เพจทะลุฟ้าแจ้งข่าวการจากไปอย่างสงบของ “ลุงกฤต” เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 1 ก.พ. 2567 ด้วยโรคประจำตัว โดยบรรยายถึงลุงกฤตว่า “ลุงกฤตคือนักสู้เพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยในการเคลื่อนไหวช่วงปี 2563 เป็นต้นมา ลุงกฤตร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มทะลุฟ้า และดูแลพวกเรามาโดยตลอด แม้สูงอายุแต่ไม่เคยมองว่าเป็นอุปสรรค ยังยืนหยัดต่อสู้กับพวกเราตลอดมา”
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเคยพูดคุยกับลุงกฤต ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผู้ถูกดำเนินคดีและเคยถูกจับกุมคุมขังจากการออกมาร่วมชุมนุมทางการเมือง เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับต่อสู้คดีเอาไว้ในช่วงปี 2564 จึงนำเรื่องราวมาบอกเล่าเอาไว้เพื่อระลึกถึงเขา
“ลุงกฤต” หรือชื่อจริงคือ ธนกฤต สุขสมวงศ์ อายุ 68 ปี เกิดที่จังหวัดสุพรรณบุรี ต่อมาไปใช้ชีวิตและทำงานที่ปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ โดยเคยประกอบอาชีพเป็นพ่อครัว และยังเคยขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง
ขณะที่คู่ชีวิตของลุงกฤต คือ “ป้าป้อม” ก็เคยประกอบอาชีพเป็นแม่ครัวเช่นกัน ทำให้ทั้งสองคนเมื่อไปร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มทะลุฟ้า เป็นผู้ทำอาหารอันมีรสมือที่สร้างความเอร็ดอร่อยให้กับผู้คน ทั้งคู่มีลูกชายด้วยกัน 2 คน โดยลูกชายคนเล็กได้เสียชีวิตไปแล้ว
ลุงกฤตเล่าว่า เขาสนใจการเมืองมาตั้งแต่ยังเป็นหนุ่ม ในยุครัฐบาลเผด็จการถนอม-ประภาส ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยตอนนั้นลุงกฤตศึกษาอยู่ชั้น มศ.3 ที่โรงเรียนวชิรธรรมสาธิต และมีกลุ่มนักศึกษาที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ไปแจกปลิวที่โรงเรียน ทำให้มีโอกาสได้ไปติดตามดู
ลุงกฤตบอกว่าเขาสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเรื่อยมา หากมีการชุมนุมไหนที่เห็นว่าจะช่วยสร้างสรรค์หลักการนี้ในสังคมไทย ก็มักจะไปร่วม โดยทั้งลุงกฤตและป้าป้อมได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวของขบวนการคนเสื้อแดงในยุคก่อนหน้านี้
ลุงกฤตเล่าว่าในการออกมาเคลื่อนไหวของทั้งคู่ ลูกชายก็ไม่เคยคัดค้าน เพียงแต่อยากให้บอกลูกไว้ว่าจะไปชุมนุมหรือทำอะไรที่ไหน จะได้ไม่ต้องเป็นห่วงมาก
ในยุคหลังรัฐประหาร 2557 ลุงกฤตติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มดาวดิน รวมทั้ง “ไผ่ จตุภัทร์” โดยเคยฟังการปราศรัยของไผ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนเมื่อเริ่มมีการเคลื่อนไหวของเยาวชนคนรุ่นใหม่ เขาก็ได้ไปร่วมการชุมนุมด้วย เพราะสนับสนุนการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เห็นว่าเป็นเผด็จการทหาร ออกไป
.
.
วันที่ 13 ต.ค. 2563 ลุงกฤตไปร่วมกิจกรรมของไผ่ ที่ตอนนั้นใช้ชื่อว่า “ราษฎรอีสาน” ปักหลักรอการชุมนุมใหญ่ในวันถัดไป ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำให้เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุม ลุงกฤตได้พยายามป้องกันไม่ให้ คฝ. เข้ามาถึงรถปราศรัยเพื่อจับกุมตัวไผ่ เขาก็กลับกลายเป็นคนหนึ่งที่ถูกจับกุมไปที่ บก.ตชด. ภาค 1 กับผู้ชุมนุมคนอื่น ๆ ด้วย และยังถูกกล่าวหาดำเนินคดีจากการชุมนุมครั้งนั้นถึง 11 ข้อหา การถูกจับกุมครั้งนั้น ยังทำให้ลุงกฤตถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลา 7 วัน เมื่อในช่วงแรกศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว
ลุงกฤตยังบอกเล่าว่าระหว่างถูกจับกุมในวันนั้น เขาถูกเจ้าหน้าที่ คฝ. ตบเข้าที่บริเวณหู โดยขณะนั้นเขาก็ไม่ได้ขัดขืนการจับกุมหรือพยายามต่อสู้แต่อย่างใด เมื่อพยายามถามว่าตบเขาทำไม ก็ไม่ได้รับคำตอบใด ๆ
เหตุการณ์คราวนั้น นอกจากทำให้ลุงกฤตทั้งถูกดำเนินคดีเป็นครั้งแรก และถูกคุมขังเป็นครั้งแรกแล้ว ก็ยังทำให้เขาได้รู้จักตัวจริงของไผ่ และนักกิจกรรมหลาย ๆ คน ที่ต่อมาจะเคลื่อนไหวในนามกลุ่มทะลุฟ้าอีกด้วย
หลังจากเหตุการณ์นั้น ลุงกฤตและภรรยาก็ได้อาสาไปเป็นพ่อค้าและแม่ครัวให้กับกลุ่มทะลุฟ้า หากมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวเมื่อใด โดยเขาบอกว่าไม่ได้มีตำแหน่งใดในกลุ่ม เพียงแต่อยากไปทำอาหารให้กับน้อง ๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวทุกคน และไปร่วมกิจกรรมตามโอกาสอำนวย
การร่วมเคลื่อนไหวครั้งใหญ่อีกครั้งของลุงกฤตและป้าป้อม คือการร่วม “เดินทะลุฟ้า” จากโคราชเข้ามายังกรุงเทพฯ จนมีการปักหลักเป็น “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ทั้งคู่ได้ร่วมเป็นพ่อครัวแม่ครัวทำอาหารให้กับผู้มาร่วมหมู่บ้าน จนกลายเป็นสองคนที่ถูกจับกุมดำเนินคดีไปด้วย เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าสลายหมู่บ้านทะลุฟ้า เช้าวันที่ 28 มี.ค. 2564
หลังจากนั้นลุงกฤต ก็ยังถูกดำเนินคดีจากการไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองอีก 3 คดี ได้แก่ คดีชุมนุม #ราษฎรยืนยันดันเพดาน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2564, คดีชุมนุม #ม็อบ27กันยา2564 #หยุดราชวงศ์ประยุทธ์ และคดี #ม็อบ14พฤศจิกา2564 ชุมนุมคัดค้านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดีล้มล้างการปกครองฯ
จากจำนวน 5 คดีที่ลุงกฤตถูกกล่าวหา ล้วนยังไม่สิ้นสุดลง โดยมี 3 คดีที่ยังอยู่ในชั้นศาล และอีก 2 คดีอยู่ในชั้นสอบสวน เช่นเดียวกับป้าป้อม ที่ไปกับลุงกฤตด้วย ก็ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุม 2 คดีเช่นกัน
ลุงกฤตเคยบอกว่าเขาไม่ได้เกรงกลัวผลกระทบจากการถูกดำเนินคดีเท่าไร และเขายังคงออกมาร่วมเคลื่อนไหวตามกำลังที่ตนเองมี แต่การถูกดำเนินคดีก็ได้สร้างภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่อสู้คดีเป็นระยะ รวมทั้งสร้างความรู้สึกผิดหวังต่อการใช้กฎหมายเช่นนี้ของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองกับประชาชน
ก่อนเสียชีวิต ลุงกฤตมีโรคประจำตัวหลายโรค อาทิเช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน-เบาเค็ม ความดันสูง และโรคเก๊า ทำให้สุขภาพไม่ค่อยดีนัก
ไผ่ จตุภัทร์ ได้บอกเล่าว่าก่อนเสียชีวิต และลุงกฤตต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ได้โทรศัพท์สอบถามถึงกิจกรรมของกลุ่มทะลุฟ้า ซึ่งจัดงานไว้อาลัยครบรอบ 1 ปี การเสียชีวิตของ “ลุงไพโรจน์” ประชาชนอีกคนหนึ่ง ระหว่างร่วมกิจกรรมรณรงค์หน้าศาล เพราะลุงกฤตคอยติดตามการเคลื่อนไหวเสมอ แม้จะไม่สามารถไปร่วมได้ก็ตาม จนกระทั่งต้องออกเดินทางไกลในที่สุด
คงพอกล่าวได้ว่า ลุงกฤต เป็นสามัญชนคนธรรมดาอีกคนหนึ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดัน ต่อสู้ เคลื่อนไหว อันยาวนาน เพื่อสร้างประชาธิปไตยในสังคมไทย
งานสวดพระอภิธรรมศพของลุงกฤตจะมีขึ้นที่วัดชัยมงคล จ.สมุทรปราการ ในวันที่ 2-3 ก.พ. นี้ และมีพิธีฌาปณกิจในวันที่ 4 ก.พ. 2567
.