13 ม.ค. 2568 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงระยองนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 คดีของ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการจัดกิจกรรม “ใคร สั่ง อุ้ม? วันเฉลิม” ที่บริเวณหน้าอาคารศูนย์เยาวชน สวนสาธารณะสวนศรีเมือง จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2563
เหตุของคดีนี้สืบเนื่องมาจากการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2563 ทวงถาม “ใคร สั่ง อุ้ม?” วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ถูกอุ้มหายที่พนมเปญ กัมพูชา ขณะลี้ภัยทางการเมือง ที่บริเวณด้านหน้าหอสมุดและศูนย์เยาวชน เทศบาลนครระยอง สวนศรีเมือง ต.ท่าประดู่ อ.เมืองระยอง
ในกิจกรรม มีการผูกโบว์ข้อมือซ้าย และเดินถือป้ายแห่รอบสวนศรีเมืองเป็นเวลา 40 นาที คือระหว่าง 17.00-17.30 น. กิจกรรมเป็นไปด้วยความสงบ มีการป้องกันการแพร่โรคโดยการสวมหน้ากากอนามัย ทั้งนี้ ในระหว่างการจัดกิจกรรม มีตำรวจนอกเครื่องแบบ สภ.เมืองระยอง และตำรวจสันติบาลจังหวัดระยอง คอยสังเกตการณ์ด้วย
ย้อนไปเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2567 ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาโดยสรุปเห็นว่า จำเลยทำกิจกรรมเพียง 40 นาที โดยที่ประชาชนไม่ได้ให้การสนใจ อีกทั้งจำเลยยังใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา พื้นที่ในการทำกิจกรรมเป็นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเท ประกอบกับในช่วงที่จัดกิจกรรมมีการผ่อนปรนมาตรการป้องกันโควิด-19 เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดลดลง ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง
ต่อมา โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คดีนี้ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูงภาค 2 เป็นผู้รับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
.
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ จำคุก 1 เดือน ชี้กิจกรรมเป็นการร่วมชุมนุมในสถานที่สาธารณะที่มีคนพลุกพล่านและมีพฤติการณ์ยั่วยุให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย เสี่ยงต่อการแพร่โรค
ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 3 มีเพียงผู้รับมอบฉันทะทนายจำเลยเดินทางมาฟังคำพิพากษา ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ สรุปใจความได้ดังนี้
ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2563 จำเลยกับพวกประมาณ 10 คน ได้ร่วมชุมนุมทำกิจกรรมชูป้ายที่มีรูปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เดินไปรอบ ๆ สวนศรีเมือง จังหวัดระยอง เป็นเวลาประมาณ 40 นาที
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุเป็นช่วงเวลาที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคระบาดร้ายแรงและแพร่กระจายอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว รัฐบาลจึงได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร และมีการขยายระยะเวลาเรื่อยมาจนถึงวันเกิดเหตุคดีนี้
และออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงวันที่ 25 มี.ค. 2563 ห้ามมิให้มีการชุมนุมการทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย โดยไม่มีข้อยกเว้นว่าหากเป็นการชุมนุมโดยสงบหรือสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรคระบาดแล้วจะไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย หรือหากการชุมนุมทำกิจกรรมโดยไม่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคแล้วจะไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย
ข้อกำหนดดังกล่าวออกในช่วงเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะฉุกเฉินอันเนื่องจากเกิดโรคระบาดที่อันตรายร้ายแรงและแพร่กระจายอย่างกว้างขวางและรวดเร็วเป็นอันตรายต่อชีวิต สุขภาพ และอนามัยของประชาชน รัฐบาลจะไม่อนุญาตให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะหรือสถานที่ใด ๆ โดยเด็ดขาด
ดังนั้น กิจกรรมดังกล่าวของจำเลยกับพวกจึงเป็นการร่วมกันชุมนุมในสถานที่สาธารณะซึ่งเป็นสถานที่ที่มีผู้คนพลุกพล่านและเป็นการชุมนุมที่มีพฤติการณ์ยั่วยุให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย มีลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ต้องห้ามและเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบรับฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ แต่ที่โจทก์มีคำขอให้สั่งห้ามจำเลยออกนอกเคหสถานหรือห้ามเข้าเขตกำหนด หรือห้ามเข้าไปในท้องที่หรือสถานที่ที่กำหนด หรือมีคำสั่งให้จำเลยทำทัณฑ์บน และหากจำเลยไม่ยอมทำทัณฑ์บนหรือหาประกันไม่ได้ให้กักขังจำเลยไว้จนกว่าจะทำทัณฑ์บนหรือหาประกันได้นั้น เนื่องจากปัจจุบันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้คลี่คลายลง และรัฐบาลมิได้ขยายเวลาให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินให้มีผลใช้บังคับอีกต่อไป จึงไม่มีความจำเป็นต้องสั่งห้ามจำเลยมิให้กระทำการหรือให้กระทำการตามคำขอของโจทก์ดังกล่าว
ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่อาจรับฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยและมีลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 9 (2) วรรคหนึ่ง และมาตรา 18 จำคุก 1 เดือน ส่วนที่โจทก์มีคำขอให้นับโทษจำคุกของจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่นนั้น ไม่ปรากฏว่าในคดีดังกล่าวศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย จึงให้ยกคำขอนับโทษต่อ และคำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
ผู้พิพากษาที่ลงนามในคำพิพากษา ได้แก่ ประทีป เหมือนเตย, สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ และ มนัส อานามวัฒน์
.
ทั้งนี้ สำหรับการจัดกิจกรรมทวงคืนความเป็นธรรมให้วันเฉลิม หรือ #Saveวันเฉลิม เกิดขึ้นตั้งแต่มีข่าวการหายตัวไปของวันเฉลิมในประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2563 โดยมีการแสดงออกทางสัญลักษณ์โดยใช้โบว์สีขาว เช่น กลุ่ม สนท.ผูกโบว์ขาวที่รั้วกรมทหารราบที่ 11 รวมไปถึงการจัดกิจกรรม “ทวงความเป็นธรรมให้วันเฉลิม” บริเวณสกายวอล์คหน้าห้างมาบุญครอง เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2563 และการยื่นจดหมายทวงถามความเป็นธรรมหน้าสถานทูตกัมพูชา โดย 4 นักกิจกรรมเครือข่าย People Go และ กป.อพช. ในวันที่ 8 มิ.ย. 2563