เปิดบันทึกไต่สวนถอนประกัน คดี #19กันยา ‘รุ้ง-ไมค์-แอมมี่’ ศาลนัดฟังคำสั่ง 22 พ.ย. นี้ ตร.รับเห็นด้วยหากปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้ดีขึ้น

เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2564  เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ห้องพิจารณาคดี 704 มีนัดไต่สวนคำร้องของพนักงานอัยการ ที่ยื่นขอเพิกถอนการประกันตัว 3 แกนนำราษฎร จากคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ได้แก่ ‘ไมค์’ ภาณุพงศ์ จาดนอก, ‘รุ้ง’ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ ‘แอมมี่’ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ โดยศาลได้ทำการไต่สวนในวันนี้จนเสร็จสิ้นแล้ว และนัดฟังคำสั่งว่าจะเพิกถอนประกันแกนนำทั้งสามหรือไม่ในวันที่ 22 พ.ย. 64 นี้

ก่อนหน้านี้ ศาลได้ไต่สวนถอนประกัน ‘อานนท์ นำภา’ ไปแล้ว และได้มีคำสั่งไม่เพิกถอนประกันในคดีดังกล่าว แต่ยังคงไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีอื่น โดยเขาถูกคุมขังอยู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อยู่นานกว่า 100 วันแล้ว

>> ศาลอาญาไม่ถอนประกันตัว ‘อานนท์’ คดี 19 กันยา แต่เมื่อยื่นคำร้องว่ามีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง ศาลยังคงไม่ได้ประกันตัวคดีอื่น

ในวันนี้ ศาลอาญามีการตั้งจุดคัดกรอง วัดอุณหภูมิ และให้ผู้ที่ต้องการเข้าร่วมสังเกตการณ์ลงชื่อ โดยศาลอาญากำหนดให้ประชาชนเข้าร่วมสังเกตการณ์การไต่สวนได้ทั้งสิ้นไม่เกิน 50 คน ทั้งนี้บริเวณด้านหน้ารั้วศาลอาญาได้มีประชาชนรวมกลุ่มกันจำนวนหนึ่งเพื่อร่วมจับตาการไต่สวนและเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง โดยตั้งแต่ช่วงเช้ามีผู้นำป้ายผ้าที่เขียนข้อความว่า “ตุลาการโจรถ่อย ปล่อยเพื่อนเรา” ไปแขวนไว้บริเวณสะพานลอยด้านหน้าศาลอาญา หันหน้าไปทางสี่แยกลาดพร้าว-รัชดา ก่อนตำรวจจะนำกำลังไปปลดป้ายดังกล่าวออกในเวลาประมาณ 13.00 น. 

ณ ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลได้เบิกตัว “รุ้ง” ปนัสยา มาจากทัณฑสถานหญิงกลาง และได้เบิกตัว “ไมค์” ภาณุพงศ์ มาจากเรือนจำพิเศษกลางกรุงเทพฯ ทั้งสองสวมใส่ชุดผู้ต้องขังสีน้ำตาล โดยไม่ได้ถูกใส่เครื่องพันธนาการใดๆ หลังภาณุพงศ์มาถึงห้องพิจารณา “ยี่หวา” หลานสาววัย 6 ขวบ ของภาณุพงศ์ได้วิ่งเข้าไปโผกอดทันที ทั้งคู่โอบกอดกันชั่วครู่ จากนั้นภาณุพงศ์ได้ยื่นหนังสือนิทาน ‘10 ราษฎร’ และ ‘แม่หมิมไปไหน’ สองในหนังสือนิทานชุด ‘วาดหวัง’ ให้กับหลานสาว ก่อนเธอจะรับและกอดไว้ในอ้อมอก และวิ่งกลับไปนั่งยังที่เดิม 

ด้านปนัสยา แม่ของเธอได้โผเข้าโอบกอด ก่อนแม่ของปนัสยาจะย้ายไปนั่งด้านหลัง และเริ่มคลายหนังยางมัดผมของรุ้งออก และค่อยๆ ใช้หวีแปรงสางผมของเธออย่างใจเย็น จากนั้นจึงรวบมัดผมเธอเสียใหม่ด้วยยางรัดอีกเส้นที่แม่เตรียมมา 

ในวันนี้มีผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์ประมาณ 30-40 คน โดยมีนักกิจกรรมหลายคนร่วมสังเกตการณ์และให้กำลังใจ อาทิ “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ, “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล และณัฐชนน ไพโรจน์ 

เวลา 09.50 น. ก่อนเริ่มการไต่สวน มารดาของแอมมี่ ไชยอมร พร้อมกับทนายความ ได้แจ้งต่อผู้พิพากษาว่า ไชยอมรไม่สามารถมาเข้าร่วมการไต่สวนในวันนี้ได้ เนื่องจากมีอาการความดันสูงและต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลกะทันหัน ต่อมาผู้พิพากษาแจ้งว่าในช่วงเช้านี้จะทำการไต่สวนถอนประกันของปนัสยาและภาณุพงศ์ก่อน หากไชยอมรอาการดีขึ้นแล้วให้เดินทางมาร่วมในช่วงบ่ายได้

การไต่สวนเริ่มขึ้น โดยมีพยานจำนวน 1 ปาก คือ พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ รองผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ในฐานะผู้รวบรวมพยานหลักฐานและยื่นต่อพนักงานอัยการเพื่อให้มีการเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวแกนนำทั้งสามราย

.

พยานโจทก์อ้าง ‘รุ้ง-ไมค์’ ปราศรัยขอ ‘ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์’ เข้าข่ายผิดเงื่อนไขประกัน ด้าน ‘แอมมี่’ ร้องเพลง-โพสต์ชวนคนร่วมม็อบสร้างความวุ่นวายในสังคม

พ.ต.ท.โชคอำนวย ได้เบิกความว่า ในคดีนี้ ศาลอาญาได้เคยมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสามไปเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2564 โดยมีเงื่อนไขว่า ห้ามไปกระทำผิดในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาอีก และห้ามสร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือสร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง รวมถึงห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร 

หลังทั้งสามถูกปล่อยตัว พยานได้รับรายงานว่าเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 64 ทั้งสามได้ไปร่วมชุมนุมที่บริเวณสกายวอล์ค แยกปทุมวัน ทั้งมีการโพสต์ผ่านช่องทางโซเซียลมีเดียของตัวเองเพื่อเชิญชวนประชาชนให้เข้าร่วมกิจกรรมด้วย 

การจัดชุมนุมดังกล่าวไม่ได้ขออนุญาตจากสำนักงานเขตผู้รับผิดชอบในท้องที่ มีการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการสัญจรผ่านไปมา ต่อมาตำรวจได้ประกาศแจ้งกับผู้ชุมนุมให้เลิกกิจกรรมดังกล่าว แต่ผู้ชุมนุมไม่ได้รับฟังและมีการโห่ร้องตอบโต้กลับมา ตำรวจจึงได้ถอยร่นออกมาจากที่เกิดเหตุและได้ยืนสังเกตการณ์อยู่ในบริเวณใกล้เคียง

ต่อมาเวลาประมาณ 18.00 น. ไชยอมรได้ขึ้นปราศรัยโดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตของตนเองขณะอยู่ในเรือนจำ โดยจากการตรวจสอบพบว่า จำเลยที่ 17 ได้โพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนประชาชนมาร่วมกิจกรรม และในวันเกิดเหตุได้มาร่วมการชุมนุม ก่อให้เกิดความวุ่นวาย กีดขวางการเดินทางและการสัญจรของประชาชน ซึ่งน่าจะผิดเงื่อนไขที่ศาลได้เคยกำหนด

ภายหลังการจัดกิจกรรมชุมนุมในครั้งนั้น พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้แจ้งข้อกล่าวหาจำเลยที่ 17 ในฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วย

ต่อมาเวลาประมาณ 19.00 น. ปนัสยาได้ขึ้นกล่าวปราศรัยยืนยันข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ ข้อที่ 1 ให้ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออก, ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ, เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ พยานเห็นว่าคำปราศรัยน่าจะผิดเงื่อนไขการประกันตัวของศาลอาญา 

อัยการได้ถามพยานว่า “ความต้องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะส่งผลให้เกิดอะไรขึ้นตามมา”

พยานตอบว่า การแก้ไขกฎหมายข้อนี้จะส่งผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะเป็นบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงโทษผู้ที่ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ประชาชนที่ได้รับฟังคำปราศรัยจากจำเลยมีวิจารณญาณไม่เท่ากัน คำพูดของจำเลยอาจสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน วุ่นวาย และปั่นป่วนให้เกิดขึ้นในสังคม จนอาจนำไปสู่ผลกระทบต่อสถาบันกษัตริย์ได้ 

พยานได้เบิกความอีกว่า ก่อนมีการชุมนุมวันที่ 24 มิ.ย. 64 ตำรวจได้ตรวจสอบการเคลื่อนไหวบนโซเซียลมีเดียของปนัสยาพบว่า ปนัสยาได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเพื่อเชิญชวนประชาชนให้มาเข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว

ต่อมาตำรวจได้รับแจ้งว่าอีกว่า ปนัสยาได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กของตัวเอง เป็นรูปภาพบุคคลถูกคาดด้วยผ้าปิดตา อยู่ในท่าทางก้มกราบ ด้านหลังเป็นผืนผ้าที่เขียนคำว่า 112 และมีเส้นขีดทับตัวเลขนั้น พร้อมเขียนคำอธิบายภาพในลักษณะเชิญชวนให้ประชาชนสวมใส่ชุดสีดำในวันที่ 28 ก.ค. 64 

พยานเบิกความว่า การกระทำดังกล่าว มีความหมายให้ยกเลิกมาตรา 112 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสถาบันกษัตริย์ จนอาจนำไปสู่การสร้างความวุ่นวาย และการให้ประชาชนแต่งกายด้วยชุดสีดำนั้น สื่อถึงการไว้ทุกข์ โดยในวันที่ 28 ก.ค. 64 เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 10 

จากนั้นทนายจำเลยได้ แถลงต่อศาลว่า ยังจะอนุญาตให้พยานเบิกความต่อไปหรือไม่ เพราะประเด็นคำเบิกความนั้น ไม่ได้มีอยู่ในคำร้องของพนักงานอัยการที่ยื่นต่อศาล ในคำร้องระบุเหตุผลเพียงว่าจำเลยกระทำผิดเงื่อนไขการให้ปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้ เนื่องจากไปเข้าร่วมชุมนุมในวันที่ 24 มิ.ย.64 เท่านั้น  ศาลจึงแจ้งต่อพยานให้เบิกความได้เฉพาะประเด็นที่พนักงานอัยการได้ระบุอยู่ในเอกสารคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้เท่านั้น

พยานเบิกความต่อไปว่า ในวันเกิดเหตุหลังจากปนัสยาได้ขึ้นกล่าวปราศรัยเสร็จสิ้น ภาณุพงศ์ได้ขึ้นกล่าวปราศรัยต่อ โดยเนื้อหาการปราศรัยบางส่วนมีการพูดเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง 3 ข้อ เช่นเดียวกับปนัสยา

.

ไต่สวนคำร้องขอถอนประกัน “รุ้ง” ปนัสยา ทนายชี้จำเลยปราศรัยพูด ‘กษัตริย์’ แค่คำเดียว พร้อมยืนยัน ‘ปฏิรูป’ เท่ากับทำให้ดีขึ้น

จากนั้นทนายความได้ถามค้านพยานว่า การที่พยานได้มาร้องต่ออัยการให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในครั้งนี้นั้น เกิดจากการทำหน้าที่ของตนเองหรือได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา

พยานตอบว่า สน.ชนะสงคราม ได้รับแจ้งจากหน่วยงานอื่นๆ เนื่องจากเห็นว่าเป็นผู้รับผิดชอบคดีหลักของจำเลย แต่ทั้งนี้ สน.ปทุมวัน ซึ่งเป็นหน่วยงานตำรวจผู้รับผิดชอบในวันเกิดเหตุ ได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ สน.ชนะสงคราม เพียงว่ามีการกระทำผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เท่านั้น ไม่ได้แจ้งว่าให้ดำเนินการเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร

พยานยังแถลงอีกว่า ตนไม่ได้อยู่ในขณะเกิดเหตุชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.64 และไม่ได้เป็นพนักงานสอบสวนในคดีที่ สน.ปทุมวัน อีกทั้งผู้ทำการถอดเทปถ้อยคำปราศรัยในวันเกิดเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจของ สน.ปทุมวัน ซึ่งไม่ใช่ผู้ที่อยู่ใต้ผู้บังคับบัญชา จึงไม่อาจแน่ใจได้ว่า เอกสารถ้อยคำที่ถอดมาจากการปราศรัยจะมีความถูกต้อง หรือถูกตัดต่อดัดแปลงอย่างไร

ทนายจำเลยยังได้ถามค้านพยานในประเด็นที่พยานเบิกความว่า การชุมนุมในวันดังกล่าวทำให้เกิดสัญจรไปมาลำบาก พยานตอบว่า ตามรายงานซึ่งจัดทำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน เห็นจากเอกสารภาพถ่ายว่าการชุมนุมมีการปิดถนนบริเวณสี่แยกปทุมวัน และทำให้การจราจรติดขัดจริง

ทนายจำเลยถามค้านอีกครั้งว่า พยานเคยไปบริเวณสกายวอล์กสี่แยกปทุมวันหรือไม่ จะให้โอกาสพยานตอบอีกสักครั้งหนึ่ง เพราะถ้าพยานเคยไปจริงจะรู้ว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้จัดกิจกรรมอยู่บริเวณพื้นที่ถนนที่ประชาชนใช้สัญจรไปมาแต่อย่างใด แต่กลุ่มผู้ชุมนุมได้รวมตัวกันบริเวณชั้นที่ 2 ซึ่งเป็นบริเวณที่เรียก ‘สกายวอล์ค’ บริเวณด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ

ทนายถามค้านในประเด็นนี้อีกว่า หลังจากการจัดกิจกรรมชุมนุมในครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน ได้แจ้งข้อกล่าวหาเพียงข้อกล่าวหาเดียว คือ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหาเรื่อง การฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรฯ รวมถึงการแจ้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับมาตรา 112 ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่

ทนายจำเลยได้แถลงอีกว่า คดี #ม็อบ24มิถุนา ปัจจุบันพนักงานอัยการยังไม่มีการสั่งฟ้องต่อศาล อีกทั้งสำนวนคดียังอยู่ที่พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ยังไม่ได้ส่งให้กับพนักงานอัยการด้วยซ้ำไป นอกจากนี้ การชุมนุมที่ดำเนินกิจกรรมขึ้นตั้งแต่เวลา 18.00 น. นั้น ตามรายงานการสืบสวนของ สน.ปทุมวัน ยังไม่ปรากฏว่ามีรายละเอียดว่ามีความวุ่นวายใดๆ เกิดขึ้น

พยานตอบว่า ตำรวจได้ประกาศได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกทำกิจกรรม แต่ผู้ชุมนุมไม่ได้เลิกไป และยังได้ส่งเสียงตะโกนโห่ร้องใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ประกาศ จนทำให้ตำรวจต้องถอยร่นไปสังเกตการณ์อยู่ในบริเวณใกล้เคียงแทน

ทนายจำเลยถามค้านในประเด็นเกี่ยวกับเสรีภาพการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ นั้น ประชาชนมีสิทธิที่จะทำการชุมนุมสาธารณะโดยสงบโดยไม่ต้องขออนุญาต พยานรู้หรือไม่ พยานตอบว่า ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งได้ประกาศใช้อยู่นั้นให้งดใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไปก่อน ซึ่งเมื่ออยู่ภายใต้การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น ประชาชนผู้ใดจะทำกิจกรรมการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 50 ขึ้นไป จำเป็นจะต้องแจ้งและขออนุญาตไปยังสำนักงานเขตก่อน

จากนั้นทนายได้ถามค้านในประเด็นคำปราศรัยของจำเลยที่พยานอ้างว่ามีการกล่าวถึงข้อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยได้ถามค้านว่า ในคำปราศรัยของจำเลยที่ 5 มีคำว่า “กษัตริย์” อยู่ในบรรทัดที่ 10 เพียงคำเดียวเท่านั้น ซึ่งปรากฏอยู่ในคำว่า ‘ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์’ นอกจากคำนี้แล้วการปราศรัยดังกล่าวไม่ได้มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์เลยแม้แต่น้อย โดยส่วนใหญ่คำปราศรัยเป็นการพูดถึงการขับไล่ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ทนายถามค้านอีกว่าคำว่า ‘ปฏิรูป’ มีความหมายว่า ทำให้ดีขึ้นใช่ไหม โดยทนายจำเลยได้ยกตัวอย่างเป็น ‘คณะกรรมการการปฏิรูปตำรวจ’ และถามพยานว่า พยานเข้าใจว่าคณะกรรมการดังกล่าวจะทำให้หน่วยงานตำรวจดีขึ้นหรือตกต่ำลงกว่าเดิม  แต่พยานไม่ได้ตอบคำถามนี้แต่อย่างใด

จากนั้นทนายจำเลยได้ถามค้านว่า ในวันที่ 24 มิถุนายน 2564 เป็นวันสำคัญของชาติ เป็นวันที่ประเทศได้เปลี่ยนระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งปนัสยาก็ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ทำนองว่าเป็นวันสำคัญของชาติวันหนึ่งเท่านั้น ปรากฏตามรายงานการตรวจสอบและติดตามการใช้งานโซเซียลมีเดียที่ บก.ปอท. จัดทำขึ้น ไม่ปรากฏว่ามีรายละเอียดตามที่พยานกล่าวอ้างที่เบิกความเรื่องโพสต์ข้อความเชิญชวนให้แต่งกายด้วยชุดสีดำในวันที่ 28 ก.ค. 64 หรือเชิญชวนไปเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมในวันที่ 24 มิ.ย. 64 แต่อย่างใด

พยานตอบว่า รายละเอียดดังกล่าวอยู่ในรายงานการสืบสวนของ สน.ปทุมวัน

.

ไต่สวนถอนประกัน “ไมค์” ภาณุพงศ์ ตำรวจตอบรับลูกทนายเบิกความ ‘รักกษัตริย์’ ต้องการปฏิรูปให้ดีขึ้น

ทนายความได้ถามค้านพยานอีกว่า ก่อนหน้านี้ในชั้นสอบสวนคดีชุมนุม 19 กันยา พยานไม่ได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 มาตั้งแต่แรก แต่ได้แจ้งภายหลังจากที่พลเอกประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่าจะกลับมาบังคับใช้กฎหมาย มาตรา 112 ใช่หรือไม่  

พยานตอบว่า ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ทาง สน.ชนะสงคราม ได้แจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 ไปตั้งแต่ครั้งแรกแล้ว

ทนายความค้านอีกว่า พยานเคยเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับจำเลยบางคนในคดีนี้ ในวันที่อัยการมีคำสั่งฟ้อง โดยพยานพร้อมกับผู้บังคับบัญชาได้เดินทางเข้าไปหาจำเลยในคดีนี้ในห้องเวรชี้ภายในสำนักงานอัยการ  แต่จำเลยบางรายปฏิเสธไม่ยอมรับการแจ้งข้อกล่าวหาในครั้งนั้น โดยจำเลยระบุว่าจะต้องมีทนายอยู่ร่วมด้วย จนเป็นเหตุให้ผู้บังคับบัญชาและพนักงานสอบสวนตำหนิพยาน ใช่หรือไม่

พยานตอบว่า จำไม่ได้ว่า แต่จำได้ว่าเดินทางไปกับผู้บังคับบัญชา

ทนายจำเลยถามค้านอีกว่า พยานไม่ได้รู้สึกมีความขุ่นเคืองโกรธแค้นเป็นการส่วนตัวจากการถูกฟ้องร้องที่ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ ก่อนหน้านี้ ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ได้รู้สึกโกรธเคืองใดๆ และคดีนี้ที่พยานถูกฟ้องนั้นศาลได้มีคำสั่งไม่รับฟ้องไปแล้ว

ทนายถามค้านอีกว่า ก่อนหน้านี้ สน.ชนะสงคราม ได้เคยยื่นคำร้องต่อศาลให้ดำเนินการเพิกถอนประกันของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ในคดีเดียวกันนี้ เพราะสมยศไปร่วมกิจกรรมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จากนั้นทนายถามว่า ถ้ามีการปฏิรูปหน่วยงานตำรวจให้ดีขึ้น พยานจะเห็นด้วยหรือไม่ พยานตอบว่า เห็นด้วย

ทนายถามค้านพยานอีกว่า พยานรักกษัตริย์หรือไม่ ถ้ามีผู้ที่ต้องการจะปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้ดีขึ้น พยานเห็นด้วยไหม  พยานตอบว่า ‘เห็นด้วย’

ทนายถามค้านในประเด็นว่า การชุมนุมวันที่ 24 มิ.ย. 64 ไม่ได้ทำให้การสัญจรไปมาติดขัด เพราะการชุมนุมจัดขึ้นบริเวณสกายวอร์คชั้นที่สอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่เหนือพื้นผิวถนน  พยานตอบว่า ก่อนเริ่มกิจกรรมผู้ชุมนุมได้รวมตัวกันบริเวณท้องถนนสี่แยกปทุมวัน จากนั้นจึงได้ขึ้นไปตั้งเวทีและจัดกิจกรรมด้านบนสกายวอร์คดังกล่าว

ทนายจำเลยถามค้านอีกว่า ศาลฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการชุมนุมโดยสงบว่าจะถูกละเมิดไม่ได้ พยานรู้หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบรายละเอียดของคำวินิจฉัยดังกล่าว

ทนายจำเลยถามค้านอีกว่า การที่พยานเบิกความว่าการจัดกิจกรรมชุมนุมดังกล่าวเป็นการสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในสังคมนั้น พนักงานสอบสวนไม่ได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาไม่ปฏิบัติหรือขัดขืนคำสั่งของเจ้าพนักงานตำรวจ รวมถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมทั้งการชุมนุมไม่ได้สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการแต่อย่างใด 

ทนายถามค้านอีกว่า การถอดถ้อยคำปราศรัยของภาณุพงศ์ พยานก็ไม่ได้ดำเนินการถอดเทปด้วยตัวเอง จึงไม่อาจแน่ใจและมั่นใจได้ว่าถ้อยคำที่ถูกกล่าวออกมาดังกล่าวผ่านการดัดแปลงหรือแก้ไขหรือถูกต้องหรือไม่ และได้ถามค้านอีกว่า การที่พยานเบิกความว่า จำเลยได้กล่าวปราศรัยทำให้กษัตริย์เกิดความเสื่อมเสียนั้น คำปราศรัยส่วนใหญ่มีเนื้อหาที่พูดถึงการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนเนื้อหาที่พูดถึงข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้น จำเลยใม่ได้ลงรายละเอียดว่าจะมีวิธีดำเนินการอย่างไร พยานรับว่าใช่

นอกจากนี้ที่พยานเบิกความว่า ส่วนหนึ่งของคำปราศรัยที่จำเลยกล่าวว่า “เขาบอกว่าเราไม่รัก ถ้าอย่างนั้นเราก็ไม่รักแล้วกัน” พยานทราบหรือไม่ว่าประโยคดังกล่าวนั้นพูดด้วยอารมณ์ประชดประชัน พยานตอบว่า ไม่ทราบ

เวลา 12.00 น. ทนายความของปนัสยาและภาณุพงศ์ได้ถามค้านพยานแล้วเสร็จในภาคเช้า ศาลจึงได้หยุดพักการไต่สวนชั่วคราว และนัดหมายให้ไต่สวนต่อในภาคบ่าย เวลา 14.00 น. โดยจะเป็นการถามค้านจากทนายความของไชยอมร

.

ไต่สวนถอนประกัน “แอมมี่” ไชยอมร ทนายยืนยันร้องเพลงเป็นสิ่งปกติของอาชีพศิลปิน เนื้อเพลง-ปราศรัยไม่ได้พาดพิงกษัตริย์   

14.00 น. เมื่อถึงเวลานัดหมาย ทนายจำเลยได้แจ้งต่อศาลว่า ไชยอมรไม่สามารถเดินทางมาศาลในวันนี้ได้ เนื่องจากมีอาการป่วย และจำเป็นจะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในจังหวัดนนทบุรี โดยทนายจะขอส่งใบรับรองแพทย์ให้กับศาลในนัดหมายครั้งหน้า ศาลเห็นว่าจำเลยมีความจำเป็นที่เห็นสมควร มารดาและทนายความจำเลยมาศาล อีกทั้งอัยการไม่ติดใจ ศาลจึงให้ทนายดำเนินการถามค้านพยานและไต่สวนต่อไปได้โดยไม่ต้องมีตัวจำเลย

ทนายจำเลยถามค้านพยานว่า พยานทราบหรือไม่ว่าจำเลยเป็นศิลปิน พยานตอบว่า ทราบอยู่แล้วว่าจำเลยเป็นศิลปิน-นักร้องที่มีชื่อเสียง

ทนายจำเลยถามค้านว่า จำเลยได้ไปร้องเพลงในวันเกิดเหตุด้วย ซึ่งเพลงที่ร้องเป็นเพลงทั่วไป ไม่ได้มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับการเมือง โดยได้ร้องเพลงอยู่บริเวณด้านบนสกายวอร์ค ไม่ใช่บนพื้นผิวถนน โดยปกติแล้วการขับร้องเพลงและเล่นดนตรีนั้นเป็นการสร้างบรรยากาศให้สนุกสนานและเพื่อสร้างความรื่นรมย์ ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมที่ได้รับฟังการแสดงดนตรีจากจำเลย ก็ไม่ได้แสดงอาการว่ามีความฮึกเหิมใดๆ

การแสดงดนตรีของจำเลยเป็นการแสดงดนตรีทั่วไป เนื้อหาในการปราศรัยก็ไม่ได้พูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เลย อีกทั้งจำเลยไม่ได้ถูก สน.ปทุมวัน แจ้งข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งในวันเกิดเหตุก็ไม่ได้มีความรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น โดยจำเลยได้เดินทางกลับทันทีหลังแสดงดนตรีและปราศรัยแล้วเสร็จ

พยานได้ตอบคำถามว่าใช่ทั้งหมด

หลังถามค้านพยานแล้วเสร็จ ทนายจำเลยทั้งสามได้แถลงยืนยันต่อศาลว่า การที่จำเลยทั้งสามเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมที่สี่แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 64 ไม่ได้เป็นการกระทำผิดเงื่อนไขการให้ปล่อยตัวชั่วคราวในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ของศาลอาญา 

จากนั้นศาลอาญาได้นัดหมายฟังคำสั่งการไต่สวนขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสามคน เป็นวันที่ 22 พ.ย. 64 เวลา 13.00 น.

.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เปิดบันทึกไต่สวนถอนประกัน “อานนท์”: ยืนยันออกมาพูด เพราะสังคมไทยไม่ควรเป็นผักชีโรยหน้าในการแก้ไขปัญหา

คดี #19กันยา: เลื่อนไต่สวนถอนประกัน 4 แกนนำราษฎร ไปต้น พ.ย. เหตุยังไม่เห็นคำร้อง พร้อมเลื่อนสืบพยานไปต้น ธ.ค. ใช้เวลาสืบนานนับปี!
.

X