‘พิงค์’ เด็กหญิงวัย 13 ปี ผู้เป็นภัยความมั่นคง กับความฝันที่อยากเห็นคนเท่ากันในสังคมไทย

ซีรีส์: YOUNG มีหวัง

ท่ามกลางแสงแดดยามบ่ายช่วงปลายเดือนเมษา เด็กผู้หญิงตัวเล็กสวมเสื้อสีเหลืองสดตัดกับกระโปรงยีนส์สีดำสนิทคนหนึ่งกึ่งเดินกึ่งวิ่งอยู่บนนถนนเส้นเล็กๆ ในซอยที่แยกย่อยมาจากถนนสายใหญ่อันพลุกพล่านย่านลาดพร้าว หากมองดูจากที่ไกลๆ หลายคนคงจะคิดว่าเธอคงจะกำลังเดินเล่นด้วยความร่าเริงตามวัย หากแต่ในความเป็นจริง เด็กหญิงคนนี้กำลังเร่งฝีเท้าเพื่อหลบเลี่ยงการถูกติดตามจากกลุ่มเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ

“พิงค์” เด็กหญิงวัย 13 ปี นักกิจกรรมผู้ขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองอันแหลมคมที่เด็กที่สุด ให้โอกาสศูนย์ทนายฯ ได้นัดพบเพื่อพูดคุยกันถึงประเด็นต่างๆ ทั้งเรื่องการทำกิจกรรม การถูกติดตามและคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนเรื่องชีวิตและความฝันของเด็กวัย 13 ปีที่ได้เติบโตขึ้นในบรรยากาศทางการเมืองอันครุกรุ่น

“สวัสดีค่ะพี่ มาช้าเพราะโดนตามค่ะ” 

พิงค์กล่าวทักทายสั้นๆ พร้อมบอกถึงอุปสรรคที่ทำให้เกิดความล่าช้าขึ้นในการเดินทาง

หลังจากได้สอบถามถึงเหตุการณ์ การโดนตาม รวมถึงแลกเปลี่ยนความเห็นต่อเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว บทสนทนากับนักกิจกรรมเด็กวัย 13 ก็ได้เริ่มต้นขึ้น

เส้นทางการทำกิจกรรมทางการเมืองของเด็กหญิงวัย 13

“เอาจริงก็จำไม่ได้แล้วว่าออกมาครั้งแรกเมื่อไร แต่ถ้านึกเร็วๆ ก็ม็อบ18กรกฎาค่ะ”

พิงค์กล่าวถึงการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 ที่กลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือ Free Youth ได้จัดการชุมนุมใหญ่บนท้องถนนรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งนับว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่นำไปสู่การเคลื่อนไหวยกระดับของกลุ่มต่างๆ ที่ไม่พอใจรัฐบาลประยุทธ์ โดย ณ ขณะนั้น มีข้อเรียกร้องสำคัญ 3 ประการ คือ 1.ยุบสภา 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ 3. หยุดคุกคามประชาชน

จากนั้นเธอก็เล่าต่อว่า ในตอนนั้นเธอยังไม่เข้าใจว่าม็อบคืออะไร แต่เมื่อไปถึงก็เห็นว่ามีคนออกมากันเยอะมาก และได้เห็นป้ายหนึ่งที่เขียนข้อความว่า พูดถึงไม่ได้ก็ไม่ต้องมี ก็ยิ่งเกิดความสงสัยเพราะยังไม่รู้ความหมาย

“ตอนนั้นมีเซฟรุ้ง เซฟกลุ่มแกนนำ เราก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมพวกเขาต้องโดนจับ จนถึงวันที่มีม็อบที่ธรรมศาสตร์ แล้วเขาประกาศ 10 ข้อเรียกร้อง ก็เข้าใจ และเราก็เห็นด้วยกับเขามากๆ คิดว่าการที่กษัตริย์ลงมาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นผลดีต่อสถาบัน” เด็กหญิงวัย 13 กล่าว

จากบทสนทนาทำให้รู้ว่าพิงค์เริ่มออกมาร่วมการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ช่วงอายุ 11 – 12 ปี โดยเธอเล่าว่าการออกมาทำให้ได้รู้จักกับพี่ๆ นักกิจกรรมคนอื่น เช่น รุ้ง และตะวัน ซึ่ง ณ วันที่ให้สัมภาษณ์ พิ้งค์กล่าวว่าเธอเป็นห่วงตะวันที่กำลังอดอาหารอยู่ในเรือนจำเป็นอย่างมาก

ปัจจุบัน พิงค์กล่าวว่าเธอสนใจประเด็นเรื่อง คนเท่ากัน เป็นอย่างมาก และนี่คือแนวคิดสำคัญที่ทำให้เธอเลือกแสดงออกในระหว่างที่มีขบวนเสด็จ 

“เราก็คน คุณก็คนเท่ากัน มันไม่มีใครสูงไปกว่าใครหรอก คุณเองก็ยังเป็นคนอยู่เหมือนกับประชาชนทุกคน แล้วก็ขบวนเสด็จมันสร้างความเดือดร้อนจริงๆ ไม่ว่าจะเดินทาง กินข้าว ใช้ชีวิต มันเดือดร้อนกันไปหมด อันที่จริงเราควรจะอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง อะไรที่ไม่ถูกมันก็ควรถูกวิจารณ์กันอย่างตรงไปตรงมาได้ อยากให้เขาลดงบประมาณบางส่วนที่เยอะมากๆ แล้วนำไปเพิ่มให้ในส่วนอื่นบ้าง ทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล ไปเพิ่มตรงนั้นดีกว่า

15 เม.ย. 65 ณ ร้านแมคโดนัลด์ ถนนราชดำเนิน

“วันนั้นไปกินโจ๊ก แล้วก็โดนจับ” 

พิงค์กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เธอและเพื่อนๆ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่กองร้อยน้ำหวาน รวมถึงเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จำนวนรวมกว่า 20 – 30 คน เข้าควบคุมตัวขณะกำลังนั่งรับประทานอาหารอยู่ภายในร้านแมคโดนัลด์ สาขาถนนราชดำเนิน 

“พวกเขาอุ้มตัวเราไป แล้วก็ถือโจ๊กที่ยังกินไม่หมดตามมาด้วยนะ แถมยังมีการยื่นโทรศัพท์ถามเราอีกว่า น้องอยากสั่งแมคมั้ย (หัวเราะ) วันนั้นเอาจริงๆ ก็ไม่รู้เลยว่าเขาจะพาไปที่ไหน เขายึดโทรศัพท์ เอากองร้อยน้ำหวานมาอุ้ม มาฉุดเรา”

พิงค์เล่าว่า ในวันดังกล่าวเธอและเพื่อนๆ ถูกเจ้าหน้าที่พาตัวออกจากแมคโดนัลด์ด้วยวิธีการ อุ้ม จนเท้าของพวกเธอลอยขึ้นจากพื้น จากนั้นก็ถูกพาตัวไปควบคุมไว้ที่ พม. ต่อด้วยสโมสรตำรวจ กระทั่งเวลาประมาณ 18.00 น. จึงได้รับการปล่อยตัว 

สำหรับสาเหตุนั้นก็คาดได้ว่าเกี่ยวเนื่องกับการที่ในวันนั้นจะมีขบวนเสด็จของ ร. 10 ผ่านทางถนนราชดำเนิน จึงได้มีการเข้าควบคุมตัวผู้อยู่ในรายชื่อเฝ้าระวัง ซึ่งพิงค์ได้แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ไว้ว่า

ทำไมต้องทำเหมือนเราเป็นนักโทษ คือเราไปนั่งกินข้าว เราไม่ได้ทำอะไรผิด

ถูกติดตาม คุกคาม และกลายเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ที่เป็นภัยต่อความมั่นคง

พิงค์เป็นหนึ่งในบรรดานักกิจกรรมรุ่นเยาว์ที่ถูกติดตามสอดแนมและคุกคามอย่างหนักหน่วงจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยนับตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา พิงค์ได้ติดต่อมายังศูนย์ทนายฯ เป็นระยะๆ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวการถูกคุกคาม ไม่ว่าจะเป็นการตามไปเฝ้าถึงที่พัก สถานที่ต่างๆ ที่เดินทางไป หรือแม้กระทั่งที่หน้าโรงเรียน 

“เราเคยได้ยินมาว่ามันมีแอปพลิเคชั่นชื่อ เพกาซัส ที่เค้าเอาไว้ใช้ติดตามสอดแนมนักกิจกรรม แล้วเราก็ได้ยินมาว่าการใช้ระบบครั้งหนึ่งเสียเงินเยอะมาก เป็นล้านๆ ก็ไม่รู้ว่าเราถูกติดตามไหมนะ” พิงค์กล่าว

แม้จะถูกติดตามอย่างหนักหน่วง แต่เด็กหญิงวัย 13 ก็กล่าวถึงปฏิบัติการคุกคามของเจ้าหน้าที่ไว้อย่างน่าสนใจว่า 

“คือเราไม่รู้นะถ้าเขาไม่มีรูปเรากลับไปรายงานมันจะทำให้เขาเดือดร้อนมั้ย จริงๆ เราก็สงสารเขาเหมือนกันนะ แต่แบบถ่ายแล้วส่งมาให้ดูด้วยได้มั้ย อันที่จริงเขามีข้อมูลเราทุกอย่าง แผนผังที่ได้มาว่าเราติดอยู่ในบุคคลเฝ้าระวัง มันก็ชัดเจนแล้วว่าเขารู้เรื่องของเราทั้งหมด หรือบางทีถ้าจะโทรมาถามว่าเราออกไปทำกิจกรรมที่ไหนอีกมั้ย ทำกิจกรรมอะไร ทำยังไง ก็อยากให้พูดดีๆ เช่น ผกก. สน.สำราญราษฏร์ น่ะ เขาก็พูดดีกว่าที่อื่นนะ”

ส่วนในเรื่องของผลกระทบจากการถูกติดตามนั้น พิงค์กล่าวว่า

เราอยากใช้ชีวิตปกติ ที่ไม่ต้องมาระแวงว่าวันนี้จะมีใครตามมา” เธอยังกล่าวอีกด้วยว่า “ไม่คิดเหมือนกันว่า วันหนึ่งเราจะต้องเป็นคนที่มาโดนอุ้ม ก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะต้องมาติดอยู่ในรายชื่อภัยความมั่นคงพิเศษ เพียงแค่เราอยากสื่อสารแบบตรงไปตรงมาแค่นั้น

แม้ในวันที่พิงค์มาให้สัมภาษณ์ ก็ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบติดตามตั้งแต่ออกจากที่พักกระทั่งถึงสถานที่นัดพบ พิงค์กล่าวถึงสถานการณ์ในตอนนั้นว่า

“ช่วงนี้หนักค่ะ มีมาเฝ้าที่บ้านด้วย หลายครั้งก็รู้สึกว่าเขาขับรถตามมา มีเหมือนกันนะที่เราเข้าไปเคาะกระจก เพราะเราอยากคุยด้วย อยากถามว่ามาจากที่ไหน และมาเพื่ออะไร”

พิงค์พบว่า เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับเธอเพียงคนเดียว “น่าแปลกนะ เพราะมีเพื่อนหลายคนที่จะไปรับเสด็จเหมือนกัน แต่ไม่มีใครโดนเลย มีแค่เราที่โดน ทุกวันนี้ไปไหนต้องแชร์โลเคชั่นให้เพื่อนตลอด กลายเป็นตอนนี้เราระแวงการไปไหนมาไหนคนเดียว

ผลจากการที่พิงค์ออกมาทำกิจกรรม ทำให้ชื่อของเธอไปปรากฏอยู่ในรายชื่อบุคคลเฝ้าระวังของทางภาครัฐ เนื่องจากเป็นภัยต่อความมั่นคง ซึ่งนับได้ว่าเป็นบุคคลที่มีอายุน้อยที่สุดในฐานะภัยความมั่นคงของรัฐ

“เขินมาก แบบว่าเราเนี่ยนะเป็นภัยความมั่นคงของรัฐ” พิงค์กล่าวติดตลก 

หาก “บ้านเมืองดี” เด็กวัย 13 คนนี้จะเป็นอย่างไร? 

“คงไปเที่ยว ไปต่างจังหวัดโดยไม่ต้องคิดเรื่องการเมือง แค่ใช้ชีวิตธรรมดาทั่วไป และคงไม่คิดอยากย้ายประเทศ”

พิงค์ตอบคำถามด้วยเสียงใสๆ แต่กลับแฝงความหนักใจไว้ทุกถ้อยคำ ก่อนจะกล่าวถึงความฝันตัวเองต่อไปว่า 

“เราอยากเป็นผู้พิพากษา ได้อ่านเรื่องราวของผู้พิพากษาคนหนึ่งที่ยิงตัวตาย คือเขาฆ่าตัวตายเพราะมีใบสั่งให้พิพากษาเป็นแบบอื่น ทั้งๆ ที่ไม่ใช่คดีการเมืองด้วยนะ  เราก็เลยอยากมีส่วนเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้มันมีความยุติธรรมจริงๆ ไม่ใช่แบบทุกวันนี้”

นอกเหนือจากนี้แล้ว พิงค์ยังมีความฝันที่ยิ่งใหญ่อีกอย่างหนึ่งคือ การปฏิรูประบบราชทัณฑ์ เพราะการออกมาทำกิจกรรมการเมืองทำให้เธอได้แวะเวียนไปเยี่ยมเพื่อนนักกิจกรรมที่หน้าเรือนจำอยู่บ่อยครั้ง 

“สภาพแวดล้อมมันแย่มาก ในเมื่อวัตถุประสงค์คือคุณอยากให้คนที่เข้าไปแล้วกลับออกมาเป็นคนดี แต่ด้วยสภาพแบบนั้นมันใช้ไม่ได้ เราเห็นเรือนจำของต่างประเทศคือมันทำดีกว่านี้ได้ แต่ทำไมที่ไทยถึงทำไม่ได้”

ท้ายที่สุด ในฐานะเด็กคนหนึ่งที่จำต้องใช้ชีวิตและเติบโตขึ้นในสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยความคิดและอำนาจในการตัดสินใจของผู้ใหญ่ พิงค์จึงได้ฝากข้อความถึงพวกเขาเหล่านั้นด้วยว่า 

“สำหรับผู้มีอำนาจ เราอยากให้เขาลงมากินข้าวแบบประชาชนทั่วไป กินที่ร้านข้างถนน  เพื่อให้รับรู้ชีวิตของคนธรรมดา คนที่ถูกกดขี่ อยากให้เขาลองไปอยู่ในแฟลตดินแดง ลองไปใช้บริการโรงพยาบาลรัฐ ลองไปขึ้นรถเมล์ อยากให้พวกเขารับรู้ว่างบประมาณที่มีมันสามารถเอามาทำอะไรเพื่อประชาชนได้เยอะแยะมาก” 

*หมายเหตุ ทำการสัมภาษณ์ ณ วันที่ 28 เม.ย. 65

อ่านเรื่องอื่นๆ ใน ซีรีส์: YOUNG มีหวัง

>>“เอีย” เด็กแสบมาดทะเล้นขวัญใจชาวม็อบวัย 12 ปี กับ 2 คดีการเมืองที่มีโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี

>>‘อันนา นักเรียนเลว’ เยาวชนหญิง วัย 16 ปี กับการตระหนักรู้ทางสิทธิและเสรีภาพของนักเรียนไทย

X