“ผิดหวังแต่ไม่หมดหวัง”: เรื่องราวของ ‘ภูมิ’ เยาวชนผู้ต่อสู้เพื่อการศึกษา-ปชต. ก่อนเผชิญกระบวนการยุติธรรม ‘ไม่เฟรนด์ลี่’ เกือบ 3 ปี

ซีรีส์: Youngมีหวัง

On the occasion of National Youth Day, let a million flowers bloom.
เนื่องในโอกาสวันเยาวชนแห่งชาติ ขอให้ดอกไม้นับล้านเบ่งบาน

20 ก.ย. 2566

ท่ามกลางสถานการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยตลอดช่วงระยะเวลา 3 – 4 ปีที่ผ่านมา การชุมนุมของเยาวชนเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบการศึกษาถือเป็นอีกหนึ่งองคาพยพที่มีความสำคัญในขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างยิ่งยวด มีกลุ่มกิจกรรมของเยาวชน นักเรียน และนักศึกษาเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เยาวชนปลดแอก - Free YOUTH, นักเรียนเลว, กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท, นักเรียนไท – Free Student และอีกหลายกลุ่ม 

ในห้วงเวลานั้น เมล็ดพันธุ์ที่เรียกว่า ‘เยาวชนคนรุ่นใหม่’ ถูกหว่านลงไปในทั่วทุกหัวระแหง งอกงาม และเติบโต  กลายเป็นทุ่งดอกไม้นับล้านพร้อมการเบ่งบานของประชาธิปไตย

ท่ามกลางหมู่มวลดอกไม้หลากสีสัน ‘ภูมิ’ เยาวชนวัย 16 ปี ขณะออกมาเคลื่อนไหว เป็นหนึ่งคนที่ถูกจดจำอยู่ในใจผู้คนมากที่สุด เมื่อในการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เขาได้ปรากฏตัวออกมาพร้อม ‘หมุดคณะราษฎร 2563’ ซึ่งถูกฝังลง ณ ใจกลางท้องสนามหลวง

การออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ทำให้ภูมิตกเป็นจำเลยในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถึง 2 คดี โดยคดีแรกจากการปราศรัยในการชุมนุม #15ตุลาไปราชประสงค์ และคดีที่สองจากการปราศรัยใน #ม็อบ24มีนา #เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร ซึ่งคดีแรกจะมีคำพิพากษาในวันที่ 25 ก.ย. ที่จะถึงนี้

.

จุดเริ่มต้นการเคลื่อนไหว

“ให้แนะนำตัวหรือครับ” ภูมิทวนคำถามอีกครั้งเมื่อการสัมภาษณ์ผ่านช่องทางออนไลน์เป็นไปอย่างไม่ราบรื่นนักจากสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ติดขัด นอกจากเสียงที่ขาดๆ หายๆ แล้ว ภาพเคลื่อนไหวของภูมิที่ปรากฏบนหน้าจอก็กระตุกเป็นจังหวะ ทำให้การสนทนาในครั้งนี้ดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป 

“ชื่อเล่น ภูมิ ปีนี้อายุ 19 ปีครับ” ภูมิเริ่มต้นแนะนำตัวเอง “ตอนนี้ทำงาน และกำลังเรียนเพื่อสอบเทียบอยู่ครับ” 

ภูมิเริ่มออกมาเคลื่อนไหวในทางการเมืองตั้งแต่ปี 2562 ขณะอายุประมาณ 16 ปี โดยในขณะนั้น เขานิยามตนเองว่าเป็นนักกิจกรรมคนหนึ่ง และอยู่ในสังกัด ‘กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท’ “ตอนนั้นผมเคลื่อนไหวเรื่องการศึกษา เพราะยังเป็นนักเรียนอยู่ ก็เลยทำเรื่องนี้” 

“ตอนนั้นรู้สึกว่าระบบการศึกษาไทยมันแย่ ทั้งเรื่องชุดนักเรียน เรื่องหลักสูตรการสอน ครูที่ไม่ค่อยดี จำนวนครูน้อย” ภูมิเล่าให้ฟังถึงแรงผลักดันที่ทำให้เขาตัดสินใจว่าต้องออกมาเรียกร้องเพื่อให้มีการปฏิรูประบบการศึกษา “เป็นนักเรียน ม.ปลาย รู้สึกว่าเป็นปัญหาที่ใกล้ตัวที่สุด ก็เลยอยากทำ”

.

ต่อสู้ เรียนรู้ และเติบโต

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สภาวะของการเป็นเด็กและเยาวชนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ถูกกดทับด้วยความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจากครอบครัว โรงเรียน หรือสังคม การออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมและแสดงออกของเด็กและเยาวชนจึงมีความยากลำบากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า ทำให้เราแทบจินตนาการไม่ออกว่าภูมิผ่านสถานการณ์เหล่านั้นมาได้อย่างไร

“นั่นสิ ผมผ่านมาได้ยังไง” ภูมิกล่าวติดตลก “รู้สึกว่าพอเราเจอปัญหาก็ต้องเดินต่อไป เช่น ครูไม่ชอบ มีปัญหากับครู เราก็ต้องพยายามคุยกับเขา หรือผ่านมันไปให้ได้”

“ส่วนปัญหาเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เราก็ต้องหาวิธีจัดการให้ได้” ภูมิเล่าว่า ประมาณ 2 ปีก่อน บางทีเขาก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามถ่ายรูป ซึ่งสิ่งที่พอจะทำได้ในตอนนั้น คือ การพยายามหลีกเลี่ยง และเก็บหลักฐานว่ามีการคุกคามเกิดขึ้น

การต้องเผชิญหน้ากับปัญหามากมายที่ถาโถมเข้ามา ทำให้ภูมิได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่าง “เช่น ต้องออกมาทำงานหาเงินช่วงอายุ 17 ปี ข้อดีก็เหมือนเราทำงานก่อน ได้ประสบการณ์ก่อน”

อีกหนึ่งสิ่งที่ได้เรียนรู้ คือวิธีการจัดการกับความเครียด “ทำม็อบก็เครียด ออกมาเคลื่อนไหวก็เครียด โดนคดีก็เครียด ก็รู้สึกว่าตัวเองจัดการความเครียดได้ดีขึ้น” 

“3 ปีที่ผ่านมา เวลาเจอเรื่องแย่ๆ เราก็จัดการได้” ภูมิทบทวน “เมื่อก่อนตอนอยู่ ม.ปลาย เวลาทำการบ้านก็รู้สึกว่ายากจังเลย การเรียนยากจังเลย แต่ปัจจุบันรู้สึกว่าการเรียนก็ง่ายดีนี่ เพราะการทำงานมันยากกว่า”

การได้ใช้ชีวิตที่ ‘ยาก’ ทำให้เติบโตขึ้น “การออกมาเคลื่อนไหวก็ต้องเจอกับสภาพแวดล้อมและสังคมที่เปลี่ยนไป ช่วงเวลาที่ยุ่งยากทำให้เราเติบโตมากขึ้น เจอเรื่องต่างๆ ต้องทำงานหาเงิน หรือโดนคดี ทำให้เรามีช่วงเวลาที่ลำบาก ก็เติบโตมากขึ้นจากช่วงเวลาเหล่านี้” 

.

ชัยชนะเล็กๆ ในกรุงเทพฯ

จากการเคลื่อนไหวมาตลอด 3 – 4 ปีที่ผ่านมา ภูมิเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นในโรงเรียน และเขาก็ดีใจกับชัยชนะเล็กๆ ที่เกิดขึ้น

“ทุกวันนี้ ผมเดินผ่านโรงเรียน อาจจะเป็นแค่โรงเรียนดังๆ ในกรุงเทพฯ แต่เห็นนักเรียนสามารถย้อมผมได้ ผมก็รู้สึกสำเร็จแล้ว การแต่งกายในโรงเรียนก็ไม่ได้ดูรัดกุมเท่าเมื่อก่อน รู้สึกว่าเปลี่ยนแปลงไปเยอะ” 

“เรื่องปฏิรูปการศึกษา ผมก็รู้สึกชนะเล็กๆ ในกรุงเทพฯ  ทั้งเรื่องชุดนักเรียนที่มีการผ่อนปรนมากขึ้น เรื่องการทำสีผม หรือครูรุ่นใหม่กล้าออกมาพูดมากขึ้น ก็เป็นสิ่งที่ดี”

เมื่อถูกถามถึงความเปลี่ยนแปลงหรือชัยชนะของประชาชนในภาพใหญ่ ภูมิให้ความเห็นว่า ผลจากการออกมาเคลื่อนไหวของประชาชนเมื่อปี 2563 มีส่วนที่ทำให้พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยกลายเป็นพรรคอันดับ 1 และอันดับ 2 ในปัจจุบัน แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด อย่างไรก็ตามเขายังเห็นว่าการเมืองในภาพใหญ่ยังขยับไปไม่เท่าที่คาดหวัง

“การเมืองไทยในภาพใหญ่ไม่ค่อยไปไหนอยู่ดี หมายถึงว่า ประเทศไทยก็ยังเหมือนเดิม แม้จะรู้สึกว่าเราเปลี่ยนแปลงไป ฝ่ายประชาธิปไตยชนะ” 

“จริงๆ เราก็ไม่ได้รู้สึกแย่ รู้สึกว่ามันก็เป็นเรื่องปกติในการเคลื่อนไหวแค่ 3 ปี การเปลี่ยนแปลงได้เท่านี้ถือว่าดีที่สุดแล้ว” ภูมิทบทวนก่อนกล่าวเสริม “แต่ช่วงม็อบเราก็เชื่อนะ ว่าเคลื่อนไหวมาตั้ง 3 ปี เราจะสามารถทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงไปได้ ให้มันจบที่รุ่นเรา”

.

แผนในอนาคต

“ผมอยากทำงานที่ช่วยคนได้” ภูมิกล่าวถึงเป้าหมายในอนาคต “คิดว่าอีก 5 ปี 10 ปี ผมคงจะเรียนจบ แล้วก็คงทำงานประจำ แต่ก็ตั้งเป้าหมายว่า อยากทำงานที่ช่วยคนได้ในระยะยาว หรืออาชีพที่คนทำน้อย”

ส่วนในบทบาทด้านการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะในประเด็นการศึกษา ภูมิเล่าว่า เขายังไม่ได้วางแผนไว้ชัดเจน เนื่องจากต้องคำนึงถึงความพร้อมและเงื่อนไขในอนาคตประกอบกัน

“ผมมองเป็นเรื่องของอนาคตมากกว่า ต้องดูว่า ในตอนนั้นเราจะมีแรงบันดาลใจอยากเคลื่อนไหวเรื่องไหน หรือถ้ายุ่งมากก็อาจเคลื่อนไหวแค่ในโซเชียลมีเดีย”

“ผมรู้สึกว่าคนเรามีช่วงเวลาที่ชีวิตแตกต่างกัน บางคนอาจไม่ว่างเลยก็ได้ บางคนอาจว่างมากๆ มีเวลาในการทำเรื่องต่างๆ บางคนอาจไม่มีเงินด้วย” ภูมิเล็งเห็นว่า ความพร้อมและทรัพยากรที่แตกต่างย่อมส่งผลต่อความสามารถในการออกมาเคลื่อนไหวของแต่ละคน 

“ดูเงื่อนไขของอนาคตก่อนดีกว่า ว่าตอนนั้นเรามีสภาพทางการเงินดีไหม มีเวลาไหม ถ้าเงื่อนไขทุกอย่างโอเค แล้วเรายังอยากทำอยู่ ก็คงจะออกมาเคลื่อนไหว”

.

กระบวนการยุติธรรมที่ไม่เฟรนด์ลี่

การถูกดำเนินคดีจากการออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมและแสดงออกทำให้ภูมิต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะให้เป็นมิตรกับเด็กและเยาวชน (Child Friendly  Justice) เพื่อให้บรรลุหลักประโยชน์สูงสุดของเด็ก (The best interests of the child) ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคี แต่การจะพิจารณาว่ากระบวนการของไทยเป็นไปตามหลักการดังกล่าวจริงหรือไม่นั้น อาจต้องให้เด็กและเยาวชนเป็นผู้สะท้อนผลลัพธ์ออกมา

“ผมรู้สึกว่าแนวคิดของศาลเยาวชนฯ ในไทยมันแปลก” ภูมิเริ่มกลั่นกรองคำพูดเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ที่ต้องวนเวียนขึ้นโรงขึ้นศาลมานานเกือบ 3 ปี “เป็นแนวคิดแบบคนดีปกครองคนเลว ทำเหมือนกับคนที่โดนคดีเป็นคนเลว แล้วต้องให้คนดีมาจัดการ เช่น ให้ศาลมายุ่มย่ามกับชีวิตเรา ให้ไปเข้าค่ายธรรมะ ให้ไปเข้าค่ายทหาร ให้ไปอบรมอะไรต่างๆ ตามหลักสูตร”

“ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหา เช่น หากมีเด็กคนนึงเข้ามาในศาล โดนคดีความรุนแรงในครอบครัว แล้วศาลให้ไปเข้าค่ายธรรมะ ความรุนแรงหรือความชอกช้ำในจิตใจก็ไม่ได้หายไป มันไม่ใช่ทางออกที่แก้ไขกันได้” 

ภูมิให้ความเห็นว่า ศาลอาจมีความปรารถนาดี อยากให้เด็กและเยาวชนมีชีวิตที่ดีขึ้น มีงานทำ หรือได้ปรับพฤติกรรมที่ไม่ดี แต่ความหวังดีดังกล่าวอาจยังไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสมสำหรับการแก้ปัญหาของเด็กและเยาวชน

กระบวนการยุติธรรมของเด็กและเยาวชนที่ใช้เวลาดำเนินการนานจนเกินไปเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ภูมิเล็งเห็น และสิ่งนี้ก็ไม่เป็นประโยชน์กับเด็กและเยาวชนเอาเสียเลย

“ผมรู้สึกว่าคดีมันนานเกินไป เวลา 1 ปีของเยาวชน กับเวลา 1 ปีของผู้ใหญ่มันไม่เท่ากัน” ภูมิอธิบาย ให้ฟังว่า เวลา 1 ปีสำหรับผู้ใหญ่อาจไม่ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก แต่เวลา 1 ปีของเด็กและเยาวชน หรือในกรณีของเขาที่นานเกือบ 3 ปี อาจเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญในชีวิต เช่น การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ หรือการเข้ามหาลัย 

“คดีเด็กและเยาวชนควรจบเร็วกว่านี้ เพื่อให้เวลาเด็กไปเติบโตของเขาเอง” 

ภูมิยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า กระบวนการยุติธรรมยิ่งควรต้องดำเนินไปอย่างรวดเร็วในคดีการเมือง เนื่องจากแนวคิดทางการเมืองเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้ บุคลากรและบรรยากาศในการพิจารณาคดีของศาลเยาวชนฯ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภูมิรู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมยังเป็นมิตรกับเด็กและเยาวชนไม่มากพอ

“ในคดีการเมือง ผมรู้สึกว่าอัยการกับผู้พิพากษาดูเป็นคู่ตรงข้ามกับเรา อาจจะเป็นมุมมองของเราฝ่ายเดียวก็ได้ แต่ผมมองว่ามันไม่ได้เป็นมิตร” ภูมิยังเล่าว่า เขาเคยโดนเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาของศาลเยาวชนฯ บอกให้ไปตัดเล็บ ตัดผม และเอาสีเล็บออกด้วย

“การดำเนินคดีของศาล ถ้าเขาจะจัดการให้เป็นมิตรกับเด็กก็ไม่ควรใช้ระบบขึ้นนั่งบนบัลลังก์ ผมคิดว่าถ้าการสืบพยานคดีเยาวชนเป็นแค่การนั่งโต๊ะเดียวกัน ศาลนั่งอยู่หัวโต๊ะ เยาวชนนั่งอยู่ปลายโต๊ะ ก็คงดูเฟรนด์ลี่กว่า” บรรยากาศในห้องพิจารณาคดีก็ส่งผลต่อความหวาดกลัวของเด็กและเยาวชนด้วยเช่นกัน 

.

ผิดหวังแต่ไม่หมดหวัง

“ผิดหวังแต่ไม่หมดหวัง” คือนิยามสั้นๆ ที่ภูมิให้ไว้เมื่อถูกถามว่า ‘ยังมีหวัง’ กับประเทศนี้อยู่หรือไม่

“ผมผิดหวังที่ปัจจุบันการเมืองไทยยังมีปัญหา และผิดหวังที่เราเลือกตั้งชนะมาแล้ว ฝ่ายประชาธิปไตยชนะแล้ว แต่เราก็กลับมาวนลูปเดิมอีกแล้ว เหมือนหนังเรื่องเดิมฉายซ้ำ แค่ต่างสถานการณ์กัน” ภูมิกล่าวถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2566 ซึ่ง ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ไม่ผ่าน เนื่องจากไม่ได้รับการเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภา แม้พรรคร่วมรัฐบาลในขณะนั้นจะรวมเสียง สส.ได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรแล้วก็ตาม

“ผมคิดว่าเราอาจต้องผิดหวังอีกเป็นพันครั้ง ต้องผิดหวังกันอีกเยอะ” ภูมิกล่าวย้ำเตือน “ผิดหวังได้ เศร้าได้ ช่างแม่งการเมืองก็ได้ แต่อย่าหมดหวัง”  

“สังคมที่ผมหวังคือสังคมที่สวัสดิการดี สังคมที่ปลอดภัยต่อความเสี่ยง” ภูมิเล่าถึงสังคมที่ตนเองวาดหวังไว้ และลำดับต่อไปคือการจินตนาการว่า หากได้อยู่ในประเทศหรือสังคมอย่างที่หวังไว้ ตอนนี้เขาจะทำอะไรอยู่ และชีวิตจะแตกต่างไปจากเดิมหรือไม่ 

“ผมคงจะได้ทำอะไรมากขึ้น เพราะเมื่อเรามีความปลอดภัยก็จะกล้าทำอะไรมากขึ้น ไม่ต้องใช้ชีวิตแบบเพลย์เซฟ กล้าทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น”

“สุขภาพก็คงดีขึ้นด้วย ไม่ต้องทำงานหนัก และได้อยู่ในประเทศที่อากาศสะอาดกว่านี้” ภูมิเสริม

.

.

“การที่เรายังเด็กก็เป็นข้อดีนะ เรามีช่วงเวลาได้ลองผิดลองถูก ในอนาคตถ้าเราลองมองย้อนกลับมาดูอดีต บางคนอาจเสียใจก็ได้ บางคนอาจดีใจก็ได้ อยากบอกว่า อย่าโทษตัวเองในอดีต เพราะเหตุการณ์ทุกอย่างผ่านมาแล้ว ถ้าเจอเรื่องลำบากในชีวิต ก็อยากให้คิดว่าช่วงเวลาที่ลำบากทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น ทำให้เรากล้าทำเรื่องต่างๆ มากขึ้น อยากให้ทุกคนยังมีความหวัง แม้ในชีวิตนี้เราอาจต้องผิดหวังอีกสักพันครั้งหมื่นครั้ง แต่ก็ลุกขึ้นมาสู้กันต่อ ไม่ใช่แค่ในเรื่องการเมือง ในเรื่องการดำรงชีวิตด้วย

ภูมิทิ้งท้าย

.

*หมายเหตุ สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2566

.

อ่านเรื่องอื่นๆ ใน ซีรีส์: YOUNG มีหวัง

>>“เอีย” เด็กแสบมาดทะเล้นขวัญใจชาวม็อบวัย 12 ปี กับ 2 คดีการเมืองที่มีโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี

>>‘อันนา นักเรียนเลว’ เยาวชนหญิง วัย 16 ปี กับการตระหนักรู้ทางสิทธิและเสรีภาพของนักเรียนไทย

>>‘พิงค์’ เด็กหญิงวัย 13 ปี ผู้เป็นภัยความมั่นคง กับความฝันที่อยากเห็นคนเท่ากันในสังคมไทย

>> การต่อสู้เพื่อบอกว่าเราไม่ได้โดดเดี่ยว: คุยกับ “มีมี่” ณิชกานต์

>> คุยกับ “จัน” เยาวชนชาวปกาเกอะญอ กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น: การต่อสู้เพื่อพาทุกชีวิตกลับบ้าน

>> รู้จัก “หยก” เด็กหญิงผู้ถูกดำเนินคดี 112 ที่อายุน้อยที่สุด กับการตระหนักรู้ว่าประเทศไม่ได้เป็นอย่างในนิทานที่ถูกเล่า

>> “นี่คือยุคสมัยที่เราสร้างการเปลี่ยนแปลง”: คุยกับ ‘เบลล์’ เยาวชนพัทลุงผู้ต่อสู้คดี ม.112

X