ศาลอุทธรณ์ยืนคุก 6 ปี “พอร์ท ไฟเย็น” โพสต์ 3 ข้อความ สมัย ร.9 แต่วินิจฉัยประเด็น ม.112 คุ้มครองอดีตกษัตริย์ ก่อนศาลฎีกาให้ประกันตัว

วันที่ 23 ม.ค. 2568 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ในคดีของ “พอร์ท ไฟเย็น” หรือ ปริญญา ชีวินกุลปฐม อดีตนักร้องและนักดนตรีวงไฟเย็น กรณีโพสต์เฟซบุ๊กว่า ตุรกีรัฐประหารไม่สำเร็จ เพราะไม่มีกษัตริย์เซ็นรับรอง รวมทั้งเนื้อเพลงและข้อความอีก 2 โพสต์ เมื่อปี 2559 ในสมัยที่รัชกาลที่ 9 ยังครองราชย์อยู่

คดีนี้ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2565 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาว่า ทั้ง 3 ข้อความตามฟ้อง เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (2) (3) (5) ซึ่งเป็นกฎหมายเดิมขณะจำเลยกระทำความผิด ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกกระทงละ 3 ปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้าง จึงลดโทษให้กระทงละ 1 ใน 3 เหลือโทษจำคุกรวม 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในวันเดียวกัน ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ โดยให้วางหลักทรัพย์ 300,000 บาท และกำหนดเงื่อนไข “ห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร” โดยศาลให้เหตุผลว่า จำเลยเคยได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นและไม่มีพฤติการณ์หลบหนี

ต่อมา พอร์ทได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา โดยยืนยันว่า การกระทําของจําเลยมิได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ รัชทายาท เนื่องจากจําเลยมิได้กล่าวหรือเขียนถึงพระนามของพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาทพระองค์ใด และไม่ได้มีถ้อยคําหยาบคาย อีกทั้งไม่มีพยานโจทก์ปากใดเบิกความยืนยันว่า จําเลยกระทําต่อรัชกาลที่ 9 และรัชทายาท (ขณะเกิดเหตุ) จึงขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่วินิจฉัยประเด็น ม.112 คุ้มครองอดีตกษัตริย์ ทั้งที่โพสต์ในสมัย ร.9

ที่ห้องพิจารณาคดี 608 เวลาประมาณ 09.55 น. ผู้พิพากษาได้เริ่มอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ โดยวันนี้มีแม่ของปริญญาและประชาชนจำนวนหนึ่งเดินทางมาให้กำลังใจ เนื่องจากมีนัดหมายหลายคดีพร้อมกันจึงทำให้ห้องพิจารณาที่มีเก้าอี้เพียง 2 แถวไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้เดินทางมาฟังการพิจารณาคดี ประชาชนจำนวนหนึ่งจึงต้องอยู่ด้านนอกห้อง

คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์มีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้ ประเด็นแรกที่ต้องวินิจฉัย คือ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้หรือไม่ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าในคดีนี้ระหว่างการสืบพยานมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานสอบสวนเบิกความว่า จำเลยเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กที่ได้โพสต์ข้อความดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย โดยได้เปิดการเข้าถึงเป็นสาธารณะให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ จากการตรวจสอบพบว่าบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวมีรูปภาพของจำเลยโพสต์ไว้และพบข้อความตามฟ้องจำนวน 3 โพสต์

ศาลเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการจาบจ้วงและมิบังควร นอกจากนี้ยังมีพยานปากประชาชนทั่วไปที่ได้ให้ความเห็นไว้กับพนักงานสอบสวนด้วยว่า ข้อความที่ 1 ตามฟ้อง เรื่องการแจ้งจับคนเห็นต่างด้วยมาตรา 112 นั้น พยานเห็นว่าเป็นการใส่ร้าย ไม่เป็นความจริง โดยพระมหากษัตริย์มีสถานะเป็นพระประมุขของประเทศ ประชาชนต้องให้การเคารพ เทิดทูน และไม่ใช่สิ่งงมงาย ข้อความที่ 2 ตามฟ้อง เรื่องการเซ็นรับรองรัฐประหารนั้น พยานเห็นว่าทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดและการเป็นโยนความผิดให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนข้อความที่ 3 ตามฟ้อง เรื่องเป็นเนื้อเพลงสถาบันกากสัส พยานเห็นว่าเป็นการใส่ร้ายสถาบันกษัตริย์อย่างชัดเจน

ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้ว ในประเด็นนี้เห็นว่าการกระทำของจำเลยทำให้กษัตริย์ รัชกาลที่ 10 เกิดความเสื่อมเสีย ทำให้ถูกดูหมิ่นและเกลียดชัง พยานโจทก์แสดงให้เห็นชัดแล้วว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประเด็นนี้ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ประเด็นที่ 2 ที่ต้องวินิจฉัย ศาลเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการหมิ่นประมาทอดีตกษัตริย์รัชกาลที่ 9 ย่อมกระทบถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบันที่ครองราชย์อยู่ และกระทบต่อความมั่นคงของประเทศด้วย เพราะอดีตกษัตริย์ รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระราชบิดาของกษัตริย์ รัชกาลที่ 10 หากตีความคำว่า “พระมหากษัตริย์” ในกฎหมายว่าเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ในรัชกาลปัจจุบันเท่านั้นก็จะทำให้เกิดช่องว่างให้พระมหากษัตริย์ได้รับความเสื่อมเสียพระเกียรติได้ เพราะหากมีการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายอดีตกษัตริย์ก็ย่อมจะกระทบถึงกษัตริย์รัชกาลปัจจุบันด้วย 

สุดท้ายศาลอุทธรณ์จึงมีคำพิพากษายืนให้จำคุก 6 ปี ตามศาลชั้นต้น เนื่องจากเห็นพ้องแล้วกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น 

ทั้งนี้น่าสังเกตว่าคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ พิจารณาว่าการกระทำของจำเลยทำให้รัชกาลที่ 10 เกิดความเสื่อมเสีย ทำให้ถูกดูหมิ่นและเกลียดชัง และพิจารณาประเด็นมาตรา 112 คุ้มครองพระมหากษัตริย์ในอดีต  ทั้งที่โพสต์ข้อความที่ถูกกล่าวหานั้น เป็นโพสต์ที่เกิดเหตุขณะที่รัชกาลที่ 9 ยังทรงครองราชย์อยู่ คือ โพสต์เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2559, 16 ก.ค. 2559 และ 30 ก.ค. 2559 และเนื้อหาอุทธรณ์ของจำเลยก็ไม่ได้มีประเด็นดังกล่าวแต่อย่างใด

ศาลอาญาส่งคำร้องประกันตัวให้ศาลฎีกาวินิจฉัย

ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาแล้วเสร็จ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัวปริญญาออกไปจากห้องพิจารณาคดีเพื่อไปควบคุมตัวไว้ยังห้องขังใต้ถุงศาลระหว่างรอการประกันตัวระหว่างฎีกา โดยประชาชนที่ให้กำลังใจในห้องพิจารณาประมาณ 10 กว่าคนได้เดินติดตามไปโดยตลอด

ในวันเดียวกัน เวลาประมาณ 16.13 น. ศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาคำร้องด้วยตัวเอง ซึ่งจะต้องเวลาประมาณ 2-3 วัน เย็นวันนี้ปริญญาจึงจะต้องถูกควบคุมตัวไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จนกว่าศาลฎีกาจะมีคำสั่ง อย่างไรก็ตาม คดีนี้ยังไม่ถือว่าถึงที่สุด โดยยังสามารถฎีกาคำพิพากษาได้เป็นลำดับชั้นต่อไป การที่ปริญญาถูกควบคุมตัวระหว่างนี้จึงนับว่าเป็นการถูกควบคุมระหว่างสู้คดีอยู่

สำหรับปริญญา ปัจจุบันมีโรคประจำตัวเป็น “โรคเบาหวาน” และ “ภาวะไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในร่างกายสูง”  ทำให้ทุกวันเขาจะต้องฉีดอินซูลินเข้าร่างกายเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ และจะต้องรับประทานยารักษาภาวะไขมันสูงทุกวัน โดยมีนัดจะต้องเข้าตรวจและติดตามผลกับแพทย์ทุก ๆ 3 เดือน พร้อมกับฉีดยารักษาภาวะไขมันสูงทุกครั้งในการตรวจที่โรงพยาบาลด้วย ก่อนหน้านี้เขาเคยถูกคุมขังระหว่างสอบสวน เป็นเวลา 68 วัน

ปริญญาแสดงความกังวลก่อนจะเดินทางมาฟังคำพิพากษาในวันนี้ว่า หากต้องเข้าไปในเรือนจำไม่ทราบเลยว่าจะได้รับรักษาอย่างไร จะสามารถนำยาของตัวเองเข้าไปด้วยได้หรือไม่ หรือแพทย์ในเรือนจำจะจ่ายยาชนิดใดให้ และหากอาการกำเริบขึ้นหนักเรือนจำจะมีแนวทางการรับมือและรักษาอย่างดีที่สุดหรือไม่ อย่างไร

จากผลของคำพิพากษาในวันนี้ ทำให้มีผู้ต้องขังทางการเมืองเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 43 รายแล้ว โดยเป็นคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวน 29 คน

(เพิ่มเติมข้อมูล) วันที่ 26 ม.ค. 2568 ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวพอร์ท คำสั่งระบุว่า “พิเคราะห์แล้ว จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี ประกอบกับจำเลยเคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมาก่อน ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างฎีกา ตีราคาประกัน 400,000 บาท และห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นแจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองก่อนปล่อยตัว ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาหลักประกันแล้วดำเนินการต่อไป”

ทำให้พอร์ทได้รับการปล่อยตัวในช่วงค่ำหลังถูกคุมขังเป็นระยะเวลา 4 วัน หลักทรัพย์ประกันตัวได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์

.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง 

ย้อนอ่านบันทึกการสืบพยานในคดีของพอร์ท 15 สิงหา ศาลนัดพิพากษา คดี ม.112 ‘พอร์ท ไฟเย็น’ เหตุโพสต์ตุรกีรัฐประหารไม่สำเร็จเพราะกษัตริย์ไม่เซ็นรับรอง และอีก 2 ข้อความ

บทสัมภาษณ์พอร์ทก่อนศาลมีคำพิพากษาวันนี้ “สถาบันฯ ไม่มีทางล้มเพราะถูกวิจารณ์” ฟังทัศนะ ‘พอร์ท ไฟเย็น’ ต่อข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ก่อนศาลพิพากษาคดี 112 พรุ่งนี้ 

อ่านเรื่องราวของพอร์ท ฟังเพลงชีวิตของ “พอร์ท ไฟเย็น” ศิลปินผู้ใช้ดนตรีและกีตาร์เป็นอาวุธสู้เผด็จการ 

X