คดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร: ศาลยกเลิกวันนัดสืบพยานเดือน ก.ค. – ไม่ถอนประกันสมยศ ชี้ “ปราศรัยเรียกร้องสิทธิประกันตัว” ไม่ผิดเงื่อนไขประกัน แต่ห้ามร่วมชุมนุมที่ก่อความวุ่นวาย

22 มิ.ย. 64 – ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดพร้อมเพื่อกำหนดวันนัดสืบพยาน ในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 63 ที่สนามหลวงและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งมีผู้ถูกฟ้องคดีเป็นนักกิจกรรมรวมทั้งสิ้น 22 คน ในข้อหาต่างๆ กันหลายข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา, พ.ร.บ.โบราณสถานฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

     อ่านข้อมูลคดีทั้งหมด>> ชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ถูกดำเนินคดี ม.112, 116, 215

ตั้งแต่ช่วงเช้าเจ้าหน้าที่ศาลอาญาและตำรวจศาลได้ตั้งจุดคัดกรองสำหรับผู้เข้าร่วมการพิจารณาคดีนี้ มีการขอดูบัตรประชาชนพร้อมจดบันทึกข้อมูลในบัตร และอนุญาตให้จำเลยแต่ละคนนำญาติเข้าฟังการพิจารณาได้เพียง 2 คนเท่านั้น บริเวณหน้าห้องพักพยานและห้องน้ำหญิงยังมีการติดตั้งแผงเหล็กสีเหลืองไว้ควบคุมการเข้าออกของประชาชน ทางเข้าห้องพิจารณา 704 เจ้าหน้าที่และตำรวจศาลทั้งหญิงและชาย 5 – 6 นาย คอยตรวจค้นร่างกายและสัมภาระของผู้ที่จะเข้าไปในห้อง

ภายในห้องพิจารณา จำเลยและผู้เข้าร่วมพิจารณาคดีต้องมอบโทรศัพท์ให้เจ้าหน้าที่ศาลเก็บไว้ มีเพียงอัยการและทนายจำเลยที่ได้รับอนุญาตให้พกโทรศัพท์ แต่ถูกกำชับให้ปิดเสียง รองอธิบดีผู้พิพากษา, เลขาศาล และผู้อำนวยการศาล มาเดินตรวจดูความเรียบร้อยด้วยตนเองก่อนเริ่มพิจารณาคดี และตลอดการพิจารณาคดียังมีเจ้าหน้าที่และตำรวจศาลเฝ้าอยู่ที่ด้านหลังห้องอย่างน้อย 5-6 นาย 

จำเลยในคดีทยอยเดินทางมาถึงศาลและเข้ามาในห้องพิจารณา โดยมีจำเลยมาศาลรวม 18 คน แบ่งเป็นจำเลย 7 คนซึ่งถูกฟ้องตามมาตรา 112 และถูกคุมขังนานนับเดือนก่อนได้รับการประกันตัว ได้แก่ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ส่วนจำเลยอีก 11 คน เป็นกลุ่มที่ถูกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 116 ประกอบด้วย “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์, ณวรรณ เลี้ยงวัฒนา, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, ธนชัย เอื้อฤาชา, “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์, สุวรรณา ตาลเหล็ก, ณัฐชนน ไพโรจน์, “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์, อะดิศักดิ์ สมบัติคำ, ณัทพัช อัคฮาด และธนพ อัมพะวัติ

จำเลยอีก 4 คนในกลุ่มหลังที่ไม่ได้เดินทางมาศาลในนัดนี้ ได้แก่ อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ และธานี สะสม ซึ่งติดนัดพร้อมในคดีชุมนุมรำลึก 10 ปีเสธแดง ของศาลแขวงปทุมวัน ขณะที่ภัทรพงศ์ น้อยผาง ยังคงรักษาตัวจากอาการป่วยโควิด -19 และสิทธิทัศน์ จินดารัตน์ ซึ่งมีธุระที่ต้องจัดการที่ต่างจังหวัด จึงไม่สามารถเดินทางมาศาลได้

ก่อนศาลออกนั่งพิจารณา ผู้สังเกตการณ์รายหนึ่งได้เข้าไปพูดคุยกับจำเลยและจดบันทึกการสนทนาลงสมุด เจ้าหน้าที่ศาลซึ่งเฝ้าจับตาดูอยู่ได้เข้าสอบถามทันทีว่าเป็นญาติจำเลยคนไหน พร้อมทั้งแจ้งไม่ให้บันทึกเหตุการณ์ในห้องพิจารณาคดี เนื่องจากอาจมีการนำไปเผยแพร่เป็นข่าวที่สร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีให้กับผู้พิพากษา นอกจากนี้ สันติ บุตรดี ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดียาเสพติด ยังเดินมาพูดคุยกับทนายความให้ตักเตือนเพนกวินเรื่องการปฏิบัติตัวในศาล เนื่องจากเพนกวินใส่เสื้อคอกลมสีขาว มีลวดลายเป็นใบหน้าสีแดงของผู้ชาย 3 คน ซึ่งหากมองระยะไกลอาจเห็นเป็นตัวอักษร “ค ว ย” 

.

ภาพจาก เพนกวิน – พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak

เนื่องจากคดีนี้มีจำเลยจำนวนมาก ระหว่างรอจำเลยบางคนที่ยังเดินทางมาถึง ศาลจึงสั่งให้เริ่มการไต่สวนกรณีที่พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ยื่นคำร้องขอเพิกถอนประกันสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลยในคดีนี้ก่อน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรองผู้กำกับ (สอบสวน) สน.ชนะสงคราม ผู้ยื่นคำร้องยังเดินทางมาไม่ถึง ศาลจึงสั่งพักการพิจารณา โดยให้เริ่มพิจารณาคดีอีกครั้งในช่วงบ่าย

.

ข้อถกเถียงศาล-จำเลย เรื่องมาตรการศาล ก่อนเลื่อนการสืบพยาน เหตุทนายจำเลยติดว่าความคดีอื่น 

เวลา 13.35 น. ก่อนการเริ่มต้นการพิจารณาคดีได้มีการถกเถียงระหว่างจำเลยกับผู้พิพากษาเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวในศาลและการรักษาความปลอดภัยในการพิจารณาคดีที่เข้มงวด 

ในตอนต้น ศาลได้ขอให้เพนกวินนั่งให้เรียบร้อยหลายครั้ง เนื่องจากเพนกวินนำขาข้างหนึ่งขึ้นมาไขว้ไว้บนตัก ศาลยังกล่าวว่า ผู้ติดตามจำเลยไม่ต้องเข้าร่วมการพิจารณาคดีก็ได้เพื่อลดความแอดอัดในห้อง และนัดนี้ยังไม่ใช่การพิจารณาคดีในเนื้อคดี จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าสังเกตการณ์

ณัฐชนนจึงยกมือถามว่า ห้องพิจารณาคดีกว้างขวางเช่นนี้ยังสามารถเรียกว่าแออัดได้อีกหรือ เพนกวินได้ยกมือแสดงความคิดเห็นสนับสนุนณัฐชนน และเสนอว่าหากจะลดความแออัดให้ลดจำนวนตำรวจศาลลงครึ่งหนึ่ง ศาลกล่าวตอบว่า การมีตำรวจศาลในห้องพิจารณาคดีเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากผู้พิพากษาต้องมีคนดูแลรักษาความปลอดภัยให้ สำหรับคดีอื่นที่ไม่มีความผิดปกติ ไม่จำเป็นต้องมีตำรวจศาลมากเช่นนี้ ทำให้ณัฐชนนถามผู้พิพากษาต่อว่าคดีนี้มีความผิดปกติอย่างไร 

ต่อมาผู้พิพากษาได้หันไปพูดกับเพนกวินในทำนองว่า ถ้าจะโตเป็นผู้ใหญ่ต่อไป ต้องรู้ว่าอะไรควรไม่ควร เพนกวินกล่าวตอบว่า ตนทราบดีว่าอะไรควรไม่ควร ก่อนถามศาลต่อว่านัดพร้อมวันนี้เป็นการพิจารณาคดีลับหรือไม่ ศาลกล่าวว่าไม่ได้พิจารณาลับ แต่การห้ามคนเข้ามาในห้องพิจารณาคดีนั้นตั้งอยู่บนฐานของการรักษาความปลอดภัยในศาล เพนกวินได้สอบถามเพิ่มเติมว่า วันนี้มีการถ่ายทอดไปยังห้องคอนเฟอเรนซ์ด้วยหรือไม่ ผู้พิพากษายืนยันว่ามี 

จากนั้นศาลเริ่มพิจารณาคดี ทนายจำเลยได้แถลงถึงเหตุจำเป็นที่อนุรักษ์, ธานี, ภัทรพงศ์ และสิทธิทัศน์ ไม่สามารถศาลตามนัดได้ และได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีต่อศาล ประกอบกับจำเลยและทนายจำเลยหลายคนติดนัดในคดีอื่นที่ได้นัดไว้ก่อนแล้ว ทนายจำเลยทั้งหมดจึงขอเลื่อนนัดการสืบพยานโจทก์ที่กำหนดนัดไว้เดิมในวันที่ 8, 9, 13-16 ก.ค. 64 

อัยการไม่คัดค้านการเลื่อนคดีตามที่ทนายจำเลยแถลง แต่ขอให้ศาลกำชับจำเลยทุกคนมาศาลตามกำหนดนัดทุกนัด โดยจะไม่ขอเลื่อนคดีอีก เพราะทำให้โจทก์มีความไม่สะดวกในการติดตามพยานมาเบิกความ และหากจำเลยคนใดไม่มาศาลหรือมาศาลไม่ได้ให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 172 ทวิ

ทนายจำเลยที่มาศาลทั้งหมดแถลงว่า ไม่ขัดข้องที่จะให้มีการพิจารณาคดีลับหลังจำเลย ศาลกล่าวกับทนายจำเลยว่า คดีนี้ควรพิจารณาลับหลังจำเลยเพื่อความสงบเรียบร้อย รวดเร็ว เป็นผลดีกับจำเลย เนื่องจากจำเลยมีจำนวนมาก และคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีไม่สมควรที่จะมาเข้าร่วมการพิจารณาคดี ทั้งนี้ เป็นดุลพินิจของศาลว่าจะสั่งให้พิจารณาลับหลังหรือไม่

ทนายจำเลยยืนยันกับศาลว่าหลังจากนี้คงไม่มีเหตุให้ต้องเลื่อนนัดพร้อมอีก แต่จำเป็นต้องถามอัยการโจทก์ว่ามีนโยบายจะยื่นขอให้ศาลพิจารณาคดีลับหรือไม่ อัยการแถลงว่าการพิจารณาลับอยู่ภายใต้ดุลพินิจของศาล ไม่ใช่อัยการ โดยปกติไม่มีนโยบายให้พิจารณาคดีลับ

ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาคดีตามที่ทนายจำเลยยื่นคำร้อง และกำหนดวันนัดพร้อมอีกครั้งจากนัดเดิมที่มีอยู่แล้วในวันที่ 23 ก.ค. 64 โดยกำชับให้จำเลยแต่งตั้งทนายความมาให้พร้อมในวันนัดดังกล่าว  

.

ไต่สวนคำร้องขอถอนประกันสมยศ ก่อนสั่งไม่ถอนประกัน แต่เพิ่มเงื่อนไข

จากนั้น ศาลได้ไต่สวนคำร้องขอถอนประกันสมยศ โดยทำการไต่สวนพยาน 2 ปาก คือ พ.ต.ท.พิษณุ เกิดทอง รองผู้กำกับ (สอบสวน) สน.ชนะสงคราม ผู้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งให้ประกันสมยศ จากเหตุที่สมยศไปเข้าร่วมชุนนุมและปราศรัยที่หน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 64 เนื่องจากผู้ยื่นคำร้องเห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ เป็นการกระทำที่ผิดเงื่อนไขการให้ประกันตัวที่ศาลกำหนด พยานอีกปากที่เข้าเบิกความคือตัวสมยศเอง

ศาลได้อนุญาตให้ทนายจำเลยถามพยานผู้ร้อง พ.ต.ท.พิษณุ ตอบคำถามของทนายจำเลยโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 64 พยานไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ แต่เข้าเวรอยู่ที่ สน.ชนะสงคราม หลักฐานเกี่ยวกับพฤติการณ์ของสมยศที่พยานยื่นขอถอนประกันต่อศาลมีเพียงเอกสารถอดเทปคำปราศรัย ซึ่งตำรวจ สน.พหลโยธิน เป็นผู้ส่งให้พยาน ไม่มีบันทึกเทปการปราศรัย พยานไม่ทราบว่าเอกสารที่ถอดเทปมาจะตรงกับคลิปคำปราศรัยหรือไม่

พ.ต.ท.พิษณุ ยอมรับกับทนายจำเลยว่า คำปราศรัยของสมยศที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ ทนายจำเลยได้ถาม พ.ต.ท.พิษณุ อีกว่า ทราบหรือไม่ว่าจำเลยถูกดำเนินคดีอาญาจากเหตุเดียวกันนี้ที่ สน.พหลโยธิน แล้ว แต่ไม่ได้ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 112 พ.ต.ท.พิษณุ ตอบว่า พยานทราบว่าสมยศถูกดำเนินคดีข้อหาดูหมิ่นศาล รองผู้กำกับ (สอบสวน) สน.ชนะสงคราม ยังตอบคำถามของทนายจำเลยว่า ตนไม่ทราบว่าจำเลยจะเป็นผู้นัดหมายทำกิจกรรมหรือไม่ และไม่ทราบใครเป็นผู้จัดกิจกรรม ทั้งนี้ยังรับว่า ภาพจำเลยที่อยู่ในสำนวนถูกถ่ายในเวลา 19.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ศาลปิดทำการแล้ว

ทนายแสดงภาพในเอกสารคำร้องให้ พ.ต.ท.พิษณุ ดู เป็นภาพกิจกรรมโกนหัวให้กำลังใจ สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของเพนกวิน ซึ่งโกนหัวเรียกร้องสิทธิประกันตัวของลูกชาย ในวันที่ 30 เม.ย. 64  จากเพจ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” และถามว่า ข้อความประกาศเชิญชวนให้คนเข้าร่วมกิจกรรมในเพจดังกล่าวไม่มีเรื่องข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.พิษณุ รับว่า ใช่ 

ทนายจำเลยยังถามอีกว่า พยานรักสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ พ.ต.ท.พิษณุ ตอบว่า รัก ทนายจำเลยถามต่อว่า การปฏิรูปสถาบันให้เจริญยิ่งขึ้น สง่างามยิ่งขึ้น ถือว่าเป็นการดีกว่าหรือไม่ เจ้าหน้าที่ตำรวจตอบว่า ปัจจุบันสถาบันกษัตริย์ดีมากพออยู่แล้ว แต่ก่อนที่ทนายจำเลยจะซักถามพยานต่อ ศาลได้กล่าวกับทนายว่า ขอให้ตั้งคำถามที่เกี่ยวข้องกับจำเลยเท่านั้น 

จากนั้นสมยศได้เบิกความยืนยันว่า ตนอยู่ในเหตุการณ์จริงตามภาพที่หลักฐานของผู้ร้อง ศาลตั้งคำถามว่า ถ้อยคำที่กล่าวในวันนั้นไม่มีการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ใช่หรือไม่ สมยศยืนยันว่าเนื้อหาในการปราศรัยของตนไม่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และกล่าวต่อว่า มีคนรู้จักชวนตนไปร่วมโกนหัวเชิงสัญลักษณ์จริง แต่ตนมาที่ศาลโดยตั้งใจว่าจะมาเยี่ยมคนที่อดอาหารประท้วงการไม่ได้รับสิทธิประกันตัวของนักกิจกรรมที่ยังถูกคุมขังอยู่ จากนั้นได้ร่วมปราศรัยด้วยความเห็นอกเห็นใจ เนื่องจากสิ่งที่ผู้ชุมนุมในวันนั้นเรียกร้องคือสิทธิในการประกันของผู้ต้องคดีทางการเมือง อันเป็นหลักการทั่วไปที่พึงมี 

ศาลถามสมยศต่อว่า การปราศรัยใช้เวลานานหรือไม่ สมยศตอบว่า ตนไม่แน่ใจ เมื่อกล่าวปราศรัยเสร็จก็เดินทางกลับทันที การชุมนุมในวันดังกล่าวไม่มีความวุ่นวาย และแม้ว่า สน.พหลโยธิน จะดำเนินคดีกับตน แต่คดีดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 โดยเงื่อนไขการประกันตัวของตนเองมีเพียงการห้ามกระทำผิดซ้ำตามที่ถูกกล่าวหา 

สมยศยังถามต่อศาลว่า ตนจะเรียกร้องอย่างไรกับอัยการที่ทำเรื่องถอนประกัน เนื่องจากการกระทำดังกล่าวได้สร้างความเสียหายให้กับตน ศาลกล่าวว่า อัยการต้องทำหน้าที่ของตัวเอง นั่นคือการดูแลกฎหมายบ้านเมือง สมยศจึงถามผู้พิพากษาต่อว่า การร้องให้ถอนประกันถือเป็นการกลั่นแกล้งตนหรือไม่ ศาลกล่าวว่าคงไม่ใช่การกลั่นแกล้ง การไต่สวนเสร็จสิ้นในเวลา 13.30 น.

ต่อมา เวลา 15.30 น. ศาลอ่านคำสั่งต่อคำร้องขอถอนประกันสมยศ ระบุว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่าแม้จำเลยเข้าร่วมปราศรัย แต่ไม่ปรากฏว่าได้กระทำการใดๆ ที่ผิดเงื่อนไข แต่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความวุ่นวายเห็นสมควรให้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม คือ ห้ามไปเข้าร่วมการชุมนุมในลักษณะที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย 

ทั้งนี้ เงื่อนไขดังกล่าวเป็นเงื่อนไขเดียวกับที่ศาลกำหนดในการให้ประกันจำเลยหรือผู้ต้องหาคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา

.

งดการไต่สวนถอนประกันณัฐชนน-ภัทรพงศ์ โดยให้เพิ่มเงื่อนไข ไม่ร่วมชุมนุมที่ก่อความวุ่นวายเหมือนชินวัตร

วันเดียวกันนี้ ศาลยังได้นัดไต่สวนคำร้องเพิกถอนประกันณัฐชนนและภัทรพงศ์ จำเลยตามมาตรา 116 ในคดีนี้ ซึ่งพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม เป็นผู้ยื่นคำร้อง อ้างเหตุว่าทั้งสองละเมิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว โดยเข้าร่วมชุมนุมหน้าศาลอาญา เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังในคดีทางการเมือง เมื่อวันที่ 29-30 เม.ย. ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับชินวัตร จันทร์กระจ่าง และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ศาลได้ทำการไต่สวนไปแล้ว 

เวลา 14.30 น. ศาลเริ่มการไต่สวนกรณีนี้ ทนายความของภัทรพงษ์ ได้แถลงต่อศาลว่า ภัทรพงษ์อยู่ในระหว่างรักษาอาการป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 จึงมาศาลไม่ได้ ศาลเห็นว่า มีการแจ้งเหตุขัดข้อง จึงไม่ถือว่าจําเลยผิดสัญญาประกัน 

และเนื่องจากคดีนี้ศาลได้มีคําสั่งสําหรับชินวัตรในวันที่ 8 มิ.ย. 64 และได้มีคําสั่งให้งดการไต่สวนณัฐชนนและภัทรพงศ์ในวันดังกล่าวแล้ว โดยศาลเห็นสมควรกําหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม ห้ามจำเลยทั้งสองเข้าร่วมชุมนุมในลักษณะก่อให้เกิดความวุ่นวายและความไม่สงบในบ้านเมืองอีกเงื่อนไขหนึ่ง

.

X