วันที่ 8 มิ.ย. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ “ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานโดยไม่มีเหตุอันสมควร” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ของ “ภูมิ หัวลำโพง” (สงวนชื่อสกุล) นักกิจกรรมอายุ 18 ปี เหตุร่วมกับเพื่อนทำกิจกรรมชูป้ายเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง ที่บริเวณแยกลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อช่วงค่ำวันที่ 30 ธ.ค. 2564
ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 703 ภูมิเดินทางมาศาล พร้อมอาม่าและมีเพื่อนนักกิจกรรมส่วนหนึ่งมาให้กำลังใจ โดยศาลดำเนินการพิจารณาคดีอื่นๆ ก่อนในหลายคดี
จนเวลาประมาณ 11.00 น. ผู้พิพากษาได้อ่านรายงานการสืบเสาะให้จำเลยและทนายความฟังเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง โดยได้สอบถามรายละเอียดอายุของจำเลย ความสมัครใจในการไม่ขอเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองอีก และความตั้งใจในการทำงานเลี้ยงชีพและเรียนต่อการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)
ต่อมา ศาลได้อ่านคำพิพากษา มีรายละเอียดโดยสรุปพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 368 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
แต่ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 18 ปีเศษ เห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ให้ลงโทษจำคุกในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำคุก 2 ปี และฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ลงโทษปรับ 2,000 บาท
จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เหลือโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 1,000 บาท
พิเคราะห์รายงานสืบเสาะและสถานพินิจของจำเลยแล้ว เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดเมื่อจำเลยมีอายุ 18 ปีเศษ ด้วยวัยอันคึกคะนอง จึงอาจขาดความยับยั้งชั่งใจในการกระทำความผิด ทั้งยังได้ยื่นคำร้อง ฉบับลงวันที่ 25 พ.ค. 2566 ว่าหลังจากเหตุการณ์นี้แล้ว จำเลยได้เข้าศึกษาเล่าเรียนต่อและกระทำกิจกรรมจิตอาสาบริการสังคมเป็นอาสาสมัครกู้ภัย ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมือง กรณีจึงมีเหตุอันสมควรปราณี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 2 ปี
หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้ริบป้ายผ้าสีขาวของกลาง ศาลพิพากษารอการลงโทษให้แก่จำเลย คำขอให้นับโทษต่อจากคดีอื่นจึงให้ยก
ลงชื่อผู้พิพากษา วิชา เหล่าเทิดพงษ์ และชาญชัย ศิริพร
ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ระบุว่า “ผู้ใดอายุตั้งแต่สิบแปดปีแต่ยังไม่เกินยี่สิบปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นลงหนึ่งในสามหรือกึ่งหนึ่งก็ได้”
เหตุแห่งคดีนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อช่วงค่ำวันที่ 30 ธันวาคม 2564 “ภูมิ” กับเพื่อน ได้รวมตัวทำกิจกรรมชูป้าย “ปล่อยเพื่อนกู” ที่บริเวณแยกพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งถูกระบุว่าเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่ขบวนเสด็จจะเสด็จผ่านมา ภูมิกับเพื่อนได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเข้าควบคุมตัว ตรวจค้นพบป้ายผ้าที่มีข้อความถูกกล่าวหาว่าเข้าข่ายมาตรา 112 จึงถูกนำตัวไปแจ้งข้อหาและสอบปากคำที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.)
กรณีนี้ยังมีนักกิจกรรมเด็กอายุ 14 ปี ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเช่นเดียวกันด้วย และถูกฟ้องคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางแยกเป็นอีกคดีหนึ่ง โดยจำเลยได้ยินยอมเข้ามาตรการพิเศษแทนมีคำพิพากษาคดี
.
.
ดูฐานข้อมูลคดีนี้
คดี 112 “ภูมิ-ไอซ์ (เยาวชน)” เหตุแสดงป้าย “ปล่อยเพื่อนกู” หน้า สน.ดุสิต