ซีรีส์: Young มีหวัง
“มีมี่” ณิชกานต์ เป็นเยาวชนนักกิจกรรมเฟมินิสต์วัย 18 ปี ผู้มุ่งมั่นทำงานในประเด็นเรื่องเพศสภาพ (Genders) และความหลากหลายทางเพศ เธอเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 63 ทดลองทำกิจกรรมในหลากหลายประเด็นก่อน กระทั่งทำให้ถูกดำเนินคดีจากกิจกรรมทางการเมืองไปแล้วรวม 6 คดี ขณะเดียวกันเธอค่อยๆ ค้นพบตัวเองว่า “ใจฟู” กับการเคลื่อนไหวในประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศนี้ นำไปสู่การลงสนามในการทำงานประเด็นนี้อย่างจริงจัง กระทั่งร่วมก่อตั้งกลุ่มชื่อเฟมฟู
ก่อนจะผ่านพ้นเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ หรือ Pride Month ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนพูดคุยกับมีมี่ เรื่องของการทำงานในประเด็นดังกล่าว นับตั้งแต่ที่มาที่ไปของความสนใจ จุดมุ่งหมายในการทำงาน และปิดท้ายด้วยการสื่อสารที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง ซึ่งเชื่อว่าสำหรับผู้ที่กำลังสำรวจค้นหาตนเอง หรือผู้ที่กำลังผจญภัยอยู่ในพื้นที่แห่งความหลากหลายทางเพศได้อ่านแล้ว คงจะทำให้มีอาการ “ใจฟู” ได้ไม่มากก็น้อย รวมถึงรู้สึกได้ว่าตนเอง “ไม่โดดเดี่ยว”
ที่มาที่ไปก่อนเริ่มการเคลื่อนไหวในเรื่องเพศ
มีมี่เล่าถึงที่มาที่ไปของการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองว่า ตนเองได้เริ่มออกมาเคลื่อนไหวด้วยใจ ด้วยสปิริตล้วนๆ โดยมีเหตุการณ์การหายตัวไปของ “ต้าร์” วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งในตอนนั้นมีมี่เพิ่งย้ายจากจังหวัดบ้านเกิด เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพฯ ได้ไม่ถึง 1 ปี ยังเดินทางไปไหนมาไหนไม่คล่อง แต่ด้วยความรู้สึกที่มีมี่บรรยายไว้ว่า “คนหายไปต่อหน้าต่อตาเลย จะให้อยู่เฉยๆ เหรอ รู้สึกผิดตายเลย” ส่งผลทำให้เธอในวัย 16 ปี พยายามหาเส้นทางไปจนถึงหน้าสถานทูตกัมพูชาด้วยตนเองจนได้ ทั้งยังได้เข้าร่วมกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องให้ทั้งรัฐบาลไทยและกัมพูชามีความกระตือรือร้นในการติดตามและสืบสวนสอบสวนกรณีนี้ด้วย
“งานแรกที่เราไปมันไม่ใช่งานเฟมินิสต์ แต่เป็นงานหน้าสถานทูตกัมพูชาเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน งานนั้นเป็นม็อบที่จัดขึ้นหลังจากวันเฉลิมหายตัวไปประมาณ 4 – 5 วันแล้ว” มีมี่กล่าว
จากนั้นในช่วงระหว่างกลางปี 63 – 64 ท่ามกลางการชุมนุมที่เกิดขึ้นแทบจะรายวัน มีมี่ระบุว่าตนพยายามไปเข้าร่วมในทุกๆ ม็อบที่สามารถไปได้ ในช่วงแรกก็ไปคนเดียว จากนั้นก็เริ่มไปร่วมกิจกรรมกับกลุ่มต่างๆ ในม็อบ และในที่สุดก็ได้เข้าไปเป็นอาสาสมัครของกลุ่มผู้หญิงปลดแอก ทำให้ได้รู้จักกับนักกิจกรรมเฟมินิสต์รุ่นพี่ซึ่งมีมี่มีความชื่นชมเป็นอย่างมาก เช่น พี่ดาว (หรือวาดดาว) กลุ่มเฟมปลดแอก พี่ปั๊บ กลุ่มทำทาง เป็นต้น
มีมี่เล่าว่าระหว่างที่ทำงานในประเด็นเรื่องเพศและความหลากหลายทางเพศ เธอได้มีโอกาสลงมือทำงานในประเด็นที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นนักเรียน, การศึกษา, สหภาพนักเรียน, พ.ร.บ.การศึกษา ตลอดจนประเด็นด้านแรงงานและเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ในการทำงานประเด็นเหล่านั้น มีมี่กล่าวว่า “เราคิดว่ามันเหนื่อยมาก มันกัดกินจิตใจเรามาก เราก็เลยมาทำเรื่องเพศ แล้วมันก็ฟื้นฟูจิตใจเรา จากนั้นเราก็เลยตัดสินใจว่าเราจะเป็น Front Line เป็นแนวหน้าเรื่องเพศ เพราะมันดีกับเรามากกว่า เรารู้สึกคุ้นเคยกับมันมากกว่าประเด็นอื่น”
และแล้วความสนใจและการเคลื่อนไหวเรื่องเพศก็ปรากฏ
จากคำตอบของมีมี่ที่ว่า “รู้สึกคุ้นเคยกับมันมากกว่าประเด็นอื่น” นำไปสู่คำถามที่ว่า แล้วความสนใจในประเด็นเรื่องเพศ (Genders) และความหลากหลายทางเพศมีที่มาที่ไปอย่างไร
มีมี่ทำหน้านึกเล็กน้อยก่อนที่จะตอบว่า “จริงๆ เราคิดว่าความสนใจเรื่องนี้มันมีมาตั้งแต่เด็ก คือตั้งแต่เราอยู่ในครอบครัว จริงๆ เราก็ไม่ได้เกิดในครอบครัวคนจีนหรือว่าครอบครัวที่ชัดในเรื่องการกดขี่ทางเพศนะ แต่ว่าเรามักจะเห็นแม่เป็นคนที่ถูกพ่อใช้ ถูกกดขี่จากพ่ออยู่ตลอด รวมถึงตัวเราเองด้วย ทำนองว่าพ่อเค้าจะพยายามใช้ให้เราไปหยิบนั่นหยิบนี่ตลอด ซึ่งเราไม่ยอมนะ แล้วเวลาที่ต้องทำงานบ้าน แม่ก็จะใช้คนอื่น แต่ไม่เคยใช้พ่อเลย แม่จะบอกว่าพ่อทำงานนอกบ้านหนักแล้ว ซึ่งเราก็คิดนะว่าการทำงานบ้านมันไม่ควรมีการเลือกปฏิบัติอะไรที่ชัดเจนขนาดนั้น”
นอกจากนี้ มีมี่ยังบอกเพิ่มเติมด้วยว่าส่วนหนึ่งของความสนใจในประเด็นเรื่องเพศมีที่มาจากประสบการณ์การคลุกคลีกับวงเพื่อนร่วมงานของพ่อ
“คือตอนเด็กๆ เราค่อนข้างคุ้นเคยกับวงการนักการเมืองท้องถิ่นของจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน เพราะพ่อเราทำงานกับนักการเมืองเหล่านั้น แล้วในทุกๆ ครั้งที่พวกเค้าประชุมกัน ก็จะพากันไปประชุมกันในผับบ้าง ในบาร์บ้าง ในร้านอาหารที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บ้าง แลวเราที่ตามไปด้วย ก็จะเห็นเพื่อนๆ ของพ่อลวนลามและพูดจาคุกคามผู้หญิงที่เป็นพนักงานเสิร์ฟ สิ่งเหล่านี้มันก็เลยติดอยู่ในใจเรามาตลอดเลย โดยที่เราเองก็ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน แต่โดยสรุปก็คือเราสนใจเรื่องเฟมินิสต์ จนกระทั่งช่วงประมาณปี 61 – 62 เราก็เริ่มศึกษาเรื่องพวกนี้ และศึกษามาเรื่อยๆ” มีมี่กล่าว
ก่อกำเนิด ‘สีดาลุยไฟ’ เปิดที่ทางให้ผู้ตกเป็นเหยื่อ
สำหรับบทบาทการเป็นนักกิจกรรมที่ทำงานในประเด็นเรื่องเพศ มีมี่บอกว่าตนเองเริ่มต้นจากการเป็นอาสาสมัครของกลุ่มผู้หญิงปลดแอก (เฟมปลดแอก) เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ชุด สีดาลุยไฟ
มีมี่เล่าย้อนไปถึงจุดกำเนิดของการแสดงชุดนี้ว่า “มันเริ่มจากพี่คนหนึ่งเอาวิดีโอ A rapist in your path ของประเทศชิลีมาโยนลงในกลุ่ม แล้วตอนนั้นพวกเราก็คิดกันว่าอยากให้มีสิ่งนี้บ้างในประเทศไทย ทุกคนก็เลยช่วยกันคิดเนื้อเพลง ช่วยกันหาว่าจะเอาอะไรมาใส่ในเนื้อเพลง ทีนี้พี่ดาวก็เลยบอกว่ามันต้องเป็นสีดา สีดาลุยไฟเพราะว่าสีดาถูกบังคับให้ต้องลุยไฟเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง ดังนั้นแล้วการแสดงชุดนี้ต้องให้เครดิตเพื่อนๆ เฟมปลดแอกที่ช่วยกันคิดและแต่งเนื้อเพลงภาษาไทย”
มีมี่กล่าวต่อด้วยน้ำเสียงที่จริงจังขึ้นว่า “จริงๆ แล้วพอสีดาลุยไฟมันบูมขึ้นมา มันก็กลายเป็นที่ถกเถียงในหลายที่มาก บางคนก็บอกว่าเนื้อเพลงน่าเบื่อ แต่เราก็เลือกที่จะไม่อ่าน เพราะว่าเรายืนยันในจุดยืนที่ว่าเพลงมันต้องการ Empower เหยื่อ ประเด็นอื่นๆ ที่ว่าจะน่าเบื่อหรืออะไรมันไม่สนใจแล้ว เพราะจุดประสงค์สำคัญของมันคือต้องการ Empower เหยื่อ คือการบอกกับเหยื่อว่า เค้าไม่มีความผิดบาปใดๆ คนที่ข่มขืนเค้าต่างหากคือคนที่ผิด”
นอกจากนี้ มีมี่กล่าวถึงความรู้สึกในฐานะหนึ่งในผู้แสดงสีดาลุยไฟว่า การแสดงดังกล่าวทำให้รู้สึกใจฟู โดยเฉพาะเมื่อได้รับรู้ว่าสีดาลุยไฟกลายเป็นบทเพลงที่ช่วยสนับสนุนให้ผู้ที่เป็นเหยื่อมีความกล้าในการออกมายืนยันสิทธิของตัวเอง อย่างน้อยก็ในแพลตฟอร์มออนไลน์เช่นทวิตเตอร์ “พูดได้เลยว่าในช่วงที่สีดาลุยไฟเกิดขึ้นมามันทำให้เราใจฟูมาก” มีมี่ย้ำ
‘สีดาลุยไฟ’ การแสดงจากกลุ่มผู้หญิงปลดแอก (7 พ.ย. 63) ที่มา: The Matter
มีมี่เห็นว่าบทบาทของตนเองและเพื่อนๆ นั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นการต่อสู้ในเชิงวัฒนธรรม โดยเฉพาะการแสดงชุดสีดาลุยไฟ เธอเห็นว่าสังคมไทยยังคงเป็นสังคมที่ติดกับดักความคิดแบบชายเป็นใหญ่ และการโทษเหยื่อ หรือ Blame Victim
“สำหรับเราจะเรียกว่ามันเป็นความเชื่อฝังหัว เป็น Internalization ซึ่งถ้าถามว่าประชาชนผิดไหม เราก็ว่าไม่ทั้งหมดนะ ส่วนหนึ่งมันเป็นเพราะสถาบันต่างๆ หล่อหลอมพวกเค้ามากกว่า ไม่ว่าจะเป็นสื่อหรือละครที่มันถ่ายทอดเรื่องทำนองนี้เยอะแยะ มันยังคง Romanticized การข่มขืน อะไรทำนองนี้
“แล้วความคิดแบบชายเป็นใหญ่นี่มันมีอิทธิพลกับสถาบันหรือองค์กรอื่นๆ อีกมาก นับได้ตั้งแต่สถาบันกษัตริย์ กฎหมาย ศาสนา องค์กรกำหนดนโยบาย และสื่อ ทุกอย่างเลย ทำให้ทุกพื้นที่มันมีอิทธิพลของความคิดแบบชายเป็นใหญ่ไปหมดแล้วมันก็ไปหล่อหลอมผู้คน หล่อหลอมสังคม จนกลายเป็นความเชื่อฝังหัวและเป็นอคติทางเพศที่มันฝังลึกมากๆ”
มีมี่ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงบทบาทของตนเองและเพื่อนๆ นักกิจกรรมเฟมินิสต์ไว้ว่า “สิ่งที่พวกเราทำก็คือความพยายามแก้ไขปัญหาในสังคม เพราะแน่นอนว่าถ้าสังคมไม่มีปัญหาเรื่องเพศเหล่านี้ พวกเราก็คงจะไม่เกิดขึ้น แต่ในเมื่อสังคมมันมีปัญหา เราก็ต้องเกิดขึ้นมาแล้วลงมือทำ ทำให้เค้ารู้ว่าสิ่งที่เราเผชิญหน้าอยู่มันคือการต่อสู้เรื่องเพศ เรื่องอคติทางเพศ
“สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดเลยก็คือ เราต้องรับรู้ให้ได้ก่อนว่าปัญหามันมีอยู่จริง ซึ่งเอาจริงกว่าที่ตัวเราเองจะรับรู้ได้ก็ต้องผ่านขั้นตอน ผ่านกระบวนการเรียนรู้ค่อนข้างเยอะ คือในช่วงแรกๆ ที่บางคนเพิ่งก้าวมาสู่เรื่องประเด็นทางเพศนี้มักจะเกิดจากการที่เค้ารับรู้ความรู้สึกที่มันไม่ดี ไม่สบายใจ ความรู้สึกอึดอัด รู้สึกว่ามันไม่ถูกต้อง แต่ยังไม่สามารถจะ Naming ได้ว่าสิ่งเหล่านั้นมันคือรูปแบบอะไร
“สำหรับเราเองสามารถมีความเข้าใจมากขึ้นได้ ก็หลังจากที่ได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้จากรุ่นพี่เฟมินิสต์รุ่นเก่าๆ ที่ช่วยถ่ายทอด ช่วยทำให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ดังนั้นเราก็เลยคิดว่าสิ่งที่จำเป็นสำหรับสังคมไทยมากๆ ก็คือเราจะต้อง Naming ความรุนแรงให้ได้และให้ชัด ว่าความรุนแรงหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นมานั้นมันคืออะไร เป็นรูปแบบอะไร ตัวอย่างเช่นเราต้อง Naming มันให้ชัดว่าสิ่งนี้คือการล่วงละเมิดทางเพศ หรือสิ่งนี้คือการคุกคามทางเพศ คือมันต้องถูก Naming ให้ชัดเจนก่อนเป็นอันดับแรก”
อย่างไรก็ดี แม้จะเรียกตัวเองเป็นนักกิจกรรมเฟมินิสต์แล้ว ออกมาสู้ ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นเรื่องเพศแล้ว แต่มีมี่ก็มองว่าในความเป็นจริงเราทุกคนต่างก็ผิดพลาดกันได้ เพียงแต่เมื่อพลาดแล้ว ก็ต้องมีการเรียนรู้เพื่อที่จะได้ขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวนี้ต่อไป เพราะมีมี่เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าประชาธิปไตยที่เข้มแข็งจะต้องมีเรื่องเพศและต้องมีการยอมรับเพศหลากหลายเป็นส่วนหนึ่งด้วย
“ก็เพราะเรา คนที่เป็นเพศหลากหลายได้เกิดมาแล้ว ดังนั้นจะมาลบเลือนตัวตนหรือการมีอยู่ของเราไม่ได้” มีมี่ย้ำด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
จัดตั้งเฟมฟูและดึงเพื่อนๆ เข้าสู่ “วงอ้วก”
ณ ปัจจุบัน มีมี่บอกว่าตนเองและเพื่อนๆ ได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวประเด็นเรื่องเพศและความหลากหลายทางเพศ ภายใต้ชื่อว่า FemFoo เฟมฟู โดยเล่าถึงที่มาของกลุ่มให้ฟังว่า เป็นการวมตัวกันของกลุ่มเพื่อนเยาวชนและประชาชนทั่วไปที่มีหน้าที่อื่นๆ ไม่ได้เป็นนักกิจกรรมเต็มตัวแต่ก็อยากที่จะทำกิจกรรม ดังนั้นแล้วกิจกรรมโดยส่วนมากของเฟมฟูจึงจะคล้ายกับเป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่ผู้ที่กำลังสำรวจตัวตนทางเพศของตัวเอง รวมถึงเป็นพื้นที่แห่งการเยียวยารักษาให้แก่พวกเขาเหล่านั้นด้วย
“คือเราคุยกับเพื่อน ชวนกันตั้งกลุ่ม แล้วพวกเราก็สร้างแอคเคาท์ทวิตเตอร์ขึ้นมา แต่พวกเราก็ทิ้งทวิตเตอร์ไว้เป็นเดือน ไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะเราไปทำเรื่องอื่นๆ อย่างที่บอกว่าไปทำเรื่องประเด็นแรงงาน การศึกษา เศรษฐกิจ
บลาๆๆ ส่วนเฟมฟูนี่มาทำจริงจังช่วงไหนเราจำไม่ได้แล้ว (หัวเราะ)”
“ตอนแรกเรากับเพื่อนตั้งใจเปิดตัวเฟมฟูในฐานะเป็นสื่อเรื่องเพศ ที่จะบอกประวัติศาสตร์หรืออะไรที่เป็นวิชาการต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องเพศและความหลากหลายทางเพศ แต่หลังๆ มานี้เฟมฟูก็เปิดรับอาสาสมัคร เริ่มมีการลงพื้นที่ แล้วก็กลายมาเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง” มีมี่เล่า
สำหรับการก่อตั้งเฟมฟู มีมี่บอกว่า “เฟมฟูเติบโตขึ้นในช่วงที่มีมรสุมของชีวิตของเพื่อนๆ คือเพื่อนเราอย่างที่บอกว่าเป็นเยาวชนและประชาชนทั่วไปที่มีหน้าที่อื่นๆ ไม่ได้เป็นนักกิจกรรมเต็มตัวแต่ก็อยากที่จะทำกิจกรรม ไม่ใช่กลุ่มเพื่อนที่ไฟแรงพร้อมทุ่มเทหมดสิ้นทั้งกลายใจ พวกเราเป็นกลุ่มเพื่อนกันแล้วก็มีความสนใจประเด็นเรื่องเพศ แต่ว่าก็ยังไม่ค่อยกล้า ยังไม่ค่อยมั่นใจ ดังนั้นงานส่วนใหญ่ที่เราทำกันจึงไม่ใช่การกำหนดยุทธศาสตร์หรือการวางแผนงาน แต่เราทำสิ่งที่พวกเราเรียกมันว่า วงอ้วก”
กิจกรรมที่เรียกว่า ‘วงอ้วก’ นี้ มีมี่ขยายความว่าเป็นสิ่งที่จะทำกันในหมู่เพื่อน และจะทำในทุกๆ เดือน เพื่อที่จะรับฟัง เยียวยาซึ่งกันและกัน โดยเหตุที่เรียกว่า ‘วงอ้วก’ นั้น เพราะอยากให้มันเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่อนุญาตให้ทุกคนได้ระบายมรสุมในชีวิตของตนเองออกมา ทั้งประเด็นครอบครัว สังคม การเมือง
“พวกเราเรียกมันว่าวงอ้วก แต่ว่าเอาเข้าจริงถ้าเรียกวงอ้วกด้วยภาษาที่ดูดีขึ้น มันก็คือวง Deep Listening นะ ก็คือวงอ้วกมันทำให้กลุ่มเพื่อนรู้สึกว่าปลอดภัย พอเค้ารู้สึกแบบนั้นเค้าก็จะเข้ามาอยู่กับเฟมฟู มาร่วมลงพื้นที่ทำกิจกรรมกับเฟมฟูด้วย”
ในส่วนของการทำกิจกรรมในนามเฟมฟู มีมี่เล่าว่าตนเองและเพื่อนๆ เพิ่งไปจัดบูธที่งาน Youth Pride Thailand ซึ่งจัดขึ้น ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อ 11 มิ.ย. 2565 โดยไปจัดกิจกรรมภายใต้หัวข้อ “ตัวตน
อัตลักษณ์ และความภาคภูมิใจ” ผ่านระบายสีกระเป๋าผ้าและขนมปังขิง
“สำหรับเราคิดว่าคุณค่าอย่างหนึ่งของการทำกิจกรรมเฟมฟูเช่นการระบายสี มันไม่ใช่แค่การเยียวยาคนนอกที่ผ่านไปผ่านมา แต่มันช่วยเยียวยาว่าคนข้างในด้วย คือจากที่ไปทำกิจกรรมกันมา มีเพื่อนเราคนหนึ่งมาบอกกับเราว่าพอได้ระบายสีและได้เห็นคนอื่นๆ มาระบายสีด้วยกันแล้วรู้สึกมีความสุขมาก เราก็เลยคิดว่ากิจกรรมที่เฟมฟูจะทำต่อๆ ไป มันควรจะต้องเป็นกิจกรรมที่ทุกฝ่ายต่างเยียวยาซึ่งกันและกัน” มีมี่กล่าว
มีมี่เน้นย้ำถึงจุดมุ่งหมายสำคัญของการก่อตั้งเฟมฟูว่า ต้องการที่จะตอกย้ำประเด็นที่ว่าพื้นที่ประชาธิปไตยมันควรเป็นพื้นที่ที่ให้คนได้มาค้นหาตัวเองอย่างอ่อนโยน เฟมฟูจึงตั้งใจที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้คนได้สามารถเข้ามาค้นหาตัวตนทางเพศของตัวเองได้อย่างอ่อนโยน การทำกิจกรรมของเฟมฟูจึงถูกออกแบบให้ปรากฏออกมาในเฉดสีพาสเทล เป็นต้นว่าการระบายสีกระเป๋าและขนมปัง
“การใช้อะไรที่มันน่ารักๆ มาค้นหาตัวตน เพราะเราคิดว่าประชาธิปไตยต้องไม่สร้างความหวาดกลัวให้กับคนที่จะเป็นตัวเอง เราก็เลยตั้งใจจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยเหล่านี้ขึ้น อีกอย่างก็เพราะเราคิดว่าในสังคมมันมีความรุนแรงมากพอแล้ว เฟมฟูไม่ควรจะเอาความรุนแรงนั้นมาใช้ เราก็เลยสร้างวงอ้วกขึ้นมาแล้วก็ให้ทุกคนได้มาคลี่คลาย ได้มาอ้วกกันข้างใน เพราะว่าสังคมมันไม่เคยรับฟังเรา ไม่เคยปล่อยให้เราได้พูด มันสั่งให้เราฟังอย่างเดียว”
ท้ายที่สุดในโอกาสของเดือน Pride Month ปีนี้ มีมี่มีสิ่งที่อยากสื่อสารกับสังคมโดยทั่วไปที่ยังคงไม่ให้การยอมรับในความหลากหลายทางเพศว่า “ความหลากหลายมันเป็นเรื่องธรรมชาติ ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ที่บอกว่าเพศมีแค่ 2 เพศ คือ Biological Sex หรือความคิดชายเป็นใหญ่ ทุกอย่างเหล่านี้มันเป็นเรื่องของการแบ่งแยก คือแบ่งแยกเพศ แบ่งแยกว่าใครสูงส่งกว่ากัน แล้วสังคมเราก็ไปรับแนวคิดพวกนี้มา ดังนั้นสิ่งที่เราอยากสื่อสารก็คือพวกเราสามารถทบทวนอคติแล้วก็ความคิดตัวเองอย่างอ่อนโยนได้ ในปัจจุบันนี้มันก็มีสื่ออะไรให้เรียนรู้เยอะแยะเกี่ยวกับเรื่องเพศและเรื่องความหลากหลายทางเพศ และสิ่งที่คนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือเป็น Non-binary เค้าต้องการจริงๆ คือการรับฟังและการยอมรับในสังคม แค่นั้นเอง”
นอกจากนี้แล้ว มีมี่ยังได้สื่อสารกับคนที่กำลังสำรวจตัวตนทางเพศของตนเอง หรือคนที่ยังกล้าๆ กลัวๆ ที่จะแสดงตัวตนทางเพศของตนเองออกมาด้วยว่า
“การที่เรากลัว ไม่กล้า หรือว่าความไม่มั่นใจในตัวเอง เราไม่ต้องรู้สึกผิดเลย เพราะว่าสังคมมันทำให้เราอึดอัด สังคมมันไม่โอบรับเราเอง แต่ว่าเราสามารถที่จะค้นหาตัวเองอย่างอ่อนโยนไปได้เรื่อยๆ เพราะว่าสิ่งที่สังคมกำลังทำคือเค้ากำลังพยายามทำให้ข้างในเรามันกลวง เค้าพยายามให้อำนาจกับคุณค่าภายนอกของเราว่าเรามีคุณค่าจากการเป็นคนดี คนที่ได้รางวัล แต่ว่าคุณค่าจากภายในของเรามันคือการที่เรารู้ว่าคือใคร เป็นเพศอะไร ซึ่งจริงๆ สังคมก็อาจจะไม่ได้ให้คุณค่า แต่เราให้คุณค่า ดังนั้นเราก็เลยคิดว่าสิ่งที่เค้าเผชิญอยู่มันไม่ใช่เรื่องที่ผิด คือหลายๆ เรื่องเราโทษตัวเอง เราโทษคนอื่น ซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ จนเราเข้ามาในวงการเฟมินิสต์แล้วเรารู้ว่าอันนี้เราไม่ได้ผิด แล้วโลกเราเปลี่ยนไปเลย แล้วถ้าเป็นไปได้เรายังคิดว่ามันมีคนที่ทำเรื่องการศึกษา แล้วก็คนที่ทำเรื่องในพื้นที่เหล่านี้อีกเยอะ เพื่อให้เห็นว่าพวกเราไม่ได้โดดเดี่ยว” มีมี่สรุป
อ่านเรื่องอื่นๆ ใน ซีรีส์: YOUNG มีหวัง
>>“เอีย” เด็กแสบมาดทะเล้นขวัญใจชาวม็อบวัย 12 ปี กับ 2 คดีการเมืองที่มีโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี
>>‘อันนา นักเรียนเลว’ เยาวชนหญิง วัย 16 ปี กับการตระหนักรู้ทางสิทธิและเสรีภาพของนักเรียนไทย
>>‘พิงค์’ เด็กหญิงวัย 13 ปี ผู้เป็นภัยความมั่นคง กับความฝันที่อยากเห็นคนเท่ากันในสังคมไทย