มกราคม 2568: “บัสบาส” ถูกแจ้งข้อหา ม.112 เป็นคดีที่ 4 ส่วน “ทนายอานนท์” ต่อสู้ข้อหาละเมิดอำนาจศาล ขณะสถานการณ์การประกันตัวยังไม่แน่นอน

เดือนมกราคม 2568 มีคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกทางการเมืองเพิ่มขึ้นใหม่ 2 คดี ได้แก่ คดีมาตรา 112 ของ “บัสบาส” ที่ถูกแจ้งข้อหาเพิ่มเป็นคดีที่ 4 แล้ว และคดีของอานนท์ นำภา ถูกตั้งข้อหาละเมิดอำนาจศาล กรณีถอดเสื้อประท้วงในห้องพิจารณาคดี นอกจากนั้น ยังมีนักกิจกรรมในจังหวัดนครราชสีมา ถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 เพิ่มอีก 1 ราย ในคดีจากการชุมนุมเดิมก่อนหน้านี้

ขณะเดียวกัน คดีจำนวนมากยังทยอยมีคำพิพากษาในศาลชั้นต่าง ๆ ทั้งคดีมาตรา 112 จำนวน 6 คดี ที่ศาลลงโทษจำคุก แต่มีผลการประกันตัวที่แตกต่างกันไป จำเลยบางรายได้ประกันตัว แต่บางรายกลับไม่ได้รับการประกันตัว, คดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวน 5 คดี คดีสำคัญได้แก่ คดีทีมการ์ด Wevo และประชาชนรวม 45 ราย ที่ศาลอาญายกฟ้องในข้อหาหลัก, คดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2 คดี ในศาลอุทธรณ์ ทั้งกรณีพิพากษายืนในคดีแฮกเว็บศาลรัฐธรรมนูญเพื่อแสดงออกทางการเมือง และยกฟ้องคดีแชร์โพสต์เกี่ยวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2568 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,960 คน ในจำนวน 1,313 คดี  เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงเดือนธันวาคม 2567 แล้ว มีจำนวนคดีเพิ่มขึ้น 2 คดี 

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 4,025 ครั้ง

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 277 คน ในจำนวน 309 คดี (จำนวนนี้อย่างน้อย 163 คดี ถูกดำเนินคดีเนื่องจากประชาชนร้องทุกข์กล่าวโทษ)

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 154 คน ในจำนวน 53 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,466 คน ในจำนวน 674 คดี

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 182 คน ในจำนวน 100 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 208 คน ในจำนวน 231 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 44 คน ใน 26 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 37 คน ใน 11 คดี

จากจำนวนคดี 1,313 คดีดังกล่าว มีจำนวน 672 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว (คดีบางส่วนไม่ได้สิ้นสุดลงทั้งคดี เช่น มีการอุทธรณ์คดีเฉพาะจำเลยบางคน แต่จำเลยบางคนคดีสิ้นสุดแล้ว) 

.

.

แนวโน้มการดำเนินคดีในช่วงเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมา มีสถานการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้

“บัสบาส” ถูกแจ้งข้อหา ม.112 เพิ่มคดีที่ 4 – นักกิจกรรมโคราชถูกย้อนแจ้งเพิ่มอีกราย แม้ไม่ได้ปราศรัยเรื่องสถาบันฯ – ศาลมีคำพิพากษาคดี ม.112 อีก 6 คดี

เดือนแรกของปี 2568 มีรายงานคดีมาตรา 112 เพิ่มใหม่ 1 คดี ได้แก่ “บัสบาส” มงคล ถิระโคตร ที่ถูกพนักงานสอบสวนจาก บก.ปอท. เดินทางไปแจ้งข้อหาคดีใหม่ถึงเรือนจำกลางเชียงราย กล่าวหาจากข้อความบนเฟซบุ๊กในช่วงปี 2565 อีก 3 ข้อความ โดยคดีนี้มี อานนท์ กลิ่นแก้ว จากกลุ่ม ศปปส. เป็นผู้ไปกล่าวหาไว้ตั้งแต่ปี 2565 แต่ตำรวจเพิ่งเข้าแจ้งข้อกล่าวหา บัสบาสให้การปฏิเสธ โดยนับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 4 แล้วที่เขาถูกกล่าวหา

นอกจากนั้นยังมีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มใหม่อีก 1 คน ในคดีชุมนุมเดิม ได้แก่ คดีของนักกิจกรรมโคราช ที่เดิมมีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหา 1 ราย กรณีไลฟ์สดในกิจกรรม “ยืนหยุดขัง 112 นาที” บริเวณอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2564  ผ่านไปกว่า 1 ปี ช่วงต้นปีนี้ ตำรวจ สภ.เมืองนครราชสีมา ได้ออกหมายเรียกให้ “บุ๊ค” วรัญญู คงสถิตย์ธรรม ไปรับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 เนื่องจากพนักงานอัยการมีคำสั่งให้แจ้งข้อหาเพิ่มเติม ว่าได้ร่วมกับผู้ต้องหาอีกรายพูดผ่านไลฟ์สด แม้บุ๊คจะไม่ได้เป็นผู้พูดเกี่ยวกับประเด็นสถาบันกษัตริย์ก็ตาม โดยบุ๊คยังไม่เคยถูกดำเนินมาตรา 112 มาก่อนหน้านี้แต่อย่างใด

.

.

ในคดีมาตรา 112 ศาลมีคำพิพากษาออกมาตลอดทั้งเดือนอย่างน้อย 6 คดี แยกเป็นคดีในศาลชั้นต้น 3 คดี และศาลอุทธรณ์อีก 3 คดี โดยพบว่าทุกคดีศาลพิพากษาว่ามีความผิดทั้งหมด แต่มีแนวโน้มการได้ประกันตัวแตกต่างกันไป

ในจำนวนดังกล่าว แยกเป็นคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ 3 คดี ได้แก่ คดีของประสงค์ ประชาชนจากลพบุรี ที่ถูกฟ้องจากการโพสต์ข้อความ 2 โพสต์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้จำคุกรวม 3 ปี  แต่เขาได้รับการประกันตัวระหว่างฎีกา, คดีของสถาพร กรณีแสดงออกระหว่างขบวนเสด็จผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน และคดีของจิรัชยา กรณีกล่าวในไลฟ์สดเมื่อปี 2564 ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 2 ปี  ในสองคดีหลังนี้ศาลชั้นต้นได้ส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์สั่ง ก่อนศาลอุทธรณ์จะไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ในทั้งสองกรณี เดือนที่ผ่านมาจึงมีผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอีก 2 ราย

ส่วนคดีที่จำเลยต่อสู้คดีจำนวน 3 คดี ได้แก่ คดีของ “ใจ” บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ กรณีทวีตรูปภาพและข้อความเกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 แม้เป็นอดีตกษัตริย์ ที่ไม่ควรถูกตีความว่าเป็นองค์ประกอบตามความผิดมาตรา 112 แต่ศาลอุทธรณ์ยังคงพิพากษายืน เห็นว่ามีความผิด ให้จำคุก 2 ปี, 

คดีของ “พอร์ท ไฟเย็น” กรณีโพสต์ข้อความ 3 ข้อความเมื่อปี 2559 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้จำคุก 6 ปี แต่น่าสนใจที่คำวินิจฉัยกลับระบุไปในประเด็นเรื่องมาตรา 112 คุ้มครองไปถึงอดีตกษัตริย์ เพราะย่อมกระทบถึงพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ด้วย ทั้งที่โพสต์ทั้ง 3 ข้อความในคดีนี้เกิดเหตุในสมัยรัชกาลที่ 9

สุดท้ายในคดีของ “บังเอิญ” กรณีโพสต์เฟซบุ๊กกราฟฟิกตกแต่งภาพสมาชิกราชวงศ์ คดีนี้ศาลอาญาก็พิพากษาว่ามีความผิดเช่นกัน ลงโทษจำคุก 3 ปี โดยเห็นว่าจำเลยใส่ความรัชกาลที่ 10 

น่าสนใจว่าในทั้งสามคดีนี้ จำเลยได้ประกันตัวต่อสู้ต่อในชั้นอุทธรณ์และฎีกาทุกคดี โดยในคดีของ “ใจ” และ “บังเอิญ” ศาลอาญาดำเนินการสั่งให้ประกันตัวโดยตนเอง ส่วนคดีของ “พอร์ท” ศาลอาญาส่งคำร้องให้ศาลฎีกาวินิจฉัย หลังพอร์ทถูกคุมขังอยู่ 4 วัน ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งให้ประกันตัว 

สถานการณ์การประกันตัวในคดีมาตรา 112 ทั้งในเดือนนี้และช่วงปี 2567 ที่ผ่านมา ยังคาดเดาได้ยาก มีความไม่แน่นอนสูง บางกรณีได้รับการประกันตัว แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะพิพากษาจำคุก ส่วนบางกรณีกลับไม่ได้ประกันตัว ทั้งที่ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี หรือบางกรณีศาลสองระดับพิพากษาแตกต่างกัน กรณีหนึ่งได้ประกันตัว แต่อีกกรณีหนึ่งไม่ได้ประกันตัว หรือบางคดีที่โทษไม่สูงนัก ศาลชั้นต้นก็สั่งประกันตัวด้วยตนเอง แต่บางคดี กลับส่งให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาเป็นผู้สั่ง ทำให้เห็นความไม่แน่นอนชัดเจนของมาตรฐานการสั่งประกันตัวของศาลในช่วงที่ผ่านมา

.

.

ศาลพิพากษาคดีชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 5 คดี โดยยกฟ้องคดีทีมการ์ด Wevo 

เดือนมกราคมที่ผ่านไป ศาลต่าง ๆ ยังได้มีคำพิพากษาในคดีชุมนุมทางการเมือง ในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-2019 อีกจำนวน 5 คดี  

คดีสำคัญได้แก่ คดีของทีมการ์ด Wevo และประชาชน รวม 45 ราย ที่ถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมบริเวณเมเจอร์รัชโยธิน ก่อน #ม็อบ6มีนา64 และถูกกล่าวหาทั้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-อั้งยี่-ซ่องโจร-หลบหนีการจับกุม รวมทั้งหลายคนยังถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายในระหว่างจับกุม ศาลอาญาได้มีคำพิพากษายกฟ้อง 4 ข้อหานี้ทั้งหมด โดยศาลไม่เห็นว่ากลุ่ม Wevo มีจุดมุ่งหมายไม่ชอบด้วยกฎหมายตามที่โจทก์อ้าง และเห็นว่าโจทก์ไม่ได้ชี้ให้เห็นว่าการรวมตัวของจำเลยเป็นไปในสถานที่แออัดหรือมั่วสุมอย่างไร 

แต่ศาลลงโทษจำเลยบางส่วน ในข้อหาครอบครองยุทธภัณฑ์ (เสื้อเกราะ) และข้อหาครอบครองวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยมีทั้งลงโทษปรับ และลงโทษจำคุกแต่ให้รอลงอาญา แต่มีกรณีจำเลย 1 ราย ที่ถูกลงโทษจำคุก 2 เดือน 20 วัน และเคยต้องโทษจำคุกในคดีทางการเมืองอื่นมาก่อน ทำให้ศาลไม่รอลงอาญา แต่เขายังได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

.

.

ส่วนอีก 4 คดีนั้น ศาลพิพากษาให้มีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมด ได้แก่ คดีชุมนุม #ราษฎรยืนยันดันเพดาน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2564 ที่มีผู้ถูกฟ้องถึง 33 คน ศาลแขวงดุสิตได้ลงโทษปรับคนละ 6,000 บาท โดยเห็นว่าการชุมนุมไม่มีมาตรการป้องกันโรคตามที่กำหนด, 

คดีของสองสามีภรรยาที่ถูกจับกุมหลังขับรถออกมาจากที่ชุมนุม #ม็อบ29สิงหา64 ที่ดินแดง โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จากศาลชั้นต้น โดยเชื่อว่าทั้งสองคนเป็นผู้เข้าร่วมชุมนุม แต่เห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานว่าร่วมใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ ไม่มีความผิดตามมาตรา 215 แต่ลงโทษในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุก 6 เดือน ปรับคนละ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้

ส่วนคดีของ “ไมค์” กรณีทำกิจกรรม “ใครสั่งอุ้มวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” ที่จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2563 จากเดิมศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดี โดยเห็นว่ากิจกรรมใช้เวลาเพียง 40 นาที จำเลยยังใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา พื้นที่ในการทำกิจกรรมเป็นที่โล่งแจ้ง ช่วงจัดกิจกรรมมีการผ่อนปรนมาตรการโควิด-19 แต่หลังอัยการอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้กลับคำพิพากษา โดยเห็นว่ากิจกรรมเป็นการร่วมกันชุมนุมในสถานที่สาธารณะ มีผู้คนพลุกพล่าน เห็นว่ามีลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ลงโทษจำคุก 1 เดือน

นอกจากนั้น ยังมีคดีของเยาวชนอย่าง “ต้นอ้อ” ที่เข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ #15สิงหา64 ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เห็นว่ามีความผิด ลงโทษปรับ 4,000 บาท โดยศาลเห็นว่าแม้เหตุการณ์เดียวกัน ในคดีของผู้ใหญ่ ศาลอื่นจะยกฟ้อง แต่ผลไม่ได้ผูกพันคดีนี้

แนวโน้มคำวินิจฉัยคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากเหตุการชุมนุมทางการเมือง ยังพบว่ายังคาดเดาได้ยาก ในส่วนที่ต่อสู้คดี ศาลยังยกฟ้องในสัดส่วนมากกว่าเห็นว่ามีความผิด แต่ก็มีแนวคำวินิจฉัยที่ต่างกันไปสองแบบอย่างชัดเจน ระหว่างแนวที่ให้ความสำคัญในการชั่งน้ำหนักเสรีภาพในการชุมนุมกับสถานการณ์โรคระบาด หากเห็นว่าผู้ชุมนุมมีมาตรการป้องกันเพียงพอ ไม่ถึงขนาดชุมนุมในสถานที่แออัด ก็จะยกฟ้องคดี กับแนวที่เห็นว่าเพียงแค่มีการจัดการชุมนุมในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ถือว่ามีความผิดแล้ว

.

.

อานนท์ถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลเพิ่ม กรณีถอดเสื้อประท้วงในห้องพิจารณา ขณะคดีของ 6 นักกิจกรรม ศาลฎีกาแก้โทษให้การลงโทษกักขังไว้

เดือนที่ผ่านมา มีคดีละเมิดอำนาจศาลเพิ่มขึ้นใหม่อีก 1 คดี ได้แก่ คดีของอานนท์ นำภา ที่ถูกศาลอาญาตั้งเรื่อง จากกรณีที่เขาถอดเสื้อในห้องพิจารณา ประท้วงการไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารเพื่อประกอบการต่อสู้คดีของจำเลย ในคดีชุมนุมม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์

เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมา อานนท์ถูกเจ้าหน้าที่นำตัวมาศาล โดยไม่มีใครทราบล่วงหน้า แม้แต่อานนท์เอง และพยายามให้มีการไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาลในทันที โดยยังไม่มีทนายความเข้าร่วม จนในที่สุดจึงมีการเลื่อนคดีไปไต่สวนในวันที่ 5 มี.ค. 2568 

นอกจากนั้น ยังมีคดีของ 6 นักกิจกรรม ที่ถูกตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาล กรณีถูกกล่าวหาว่าไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กและเขียนข้อความบนผนังห้องขณะถูกควบคุมตัวในห้องควบคุมผู้ต้องขังของศาลจังหวัดธัญบุรี หลังศาลไม่ให้ประกันตัวในคดีชุมนุมหน้า บก.ตชด. ภาค 1 เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564  คดีนี้มีการต่อสู้มาถึงชั้นศาลฎีกา และศาลฎีกาได้พิพากษาแก้โทษ โดยให้ลงโทษกักขังคนละ 10 วัน ปรับคนละ 500 บาท โทษกักขังให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี จากเดิมที่ในศาลอุทธรณ์ไม่ให้รอการลงโทษไว้ ทำให้คดีสิ้นสุดลง

.

.

คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2 คดี ไปถึงชั้นอุทธรณ์: ศาลพิพากษายืนจำคุกคดีแฮกเว็บศาลรัฐธรรมนูญ – ยกฟ้องคดีแชร์โพสต์เพจ KonthaiUK

ในเดือนที่ผ่านมา ยังมีคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่น่าสนใจอีก 2 คดี ที่มีคำพิพากษาในชั้นศาลอุทธรณ์ ได้แก่ คดีของวชิระ ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 5, 7, 9 และ 10 กรณีแฮกเข้าไปเปลี่ยนแปลงหน้าเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็นเว็บเป็น ‘Kangaroo Court’ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2564 เพื่อร่วมแสดงออกถึงสถานการณ์คำวินิจฉัยในคดีล้มล้างการปกครองของแกนนำราษฎร 

คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน และในคดีส่วนแพ่ง ให้จ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 87,227 บาท แต่พิพากษาแก้อัตราดอกเบี้ยเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 แต่ไม่มากกว่าร้อยละ 5  แต่เขายังได้รับการประกันตัวในระหว่างฎีกาต่อไป

ส่วนอีกคดี ได้แก่ คดีประชาชน 3 คน ที่ถูกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) จากการแชร์โพสต์ข้อความจากเพจเฟซบุ๊ก “KonthaiUk” (คนไทยยูเค) มีเนื้อหาเกี่ยวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในช่วงเป็นรองนายกรัฐมนตรีขณะที่ คสช. ยังอยู่ในอำนาจ เมื่อปี 2561 ทั้งสามถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ทำให้ต้องต่อสู้คดีต่อมา แม้ในส่วนของจำเลยอีก 8 ราย ที่แชร์โพสต์จากเพจดังกล่าวในโพสต์อื่น ๆ ศาลชั้นต้นจะยกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสามในคดีนี้ โดยเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังนำสืบไม่ได้ว่าจำเลยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลกันเป็นเท็จอันกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ หรือน่าจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชนอย่างไร

สถานการณ์การแสดงออกออนไลน์ในคดีที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ไม่มีข้อหาหมวดความมั่นคงอื่น ๆ พ่วงด้วย ก็ยังเป็นสถานการณ์คดีที่ต้องจับตาต่อไป

.

X