3 ก.พ. 2568 ศาลแขวงดุสิตนัดคำฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดี #ม็อบมุ้งมิ้ง หรือชุมนุมปราศรัยหน้ากองทัพบก เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2563 ซึ่งมีนักกิจกรรม 5 ราย ได้แก่ อานนท์ นำภา, ‘ไมค์’ ภาณุพงศ์ จาดนอก, ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์, สุวรรณา ตาลเหล็ก และ ‘โตโต้’ ปิยรัฐ จงเทพ ถูกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, กีดขวางทางสาธารณะ, กีดขวางการจราจร และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
.
อ่านข้อมูลคดี>> ประมวลคดี “ม็อบมุ้งมิ้ง” ปราศรัยหน้ากองทัพบก ก่อนฟังคำพิพากษา 17 ต.ค. 65
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2565 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามฟ้อง ลงโทษในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปรับคนละ 20,000 บาท และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียง ปรับคนละ 200 บาท รวมปรับคนละ 20,200 บาท เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษให้ 1 ใน 4 คงเหลือโทษปรับคนละ 15,150 บาท จำเลยจึงได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จากนั้นศาลแขวงดุสิตได้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2567 ในวันดังกล่าว อานนท์, สุวรรณา และปิยรัฐ ได้เดินทางมาปรากฏตัวต่อศาล แต่ทนายความไม่สามารถติดต่อภาณุพงศ์และพริษฐ์ได้ ศาลจึงออกหมายจับและเลื่อนฟังคำพิพากษามาเป็นวันที่ 3 ก.พ. 2568
.
เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกาศใช้กับทุกคน ไม่ใช่เฉพาะผู้จัดหรือผู้ชุมนุม และสถานที่แออัดไม่ได้พิจารณาเพียงว่าเป็นสถานที่คับแคบ อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ต้องพิจารณาลักษณะของการชุมนุมด้วย
วันนี้ (3 ก.พ. 2568) เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณา 409 สุวรรณาและปิยรัฐได้เดินทางมาศาล พร้อมกับมีประชาชนมาร่วมให้กำลังใจ ส่วนอานนท์ถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และอยู่ในห้องขังบริเวณใต้ถุนศาล เนื่องจากวันนี้มีคดีอื่นที่ศาลต้องพิจารณาก่อน
เวลา 10.00 น. อานนท์ได้ถูกเบิกตัวขึ้นมายังห้องพิจารณา ศาลได้เริ่มอ่านคำพิพากษาโดยสรุปใจความได้ว่า
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยทั้งห้าได้กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่
ประเด็นที่ 1 จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งห้ามิได้เป็นผู้จัดการชุมนุม สถานที่ชุมนุมไม่แออัด
เห็นว่า ขณะเกิดเหตุมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร โดยข้อกำหนด ฉบับที่ 1 ข้อ 5 กำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัด และข้อ 16 ให้ข้อกำหนดนี้ใช้บังคับทั่วราชอาณาจักร
ซึ่งในข้อกำหนดข้อ 5 เป็นการกำหนดห้ามชุมนุมกับบุคคลทุกคนเป็นการทั่วไป มิได้บัญญัติบังคับใช้เฉพาะผู้จัดการชุมนุม หรือผู้เชิญชวน หรือผู้นัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุม หรือผู้ประสงค์จะจัดให้มีการชุมนุม การที่จำเลยทั้งห้าเข้าร่วมชุมนุมในสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุมดังกล่าว
และการชุมนุมในสถานที่แออัดก็มิได้หมายความว่า ต้องเป็นสถานที่คับแคบหรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวกเท่านั้น หากแต่ต้องพิจารณาถึงลักษณะของการชุมนุมประกอบด้วย ซึ่งตามภาพถ่ายการชุมนุมเห็นว่ามีบุคคลในสถานที่ชุมนุมนั่งและยืนรวมเป็นกลุ่มใหญ่ติดกัน แม้สถานที่ชุมนุมจะเปิดโล่งก็ถือได้ว่าเป็นการชุมนุมในสถานที่แออัดแล้ว
ประเด็นที่ 2 จำเลยอุทธรณ์ว่า การชุมนุมมีการจัดระเบียบ กั้นเป็นพื้นที่ชุมนุมไว้ ไม่เกะกะกีดขวางการจราจร
เห็นว่า ในการเบิกความของพยานโจทก์ พ.ต.ท.บุญโปรด แสงทับทิม กับ ด.ต.พจน์ เหลือแดง เบิกความสอดคล้องกันว่า มีการจัดเวทีขนาดเล็ก วางลำโพงอยู่บนถนนคู่ขนานถนนราชดำเนิน ผู้ชุมนุมบางส่วนนั่งอยู่บนเกาะกลางถนน บางส่วนนั่งอยู่บนช่องทางคู่ขนาน
เมื่อจำเลยทั้งห้ามาถึงที่ชุมนุมและให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ผู้ชุมนุมก็ลงมาที่พื้นผิวถนน ต้องมีการเจรจาเพื่อขอเปิดช่องทางจราจร 1 ช่องทางด้วย จึงเป็นการตั้งเวทีชั่วคราวและลำโพงในลักษณะกีดขวางการจราจร
ประเด็นที่ 3 จำเลยอุทธรณ์ว่า การใช้เครื่องเสียงในการปราศรัย เป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารที่จำเป็นและพอสมควรของการชุมนุม อันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ต้องขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่
เห็นว่า พยานโจทก์ ด.ต.พจน์ เหลือแดง เบิกความว่า ในที่ชุมนุมมีลำโพงที่มีเครื่องขยายเสียงในตัวทั้งหมด 7 ตัว เป็นแบบไร้สายสามารถลากไปได้เหมือนกระเป๋า และจำเลยที่ 1 เอง ก็เบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่า เครื่องขยายเสียงเป็นแบบชาร์จไฟด้วยแบตเตอรี่
ดังนั้น ลำโพงที่มีเครื่องขยายเสียงในตัวทั้งเจ็ดจึงเป็นเครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า ที่จำเลยทั้งห้าในฐานะผู้แสดงความคิดเห็นแก่ประชาชน อันถือว่าเป็นผู้ทำการโฆษณา ตามบทนิยามคำว่า “โฆษณา” ในมาตรา 3 และ มาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 จะต้องขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนทำการโฆษณา จำเลยทั้งห้ามิได้ขออนุญาตก่อน จึงมีความผิดฐานร่วมกันทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต
สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยข้ออื่น ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ มี พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ใช้บังคับ โดยมาตรา 39 ให้เปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวตามกฎหมายในบัญชี 1 ท้ายพระราชบัญญัติ เป็นความผิดทางพินัย ถือว่าอัตราโทษปรับอาญาเป็นอัตราค่าปรับเป็นพินัย
เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าในความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 114, 148, ข้อหาร่วมกันกีดขวางการจราจร และ พ.ร.บ. ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 4, 9 วรรคหนึ่ง ข้อหาร่วมกันทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียว ศาลอุทธรณ์จึงต้องพิจารณาปรับเป็นพินัย ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบ มาตรา 215
แต่สำหรับข้อหาร่วมกันกีดขวางการจราจร เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นทั้งความผิดทางพินัยและความผิดทางอาญา เมื่อศาลพิพากษาลงโทษอาญา ความผิดทางพินัยย่อมเป็นอันยุติ ตาม พ.ร.บ.ค่าปรับเป็นพินัยฯ มาตรา 16
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ปรับเป็นพินัยคนละ 200 บาท ทางนำสืบของจำเลยทั้งห้าเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละ 1 ใน 4 คงปรับเป็นพินัยคนละ 150 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
.
หลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จ สุวรรณาได้ถามว่า คำพิพากษานี้หมายความว่าจะได้เงินคืนหรือไม่ ศาลจึงอธิบายเพิ่มเติมว่า เดิมศาลชั้นต้นได้ลงโทษปรับคนละ 20,200 บาท ลดโทษให้ 1 ใน 4 คงเหลือโทษปรับคนละ 15,150 บาท คำพิพากษาอุทธรณ์เพียงแค่แก้ไขการลงโทษในส่วนค่าปรับอาญาเป็นปรับทางพินัยให้ถูกต้อง โดยมีค่าปรับเท่าเดิม
ผู้พิพากษาที่อ่านคำพิพากษา ได้แก่ ณภัทร โคภัย
ผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษา ได้แก่ สิทธิพงศ์ ตัญญพงศ์ปรัชญ์, สมศักดิ์ อุไรวิชัยกุล และภัทรศักดิ์ ศิริสินธว์
.
สำหรับคดีชุมนุม #ม็อบมุ้งมิ้ง เป็นกิจกรรมที่หน้ากองทัพบก เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2563 จัดขึ้นเพื่อตอบโต้คำปรามาสของ พ.อ.หญิง นุสรา วรภัทราทร อดีตรองโฆษกกองทัพบก ที่ให้สัมภาษณ์ว่า การชุมนุม “เยาวชนปลดแอก” เป็น “ม็อบมุ้งมิ้ง” พร้อมทั้งตั้งคำถามกับการจัดสรรงบประมาณของกองทัพบก หลังมีข่าวว่ากองทัพบกอนุมัติจัดซื้ออาวุธและเครื่องบิน VIP