‘อันนา นักเรียนเลว’ เยาวชนหญิง วัย 16 ปี กับการตระหนักรู้ทางสิทธิและเสรีภาพของนักเรียนไทย

ซีรีส์: YOUNG มีหวัง

เด็กสาวผมชมพูกับชุดกระโปรงไปรเวทในสีเดียวกัน เดินทางมาถึงสำนักงานของศูนย์ทนายฯ ก่อนเวลาที่นัดหมาย เธอทักทายอย่างสุภาพ  “อันนาเองค่ะ พอดีว่าเรียนพิเศษเลิกเร็ว หนูเลยตรงมาที่นี่เลย” เธอแนะนำตัวเช่นนั้นพร้อมกับใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส 

การบอกเล่าเรื่องราวเกิดขึ้นในช่วงเวลาของการปิดเทอม อันนาบอกว่ามีกิจกรรมหลายอย่างที่กำลังวางแผนและดำเนินการภายใต้ชื่อกลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ โดยความตั้งใจสูงสุดคืออยากจะช่วยเหลือนักเรียนไทยให้มีสิทธิและเสรีภาพอย่าง ‘เท่าเทียม’ อาทิเช่น เรื่องการแต่งกาย กฎระเบียบทรงผม ปัญหาหลักสูตรการเรียนการสอน ตลอดจนปัญหาการคุกคามนักเรียนที่แสดงออกทางการเมือง ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้

เธอกล่าวว่าในปัจจุบัน นักเรียนไทยไม่ได้ถูกมองเป็นประชาชนทั่วๆ ไปคนหนึ่งในสังคม ผู้ใหญ่ยังมองพวกเขาว่าเป็นแค่ ‘เด็ก’ ที่ไม่ได้มีสิทธิในการตัดสินใจเทียบเท่ากับกลุ่มคนที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ซึ่งอันที่จริงเธอมองว่า ‘เด็ก’ ก็คือประชาชนธรรมดาคนหนึ่งในสังคมเฉกเช่นกับ ‘ผู้ใหญ่’ ทุกคนที่ควรได้รับสิทธิอย่างพลเมืองคนหนึ่ง

แต่กว่าจะมาเป็น ‘อันนา นักเรียนเลว’ ในวันนี้ ก่อนที่กระแสความสนใจเรื่องสังคมการเมืองจะกระพือในกลุ่มของเยาวชนคนรุ่นใหม่ เธอไม่เคยสนใจจะอยู่ในแวดวงนักกิจกรรมเสียด้วยซ้ำ 

อย่างไรก็ตามจุดเริ่มต้นของการตระหนักทางสิทธิมนุษยชนของเยาวชนหญิง อายุ 16 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 คนนี้ ก็ไม่ได้มีอะไรที่ซับซ้อน หรือเรื่องลึกลับแอบแฝง ไปมากกว่าการอยากเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเพื่อนๆ เยาวชนที่เป็นประชาชนธรรมดา

.

Phase 1:  ทวิตเตอร์ ประเทศกูมี และการเลือกตั้ง

“เมื่อตอนประมาณ ม.1 เราเล่นทวิตเตอร์ แล้วมันมีเรื่องการเมืองเยอะมากเราก็สงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้น” เธอเล่าถึงตอนช่วงการเลือกตั้งครั้งแรกหลังการรัฐประหาร ในปี 2562 

“ตอนนั้นในคาบเรียน ครูให้เราวาดรูปอะไรก็ได้ แต่อย่าเกี่ยวกับการเมือง” เธอบอก 

“แล้วตอนนั้นคดีเสือดำก็ดังมากเลย เราก็อยากวาดอะไรที่เกี่ยวกับการเมืองบ้าง แต่ครูก็ไม่พอใจ” อันนาพูดพร้อมกับใบหน้าที่เต็มไปด้วยความเคลือบแคลงใจถึงเรื่องราวในวันนั้น

“ไม่นานเพลง ‘ประเทศกูมี’ ก็ปล่อยออกมา แล้วมันก็เป็นดราม่า ผู้ใหญ่ก็ไม่อยากให้เราฟัง แต่เราก็ฟังนะคะ แต่พอฟังแล้วก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมต้องห้ามกันด้วย” 

ดูเหมือนว่าในช่วงที่อันนาเริ่มจะหันมาสนใจการเมืองจะเป็นช่วงการเลือกตั้งในปี 2562 เธอบอกเล่าถึงความอลม่านทางสังคม ผ่านสายตาเด็กมัธยมต้นคนหนึ่ง อันนาสัมผัสได้ถึงความวุ่นวายที่มาพร้อม กับความรู้สึกมีหวังของบ้านเมืองนี้ 

“เรารู้สึกมีหวังมากเลย ตอนที่เขาประกาศจะเลือกตั้งใหม่” เธอเล่าว่าในปี 2562 เป็นยุคของการเมืองจริงๆ และเป็นบรรยากาศแห่งประชาธิปไตยครั้งแรกในชีวิตที่เธอได้สัมผัส

“แต่กลายเป็นการเลือกตั้งครั้งนั้น ไม่ได้ช่วยอะไร เราก็ยังได้แต่คนเดิมๆ กลับมา” ราวกับว่าแสงแห่งความหวังดับวูบไปในทันใด เมื่อผลการเลือกตั้งไม่ได้นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงใดๆ

อย่างไรก็ตาม อันนาบอกว่าตัวเองในตอนนั้นยังคงมุ่งมั่นกับการเตรียมสอบเข้ามัธยมปลาย ทำให้ยังไม่ได้มีความสนใจจะออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เธอยังเป็นเพียงเยาวชนคนหนึ่งที่ติดตามข่าวสารทั่วๆ ไปเท่านั้น อาจเรียกได้ว่าตัวเธอคนในวันวาน ยังอยู่วงนอกของงานด้านกิจกรรมทางการเมืองอยู่ก็ย่อมได้

.

Phase 2:  โบว์ขาวหน้ากระทรวงฯ กับการปราศรัยครั้งแรก

ในขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มทวีความตึงเครียดและเข้มข้นมากขึ้น กลุ่มนักเรียนไทยก็เริ่มตระหนักถึงการมีบทบาททางการเมืองของตัวเองมากขึ้นในเรื่องสิทธินักเรียน

“ก่อนจะมาเป็นนักเรียนเลว เราเคยเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทมาก่อน” กลุ่มดังกล่าวจัดตั้งโดย เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ในช่วงปี 2556 ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนมัธยมที่มีจุดประสงค์ต้องการปฏิรูปการศึกษาไทย และมีนักเรียนรุ่นต่อๆ มา ดำเนินกิจกรรมอยู่เรื่อยมา

“อยู่เป็นสมาชิกในปี 2563 ค่ะ หลังจากนั้น ช่วงเดือน 7 ในปีเดียวกันเราก็ได้มีโอกาสไปม็อบเยอะ ไปช่วยงานนักเรียนเลวเรื่อยๆ พอรู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นสมาชิกของเขาแล้ว” อันนาอธิบายถึงประวัติการสังกัดกลุ่มกิจกรรมของเธอโดยย่อ

หลังจากช่วยงานนักกิจกรรมอยู่เบื้องหลังมาโดยตลอด ก็ถึงเวลาที่เธอตัดสินใจเปลี่ยนบทบาทของตัวเอง โดยอันนาได้เล่าย้อนกลับไปในม็อบครั้งแรกที่เธอได้มีบทบาทสำคัญอย่างการเป็นผู้ปราศรัยต่อหน้าเพื่อนนักเรียนนับร้อยคนที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ 

“จริงๆ เราเป็นคนเรียนหนัก อ่านหนังสือเยอะ เคยโดนที่บ้านบ่นเรื่องการกลับบ้านดึกเพราะไปเรียนพิเศษด้วย แต่เราก็อธิบายให้เขาฟังนะว่ามันไม่ใช่ความผิดเราที่ต้องกลับดึกแบบนี้” เธอกล่าวถึงภาระทางการศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นนอกจากในรั้วโรงเรียน รวมถึงการโทษเหยื่อที่ถูกคุกคามทางเพศ

“แล้วสิ่งที่เขาตอบกลับมาหลังจากการที่เรากลับบ้านดึก คือคิดว่าเราไม่รักนวลสงวนตัว ไม่ระมัดระวังตัว และยังถามว่าที่เราอธิบายเรื่องหลักการโทษเหยื่อ และความเท่าเทียมทางเพศให้ฟัง นี่คืออยากโดนข่มขืนเหรอ” อันนามองเห็นปัญหาการศึกษาที่แค่ในโรงเรียนมันไม่เคยเพียงพอ และนั่นก็ไม่ใช่ความผิดของเด็ก คนที่ควรจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้คือ ‘ผู้ใหญ่’ ในกระทรวงและโรงเรียนเสียมากกว่า  

“เราปราศรัยครั้งแรกในม็อบ #เลิกเรียนไปกระทรวง ในตอนนั้นหัวข้อที่เราพูด มันเกี่ยวกับกฎระเบียบต่างๆ ปัญหาหลักสูตรการเรียนการสอน และเรื่องเครื่องแต่งกายที่กดทับนักเรียนหญิง”

“เรื่องการบังคับให้นักเรียนหญิงใส่เสื้อและกางเกงซับใน การกำหนดความยาวของกระโปรง และสอนให้ระมัดระวังตัวเรื่องการถูกคุกคาม เราคิดว่าเรื่องพวกนี้มันเกินไป ทำไมไม่สอนให้ผู้ชายรู้จักการเคารพ หรือไม่ไปละเมิดคนอื่นบ้าง” นี่เป็นประเด็นที่เธอได้ขึ้นพูดปราศรัยในม็อบดังกล่าว 

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมทางการเมือง เพื่อเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพให้กับนักเรียนไทยดูจะเป็นหนทางที่ยาวไกลเสียเหลือเกิน เมื่อ ‘ผู้ใหญ่’ หลายฝ่ายเริ่มไม่พอใจกับการกระทำของเธอ

.

Phase 3: Study with me or Study with สืบ

การเปิดหน้าสู้กับความอยุติธรรมในสังคมนี้ ชีวิตความเป็นส่วนตัวคือราคาที่นักกิจกรรมหลายคนต้องสูญเสียไป อันนาก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนดังกล่าว ตั้งแต่เดินหน้าทำกิจกรรมเรียกร้องสิทธิให้เพื่อนนักเรียน เธอบอกว่าทุกวันนี้ทั้งครอบครัวและตัวเธอเองไม่เคยมีเวลาส่วนตัวได้อย่างเต็มที่เลย

“เราก็แค่นักเรียนธรรมดาๆ ที่ชอบไปอ่านหนังสือตามร้านอาหาร ร้านกาแฟ แต่ทุกวันนี้กลายเป็นว่าเราต้องมานั่งอ่านหนังสือกับใครก็ไม่รู้” อันนาเล่าอย่างขบขัน แต่ในใจเธอก็รู้ดีว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันกำลังทวีความหวาดระแวงให้กับชีวิตธรรมดาๆ ของเด็กสาวคนหนึ่ง

“เราเคยทำ Studygram มาก่อน มันคือการอัดคลิปตัวเองนั่งอ่านหนังสือแบบเรียลไทม์ที่เรียกว่า Study With me แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็น Study with สืบ ไปแล้ว” เธออธิบายถึงงานอดิเรกที่ทำเป็นประจำ การบันทึกวิดีโอในขณะที่อ่านหนังสือเป็นเหมือนการแชร์ไลฟ์สไตล์การอ่านของตัวเองให้กับอื่นได้ดู เป็นความสุขเล็กๆ อย่างหนึ่งที่เธอชื่นชอบ

“ทุกวันนี้ไปไหนต้องแชร์โลเคชั่นให้เพื่อนตลอดค่ะ เรารู้สึกไม่ปลอดภัยเลย ไปไหนมาไหนคนเดียวก็ต้องระแวงไปหมด” อันนากล่าวพร้อมกับโชว์วิดีโอที่เคยไปนั่งอ่านหนังสือในร้านอาหาร โดยชี้ให้เห็นว่าข้างหลังเธอนั้นมีนอกเครื่องแบบที่กำลังนั่งเฝ้าเธออ่านหนังสืออยู่

Phase 4 : Watch List สีแดง

ความเป็นไปได้ที่เยาวชนคนหนึ่งจะไปติดอยู่ในรายชื่อ ‘ภัยความมั่นคงของรัฐ’ มีอยู่กี่เปอร์เซ็นต์ 

นี่เป็นเรื่องที่อันนาเองก็สงสัยและตกใจอยู่พอสมควร เมื่อรู้ว่ามีชื่อตัวเองติดอยู่หนึ่งในบุคคลเฝ้าระวังพิเศษของรัฐบาล

“กินแมคครั้งเดียว ได้ยกระดับเป็นบุคคลเฝ้าระวังพิเศษ มันก็เขินเหมือนกันนะคะ”  เธอหัวเราะ ก่อนจะเริ่มอธิบายถึงเหตุการณ์ต่างๆ จนทำให้ถูกยกระดับไปเป็นบุคคลสำคัญของทางการ

เรื่องขบวนเสด็จวันที่ 15 เม.ย. 65 อันที่จริงในวันนั้นเรากับเพื่อนไปนั่งกินข้าวกันเฉยๆ นะคะ” เธอเกริ่นถึงเหตุการณ์ในร้านแมคโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งอันนาและกลุ่มเพื่อนได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจราว 20 – 30 นาย รวมถึงเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เข้าควบคุมตัวในขณะที่กำลังนั่งรับประทานอาหารกันอยู่ เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวถูกคาดการณ์ไว้ว่าจะมีขบวนเสด็จผ่าน

“ทุกวันนี้เวลาไปกินแมค ต้องมานั่งไล่เช็กว่าวันนี้จะมีขบวนเสด็จผ่านมั้ย อย่างวันจักรีเราก็ไปนั่งกินแมคแถวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คือมีตำรวจมาพูดกับเราด้วยนะว่า ขออย่าให้เรานั่งติดกระจก เขาพูดเลยว่า ขอหน่อยเถอะ วันนี้เวรพี่ ช่วยเขาหน่อย แต่ถ้าวันอื่นไม่ใช่เวรพี่ น้องอยากทำไรก็ทำกัน” อันนาเล่าติดตลกถึงความแปลกประหลาดในบทสนทนาที่ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ซึ่งคอยติดตามเธอ 

“ส่วนการจัดการของ พม. แย่มาก เขาควรปกป้องเด็ก ไม่ใช่มาจัดการกับเด็กที่เป็นนักกิจกรรมเยาวชนแบบนี้ คือเขามองว่าเรามีปัญหา ทั้งๆ ที่เราควรถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเราบริสุทธิ์ แต่เขาก็จับพวกเราไปโดยที่ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาอะไรเลย”

“ในความเป็นจริง เขาต้องทำตามกฎหมายนะคะ โดยเฉพาะ มาตรา 44 ใน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ที่ระบุไว้ชัดเจนเลยว่าถ้าพบเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด ต้องให้ดำเนินการสอบหาข้อเท็จจริงก่อน แต่วันนั้นคือเขาไม่ทำอะไรแบบนั้นเลย” เธอเปิดหน้ากฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และอ่านออกเสียงอย่างชัดถ้อยชัดคำ 

“วันนั้นเอารถตู้มารับเราด้วยนะคะ แล้วตลกมากเลย ท้ายรถมีป้ายสติ๊กเกอร์ติดว่า ‘ยุติความรุนแรงกับเด็กและสตรี’ แต่คือเขาอุ้มเพื่อนเราเป็นลูกมะม่วงเลย ยุติยังไงวะ” อันนาหัวเราะ

“แต่วันนั้น เขาก็พูดกับพวกเราดีนะคะ ว่าขอเชิญตัว แต่มันกลายเป็นการเชิญตัวแบบขาลอย เท้าลอยอะค่ะ”

.

ภาพเหตุการณ์ตำรวจควบคุมตัวและอุ้มเพื่อนของอันนาออกจากพื้นที่ขบวนเสด็จ (ภาพจากแหล่งข่าว)

“อีกเรื่องสำหรับกระทรวง พม. คุณเป็นองค์กรที่สมาทานการหวนกลับคืนสู่ครอบครัวมากเกินไป ไม่ใช่ครอบครัวทุกครอบครัวจะเป็นเซฟโซนให้เด็ก คุณควรเป็น Shelter ให้กับเด็กแบบเรา แต่นี่คุณไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย” อันนาร่ายยาวถึงประสบการณ์ที่เธอได้รับจากเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เธอแสดงความผิดหวังต่อองค์กรของภาครัฐอย่างชัดเจน สำหรับเธอแล้วไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือเจ้าหน้าที่พิทักษ์เด็กล้วนแล้วแต่ไม่เคยเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับนักกิจกรรมเพื่อเยาวชนแบบเธอเลย

.

Phase 5 : การคุกคามที่ยังไม่มีจุดสิ้นสุด

“ทุกวันนี้ เราต้องบอกกับตำรวจตลอดว่าเราทำอะไรบ้าง อย่างวันนี้มีเรียนพิเศษ คือเขาก็มาตามถึงที่เลย มันกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว” เธอกล่าวด้วยสีหน้าเรียบเฉย ราวกับว่าตั้งแต่มีชื่อติดอยู่ในรายชื่อบุคคลเฝ้าระวังพิเศษ นอกเครื่องแบบที่ติตตามชีวิตประจำวันของเธอ มันคือ ‘เรื่องปกติ’ ที่ต้องเผชิญในทุกวัน  

อันนา ถือได้ว่าเป็นนักกิจกรรมเยาวชนที่ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบติดตามตัวมากที่สุดคนหนึ่งในปีนี้ เธอเล่าว่าในแต่ละวัน ตัวเองต้องพบเจอเจ้าหน้าที่ไม่ซ้ำหน้าและไม่ทราบสังกัด เพียงเพราะออกไปเคลื่อนไหวทำกิจกรรมเรียกร้องสิทธิให้กับนักเรียน

ตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. – 15 พ.ค. 2565 มีการคุกคามอันนาจากเจ้าหน้าที่รัฐจากหลายสังกัด โดยเข้าติดตามคุกคามเธอและครอบครัวถึงที่พักอาศัยด้วย โดยการกระทำของเจ้าหน้าที่ เธอระบุว่ามีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการจับกุมแบบกะทันหันโดยไม่มีหมายใดๆ ตามกฎหมาย, การสอดส่องเพื่อถามไถ่ถึงการเคลื่อนไหวในแต่ละวัน ตลอดจนการเลี้ยงอาหารและไปรับไปส่งตามสถานที่ต่างๆ เพื่อจะได้จับตาอย่างใกล้ชิด 

.

Phase 6 : สังคมไทยที่ใฝ่ฝัน ความสนใจด้านอื่น และบทเพลงที่ชื่นชอบ

“ถ้าการเมืองดีแล้ว เลิกเรียนเราก็คงไปเที่ยวกับเพื่อน ไม่ใช่แบบทุกวันนี้ที่เลิกเรียนแล้วต้องรีบวิ่งไปแจ้งการชุมนุม เลิกเรียนแล้วต้องไปติดต่อสัมภาษณ์นู่นนี่ กลายเป็นเราจำชีวิตปกติธรรมดาไม่ได้แล้ว ชีวิตปกติคืออะไร ถ้ามีวันนั้นจริงๆ เราก็ยังนึกไม่ออกเหมือนกันค่ะ”  

“ส่วนตัวแล้วเป็นคนชอบอ่านหนังสือ เขียนนิยายนะคะ เราชอบบันทึกเรื่องราวชีวิตประจำของตัวเอง แล้วชอบเล่าให้คนอื่นฟัง หรือไม่ก็ทำงานอะไรที่มัน Service คนอื่น เราชอบงานบริการสังคมมากๆ เลย เรารู้สึกว่าเวลามีปัญหาหรือมีความทุกข์ เราไม่อยากให้ใครต้องไปนั่งทนกับมัน เราอยากช่วยเขาแก้ปัญหาต่างๆ ได้” พอพูดถึงความสนใจด้านอื่น แววตาเธอดูมีความตื่นเต้นขึ้นมาทันที

ก่อนจะร่ำลากันไป อันนาได้พูดถึงบทเพลงและละครเวทีที่กลุ่มนักเรียนเลวได้จัดทำขึ้น เพื่อสะท้อนปัญหาความล้มเหลวของการศึกษาไทย ในละครเวที ‘Matillda the Musical’ ที่อยากให้ทุกคนไม่ว่าอยู่ในวัยไหน ได้ทดลองฟังมัน

.

Playlist แนะนำของ อันนา เยาวรุ่นนักเรียนเลว

นักเรียนเลว – ระบบการศึกษา (OST. Matilda the Musical)
นักเรียนเลว – เปลี่ยนแปลง (OST. Matilda the Musical)
นักเรียนเลว – ปฏิวัติการศึกษาไทย (OST. Matilda the Musical)
นักเรียนเลว – หากมีวันนั้น (OST. Matilda the Musical)

อ่านเรื่องอื่นๆ ใน ซีรีส์: YOUNG มีหวัง

>> “เอีย” เด็กแสบมาดทะเล้นขวัญใจชาวม็อบวัย 12 ปี กับ 2 คดีการเมืองที่มีโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี

>> ‘พิงค์’ เด็กหญิงวัย 13 ปี ผู้เป็นภัยความมั่นคง กับความฝันที่อยากเห็นคนเท่ากันในสังคมไทย

X