3 เม.ย. 2567) ผ่านมาเกือบ 7 เดือนแล้วที่รัฐบาลชุดปัจจุบันซึ่งนำโดย ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ได้ทำหน้าที่บริหารประเทศ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการผลัดเปลี่ยนเป็นรัฐบาลนำโดยพรรคที่ขึ้นชื่อว่าเป็นพรรคการเมืองฝั่ง ‘ประชาธิปไตย’ มานานมากกว่า 2 ไตรมาสแล้ว แต่สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในมิติที่เกี่ยวกับคดีการเมืองยังคง ‘น่ากังวล’ เพราะยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง ‘เชิงบวก’ เกิดขึ้นอย่างที่ประชาชนหลายคนตั้งความหวังไว้
สถานการณ์ราว 7 เดือนที่ผ่านมา โดยภาพรวมยังคงมีประชาชนทยอยถูกคุมขังในคดีการเมืองทุกเดือน ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองเมื่อถูกคุมขังในเรือนจำแล้วก็ยากจะได้รับสิทธิประกันตัว ทั้งยังคงมีประชาชนถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แสดงความคิดเห็น และชุมนุมโดยสงบ ตลอดจนยังคงมีประชาชนถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคาม ไปหาถึงบ้านอย่างต่อเนื่อง
ช่วงของข้อมูลที่ใช้อ้างอิง (5 ก.ย. 2566 – 1 เม.ย. 2567)
ประชาชนยังคงถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตาม – คุกคาม : อย่างน้อย 144 กรณี
ภายใต้การบริหารของรัฐบาลเศรษฐา ยังคงมีรายงานจากประชาชนและนักกิจกรรมจากหลายพื้นที่ทั่วประเทศว่า ถูกเจ้าหน้าที่รัฐไปติดตามคุกคามในเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมือง จำนวนไม่น้อยกว่า 144 กรณี หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ยกว่า 20 กรณีต่อเดือน
การติดตาม – คุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าว มีหลายรูปแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการไปหาถึงบ้านพักหรือที่ทำงาน ติดตามสอดแนมระหว่างกิจกรรมหรือบริเวณที่พักอาศัย การเรียกมาพูดคุยและโทรติดต่อสอบถามข้อมูล หรือแม้กระทั่งการเข้าแทรกแซง รบกวน ปิดกั้นกิจกรรม
ตัวอย่างเช่น การที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นตำรวจนอกหรือในเครื่องแบบ หรือตำรวจสันติบาล เดินทางไปพูดคุย ถ่ายภาพ สอบถามข้อมูลส่วนตัวของประชาชนและนักกิจกรรมที่ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน เมื่อช่วงวันที่ 1-14 ก.พ. ที่ผ่านมา บางกรณีเจ้าหน้าที่รัฐเดินทางไปถึงบ้านพัก รวมถึงมีกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเจรจาไม่ให้จัดกิจกรรมในแคมเปญนี้ด้วย แม้ว่าการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรนั้นจะเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญก็ตาม (ย้อนดูประมวลสถานการณ์)
รวมถึงมีหลายกรณีที่ประชาชนและนักกิจกรรมถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามไปพบตัว ในช่วงที่จะมีสมาชิกราชวงศ์หรือบุคคลสำคัญทางการเมืองเดินทางไปในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อตรวจสอบความเคลื่อนไหว แม้แต่กรณีที่เป็นการเดินทางไปในพื้นที่ของ ‘เศรษฐา’ เองก็ตาม
ประชาชน – นักกิจกรรมยังทยอย ‘ถูกคุมขัง’ เกือบทุกสัปดาห์
สิทธิประกันยังเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะคดี ม.112
ตลอดเกือบ 7 เดือนที่ผ่านมา มีประชาชนและนักกิจกรรมทางการเมืองยังคงทยอย ‘ถูกคุมขัง’ ในเรือนจำจากคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง จำนวนอย่างน้อย 24 คน เฉลี่ยเดือนละประมาณ 3 – 4 คน ในจำนวนทั้งหมดนี้เป็นคดีที่มีข้อกล่าวหาหลักเป็นมาตรา 112 อย่างน้อย 17 คน
ในกลุ่มจำเลยหรือผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ที่ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวในตอนแรกและต้องเข้าเรือนจำนั้น พบว่าในช่วงรัฐบาลใหม่ ไม่มีกรณีที่ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งเกิดขึ้นเลย ส่วนคดีข้อหาอื่นมีเพียง 6 คนเท่านั้นที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวภายหลังจากถูกคุมขังไปเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ทำให้ผู้ต้องขังการเมืองส่วนใหญ่ถูกคุมขังยาวนาน แม้ว่าคดีความจะยังคงไม่สิ้นสุด บางคดีศาลยังไม่มีคำพิพากษา ส่วนใหญ่ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี รายงานตัวและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเสมอมาก็ตาม ขณะที่การไม่ได้ประกันตัว ทำให้บางคนก็ตัดสินใจไม่ต่อสู้คดีต่อในศาลชั้นสูงขึ้นไปอีกด้วย
การมีคนต้องถูกคุมขังอย่างต่อเนื่อง นั่นทำให้ถึงสิ้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา จำนวนผู้ต้องขังทางการเมืองทั้งระหว่างต่อสู้คดีและคดีสิ้นสุดแล้วพุ่งสูงถึง 45 คนแล้ว ซึ่งนับว่ามากที่สุดในรอบอย่างน้อย 4 ปี
สิทธิประกันตัวเป็นเรื่องยากเข็ญ แม้แต่กับกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็น ‘ประชาชนธรรมดา’ ไม่ได้มีอำนาจกำหนดวาระทางการเมืองหรือไม่ได้มีคนรู้จักมากมาย หรือแม้ว่าเหตุในคดีหลายคนมองว่าไม่ได้ร้ายแรงขนาดกับต้องถูกคุมขังระหว่างการต่อสู้คดีหรือถูกจำคุกด้วยโทษสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น อาทิ กรณี ‘วารุณี’ ประชาชน ถูกพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน คดีโพสต์รูปพระแก้วมรกตสวมชุดกระโปรง, กรณี ‘กัลยา’ อดีตพนักงานราชการ ถูกพิพากษาจำคุก 6 ปี คดีโพสต์เฟซบุ๊ก 4 ข้อความ, “แม็กกี้” พนักงานรับจ้าง ถูกพิพากษาจำคุก 25 ปี เพราะทวีต 18 ข้อความ ฯลฯ
นอกจากนี้ รัฐบาลชุดนี้ยังไม่เคยให้ความเห็น หรือมีท่าทีตอบสนองต่อข้อเรียกร้องและการประท้วงของผู้ต้องขังการเมืองในเรือนจำ ‘แม้แต่ครั้งเดียว’ โดยตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค. จนถึงปัจจุบันมีผู้ต้องขังการเมือง อย่างน้อย 4 คน อดอาหารประท้วง ได้แก่ บุ้ง ตะวัน แฟรงค์ และบัสบาส
ข้อเรียกร้องส่วนหนึ่งของพวกเขาทั้ง 4 คนเป็นการเรียกร้องโดยตรงต่อฝ่ายบริหาร ยกตัวอย่างเช่นข้อเรียกร้องคัดค้านว่า ‘ประเทศไทยไม่สมควรเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ’ เพราะจนถึงปัจจุบันรัฐบาลไทยยังคงไม่จัดการหรือแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนหลายอย่าง ซึ่งหนึ่งในนั้นปัญหาคดีการเมืองและผู้ต้องขังการเมือง
ส่วนข้อเรียกร้องอื่น ๆ อย่างการขอให้คืนสิทธิประกันตัว หรือปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แม้ว่าฝ่ายบริหารจะไม่ได้มีอำนาจในเรื่องนี้โดยตรง แต่รัฐบาลก็สามารถออกนโยบายหรือสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอคดีความที่ยังอยู่ในชั้นตำรวจและอัยการไว้ก่อน ในช่วงที่รอการพิจารณาเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม หรือไม่ยื่นขอฝากขังผู้ต้องหาคดีทางการเมืองต่อศาล หากว่าผู้ถูกกล่าวหาเดินทางไปตามนัดหมายทุกครั้ง ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี และไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน
คดีการเมืองยังคงมีเพิ่มขึ้น แจ้งข้อหาคดีชุมนุมคดีแรกในรัฐบาล คดี ม.112 ทะลุ 300 คดีแล้ว
ประชาชนยังคงถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง โดยพบว่าตลอดเกือบ 7 เดือน ในรัฐบาลเศรษฐามีคดีการเมืองเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 39 คดี เป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 15 คดี และในจำนวน 35 คดีนี้มีมูลเหตุเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลเศรษฐา จำนวน 10 คดี
นั่นทำให้นับตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบันมีคดีการเมืองสะสมอย่างน้อย 1,293 คดี โดยที่เป็นคดีที่ยังไม่สิ้นสุด 748 คดี ในจำนวนนี้เป็นยอดคดีมาตรา 112 ที่ทะลุเป็น 301 คดี เรียบร้อยแล้ว
ล่าสุดตำรวจยังมีการแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ต่อแกนนำของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) 2 คน จากกรณีการชุมนุม #พีมูฟทวงสิทธิ ซึ่งเป็นการชุมนุมติดตามประเด็นปัญหาที่ดินและทรัพยากรของเครือข่ายประชาชนที่ข้างทำเนียบรัฐบาล ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยแจ้งข้อหาแยกเป็น 4 คดี เท่าที่ทราบข้อมูล ชุดคดีนี้นับเป็นคดีจากการชุมนุมในช่วงรัฐบาลนี้คดีแรก หลังจากก่อนหน้านี้มีคดีที่เป็นการแจ้งข้อกล่าวหาย้อนหลังไปจากเหตุการชุมนุมที่เกิดก่อนการตั้งรัฐบาล
แม้ดูเหมือนว่าจะเป็นตัวเลขที่ไม่ได้มากเท่าไหร่เมื่อเทียบกับจำนวนคดีที่เกิดขึ้นก่อนหน้าในยุคสมัยของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ก็สะท้อนว่าสถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมืองยังคงไม่มีแนวโน้มจะยุติลงเสียทีเดียว ในรัฐบาลชุดนี้ ยังคงมีคดีการเมืองเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ พนักงานสอบสวนยังคงสั่งฟ้องคดีต่อพนักงานอัยการ ศาลยังคงอนุมัติออกหมายจับหรืออนุญาตให้ฝากขัง รวมทั้งไม่ให้ประกันตัวจำนวนไม่น้อย อัยการยังคงยื่นฟ้องคดีต่อศาล และคดีความในชั้นศาลยังคงดำเนินการพิจารณาคดีและทยอยมีคำพิพากษาตามลำดับ ภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังดำรงอยู่ต่อไป