วันที่ 26 พ.ย. 2567 ที่ศาลแขวงปทุมวัน อัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 (ปทุมวัน) นัดหมายประชาชนและนักกิจกรรมสั่งฟ้องคดีจากการชุมนุม #15ตุลาไปราชประสงค์ เมื่อปี 2563 ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีความร้ายแรง โดยแยกสั่งฟ้องเป็น 2 คดี ได้แก่ คดีของนักกิจกรรมที่ขึ้นปราศรัย และทีมขับรถเครื่องขยายเสียง
สำหรับการชุมนุมในช่วงเย็นวันที่ 15 ต.ค. 2563 ที่แยกราชประสงค์ เกิดขึ้นภายหลังการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมของ “คณะราษฎร 2563” ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลในช่วงเช้าตรู่ของวันดังกล่าว พร้อมกับที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมตัวแกนนำพร้อมกับผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการนัดหมายชุมนุมในช่วงเย็นตามมา
หลังการชุมนุมที่ราชประสงค์ มีการจับกุมผู้ชุมนุมและคนขับรถเครื่องขยายเสียง รวม 7 คน ไปยังกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 (บก.ตชด. ภาค 1) ก่อนทั้งหมดจะถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง และได้รับการประกันตัวออกมา จากนั้นยังมีการไล่แจ้งข้อกล่าวหาต่อแกนนำนักกิจกรรม ผู้ปราศรัย รวมถึงเยาวชนที่เข้าร่วมการชุมนุมด้วย ทำให้มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมที่ราชประสงค์รวมแล้ว 26 คน
หลังคดีอยู่ในชั้นอัยการกว่า 4 ปี เศษ พนักงานอัยการได้นัดหมายสั่งฟ้องคดีของผู้ต้องหาจำนวน 22 คน โดยก่อนหน้านี้มีกรณีของเยาวชน 3 ราย ที่ถูกฟ้องคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และหลังการต่อสู้คดีเกือบ 3 ปี ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้ว
ในการสั่งฟ้องในวันนี้ มีผู้ต้องหาเดินทางมาตามนัดจำนวน 15 คน และมีนักกิจกรรมอีก 3 คน ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำในคดีอื่น ทำให้รวมมีผู้ถูกฟ้องทั้งหมด 18 คน อัยการได้สั่งฟ้องแยกเป็น 2 คดี
.
.
คดีคนขับรถเครื่องเสียง 5 คน อ้างว่าร่วมแสดงสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว-ปรบมือ
ในส่วนแรก เป็นคดีของคนขับรถเครื่องขยายเสียงและทีมงานในการชุมนุม มีผู้ถูกฟ้องคดีรวม 5 คน โดยยังมีผู้ต้องหาอีก 1 ราย ที่ไม่เดินทางมาในการสั่งฟ้องคดี ทำให้อัยการยังไม่ได้สั่งฟ้อง
คดีมี ทิพย์ภรรณ มีแสงโสรจ เป็นพนักงานอัยการผู้เรียงฟ้องคดี โดยสรุปกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2563 อันเป็นวันเวลาที่นายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 ข้อ 1 กำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
จำเลยทั้งห้ากับพวก ได้ร่วมกันชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์ โดยนั่งอยู่ใกล้รถยนต์ซึ่งเป็นยานพาหนะติดตั้งเครื่องขยายเสียง เพื่อให้แกนนำการชุมนุมใช้รถเป็นเวทีปราศรัย และใช้เครื่องขยายเสียงพูดปราศรัย จำเลยทั้งห้ากับพวก ยังได้แสดงสัญลักษณ์โดยการชูสามนิ้ว และปรบมือ เมื่อผู้ปราศรัยขึ้นเวที และภายหลังยุติการชุมนุมแล้ว จำเลยทั้งห้ากับพวก ยังได้ร่วมกันเก็บอุปกรณ์ และพากันขึ้นรถยนต์คันดังกล่าวออกจากบริเวณที่ชุมนุม อันเป็นเข้าร่วมชุมนุมหรือมั่วสุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
หลังฟ้องคดี ศาลได้ให้ปล่อยตัวจำเลยทั้งห้าไป โดยให้สาบานตนว่าจะมาตามนัด พร้อมนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานต่อไปวันที่ 21 ม.ค. 2568 เวลา 9.00 น.
.
คดีผู้ร่วมปราศรัย 13 คน อ้างว่าปราศรัยต่อต้านรัฐบาล ก่อให้เกิดความไม่เรียบร้อย-วุ่นวาย
อีกคดีหนึ่ง อัยการได้ฟ้องกลุ่มผู้จัดกิจกรรม และผู้ที่ขึ้นปราศรัย รวมจำนวน 13 คน ได้แก่ กรกช แสงเย็นพันธ์, วสันต์ กล่ำถาวร, ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, ณัฐชนน พยัฆพันธ์, ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, อรรถพล บัวพัฒน์, กวินทร์ พิชญภิรมย์, เอกศิษฏ์ บัวทองเอี่ยม, สุวรรณา ตาลเหล็ก, ชลธิชา แจ้งเร็ว
นอกจากนั้นยังมี ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ, สมบัติ ทองย้อย เป็นผู้ถูกฟ้องสามคนที่ถูกคุมขังอยู่เรือนจำในคดีอื่นอยู่ ทำให้อัยการสั่งฟ้องโดยไม่ต้องนำตัวมาศาล
คดีนี้มี ทิพย์ภรรณ มีแสงโสรจ เป็นพนักงานอัยการผู้เรียงฟ้อง เช่นเดียวกัน โดยสรุปกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2563 จำเลยทั้งสิบสามกับพวกอีกหลายคน บางส่วนเป็นเยาวชนที่แยกดำเนินคดีต่างหากแล้ว ได้ร่วมกันชุมนุมหรือมั่วสุมกับประชาชนกลุ่มต่าง ๆ โดยจำเลยทั้งสิบสามมีส่วนร่วมขึ้นปราศรัยต่อต้านรัฐบาล กระทำการกีดขวางการจราจรบริเวณแยกราชประสงค์ จนทำให้ยวดยานพาหนะไม่สามารถสัญจรได้ตามปกติ และกระทบต่อการใช้ชีวิตโดยปกติสุขของประชาชนโดยทั่วไป ทั้งขัดขืนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่สั่งให้ยุติการชุมนุม อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่เรียบร้อยและความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยพื้นที่ชุมนุมอยู่ในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง
หลังฟ้องคดี ศาลได้ให้ปล่อยตัวจำเลยทั้งสิบไป โดยให้สาบานตนว่าจะมาตามนัด พร้อมนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานต่อไปวันที่ 20 ม.ค. 2568 เวลา 9.00 น. โดยในวันดังกล่าว จำเลยอีกสามคนที่ถูกคุมขังอยู่จะถูกนำตัวมาศาล เพื่อร่วมการพิจารณาคดีด้วย
.
อัยการสั่งฟ้อง แม้คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง ยกฟ้องเป็นส่วนใหญ่
สำหรับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงดังกล่าว เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 15 ต.ค. 2563 เวลา 04.00 น. ถึง 22 ต.ค. 2563 เวลา 12.00 น. โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อจัดการกับสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง การประกาศดังกล่าวเป็นการยกระดับความรุนแรงของการใช้กฎหมายขึ้นไปกว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในระดับปกติ และถูกตั้งคำถามต่อความชอบด้วยกฎหมายของการประกาศดังกล่าวอีกด้วย ช่วงดังกล่าวมีผู้ถูกดำเนินคดีไม่น้อยกว่า 72 คน ในจำนวน 35 คดี
แนวโน้มคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง ดังกล่าว ก่อนหน้านี้ ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องแทบทั้งหมด โดยจากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้องข้อหานี้ไปแล้ว 17 คดี และอัยการสั่งไม่ฟ้องอีก 1 คดี โดยมีเพียงคดีเดียวที่ศาลพิพากษาว่ามีความผิด ได้แก่ คดี #ม็อบ19ตุลา2563 ชุมนุมที่แยกเกษตรศาสตร์
ขณะเดียวกันหากพิจารณาสถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมในช่วงปี 2563-65 โดยภาพรวม จากจำนวนอย่างน้อย 673 คดี พบว่าคดีที่ต่อสู้ส่วนใหญ่ ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องและอัยการสั่งไม่ฟ้อง คือมีไม่น้อยกว่า 102 คดีที่ศาลยกฟ้อง และอัยการสั่งไม่ฟ้องอย่างน้อย 70 คดี
ก่อนหน้านี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการแขวงปทุมวัน ขอให้พิจารณามีคำสั่งชะลอการสั่งฟ้องคดี หรือให้ใช้ดุลพินิจในการสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากปัจจุบันยังอยู่ในช่วงที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาประเด็นการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ซึ่งข้อเสนอหนึ่งของกรรมาธิการที่สภาตั้งขึ้นนั้น คือขอให้อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีหากเห็นว่าจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน ในระหว่างที่ยังไม่มีการตรากฎหมายนิรโทษกรรม
เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2567 ยังได้ยื่นหนังสือดังกล่าวต่ออัยการสูงสุดเพื่อให้ทบทวนคดีจากการชุมนุมทั้งหมดด้วย แต่อัยการยังคงยืนยันการสั่งฟ้องคดี
.