“สถาบันฯ ไม่มีทางล้มเพราะถูกวิจารณ์” ฟังทัศนะ ‘พอร์ท ไฟเย็น’ ต่อข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ก่อนศาลพิพากษาคดี 112 พรุ่งนี้ 

“พอร์ท ไฟเย็น” หรือ ปริญญา ชีวินกุลปฐม อายุ 37 ปี สมาชิกวงไฟเย็นเพียงคนเดียวที่ยังคงอยู่ในประเทศไทย ขณะ 3 สมาชิกไฟเย็น ได้ลี้ภัยอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสแล้ว 

พอร์ท ผู้เป็นได้ทั้งนักร้อง ร้องประสาน มือเบส และมือกีต้าร์ ร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยเสียงเพลงและดนตรีกับวงไฟเย็น ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2556 แต่ภายหลังเกิดการรัฐประหาร ปี 2557 สมาชิกวงไฟเย็นส่วนใหญ่ต้องลี้ภัยไปยังประเทศลาว เนื่องจากได้รับหมายเรียกให้รายงานตัวต่อ คสช. ในขณะนั้น แต่ไม่มีชื่อของปริญญา เพราะเขาเพิ่งเข้าวงมาภายหลัง

ผลงานเพลงโดดเด่นของวงไฟเย็นที่พอร์ทมีบทบาทสำคัญนั้นมีอยู่หลายเพลงด้วยกัน เช่น พ่อ, ไม่รักนะ, ระวังติดคุก, ปลดปล่อย เปลี่ยนแปลง, ต้นมะขามสนามหลวง เป็นต้น หลายเพลงยังคงถูกนำมาใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองปัจจุบัน ทั้งในการชุมนุมและโลกโซเซียลเองก็ตาม

ก่อนศาลจะมีคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ของพอร์ท ในวันที่ 15 ส.ค. นี้ เรามีโอกาสได้พูดคุยกับเขาถึงทัศนะต่อข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่เขาร่วมยืนหยัดนำเสนอเรื่อยมา แม้เมื่อต้นปี 2564 พอร์ทจะได้ประกันตัวหลังถูกคุมขังนานกว่า 68 ด้วย โดยถูกศาลกำหนดหนึ่งในเงื่อนไขการประกันว่า ‘ไม่ให้สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์’ แต่กระนั้นพอร์ทก็ไม่เคยหยุดเรียกร้องในการทำให้สถาบันกษัตริย์ดีขึ้น เพราะเชื่อว่าการวิจารณ์โดยสุจริตต้องสามารถทำได้ และสถาบันกษัตริย์ไม่มีวันล้ม เพียงเพราะถูกวิจารณ์

มุมมองต่อขบวนการเคลื่อนไหวกับข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา

“10 กว่าปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ ภาพรวมของการเคลื่อนไหว ผมมองว่ายังไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าไหร่ เพราะยังมีอีกหลายคนคิดว่า ตอนนี้ ‘ยังไม่ใช่เวลา’ ของข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หลายคนมองว่าควรชูเรื่อง ‘ไล่ประยุทธ์’ ก่อนเป็นประเด็นหลัก ไม่ควรจะพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันเลย”

“เรื่องนี้ก็เซ็งๆ อยู่เหมือนกัน”

“จริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ มันสามารถทำควบคู่กันไปได้ ทำไมคุณถึงคิดว่า ถ้าพูดเรื่องสถาบันแล้วจะทำให้คนไม่เอาด้วย หรือจะเสียแนวร่วมที่รักสถาบันฯ แต่ไม่เอาประยุทธ์”

“เมื่อปี 2563 ที่คนรุ่นใหม่ชูเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ขึ้นมา ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ก่อนหน้านี้ในขบวนการของคนเสื้อแดง ต่อให้มีการพูดเรื่องนี้ก็จะเป็นเหมือนเรื่องรอง ถูกพูดอยู่แค่ในเวทีเล็ก หรือเวทีคู่ขนาน ไม่ได้เป็นประเด็นหลักของขบวนเสียเท่าไหร่”

“แต่สังคมโดยภาพรวมยังพาข้อเรียกร้องนี้ไปได้ไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าไหร่ โดยเฉพาะ ‘นักการเมือง’ หลายพรรคยังไม่เห็นด้วย แม้จะมีบางพรรคชูประเด็นขึ้นมาบ้าง แต่ก็เป็นแค่ผิวเผินเท่านั้น ยังไม่ได้กล้าหาญที่จะพูดหรือเรียกร้องตอบสนองสังคมได้เท่าที่ควรจะเป็น”

‘ข้อเสนอ’ เรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ ที่เห็นด้วยที่สุด

“ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ผมคิดว่าดีที่สุดและเป็นรูปธรรมที่สุด คือ ข้อเสนอของอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่เสนอให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาททุกมาตราในประมวลกฎหมายอาญาให้เหลือเพียง ‘มาตราเดียวในประมวลกฎหมายแพ่ง’”

“มาตราเดียวที่จะให้ความคุ้มครองทุกคน ตั้งแต่กษัตริย์จนถึงประชาชนคนธรรมดา”

ถูกศาลวางเงื่อนไข ‘ห้ามสร้างความเสื่อมเสียแก่สถาบันฯ’ แต่ก็ไม่เคยหยุดพูดเลย

“ถึงผมจะไม่ได้ออกไปเคลื่อนไหว ไปม็อบเหมือนเคย เพราะว่าหลายปีมานี้ทุกคนก็รู้ว่าสภาพร่างกายผมไม่ได้ดีเท่าไหร่ แต่ผมเองก็ยังเคลื่อนไหวในโซเชียลอยู่ตลอด”

“พวกเขาจะปิดปากเรา แล้วทำไมเราต้องให้เขาปิดปากด้วย” 

“เงื่อนไขในการประกันตัวของผมที่ศาลกำหนดไว้ คือ ไม่ทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย ไม่ไปร่วมการชุมนุม ไม่ก่อความวุ่นวาย และอีกหลายอย่าง การพูดของผมในโซเชียลก็ยังอยู่ในกรอบของเงื่อนไขเหล่านี้อยู่ เราสามารถวิจารณ์ให้สถาบันกษัตริย์ไม่เสื่อมเสียได้อยู่แล้ว ผมจึงไม่เคยหยุดพูดเรื่องพวกนี้เลย และจะไม่มีวันหยุดพูด”

“แต่ถ้าศาลจะห้ามผมไม่ให้พูดเลยสักเรื่อง ส่งผมเข้าคุกเลยจะดีกว่า” 

“ตลอดเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่เริ่มเคลื่อนไหวเมื่อ 10 ปีกว่านี้ที่แล้วจนถึงปัจจุบัน ผมไม่เคยหยุดพูดเรื่องข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เลย ถึงแม้ผมจะถูกศาลวางเงื่อนไข แต่ก็ไม่เคยคิดที่จะหยุด เพราะผมมั่นใจว่าการพูดโดยสุจริตสามารถทำได้”

“ผมคิดว่าการเสนอข้อเรียกร้องให้ ‘ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์’ ไม่ได้ทำให้สถาบันฯ เสื่อมเสียอะไรเลย และการวิจารณ์โดยสุจริตก็ไม่ได้ทำให้สถาบันฯ เสื่อมเสียด้วยเช่นกัน”

การปฏิรูปสถาบันฯ คือ การประนีประนอมอย่างหนึ่ง

“‘ปฏิรูป คือ การทำให้ดีขึ้น’ ซึ่งมันก็ดีทั้งต่อสถาบันฯ และประเทศโดยรวม ข้อเสนอนี้ก็เป็นการ Compromise (ประนีประนอม) อย่างหนึ่ง ถ้าผู้มีอำนาจรักสถาบันจริงก็ต้องนำข้อเสนอนี้ไปพิจารณา เพราะรัชกาลที่ 10 ท่านก็เคยตรัสไว้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศแห่งการ Compromise”

“การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ชูเรื่องกษัตริย์ที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ประชาชนสามารถตรวจสอบและวิจารณ์ได้ กษัตริย์ไม่ได้มีอำนาจเหนือประชาชน แต่ก็ยังคงมีสถานะเป็นประมุขดังเดิมอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งผมเห็นด้วยมากๆ”

“ไม่มีใครสามารถล้มสถาบันกษัตริย์ได้อยู่แล้ว แต่แค่ต้องยอมรับการถูกวิจารณ์ การตรวจสอบบ้างก็จะสามารถอยู่ร่วมกันได้ และเป็นผลดีในระยะยาวต่อสถาบันกษัตริย์เองเสียด้วย” 

“แต่คนในประเทศกลุ่มหนึ่งยังคงไม่ยอมรับข้อเรียกร้องนี้ พวกเขาคิดว่ามันเป็นเหมือนภัยคุกคาม”

“เราควรคุยกันได้ ปรับความเข้าใจกัน มานั่งเจรจากันดีกว่า จะปราบปรามโดยใช้ข้อกฎหมายหรือกระบวนการของรัฐ ‘ปิดปาก’ ประชาชนแบบนี้เหรอ วิธีนี้มันใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้วในยุคสมัยนี้”

“เราก็เห็นแล้วว่า ทุกวันนี้ไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่ แต่คือทุกๆ คน ทุกคนไม่ได้จำนนต่อการกดขี่ปราบปรามของรัฐ และยังคงเคลื่อนไหวในข้อเรียกร้องนี้อยู่ตลอดเวลา ไม่ได้ลดจำนวนน้อยลงเลย กลับกันมันยิ่งเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ ในโลกโซเชียล ทุกคนพูดเหมือนไม่มี ม.112 ด้วยซ้ำ ทุกคนพูดถึงเรื่องสถาบันฯ กันอย่างเป็นปกติไปแล้ว ถ้าเกิดคุณเล่นโซเชียลก็จะเห็นว่าทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว”

“การใช้ ม.112 เป็นเครื่องมือในการปราบปรามผมคิดว่ามันไม่เคยได้ผล สังคมมันไม่ได้หยุดอยู่ตรงนี้ ผู้มีอำนาจควรที่จะเรียนรู้และปรับเปลี่ยนให้สังคมสามารถวิจารณ์ พูด ตรวจสอบ ถึงสถาบันได้ โดยไม่ต้องติดคุก เพราะต่อให้มีคนวิจารณ์หรือพูดถึงแค่ไหน สถาบันฯ ก็ไม่มีวันล้มได้หรอก ผมเคยพูดไปแล้วว่าไม่มีวัน”

“สถาบันกษัตริย์ไม่มีทางล้ม เพียงเพราะถูกวิจารณ์”

พอร์ท ไฟเย็น

ย้อนอ่านบันทึกการสืบพยานในคดีของพอร์ท 15 สิงหา ศาลนัดพิพากษา คดี ม.112 ‘พอร์ท ไฟเย็น’ เหตุโพสต์ตุรกีรัฐประหารไม่สำเร็จเพราะกษัตริย์ไม่เซ็นรับรอง และอีก 2 ข้อความ

อ่านเรื่องราวของพอร์ท ฟังเพลงชีวิตของ “พอร์ท ไฟเย็น” ศิลปินผู้ใช้ดนตรีและกีต้าร์เป็นอาวุธสู้เผด็จการ 

X