อัยการปทุมวันเตรียมสั่งฟ้อง 6 คดีชุมนุม #15ตุลาไปราชประสงค์ แม้คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง แทบทั้งหมดศาลยกฟ้อง

ในวันที่ 26 พ.ย. 2567 นี้ เวลา 10.00 น. ที่ศาลแขวงปทุมวัน อัยการคดีศาลแขวงปทุมวันนัดหมายเตรียมสั่งฟ้องคดีจำนวน 6 คดี จากการชุมนุม #15ตุลาไปราชประสงค์ เมื่อปี 2563 ซึ่งมีประชาชนและนักกิจกรรมถูกกล่าวหาจำนวน 22 คน ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีความร้ายแรง แม้คดีข้อหานี้จากการชุมนุมปีดังกล่าวแทบทั้งหมดที่ขึ้นสู่ศาลนั้น ศาลจะมีคำพิพากษายกฟ้อง

สำหรับการชุมนุมในช่วงเย็นวันที่ 15 ต.ค. 2563 ที่แยกราชประสงค์ เกิดขึ้นภายหลังการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมของ “คณะราษฎร 2563” ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลในช่วงเช้าตรู่ของวันดังกล่าว พร้อมกับที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมตัวแกนนำพร้อมกับผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการนัดหมายชุมนุมในช่วงเย็นตามมา

หลังการชุมนุมที่ราชประสงค์ มีการจับกุมผู้ชุมนุมและคนขับรถเครื่องขยายเสียง รวม 7 คน ไปยังกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 (บก.ตชด. ภาค 1) ก่อนทั้งหมดจะถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง และได้รับการประกันตัวออกมา จากนั้นยังมีการไล่แจ้งข้อกล่าวหาต่อแกนนำนักกิจกรรม ผู้ปราศรัย รวมถึงเยาวชนที่เข้าร่วมการชุมนุมด้วย ทำให้มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมที่ราชประสงค์รวมแล้ว 26 คน

หลังคดีอยู่ในชั้นอัยการกว่า 4 ปี เศษ พนักงานอัยการฝ่ายคดีศาลแขวงปทุมวัน ได้นัดหมายเตรียมที่จะสั่งฟ้องคดีของผู้ต้องหาจำนวน 22 คน โดยก่อนหน้านี้มีกรณีของเยาวชน 3 ราย ที่ถูกฟ้องคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และหลังการต่อสู้คดีเกือบ 3 ปี ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้ว

.

การนัดสั่งฟ้องของอัยการดังกล่าว เกิดขึ้นท่ามกลางแนวโน้มคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง ที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องแทบทั้งหมด โดยจากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้องข้อหานี้ไปแล้ว 17 คดี และอัยการสั่งไม่ฟ้องอีก 1 คดี โดยมีเพียงคดีเดียวที่ศาลพิพากษาว่ามีความผิด ได้แก่ คดี #ม็อบ19ตุลา2563 ชุมนุมที่แยกเกษตรศาสตร์

เมื่อเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา อัยการคดีศาลแขวงปทุมวันยังได้มีคำสั่งฟ้องคดีของ 8 นักกิจกรรม จากการชุมนุม #16ตุลาไปแยกปทุมวัน ที่สี่แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 ต่อศาลแขวงปทุมวัน ซึ่งถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง เช่นกัน

ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 15 ต.ค. 2563 เวลา 04.00 น. ถึง 22 ต.ค. 2563 เวลา 12.00 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อจัดการกับสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง การประกาศดังกล่าวเป็นการยกระดับความรุนแรงของการใช้กฎหมายขึ้นไปกว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในระดับปกติ และถูกตั้งคำถามต่อความชอบด้วยกฎหมายของการประกาศดังกล่าวอีกด้วย ช่วงดังกล่าวมีผู้ถูกดำเนินคดีไม่น้อยกว่า 72 คน

ขณะเดียวกันหากพิจารณาสถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมในช่วงปี 2563-65 โดยภาพรวม จากจำนวนอย่างน้อย 673 คดี พบว่าคดีที่ต่อสู้ส่วนใหญ่ ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องและอัยการสั่งไม่ฟ้อง คือมีไม่น้อยกว่า 102 คดีที่ศาลยกฟ้อง และอัยการสั่งไม่ฟ้องอย่างน้อย 70 คดี 

ก่อนหน้านี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการแขวงปทุมวัน ขอให้พิจารณามีคำสั่งชะลอการสั่งฟ้องคดี หรือให้ใช้ดุลพินิจในการสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากปัจจุบันยังอยู่ในช่วงที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาประเด็นการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ซึ่งข้อเสนอหนึ่งของกรรมาธิการที่สภาตั้งขึ้นนั้น คือขอให้อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีหากเห็นว่าจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน ในระหว่างที่ยังไม่มีการตรากฎหมายนิรโทษกรรม 

เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2567 ยังได้ยื่นหนังสือดังกล่าวต่ออัยการสูงสุดเพื่อให้ทบทวนคดีจากการชุมนุมทั้งหมดด้วย แต่อัยการยังคงยืนยันการสั่งฟ้องคดี

.

X