อัยการยื่นฟ้อง “ไมค์” ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พร้อมขอให้ลงโทษสถานหนัก เหตุเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับวันเฉลิมที่ระยอง

วันนี้ (18 มิ.ย. 64) ที่ศาลแขวงระยอง พนักงานอัยการคดีศาลแขวงระยองยื่นฟ้อง “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก ต่อศาล ด้วยข้อหา ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม  พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการจัดกิจกรรม ใคร สั่ง อุ้ม? วันเฉลิม ที่บริเวณหน้าอาคารศูนย์เยาวชน สวนสาธารณะสวนศรีเมือง จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 63

หลังศาลรับฟ้อง ทนายจำเลยได้ยื่นประกันตัวระหว่างพิจารณา ศขอให้าลให้ประกันโดยไม่ต้องวางหลักประกัน และแต่งตั้งมารดาของไมค์ เป็นผู้กำกับดูแล พร้อมกำหนดวันนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และกำหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 2 ส.ค. 64 เวลา 9.00 น. 

เหตุของคดีนี้สืบเนื่องมาจากการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ทวงถาม “ใคร สั่ง อุ้ม?” วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ถูกอุ้มหายที่พนมเปญ กัมพูชา ขณะลี้ภัยทางการเมือง เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 63 ที่บริเวณด้านหน้า หอสมุดและศูนย์เยาวชน เทศบาลนครระยอง สวนศรีเมือง ต.ท่าประดู่ อ.เมืองระยอง

ในกิจกรรม มีการผูกโบว์ข้อมือซ้าย และเดินถือป้ายแห่รอบสวนศรีเมืองเป็นเวลา 40 นาที คือระหว่าง 17.00-17.30 น. โดยกิจกรรมเป็นไปด้วยความสงบ มีการป้องกันสวมหน้ากาก ทั้งนี้ ในระหว่างการจัดกิจกรรม มีตำรวจนอกเครื่องแบบ สภ.เมืองระยอง และตำรวจสันติบาลระยอง คอยสังเกตการณ์ด้วย

>> โดนอีก เยาวชนระยอง ถูกแจ้งข้อหาฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังจัดกิจกรรม ใคร สั่ง อุ้ม? วันเฉลิม 

.

.

เปิดคำฟ้อง ชี้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พร้อมให้ประกันโดยไม่ต้องวางหลักประกัน

สำหรับคำฟ้องในคดีนี้ มี น.ส.สุพรรณา ลิ้มถาวรวงศ์ พนักงานอัยการศาลแขวงระยอง เป็นผู้ฟ้องคดี ในฐานความผิด ฝ่าฝฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยคำฟ้องระบุว่า

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 63 อยู่ในห้วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 และ นายกรัฐมนตรีได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ออกข้อกำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือมั่วสุม ณ ที่ใดๆ สถานที่แออัดหรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

ในวันดังกล่าว จำเลยจัดกิจกรรมการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ชูสามนิ้วและชูป้ายเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองในต่างประเทศที่หายสาบสูญไป โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก มีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย ที่บริเวณหน้าอาคารศูนย์เยาวชน สวนสาธารณะสวนศรีเมือง จังหวัดระยอง ถือเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยและมีลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค

ต่อมา เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 63 พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลย ซึ่งจำเลยได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ได้ถูกควบคุมตัวไว้ จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องผัดฟ้อง แต่เมื่อครบกำหนดผัดฟ้องครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 63 พนักงานอัยการไม่ได้ยื่นฟ้อง และได้อนุญาตฟ้องต่ออัยการสูงสุด ซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมายรองอัยการสูงสุดและอธิบดีอัยการภาคอนุญาตให้ฟ้องจำเลยแล้ว

โดยอัยการถือว่าการกระทำดังกล่าวของภาณุพงศ์เป็นความผิดฐาน ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  

ในท้ายคำฟ้อง อัยการระบุว่า จำเลยเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.539/2564 ของศาลอาญา (คดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่สนามหลวง) ในข้อหาตามมาตรา 112, 116 และ 215 ตามประมวลกฎหมายอาญา, พ.ร.บ.โบราณสถาน ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504, พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ ซึ่งคดียังอยู่ระหว่างพิจารณาเช่นกัน ขอให้ศาลนับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ อัยการยังระบุว่า การกระทำของจำเลยดังกล่าวนอกจากจะเป็นการกระทำผิดตามกฎหมายแล้ว ยังส่งผลให้มาตรการที่รัฐบาลกำหนดให้ประชาชนปฏิบัติเพื่อแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงขอให้ศาลลงโทษจำเลยในสถานหนักและไม่รอการลงโทษจำเลย พร้อมทั้งขอให้ศาลสั่งห้ามไม่ให้จำเลยออกนอกเคหสถานหรือเข้าเขตหรือท้องที่ที่กำหนด หรือมีคำสั่งให้จำเลยทำทัณฑ์บน โดยกำหนดจำนวนเงินไม่เกิน 50,000 บาท โดยจะมีคำสั่งให้ประกันตัวด้วยหรือไม่ก็ได้ และหากจำเลยไม่ยอมทำทัณฑ์บนหรือหาประกันไม่ได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งกักขังจำเลยไว้จนกว่าจะทำทัณฑ์บนหรือหาประกันได้

ศาลแขวงระยองได้รับฟ้องคดีนี้ไว้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.1061/2564 จากนั้นศาลได้อ่านและอธิบายฟ้องให้ภาณุพงศ์ฟัง ภาณุพงศ์แถลงว่า ประสงค์ขอต่อสู้คดี ศาลจึงกำหนดวันนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และกำหนดวันนัดสืบพยาน ในวันที่ 2 ส.ค. 64 เวลา 9.00 น. 

ต่อมา ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่มีหลักประกัน พร้อมระบุเหตุผลขอปล่อยชั่วคราวว่า พฤติการณ์ตามฟ้องถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ สถานที่การชุมนุมนั้นมีลักษณะอากาศถ่ายเท ไม่มีความแออัด ไม่ใช่พฤติการณ์ที่เป็นการยุยง ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งกิจกรรมยังมีมาตรการให้ใส่หน้ากากอนามัย และไม่ปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อโควิดจากการจัดกิจกรรมดังกล่าว อีกทั้งความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในคดีที่เกี่ยวกับการใช้เสรีภาพของประชาชน ในศาลอื่นๆ ก็มีการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกันมาแล้วหลายคดี 

ศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่มีหลักประกัน พร้อมแต่งตั้งแม่ของไมค์ เป็นผู้กำกับดูแลคอยสอดส่องไม่ให้หลบหนี โดยให้รายงานตัวต่อผู้กำกับดูแลทุก 15 วัน 

นอกจากคดีนี้ ในวันเดียวกันไมค์ยังได้เข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองระยอง ในคดีชูป้ายขับไล่ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ปล่อยให้ทหารอียิปต์ติดโควิดเข้าพักในจังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 63 ซึ่งพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนการสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องไมค์ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาอื่นๆ รวม 6 ข้อหา และได้ส่งตัวไมค์พร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการจังหวัดระยอง โดยอัยการนัดฟังคำสั่งในวันที่ 15 ก.ค. 64  

มีรายงานด้วยว่า ขณะทนายความและไมค์อยู่ที่บริเวณหน้าสำนักงานอัยการคดีศาลแขวงระยอง ก่อนเดินทางไปที่ศาลแขวงระยอง มีคนในรถยนต์คันหนึ่งซึ่งคาดว่าเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจังหวัดระยอง แอบถ่ายรูปทนายความและไมค์  เมื่อเข้าสอบถามกลับบ่ายเบี่ยงไม่แจ้งชื่อและสังกัด ไม่แจ้งเหตุว่าถ่ายไปทำไม จากการตรวจสอบพบว่า รถยนต์คนดังกล่าวเป็นคันเดียวกับที่เจ้าหน้าที่ “อุ้ม” ไมค์ไปขณะทำกิจกรรมชูป้ายต้อนรับนายกฯ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 63

สำหรับการจัดกิจกรรมทวงคืนความเป็นธรรมให้วันเฉลิม หรือ #Saveวันเฉลิม เกิดขึ้นตั้งแต่มีข่าวการหายตัวไป ของวันเฉลิมในประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 63 โดยมีการแสดงออกทางสัญลักษณ์โดยใช้โบว์สีขาว เช่น กลุ่มสนท.ผูกโบว์ขาวที่รั้วกรมทหารราบที่ 11 และถูกเปรียบเทียบปรับข้อหา พ.ร.บ.ความสะอาดในเวลาต่อมา, การจัดกิจกรรม “ทวงความเป็นธรรมให้วันเฉลิม” บริเวณสกายวอล์คหน้าห้างมาบุญครอง เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 63 และการยื่นจดหมายทวงถามความเป็นธรรมหน้าสถานทูตกัมพูชา โดย 4 นักกิจกรรมเครือข่าย People Go และ กป.อพช. และการชุมนุมทวงถามความเป็นธรรมที่หน้าสถานทูตกัมพูชา นำโดยสมยศ พฤกษาเกษมสุข ในวันที่ 8 มิ.ย. 63 อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีหน้าสถานทูตกัมพูชา อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องและยุติการดำเนินคดี แต่เนื่องจากก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องคดี ทำให้ต้องมีการส่งสำนวนไปที่ทาง ผบ.ตร. เพื่อพิจารณามีความเห็นในคดีต่อไป 

.

X