วันที่ 14 ม.ค. 2568 เวลา 09.00 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ “ต้นอ้อ” ขณะเกิดเหตุอายุ 16 ปี จากการเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ15สิงหา #ขบวนกี3 เมื่อปี 2564
ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปรับ 4,000 บาท โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยยังฟังไม่ขึ้น แม้คดีผู้ใหญ่ ยกฟ้อง แต่ผลไม่ได้ผูกพันคดีนี้
.
สำหรับกิจกรรมคาร์ม็อบ15สิงหา #ขบวนกี3 หรือ #เฟมตัวร้ายกับนายคฝ.ตัวดี เป็นการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบครั้งที่ 3 ในปี 2564 ของกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก มีการทำกิจกรรมบริเวณซอยสีลม 2 ก่อนไปรวมตัวกับขบวนคาร์ม็อบกลุ่มอื่น ๆ
หลังจากการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางรัก ได้ส่งหมายเรียกให้ ชุมาพร แต่งเกลี้ยง, ศิริ นิลพฤกษ์, แทนฤทัย แท่นรัตน์ และ “ต้นอ้อ” (เยาวชน) เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ในคดีของต้นอ้อถูกแยกไปดำเนินคดีเยาวชน และถูกสั่งฟ้องทั้งในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และกีดขวางทางสาธารณะ ในขณะที่คดีผู้ใหญ่สามคนถูกสั่งฟ้องเพียงข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากข้อหาอื่น ๆ ขาดอายุความในเวลา 1 ปีไปแล้ว
คดีนี้เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2566 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางพิพากษาว่าต้นอ้อมีความผิดทุกข้อหา โดยศาลเห็นว่าจำเลยเข้าร่วมการรวมกลุ่มของผู้ชุมนุมที่มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโควิด-19 และขณะเกิดเหตุยังมีรายงานการติดเชื้อโควิด-19 โดยลงโทษปรับรวม 4,000 บาท โดยต้นอ้อได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา
ในขณะที่คดีผู้ใหญ่ ศาลแขวงพระนครใต้พิพากษายกฟ้องไปเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2566 โดยเห็นว่าสถานที่ชุมนุมเป็นพื้นที่โล่ง ไม่แออัด ผู้ชุมนุมไม่ได้ยืนใกล้ชิดเบียดเสียดกัน และยังมีการใส่หน้ากากอนามัย การนำสืบไม่ได้ปรากฏหลักฐานว่ามีการแพร่เชื้อโควิด-19 จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ร่วมกันกระทำผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
.
ศาลเห็นว่าโจทก์บรรยายคำฟ้องไม่เคลือบคลุม ถึงแม้คดีผู้ใหญ่จะยกฟ้องแต่ผลคำพิพากษาไม่ได้ผูกพันกับคดีนี้
วันนี้ (14 ม.ค. 2568) เวลา 09.37 น. ต้นอ้อเดินทางมายังห้องพิจารณาคดีที่ 4 โดยมีที่ปรึกษากฎหมายและอัยการโจทก์เข้าร่วมการฟังคำพิพากษาในวันนี้ด้วย
ก่อนที่จะเริ่มอ่านคำพิพากษา ศาลได้สอบถามว่าต้นอ้อมีผู้ปกครองหรือนายประกันมาด้วยหรือไม่ ที่ปรึกษากฎหมายตอบแทนว่าเนื่องจากผู้ปกครองต้นอ้ออยู่ต่างจังหวัด จึงทำให้ไม่สะดวกที่จะมา จากนั้นศาลได้เริ่มอ่านคำพิพากษาโดยสรุปใจความได้ ดังนี้
1. จำเลยอุทธรณ์ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ไม่บรรยายว่าสถานที่จัดกิจกรรมบริเวณถนนสีลมเป็นสถานที่แออัดอย่างไร
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจต่างเบิกความตรงกันว่าการจัดกิจกรรมเป็นการมั่วสุมโดยมีประชาชนประมาณ 30 คน บริเวณถนนสีลม ร่วมกันทำกิจกรรมในลักษณะแออัดบริเวณพื้นที่ที่มีการประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด เสี่ยงต่อการติดเชื้อ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก มีโอกาสติดเชื้อโรคโควิด-19 เนื่องจากไม่มีมาตรการป้องกันโรค
อีกทั้งพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวดในช่วงเวลานั้น การจัดกิจกรรมไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และมิใช่กิจกรรมที่ได้รับการยกเว้น คำฟ้องที่โจทก์บรรยายนับได้ว่าเป็นการแออัด ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 158 อนุ 5 แล้ว ดังนั้นฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
2. จำเลยอุทธรณ์ว่าไม่ได้กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและหลักฐานพยานของโจทก์ไม่มีน้ำหนัก จำเลยเป็นเพียงผู้เข้าร่วมการชุมนุมโดยใช้สิทธิขั้นพื้นฐาน
- ที่จำเลยอ้างว่าเห็นโพสต์เฟซบุ๊ก เลยเข้าร่วมการชุมนุมเพราะข้อเรียกร้องในการชุมนุมตรงกับความเห็นของตน ที่ต้องการให้มีการเยียวยาประชาชนจากการระบาดของโรคโควิด-19 และการชุมนุมไม่เป็นการแพร่เชื้อ เนื่องจากเป็นการชุมนุมคาร์ม็อบ ผู้ชุมนุมสวมหน้ากากอนามัย ที่จำเลยเขียนป้ายผ้าก็เพื่อต้องการแสดงออก
เห็นว่า พยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจ 3 นาย ได้เบิกความสอดคล้องกันว่าช่วงเวลาที่เกิดเหตุเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลได้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และขยายระยะเวลาออกไป โดยมีข้อกำหนดห้ามการชุมนุม ห้ามทำกิจกรรมในสถานที่ประกาศกำหนด จากการที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจสอบ พบเฟซบุ๊กชื่อกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก ได้โพสต์เชิญชวนให้เข้าร่วมการชุมนุมคาร์ม็อบ15สิงหา
ตำรวจที่ไปยังสถานที่ชุมนุมตอน 14.00 น. พบว่ามีผู้ชุมนุม 8 คน บางคนสวมหน้ากากอนามัยบ้างก็ไม่สวม จนเวลา 14.30 น. มีรถยนต์มาจอดใกล้พื้นที่ชุมนุม จากนั้นคนขับรถได้เดินไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมพร้อมนำป้ายผ้าสีขาวไม่มีข้อความไปวาง ผู้ชุมนุมมีการใช้สีสเปรย์ เขียนข้อความลงบนป้ายผ้า โดยจำเลยเองก็ร่วมเขียนด้วย หลังจากนั้นก็นำป้ายผ้าไปติดประดับรถบรรทุก
ต่อมา ชุมาพรใช้เครื่องขยายเสียงประกาศว่าใครที่ต้องการร่วมชุมนุมให้ขึ้นรถบรรทุก จำเลยและผู้ชุมนุมก็ขึ้นไปบนรถ ร่วมกันเต้นร้องรำทำเพลงหลังรถ จากนั้นขบวนรถก็เคลื่อนตัวไปโดยมีเจ้าพนักงานตำรวจติดตามขบวนจากการถ่ายทอดสอด และบางส่วนติดตามขบวนไปด้วย รถบรรทุกไปจอดที่บริเวณห้าแยกลาดพร้าว และได้มีการทำกิจกรรมอื่น ๆ ต่อ
นอกจากนี้โจทก์ยังมีพยานผู้เชี่ยวชาญเบิกความประกอบรูปและวิดีโอในการชุมนุมเบิกความว่าลักษณะดังกล่าวมีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 ได้
- ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยใช้สิทธิตามกฎหมายในการออกมาชุมนุมและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อมาก็ได้มีประกาศยกเลิก
เห็นว่า การออกประกาศดังกล่าวเป็นการออกข้อกำหนดเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนและออกโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว การประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน ประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง นับแต่วันที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับเท่านั้น แต่ไม่ได้ยกเลิกโทษที่เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดไปได้
- ที่จำเลยอ้างว่าอีกคดีของศาลแขวงพระนครใต้มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีผู้ใหญ่
เห็นว่า การจะพิจารณาว่าผู้ใดมีความผิดต้องแยกพิจารณาการกระทำเป็นรายบุคคลไป การจะนำผลคำพิพากษาของคดีอื่นมาผูกพันกับคดีนี้หาได้ไม่
จากการสืบพยานเห็นว่า ผู้ชุมนุมจอดรถกีดขวางทางจราจรจอดคร่อมบริเวณช่องทาที่ 1 และ 2 ผู้ชุมนุมยืนกีดขวางทางจราจร ส่วนจำเลยได้ร่วมนำสีสเปรย์ไปพ่นบนป้ายผ้า และนำป้ายผ้าไปประดับที่รถบรรทุก ทอดทิ้งสิ่งของบนทางสาธารณะ
อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน จำเลยมีความผิดตามฟ้องทุกข้อหา ให้ลงโทษปรับในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นจำนวน 4,000 บาท ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ ป.อ.มาตรา 385 เรื่องวางสิ่งของกีดขวางทางสาธารณะ การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำผิดกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่หนักสุดคือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 ลงโทษปรับ 2,000 บาท
จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ 1 ใน 3 ลดโทษปรับในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหลือ 3,000 บาท และลดโทษปรับตามมาตรา 385 เหลือ 1,000 บาท รวมโทษปรับทั้งสิ้น 4,000 บาท
ผู้พิพากษาที่อ่านคำพิพากษา ประสงค์ กระจ่างวุฒิชัย
.
สำหรับต้นอ้อถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการร่วมชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2564 รวมทั้งหมด 6 คดี โดยอัยการสั่งไม่ฟ้อง 1 คดี, คดียังอยู่ในชั้นสอบสวน 1 คดี ส่วนอีก 4 คดี ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษปรับ 4,000 บาท ทุกคดี และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนแล้ว 3 คดี ทั้งในคดีคาร์ม็อบขบวนกี 1, คดีชุมนุม #ล้วงคองูเห่าเอาให้อ้วกเป็นกล้วย ที่แยกอโศกมนตรี เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2564 และคดีนี้คือคาร์ม็อบขบวนกี 3
.
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง