จับตาพิพากษาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2 นักกิจกรรมเยาวชน กรณี #ม็อบ15ตุลา63 ยันต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม 

ในวันที่ 25 ก.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีนัดฟังคำพิพากษาในคดีของนักกิจกรรมเยาวชน 2 ราย ได้แก่  “มิน” ลภนพัฒน์ และ “ภูมิ” (สงวนชื่อสกุล) กรณีร่วมชุมนุมและปราศรัยที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2563 หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม #ราษฎร63 ที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล ทั้งหมดถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในช่วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง

ในคดีนี้อัยการได้มีการสั่งฟ้องไปเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 โดยบรรยายพฤติการณ์ว่า ทั้งสามคนร่วมกันชุมนุมหรือมั่วสุมกับประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ขึ้นปราศรัยต่อต้านรัฐบาล กีดขวางการจราจรบริเวณแยกราชประสงค์ จนทำให้ยานพาหนะไม่สามารถสัญจรได้ตามปกติ ขัดขืนคำสั่งเจ้าพนักงานที่สั่งให้ยุติการชุมนุม อันเป็นการยุยงกระทำให้เกิดความไม่เรียบร้อยและความวุ่นวายในบ้านเมือง และการชุมนุมยังอยู่ในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง 

ยืนยันต่อสู้ “มิน-ภูมิ” ระบุร่วมชุมนุมโดยสงบปราศจากความวุ่นวาย เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ 

คดีนี้นับเป็นคดีแรกของนักกิจกรรมเยาวชนในปี 2563 ที่อัยการพิจารณาแล้วมีคำสั่งฟ้อง โดยที่ก่อนหน้านี้ เยาวชนได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการให้สั่งไม่ฟ้องคดี โดยระบุถึงหลักการและกติกาสากลเรื่องสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชน การสั่งฟ้องในคดีนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ รวมถึงขอให้สั่งสอบสวนพยานเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามการฟ้องคดียังคงดำเนินต่อไป

กระบวนการยุติธรรมในการพิจารณาคดีกินเวลายาวนานเกือบ 3 ปี เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาด ทั้งในระหว่างกระบวนการสืบพยาน “พลอย” หนึ่งในจำเลย ได้ตัดสินใจลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ ส่วนมินและภูมิให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและยังยืนยันต่อสู้คดี 

การสืบพยานคดีนี้มีขึ้นเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2565 และ 13 มี.ค. และ 23– 24 ส.ค. 2566 ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โดยเป็นการสืบพยานโจทก์และการสืบพยานจำเลยตามลำดับ ซึ่งมีพยานโจทก์เข้าเบิกความทั้งสิ้นจำนวน 4 ปาก ส่วนฝ่ายจำเลย มีจำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน 2 ปาก พยานนักวิชาการ และพยานนักสังคมสงเคราะห์ 

พยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจทั้งหมด เบิกความไปในทางเดียวกันว่า ในการชุมนุมดังกล่าว จำเลยทั้งสองได้ขึ้นปราศรัย มีพฤติการณ์เป็นแกนนำ เป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมขณะที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ยุงยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค ขัดคำสั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงมีการกีดขวางการจราจรด้วย 

ด้านข้อต่อสู้จำเลยระบุว่า ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินระบุว่า “ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปหรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” ย่อมเป็นการออกข้อกำหนดที่ขัดต่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงฯ เนื่องจากเป็นการห้ามชุมนุมโดยสิ้นเชิง ข้อกำหนดดังกล่าวจึงขัดต่อประกาศและรัฐธรรมนูญ เป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  

ที่สำคัญจำเลยทั้งสองออกไปในที่ชุมนุม เพื่อใช้เสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็น โดยมีการกล่าวปราศรัยหรือชวนผู้ชุมนุมร้องเพลงเท่านั้น ไม่ได้มีพฤติการณ์เป็นแกนนำหรือผู้จัดการชุมนุม รวมถึงไม่ได้มีการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือความรุนแรงแต่อย่างใด เป็นการชุมนุมโดยสงบและสันติตามรัฐธรรมนูญ

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 3 แกนนำนักเรียน ปราศรัยชุมนุม #15ตุลาไปราชประสงค์

3 แกนนำนักเรียนยื่นหนังสือขออัยการสั่งไม่ฟ้อง ชี้ละเมิดกติกาสากล-อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

‘ไร้เดียงสาทางการเมืองแค่ไหน ก็ยังรู้ว่านี่คือเกมการเมือง’ เปิดคำให้การ ‘ป้ามล’ ขอยุติดำเนินคดีเยาวชน

“ผิดหวังแต่ไม่หมดหวัง”: เรื่องราวของ ‘ภูมิ’ เยาวชนผู้ต่อสู้เพื่อการศึกษา-ปชต. ก่อนเผชิญกระบวนการยุติธรรม ‘ไม่เฟรนด์ลี่’ เกือบ 3 ปี

X