วันที่ 21 ม.ค. 2568 เวลา 9.00 น. ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ “อานนท์ นำภา” กับพวกรวม 33 คน กรณีร่วมกิจกรรม #ราษฎรยืนยันดันเพดาน #ม็อบ24มิถุนา64 ช่วงย่ำรุ่งไปจนถึงสายวันที่ 24 มิ.ย. 2564 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อรำลึกครบรอบ 89 ปี การอภิวัฒน์สยาม
พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 – 8 และ 10 – 33 กระทำความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ลงโทษปรับคนละ 9,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษลงหนึ่งในสาม คงปรับคนละ 6,000 บาท
.
คดีนี้ ร.ต.อ.โยธี เสริมสุขต่อ รองสารวัตร (สอบสวน) สน.สำราญราษฎร์ ได้ทยอยแจ้งข้อกล่าวหากับจำเลยทั้ง 33 คน มาตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน ปี 2564
ต่อมาวันที่ 31 ต.ค. และ 14 พ.ย. 2565 มีชัย เกิดวิบูลย์เวช พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ได้สั่งฟ้องคดีต่อศาล โดยฟ้องแยกเป็น 3 คดี บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า การชุมนุมในวันเกิดเหตุเป็นการร่วมกันจัดกิจกรรมชุมนุม มั่วสุม ของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 50 คนที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคและในลักษณะแออัดก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ โดยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดโรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดได้กับผู้เข้าร่วมชุมนุมและทำกิจกรรมตามที่ทางราชการกำหนด ซึ่งมีคำสั่งกำหนดเป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ และไม่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ต่อมาศาลให้พิจารณาทั้งสามคดีรวมกัน และดำเนินการสืบพยานโจทก์และจำเลยในระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ปี 2567 โดยในระหว่างการพิจารณาคดี “ลุงกฤต” ธนกฤต สุขสมวงศ์ (จำเลยที่ 9) ได้เสียชีวิตลงด้วยโรคประจำตัว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ศาลจึงจำหน่ายคดีในส่วนนี้ออกจากสารบบความ
วันนี้ (21 ม.ค. 2568) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 408 เนื่องจากในช่วงเช้าจำเลยยังเดินทางมาศาลไม่ครบ ศาลจึงให้เลื่อนไปฟังคำพิพากษาในช่วงบ่าย
เวลา 13.00 น. เมื่อจำเลยเดินทางมาครบ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้เบิกตัวอานนท์ (จำเลยที่ 1) และ “ไบร์ท” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง (จำเลยที่ 24) ขึ้นมาร่วมฟังคำพิพากษาบนห้องพิจารณาคดี จำเลยคนอื่น ๆ จึงเข้าไปทักทายและสวมกอดทั้งคู่ ต่อมาผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษา สามารถสรุปได้ดังนี้
พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า วันเวลาและสถานที่เกิดเหตุมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 – 8 และ 10 – 33 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายคนเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุ ทราบจากเพจเฟซบุ๊กชื่อ
“เยาวชนปลกแอก – Free Youth”, “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม”, “ราษฎร” และเฟซบุ๊กของจำเลยที่ 4 (“เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์) ชักชวนให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรม “ราษฎรยืนยันดันเพดาน” ซึ่งมีกลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม”, “ทะลุฟ้า” และ “We Volunteer” เป็นต้น ร่วมกันจัดขึ้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ “89 ปีอภิวัฒน์สยาม 2475” และเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญและยกเลิกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จากนั้นจะเคลื่อนขบวนไปรัฐสภาเพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
วันเกิดเหตุ เวลา 3.30 น. จำเลยที่ 2 (“ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) กับกลุ่มทะลุฟ้า จัดกิจกรรมโดยนำป้ายผ้า “89 ปี อภิวัฒน์สยาม” ไปติดตั้งที่ปีกอนุสาวรีย์ทั้งสี่ด้าน และนำหมุดคณะราษฎรมาตั้งบริเวณอนุสาวรีย์ ต่อมาในเวลา 5.30 – 5.50 น. มีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 100 – 200 คน
ต่อมาได้มีการร่วมกันอ่านคำแถลงการณ์และจุดเทียน โดยเห็นว่าผู้ชุมนุมทำกิจกรรมติดกัน ไม่เว้นระยะห่าง ลักษณะแออัด ผู้ชุมนุมไม่สวมหน้ากากอนามัย มีการใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยและอ่านคำแถลงการณ์ บริเวณที่ชุมนุมไม่มีการตั้งจุดคัดกรองหรือตรวจวัดอุณหภูมิ ไม่มีเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ เป็นการชุมนุมที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ผู้กำกับการ สน.สำราญราษฎร์ ประกาศให้ยุติการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมเพิกเฉยและชุมนุมต่อ
ต่อมาผู้ชุมนุมเดินขบวนไปรัฐสภา บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ผู้กำกับการ สน.นางเลิ้ง ประกาศแจ้งให้ยุติการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย แต่ผู้ชุมนุมไม่ยุติ เคลื่อนขบวนถึงหน้ารัฐสภา 13.30 น. มีผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 300 – 500 คน โดยการเคลื่อนขบวนไม่มีการเว้นระยะห่าง ลักษณะแออัด ไม่สวมหน้ากากอนามัย จำเลยเข้าไปในรัฐสภายื่นข้อเรียกร้องเป็นหนังสือเปิดผนึก จากนั้นจำเลยที่ 2 ประกาศยุติการชุมนุมและให้เดินไปรวมตัวที่สกายวอล์คหน้าห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง
เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนทราบว่า จำเลยที่ 1 – 8 และ 10 – 33 เข้าร่วมทำกิจกรรมในการชุมนุมตามฟ้อง
ช่วงเกิดเหตุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับ 33) กำหนดให้การจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงแพร่โรคให้ดำเนินการโดยจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่เกิน 50 คน หากเกิน 50 คน แต่น้อยกว่า 500 คนให้ขออนุญาตต่อสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร แต่การจัดกิจกรรมชุมนุมตามฟ้องมิได้มีการขออนุญาตแต่อย่างใด
เห็นว่า การชุมนุมไม่เป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโรคที่ทางราชการกำหนด ที่จำเลยอ้างว่าการชุมนุมเป็นสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 นั้น มีข้อยกเว้นให้สามารถจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมได้โดยอาศัยกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อความมั่นคง ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น โดยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นสถานการณ์กระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชน ข้อกล่าวอ้างของจำเลยไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างโจทก์ได้
พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 – 8 และ 10 – 33 กระทำความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ลงโทษปรับคนละ 9,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษลงหนึ่งในสาม คงลงโทษปรับคนละ 6,000 บาท ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้น เนื่องจากคดีนี้ไม่ได้ลงโทษจำคุก คำขอดังกล่าวให้ยก
ผู้พิพากษาที่ลงนามในคำพิพากษา ได้แก่ ชูชาติ ณ ระนอง
สำหรับกิจกรรมชุมนุม “ราษฎรยืนยันดันเพดาน 89 ปี การอภิวัฒน์สยาม” จัดขึ้นโดยกลุ่มราษฎร ในวันนั้นมีการปราศรัยสนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง รวมไปถึงการร่างรัฐธรรมนูญที่ยุติการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ และสามารถแก้ไขได้โดยไม่มีข้อยกเว้นในหมวดใด รวมถึงยืนยันข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กิจกรรมยังมีการจำลองหมุดคณะราษฎร, จุดเทียนรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง และการอ่านแถลงการณ์ของคณะราษฎรร่วมกัน