25 ก.ย. 2566 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางอ่านคำพิพากษายกฟ้องในคดีของนักกิจกรรมเยาวชน 2 ราย ได้แก่ “มิน” ลภนพัฒน์ และ “ภูมิ” (สงวนชื่อสกุล) กรณีร่วมชุมนุมและปราศรัยที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2563 หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม #ราษฎร63 ที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล ทั้งหมดถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในช่วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง
การสืบพยานคดีนี้เสร็จสิ้นไปตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 โดยจำเลยทั้งสองต่อสู้ยืนยันว่า พวกเขาออกใช้เสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็น โดยร่วมกล่าวปราศรัยหรือชวนผู้ชุมนุมร้องเพลงเท่านั้น ไม่ได้มีพฤติการณ์เป็นแกนนำหรือผู้จัดการชุมนุม รวมถึงไม่ได้มีการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือความรุนแรงแต่อย่างใด เป็นการชุมนุมโดยสงบและสันติตามรัฐธรรมนูญ
ช่วงเช้าที่ห้องพิจารณา 12 “ภูมิ-มิน” ทยอยมารอที่ห้องพิจารณา รวมถึงที่ปรึกษากฎหมายและญาติของจำเลยเลยทั้งสอง ก่อนเวลา 10.10 น. ศาลออกนั่งพิจารณา และอ่านคำพิพากษา
โดยสรุปเห็นว่าจากพยานหลักฐานของโจทก์ปรากฏภาพของจำเลยทั้งสองเข้าร่วมการชุมนุม ขณะที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และมีการออกข้อกำหนดห้ามไม่ให้มีการชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทางด้านจำเลยทั้งสองให้การรับว่าต่างอยู่ในที่ชุมนุม ดังนั้นคำให้การของจำเลยจึงเจือสมกับพยานหลักฐานของโจทก์ ว่าจำเลยทั้งสองร่วมการชุมนุมดังกล่าวจริง
พิเคราะห์จากพยานหลักฐาน จำเลยทั้งสองเข้าร่วมชุมนุมโดยสงบและเดินทางกลับ ไม่ได้ก่อการจลาจลหรือทำให้เกิดความวุ่นวาย ไม่ได้ชุมนุมยืดเยื้อต่อเนื่องยาวนาน แม้ทั้งสองจะมีการขึ้นพูดปราศรัย แต่เป็นการปราศรัยเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการเมืองโดยทั่วไป ไม่ได้ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
นอกจากนี้กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความว่า มีผู้ชุมนุมบางส่วนขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อพิจารณาแล้วพบว่า มีผู้ชุมนุมจำนวนประมาณ 10 คนเท่านั้นที่ก่อความวุ่นวาย เทียบกับกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ที่มีเป็นจำนวนกว่าพันคน ไม่อาจนำพฤติการณ์ของคนกลุ่มน้อยมาเหมารวมว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบเรียบร้อยได้ อีกทั้งจำเลยทั้งสองก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว
อีกทั้ง ยังไม่ได้มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จากการชุมนุมดังกล่าว และจำเลยทั้งสองก็ไม่ได้ติดเชื้อโรคโควิด-19 แต่อย่างใด การชุมนุมยังอยู่ในขอบเขตการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ ตามมาตรา 44 พิพากษายกฟ้อง
เหตุของคดีนี้สืบเนื่องมาจากการนัดหมายชุมนุม #15ตุลาไปราชประสงค์ ช่วงเย็นวันที่ 15 ต.ค. 2563 ที่แยกราชประสงค์ ภายหลังจากการเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมแกนนำบริเวณทำเนียบรัฐบาลเมื่อเช้ามืดของวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อจัดการกับสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ในช่วงดังกล่าว แต่การนัดหมายชุมนุมยังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่
สำหรับการชุมนุมที่ราชประสงค์ดังกล่าว ทำให้มีผู้ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวน 26 คน โดยแยกเป็นผู้ถูกจับกุมภายหลังการชุมนุม จำนวน 7 คน และถูกออกหมายจับ/หมายเรียกภายหลัง 21 คน โดยในกรณีหลังนี้รวมถึงแกนนำเยาวชนสามคนด้วย โดยคดีของผู้ใหญ่ที่เหลือทั้งหมดยังอยู่ในชั้นสอบสวน
.
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
แจ้งข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 3 แกนนำนักเรียน ปราศรัยชุมนุม #15ตุลาไปราชประสงค์
3 แกนนำนักเรียนยื่นหนังสือขออัยการสั่งไม่ฟ้อง ชี้ละเมิดกติกาสากล-อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
.