15 สิงหา ศาลนัดพิพากษา คดี ม.112 ‘พอร์ท ไฟเย็น’ เหตุโพสต์ตุรกีรัฐประหารไม่สำเร็จเพราะกษัตริย์ไม่เซ็นรับรอง และอีก 2 ข้อความ

เมื่อวันที่ 8-9 มี.ค. และ 2 มิ.ย. 2565 ศาลอาญานัดสืบพยานในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ของ “พอร์ท ไฟเย็น” หรือ ปริญญา ชีวินกุลปฐม นักดนตรีวงไฟเย็น จากการถูกกล่าวหาว่าโพสต์เฟซบุ๊กพาดพิงสถาบันกษัตริย์ จำนวน 3 โพสต์ เมื่อปี 2559 หลังสืบพยานแล้วเสร็จ ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 15 ส.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

คดีนี้ ปริญญาถูกกล่าวหาจากการโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว รวม 3 ข้อความ ได้แก่ 

ข้อความที่ 1 ตามฟ้อง – โพสต์เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2559 

“สถาบันกษัตริย์ (ที่มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มีบทลงโทษรุนแรงคุ้มครอง) คือสิ่งงมงายอย่างหนึ่ง ใครก็ตามที่อ้างตนว่าต่อต้านสิ่งงมงาย แต่แจ้งจับคนเห็นต่างด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คนๆ นั้นคือคนตอแหลและจิตใจโหดเหี้ยม” 

ข้อความที่ 2 ตามฟ้อง – โพสต์เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2559 

“ไม่มีกษัตริย์เซ็นรับรองการทำรัฐประหารก็งี้แหละ #ตุรกี #รัฐประหารตุรกี” โดยเป็นการโพสต์ประกอบลิงก์ข่าวออนไลน์เรื่องความล้มเหลวในการทำรัฐประหารของนายทหารในประเทศตุรกีในช่วงดังกล่าว

ข้อความที่ 3 ตามฟ้อง – โพสต์เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2559 

“เพลงสถาบันกากสัส สถาบันกากสัส สถาบันกากสัส สถาบันกากสัส สถาบันระยำๆๆ สถาบันอะไร กดหัวผู้คน สั่งฆ่าประชาชน หนุนรัฐประหาร สถาบันอะไร ห้ามคนวิจารณ์ ใช้อำนาจเผด็จการ ครอบงำสังคม มันใช้งานผ่านศาล ทหาร ตำรวจ ไอ้สัสกะหมาๆๆ สถาบันกากสัส สถาบันกากสัส สถาบันกากสัส สถาบันระยำๆๆ สถาบันอะไรผูกขาดความดี แดกห่าภาษี ย่ำยีคนจน สถาบันอะไร ร่ำรวยสุดล้น ทั้งโกงทั้งปล้น เสือกสอนให้คนพอเพียง มันไม่เคยจะพอ โลภหลงอำนาจ ไอ้สัสกากหมาๆ 

“แต่งทำนองและท่อนฮุคไว้หลายเดือนแล้ว แต่เพิ่งแต่งเสร็จทั้งเพลงเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา บันทึกเสียงในส่วนของกีต้าร์ไว้แล้ว หากโชคดีภายในปีนี้คงได้ฟังกันครับ (โชคไม่ดีก็ภายในปีหน้า) ปล. สถาบันอะไรก็ไม่รู้นะครับ มีสถาบันตั้งหลายสถาบัน ตีความกันได้กว้างๆ ครับ 55555””

ข้อมูลประกอบการอ่านบันทึกสืบพยาน

  1. ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้ความคุ้มครองเฉพาะ 4 บุคคลเท่านั้น ได้แก่ กษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 
  1. ศาลจังหวัดจันทบุรี และ ศาลจังหวัดสมุทรปราการ เคยมีคำพิพากษาไว้ว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้ความคุ้มครองเฉพาะ ‘กษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน’ เท่านั้น ไม่คุ้มครองถึง ‘อดีตกษัตริย์’ ซึ่งนักวิชาการและนักกฎหมายส่วนหนึ่งก็มีความเห็นเช่นเดียวกันนี้ 
  1. รัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2559 เวลา 15.52 น. เป็นเวลาหลังข้อความทั้ง 3 โพสต์ถูกเผยแพร่บนเฟซบุ๊ก
  1. คำว่า ‘งมงาย’ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายถึง “หลงเชื่อโดยไม่มีเหตุผล หรือโดยไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นหรือเหตุผลของผู้อื่น”
  1. คำว่า ‘สถาบัน’ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายถึง “สิ่งซึ่งคนในส่วนรวม คือ สังคม จัดตั้งให้มีขึ้นเพราะเห็นประโยชน์ว่ามีความต้องการและจำเป็นแก่วิถีชีวิตของตน เช่น สถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันการศึกษา สถาบันการเมือง สถาบันการเงิน”

เปิดบันทึกสืบพยาน: สนามรบภาษา การตีความ และการมอบความหมายให้คำ 

ในคดีนี้ ศาลได้ดำเนินการสืบพยานโจทก์ไปทั้งหมด 7 ปาก โดยทนายความไม่ประสงค์นำพยานจำเลยเข้าสืบ พยานโจทก์ทั้ง 7 ปาก ได้แก่ ผู้กล่าวหา 1 ปาก พนักงานสอบสวน 2 ปาก ผู้จับกุม 1 ปาก ผู้ตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊ก 1 ปาก และประชาชนทั่วไปที่มาให้ความเห็นในคดี 2 ปาก

พยานโจทก์แทบทุกปากเบิกความไปในทิศทางเดียวกันว่า ทั้ง 3 ข้อความตามฟ้องในคดีนี้ไม่ได้มีคำหยาบคาย ไม่มีการระบุชื่อของกษัตริย์พระองค์ใด หรือบุคคลใดที่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

อีกทั้งพยานโจทก์ส่วนใหญ่ตีความว่า บางข้อความหรือทั้ง 3 ข้อความตามฟ้อง หมายถึงรัชกาลที่ 10 ทั้งที่ข้อความตามฟ้องทั้งหมดถูกโพสต์ในช่วงเวลาที่เป็นรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 และแนวทางคำพิพากษาในหลายศาล เช่น ศาลจังหวัดจันทบุรี ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ตีความว่ามาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะกษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่ในขณะเกิดเหตุเท่านั้น

ส่วนการต่อสู้ของจำเลยในคดีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นการต่อสู้เรื่องความหมายและการตีความถ้อยคำ เช่น คำว่า ‘สถาบัน’ ฝ่ายจำเลยสู้ว่า คำนี้สามารถใช้ได้หลากหลายบริบท เช่น สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา สถาบันครอบครัว เป็นต้น ไม่ได้ถูกบัญญัติไว้ว่าให้ใช้กับบริบท ‘สถาบันกษัตริย์’ อย่างเดียวเท่านั้น ตามที่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถานได้ให้ความหมายไว้ 

หรือคำว่า ‘กากสัส’ ซึ่งเป็นหนึ่งในถ้อยคำตามฟ้อง จำเลยสู้ว่าเป็นคำที่วัยรุ่นใช้พูดหยอกล้อกัน แม้จะออกเสียงคล้ายคำว่า ‘กษัตริย์’ แต่ก็เป็นคนละคำโดยสิ้นเชิง ไม่ได้มีความหมายอย่างเดียวกัน แต่พยานโจทก์ส่วนใหญ่ต่างก็เบิกความว่า คำนี้สามารถตีความได้ว่าหมายถึง ‘กษัตริย์’ แทบทุกปาก

“เป็นการตีความของพยานทิ้งสิ้น”: พยานโจทก์ส่วนใหญ่ตีความโยงสถาบันกษัตริย์ – ร.10 แต่ยอมรับว่าไม่มีถ้อยคำระบุตรงตัวถึงสถาบันกษัตริย์ – 4 บุคคลที่ ม.112 คุ้มครอง

พยานโจทก์ปากที่ 1 พ.ต.อ.โอฬาร – ผู้กล่าวหา เข้าใจว่า ‘กษัตริย์’ ตาม ม.112 คือกษัตริย์ทุกพระองค์ในราชวงศ์จักรี แต่ยอมรับ 3 ข้อความตามฟ้องไม่ระบุชื่อ 4 บุคคลที่ ม.112 คุ้มครอง

พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม อายุ 58 ปี ขณะเกิดเหตุเป็นผู้กำกับการกองกำกับการ 3 บก.ปอท. มีหน้าที่ปราบปรามคดีอาชญากรรมเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี 

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2559 พยานได้รับรายงานว่า พบบัญชีเฟซบุ๊กลงข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ จำนวน 3 โพสต์ เมื่อพิจารณาจากรายงานที่ได้รับแล้วเห็นว่า โพสต์ดังกล่าวมีเนื้อหาในทำนองหมิ่นประมาทกษัตริย์จริง จึงได้ไปกล่าวโทษร้องทุกข์ไว้กับพนักงานสอบสวนใต้บังคับบัญชาด้วยตัวเอง ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) และ (5)

ทนายจำเลยถามค้าน 

พยานเป็นผู้กล่าวโทษร้องทุกข์ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาหลายคดีแล้ว ทราบว่ามาตรา 112 ให้ความคุ้มครองเฉพาะ 4 บุคคล แต่ไม่ทราบว่า ‘สถาบันกษัตริย์’ ประกอบด้วยหลายส่วนด้วยกัน อาทิ องค์กษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร เป็นต้น 

ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ ซึ่งเป็นเวลาในช่วงเดือน เม.ย.- ก.ค. ปี 2559 พยานไม่ทราบว่ารัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตแล้วหรือไม่

ทนายจำเลยถามว่า “รู้หรือไม่ว่า มาตรา 112 ไม่คุ้มครองถึงอดีตกษัตริย์” พยานตอบว่า ที่ผ่านมามีการดำเนินคดีที่กระทำผิดต่ออดีตกษัตริย์อยู่หลายกรณีด้วยกัน ในความเข้าใจของพยาน คำว่า ‘กษัตริย์’ ตามมาตรา 112 หมายถึง “กษัตริย์ที่อยู่ในราชวงศ์จักรีทุกพระองค์” เนื่องจากมีการสืบทอดกันมาตามสายโลหิต ดังนั้นหากเป็นกษัตริย์นอกราชวงศ์จักรี มาตรา 112 จะไม่คุ้มครอง

ข้อความตามฟ้องทั้ง 3 โพสต์ พยานยอมรับว่าไม่มีการกล่าวถึงชื่อของกษัตริย์หรือบุคคลที่กฎหมายมาตรา 112 ให้ความคุ้มครอง แต่กระนั้นพยานก็ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า แต่เป็นประโยคที่แปลเป็นอื่นไม่ได้ เช่นข้อความที่ 1 มีการใช้คำว่า ‘สถาบัน’ ตามด้วยประโยคว่า “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มีบทลงโทษรุนแรง” ซึ่งพยานแปลได้ว่าคือ “กฎหมายมาตรา 112” ชี้นำให้เข้าใจได้ว่าคำว่า “สถาบัน” ในโพสต์ดังกล่าว หมายถึง “สถาบันกษัตริย์” ทั้งนี้พยานยอมรับว่าเป็นการตีความของตนเองแต่เพียงผู้เดียว

ข้อความตามฟ้องทั้ง 3 โพสต์ พยานยืนยันว่าไม่มีถ้อยคำลักษณะหยาบคาย รุนแรง และด่าทอ แต่พยานอธิบายเพิ่มเติมว่า ความผิดตามมาตรา 112 ไม่จำเป็นจะต้องมีถ้อยคำหยาบคายก็เป็นความผิดได้เช่นกัน 

จากนั้นทนายจำเลยได้ให้พยานอ่านความหมายของคำว่า ‘งมงาย’ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี 2554 โดยพยานเห็นด้วยตามนั้น ส่วนข้อความที่ 1 ตามฟ้องที่มีข้อความส่วนหนึ่งว่า “ใครก็ตามที่ต่อต้านเรื่องงมงาย”, “ใคร” ในที่นี้ พยานเห็นว่าหมายถึง “ผู้ที่กล่าวโทษร้องทุกข์ผู้อื่นด้วย ม.112” 

พยานโจทก์ปากที่ 2 พ.ต.ท.สุรชัจ –  ผู้ตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กจำเลย เห็นว่าผิด 112 ทั้ง 3 โพสต์ แม้ไม่ระบุถึงชื่อกษัตริย์หรือ 4 บุคคลที่ 112 คุ้มครอง ยืนกรานกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง มีพระราชกรณียกิจมากมาย

พ.ต.ท.สุรชัจ สีมุเทศ ผู้กำกับการกองกำกับการ 4 กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ เบิกความว่า ในคดีนี้ ขณะเกิดเหตุเป็นสารวัตรสืบสวนของ บก.ปอท. มาตั้งแต่ปี 2550 จนถึง 2554 มีหน้าที่สืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

คดีนี้พยานได้รับคำสั่งให้สืบสวนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีเฟซบุ๊กหนึ่ง ซึ่งมีการโพสต์วิพากษ์วิจารณ์ในทำนองหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ โดยพยานพบว่าเป็นบัญชีเฟซบุ๊กที่มีการเปิดเผยภาพถ่ายใบหน้าผู้ใช้งานชัดเจน และพบข้อความตามฟ้องทั้ง 3 โพสต์

ข้อความที่ 1 – พยานเห็นว่าไม่เป็นความจริง เป็นการใส่ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากเป็นสถาบันที่อยู่อยู่ไทยมายาวนาน ประชาชนคนไทยให้ความเคารพนับถือ สถาบันกษัตริย์ช่วยเหลือประชาชนมานาน ไม่เคยใช้กฎหมายรังแกคนที่ไม่ชอบ สถาบันกษัตริย์ใช้อำนาจผ่านตุลาการ ไม่ได้ใช้กฎหมายด้วยตัวเอง ไม่ใช่สิ่งงมงาย ถูกตราไว้ในรัฐธรรมนูญ พยานเห็นว่า ข้อความข้างต้นที่จำเลยโพสต์มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

ข้อความที่ 2 – พยานเห็นว่า ในประเทศไทยกษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมืองอยู่แล้ว ไม่ลงมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างแน่นอน

ข้อความที่ 3 – มีคำว่า ‘กากสัส’ ซึ่งคำว่า ‘กาก’ พยานเห็นว่าเป็นคำที่ไม่ดี ถือเป็นการหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ไม่สมควรโพสต์ แม้จะเป็นความเห็นส่วนตัว แต่ประชาชนคนอื่นทั่วไปไม่ได้มีความเห็นเช่นนี้ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

พยานเห็นว่า ข้อความทั้ง 3 โพสต์ในความเห็นส่วนตัว เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นการนำข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เป็นความผิดทางความมั่นคง 

ทนายจำเลยถามค้าน

ทนายถามว่า “ไม่ว่าใครก็สามารถสมัครเฟซบุ๊กได้ จะตั้งชื่อบัญชีว่าอะไรก็ได้ และสามารถโพสต์อะไรก็ได้ตามใจ ใช่หรือไม่” พยานตอบว่า “แต่ละคนมีเฟซบุ๊กของตัวเอง ตำรวจมีเครื่องมือตรวจสอบว่า เฟซบุ๊กแต่ละบัญชีมีผู้ใดเป็นเจ้าของ ผู้ตรวจสอบคือ ‘เจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ’ พยานไม่สามารถบอกวิธีการสืบสวนได้ เพราะเป็นความลับทางราชการ หากบอกไปผู้ต้องหาอื่นจะรู้ตัวและรู้ช่องว่างของเฟซบุ๊ก และจะนำไปใช้ก่อเหตุในอนาคตได้”

ข้อความที่ 1 – พยานเห็นว่าเมื่ออ่านข้อความแล้วก็ยังคงรู้สึกเลื่อมใสศรัทธาในสถาบันกษัตริย์อยู่ดี เพราะท่านเป็นคนดีและทรงมีพระราชกรณียกิจเยอะมาก

ทนายถามว่า ผู้เขียนมีเจตนาสื่อถึง ‘ผู้แจ้งความด้วยมาตรา 112’ ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า “ใช่” ทนายถามว่า ข้อความตามฟ้องดังกล่าวไม่ได้ปรากฏคำว่า ‘สถาบันกษัตริย์’ หรือ ‘พระบรมวงศานุวงศ์’ ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า “ใช่” แต่พยานเห็นว่าคำว่า ‘สถาบัน’ สื่อถึงรัชกาลที่ 10 เพราะขณะนั้นมีเหตุการณ์ความขัดแย้งของกลุ่มคนเสื้อแดงกับรัฐบาลจนลุกลามไปถึงการต่อต้านสถาบันกษัตริย์

จากนั้นทนายให้พยานดูความหมายของคำว่า ‘งมงาย’ ตามพจนานุกรม และถามว่าข้อความที่ 1 ไม่มีคำหยาบคายใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ต้องดูตามบทกฎหมายด้วย เพราะข้อความที่ 1 ตามฟ้องเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 ไปแล้ว ไม่ใช่ดูตามพจนานุกรม พยานเห็นว่าข้อความที่ 1 ตามฟ้องเป็นการด่าทอ ประชดประชัน มีคำด่าทอ แต่ไม่ได้หยาบคาย 

ข้อความที่ 2  – พยานเห็นว่าข้อความนี้เป็นการพูดเปรียบเทียบประเทศตุรกีกับประเทศไทย แต่สถาบันกษัตริย์ไทยไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แม้ไม่ได้เขียนระบุชื่อ 4 บุคคลที่มาตรา 112 ให้ความคุ้มครองตามกฎหมาย แต่พยานบอกว่า ข้อความนี้สามารถตีความได้ว่าเป็นการพาดพิงกษัตริย์ พยานอ้างว่า “ที่ทราบเพราะว่าเรียนหนังสือมา” 

ข้อความที่ 3 – ทนายถามว่า ในตอนท้ายของข้อความระบุว่า “สถาบันอะไรก็ไม่รู้นะครับ ตีความได้กว้างๆ” ส่วนคำว่า ‘สถาบัน’ ก็ถูกใช้กันทั่วไป เช่น สถาบันการเงิน สถาบันครอบครัว ฯลฯ ปรากฏตามความหมายในพจนานุกรม ส่วนคำว่า ‘กากสัส’ เป็นคำพูดที่วัยรุ่นใช้พูดหยอกล้อกันทั่วไปใช่หรือไม่ พยานตอบว่า “ไม่เคยได้ยิน”

สุดท้ายทนายถามว่า ข้อความทั้ง 3 โพสต์ ถูกโพสต์ในรัชสมัยของกษัตริย์ รัชกาลที่ 9 ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า “ใช่” 

อัยการถามติง  

พยานตอบอัยการถามติงว่า ข้อความที่ 2 ตามฟ้อง แม้จะไม่ได้ระบุถึงสถาบันกษัตริย์โดยตรง แต่เมื่ออ่านแล้วทำให้เข้าใจได้ว่า หมายถึงสถาบันกษัตริย์ 

พยานโจทก์ปากที่ 3 พ.ต.อ.สัณห์เพ็ชร – พนักงานสอบสวนเห็นด้วยว่า 3 ข้อความตามฟ้องไม่หยาบคาย ไม่ระบุถึง 4 บุคคลที่ 112 คุ้มครอง ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น

พ.ต.อ.สัณห์เพ็ชร หนูทอง อายุ 53 ปี เบิกความว่า ในคดีนี้เกี่ยวข้องเป็นพนักงานสอบสวน ผู้รับแจ้งความร้องทุกข์จาก พ.ต.อ.โอฬาร ผกก.กก 3 บก.ปอท. (พยานโจทก์ปากที่ 1) โดย พ.ต.อ.โอฬาร แจ้งว่า ได้รับข้อมูลจากฝ่ายสืบสวนว่า เฟซบุ๊กของจำเลยได้โพสต์ข้อความในลักษณะหมิ่นประมาทกษัตริย์ จำนวน 3 โพสต์ 

ขณะรับแจ้งความร้องทุกข์ พ.ต.อ.โอฬาร ได้มอบรายงานสืบสวนให้ด้วย พยานจึงได้แจ้งข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กับจำเลย จากนั้นในวันรุ่งขึ้น ได้ยื่นขอออกหมายจับต่อศาลทหารกรุงเทพ เพราะขณะนั้นคดี ม.112 เป็นอำนาจของศาลทหาร 

จากนั้นได้สอบถามไปยังกระทรวงไอซีที (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน) ถึงผู้ใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหา และได้สอบปากคำพยานไว้ 1 ปาก คือ พงศธร วรรณสุคนธ์ เจ้าหน้าที่กองป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ของกระทรวงไอซีที และได้สอบปากคำพยานในคดีนี้ไว้อีก 1 ปาก คือ อรญา เชิดชุติพงศ์ ซึ่งเป็นประชาชนทั่วไป จากนั้นได้สรุปสำนวนเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

ขณะที่ทำสำนวนคดีนี้ โครงสร้างคดีมาตรา 112 จะมีด้วยกันสามชั้น พิจารณาและส่งความเห็นไปให้กันตามลำดับ ดังนี้

  1. คณะกรรมการของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง 
  2. กองคดีอาญา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  3. คณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

ในคดีนี้เมื่อส่งสำนวนให้คณะกรรมการคดีหมิ่นฯ แล้ว คณะกรรมการตีกลับมาให้สอบพยานเพิ่มเติม แต่พยานไม่ได้ดำเนินการต่อ เนื่องจากได้ย้ายไปรับราชการที่กองปราบปราม ในตำแหน่งรองผู้กำกับการกองปราบปราม พยานได้ส่งมอบสำนวนให้ กก.ปอท.3 รับช่วงดูแลสำนวนคดีนี้ต่อ

ทนายจำเลยถามค้าน

พยานตอบทนายถามค้านว่า รับราชการในตำแหน่ง รอง ผกก. (สอบสวน) ที่ บก.ปอท. มาตั้งแต่ปี 2553 – 2560 ก่อนจะย้ายไปรับราชการในตำแหน่ง รอง ผกก. (สอบสวน) ที่กองบังคับการปราบปราม และย้ายกลับมารับราชการที่ บก.ปอท. ดังเดิมในปี 2564 จนถึงปัจจุบัน 

พยานรับแจ้งความร้องทุกข์ในคดีมาตรา 112 หลายคดี พยานทราบดีว่า มาตรานี้ครอบคลุมเฉพาะ 4 บุคคลเท่านั้น ซึ่งข้อความทั้ง 3 โพสต์ตามฟ้องของจำเลยไม่ได้มีการเขียนระบุถึงสถาบันกษัตริย์เลย

หลังรับแจ้งความร้องทุกข์ พยานได้ตรวจดูข้อความทั้ง 3 โพสต์ตามที่ได้รับการร้องทุกข์ พบว่าไม่มีคำหยาบคาย ส่วนคำว่า ‘งมงาย’ เป็นคำที่ใช้กันอยู่ทั่วไปอยู่แล้ว ไม่ได้มีการพาดพิง ยืนยันถึง 4 บุคคลที่มาตรา 112 ให้ความคุ้มครอง 

ข้อความที่ 1 – พยานเห็นว่า หมายถึง คนที่ไปแจ้ง 112 กับผู้อื่น 

ข้อความที่ 2 – พยานเห็นว่า ไม่มีคำหยาบคาย เป็นประโยคบอกเล่าไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงอะไร 

ข้อความที่ 3 – พยานเห็นว่าไม่ได้ระบุถึง 4 บุคคลที่มาตรา 112 ให้ความคุ้มครอง หรือบุคคลอื่น มีเพียงคำว่า ‘สถาบันกากสัส’ และไม่ได้ระบุว่าหมายถึงอะไรกันแน่ 

พยานไม่ทราบว่า คำสั่งสุดท้ายของคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นอย่างไร เพราะขณะนั้นได้ย้ายไปรับราชการที่อื่นแล้ว

พยานโจทก์ปากที่ 4 ร.ต.อ.ฐานันดร – พนักงานสอบสวน ทราบว่า ศาลนครพนมเคยพิพากษา สถาบันกษัตริย์ไม่ใช่องค์ประกอบ ม.112 

ร.ต.อ.ฐานันดร สาสูงเนิน อายุ 29 ปี เบิกความว่า รับราชการอยู่ที่ กองกำกับการ 3 บก.ปอท. มาตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ในคดีนี้พยานได้รับหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนต่อจาก พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร หนูทอง 

คดีนี้โอนคดีมาจากศาลทหารมายังศาลอาญา และพยานเป็นผู้ยื่นขอฝากขังจำเลยต่อศาลอาญา อีกทั้งเป็นผู้สรุปสำนวนตามความเห็นเดิมที่คณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีความเห็นไว้ จากนั้นพยานจึงได้มีความเห็นสั่งฟ้องสำนวนคดีนี้ต่อพนักงานอัยการ

ทนายจำเลยถามค้าน 

คดีหลังรับช่วงต่อมาจาก พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร พยานได้สอบปากคำพยานในคดีเพิ่มเติมอีก 1 ปาก คือ พ.ต.ท.แทน ไชยแสง ซึ่งเป็นผู้จับกุมจำเลยในคดีนี้ และมอบคำเบิกความของพยานในคดีปากดังกล่าวให้อัยการไปแล้ว

พยานทราบว่า ศาลจังหวัดนครพนมเคยมีคำพิพากษาว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ก็มิใช่องค์ประกอบความผิดของ มาตรา 112 แต่พยานไม่ทราบรายละเอียด ในคดีนี้แม้โจทก์จะบรรยายว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์ทั้ง 3 ข้อความ เมื่อประชาชนอ่านแล้ว จะทำให้ประชาชนไม่เคารพรักและไม่ศรัทธาในสถาบันกษัตริย์ แต่ในฐานะที่พยานเป็นประชาชนทั่วไปคนหนึ่ง เมื่ออ่านข้อความตามฟ้องแล้วก็ยังคงมีความรักและเทิดทูนสถาบันกษัตริย์อยู่

พยานโจทก์ปากที่ 5 พ.ต.ท.แทน – ตำรวจผู้จับกุม ยืนยันขณะจับกุมจำเลยเมื่อต้นปี 64 จำเลย-แม่ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี  

พ.ต.ท.แทน ไชยแสง อายุ 45 ปี เบิกความว่า รับราชการในตำแหน่ง รองผู้กำกับการ กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 2 มาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน 

ในคดีนี้พยานได้ร่วมจับกุมจำเลยด้วย พฤติการณ์ในการขอออกหมายจับเมื่อเดือน มี.ค. ปี  2563 พยานได้ขอสืบสวนตามหมายจับค้างเก่าของศาลทหารกรุงเทพฯ หลังผู้บังคับบัญชาอนุมัติให้สืบสวนได้ พยานได้ทำการสืบสวนจนรู้ว่า จำเลยพักอาศัยอยู่กับแม่ที่บ้านพัก

ต่อมา เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2564 พยานขอให้ศาลอาญาพระโขนงออกหมายค้นบ้านหลังดังกล่าวของจำเลยและศาลอนุญาต ในวันเดียวกันพยานจึงได้นำกำลังไปค้นบ้านของจำเลยและพบว่าจำเลยกำลังกินข้าวอยู่ที่ชั้นล่างของบ้าน ตำรวจจึงได้แสดงหมายค้นและหมายจับ พร้อมกับตรวจยึดอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือและโน๊ตบุ๊ค 

หลังจับกุมได้ควบคุมตัวจำเลยไปยัง บก.ปอท. กองกำกับการ 3 พร้อมจัดทำบันทึกการตรวจค้นและบันทึกการจับกุม นอกจากนี้พยานยังเป็นผู้จัดทำรายงานการสืบสวนก่อนการจับกุมจำเลยในคดีนี้ให้กับ บก.ปอท. กองกำกับการ 3 อีกด้วย

ทนายจำเลยถามค้าน

พยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในวันที่เข้าจับกุมจำเลยและตรวจยึดเครื่องมือสื่อสาร จำเลยและแม่ของจำเลยให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ไม่มีการขัดขืนใดๆ 

พยานยังบอกอีกว่า รายงานการสอบสวนเฟซบุ๊กส่วนตัวของจำเลย คณะทำงานเป็นผู้จัดทำ พยานไม่ได้เป็นผู้จัดทำ แต่เป็นผู้ตรวจสอบและกลั่นกรองความถูกต้อง 

พยานโจทก์ปากที่ 6 อรญา – พยานความเห็น ในฐานะประชาชนทั่วไป ชี้ ‘กากสัส’ หมายถึง ‘กษัตริย์’ แต่ยอมรับว่า ข้อความทั้ง 3 ตามฟ้องไม่มีระบุถึง 4 บุคคลที่ 112 คุ้มครอง

อรญา เชิดชุติพงศ์ ประชาชนทั่วไป อายุ 68 ปี เบิกความว่า เมื่อปี 2559 ได้เดินทางไปแจ้งความร้องทุกข์ที่ บก.ปอท. ในคดีส่วนตัว เนื่องจากมีผู้ส่งข้อความไม่สุภาพมาให้ ในวันเดียวกันได้พบกับพนักงานสอบสวนในคดีนี้ เข้ามาสอบถามเพื่อขอความเห็นกับ คำว่า ‘สถาบันกากสัส’ พยานจึงได้ให้ความเห็นไป

ทนายความจำเลยถามค้าน 

พยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ตนมีความรักและเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่ออ่านข้อความที่จำเลยถูกฟ้องในคดีนี้แล้วก็ยังคงมีความรักและเคารพต่อสถาบันฯ เช่นเดิม แต่เพียงรู้สึกโกรธและไม่พอใจที่จำเลยโพสต์ข้อความในลักษณะเช่นนี้ 

ทนายถามว่า ข้อความทั้ง 3 ตามฟ้อง เมื่ออ่านแล้วไม่ได้มีการระบุชื่อของกษัตริย์หรือชื่อ 4 บุคคลที่มาตรา 112 ให้ความคุ้มครองตามกฎหมายเลยใช่หรือไม่ พยานตอบว่า “ใช่”

ทนายถามว่า “ที่พยานให้ความเห็นกับพนักงานสอบสวนในคดีนี้ไปว่า คำว่า ‘กากสัส’ มีความหมายว่า ‘สถาบันกษัตริย์’ นั้นเป็นการตีความของพยานเองใช่หรือไม่” พยานตอบว่า “ใช่” ทนายถามว่า “คำว่า ‘สถาบัน’ ตามพจนานุกรม ใช้กับองค์กรอีกหลากหลายและเป็นคำที่ใช้กันอยู่ทั่วไปใช่หรือไม่” พยานตอบว่า “ใช่”  

พยานตอบทนายจำเลยถามค้านอีกว่า ที่ให้ความเห็นกับพนักงานสอบสวนว่า “ข้อความที่ 2 และ 3 ตามฟ้องเป็นการกล่าวหาพระมหากษัตริย์นั้นเป็นการตีความของพยานเอง

พยานโจทก์ปากที่ 7 กำธร – พยานความเห็น ในฐานะประชาชนทั่วไป ชี้ข้อความรัฐประหารในตุรกีไม่สำเร็จเพราะกษัตริย์ไม่เซ็นรับรอง เข้าใจได้ว่า ‘โยนความผิดให้กษัตริย์ไทย’ 

กำธร ตรีรัตนาพิทักษ์ อาชีพทนายความ อายุ 48 ปี เบิกความว่า เมื่อปี 2560 ลูกความของตนถูกกล่าวหาในหลายข้อหา โดยมีข้อหาหลักเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทฯ ทางเฟซบุ๊ก ซึ่งผู้เสียหายได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ไว้ที่ บก.ปอท. พยานจึงต้องเดินทางไปพร้อมกับลูกความที่ บก.ปอท. 

ต่อมาพยานได้พบกับพนักงานสอบสวนของสำนวนคดี และได้ขอให้ตนเป็นพยานความเห็นในคดีนี้ โดยได้เอาข้อความตามฟ้องให้พยานได้อ่าน 

ข้อความที่ 1 – ข้อความนี้พยานจำไม่ได้แล้ว เนื่องจากเวลาผ่านมานาน และเคยให้ความเห็นไว้กับพนักงานสอบสวนตามเอกสารแล้ว

ข้อความที่ 2 – พยานมีความเห็นว่า ข้อความนี้สามารถเชื่อมโยงได้กับประเทศไทยที่ทำรัฐประหารสำเร็จได้เพราะมีกษัตริย์เซ็นรับรอง พยานเห็นว่า เหมือนว่าเป็นการโยนความผิดในการทำรัฐประหารให้กับกษัตริย์

ข้อความที่ 3  – พยานเห็นว่า คำว่า “กากสัส” เป็นคำพ้องเสียงเช่นเดียวกับคำว่า “กษัตริย์” โดยในโพสต์มีการพูดถึง กากสัสเป็นสถาบันกษัตริย์ที่สั่งฆ่าประชาชน ซึ่งพยานเห็นว่าไม่เป็นความจริง

ทนายจำเลยถามค้าน

พยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ก่อนที่พนักงานสอบสวนในคดีนี้จะขอความเห็นจากพยาน พนักงานสอบสวนได้ให้พยานอ่านทั้ง 3 ข้อความตามฟ้อง แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้เล่าให้ฟังว่าจำเลยในคดีนี้เป็นผู้ใด พยานเคารพรักและนับถือสถาบันกษัตริย์ เมื่ออ่านข้อความทั้ง 3 ตามฟ้องแล้วก็ยังคงรู้สึกเคารพและนับถือสถาบันกษัตริย์ต่อไป ไม่ได้รู้สึกว่าอยากจะกระทำไม่ดีต่อสถาบันกษัตริย์ แต่คิดว่าผู้โพสต์ข้อความตามฟ้องมีเจตนาไม่ดีต่อสถาบันกษัตริย์

ข้อความที่ 1 – พยานเห็นด้วยว่าข้อความดังกล่าวไม่มีการระบุถึง 4 บุคคลที่มาตรา 112 ให้ความคุ้มครองตามกฎหมาย แต่พยานเห็นว่าการกล่าวว่าสถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งงมงายนั้นไม่ถูกต้อง เพราะสถาบันกษัตริย์ถูกบัญญัติอย่างถูกต้องในรัฐธรรมนูญและอยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน อีกทั้งมีการพูดถึงกฎหมายมาตรา 112 ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์อีกด้วย

ทนายความกล่าวว่า ‘สถาบันกษัตริย์’ ประกอบขึ้นมาด้วยหลายส่วนด้วยกัน เช่น ข้าราชบริพาร พระบรมวงศานุวงศ์ พระมหากษัตริย์ เป็นต้น พยานตอบว่า “เห็นด้วย” ทนายถามว่า นอกจากคดีนี้แล้ว พยานยังได้ไปเป็นพยานความเห็นในคดีมาตรา 112 อีก 1 คดีอีกด้วย ซึ่งศาลได้พิพากษายกฟ้องไปแล้ว แต่พยานตอบว่า “ไม่ทราบว่าศาลยกฟ้องไปแล้ว”

จากนั้นทนายให้พยานดูความหมายของคำว่า “งมงาย” ตามพจนานุกรม และถามพยานว่า “ดังนั้นข้อความที่ 1 ตามฟ้องที่กล่าวถึง ‘คนที่ต่อต้านสิ่งงมงาย’ นั้นหมายถึง คนที่ไปกล่าวโทษร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้อื่นในข้อหามาตรา 112 ใช่หรือไม่” พยานตอบว่า “ใช่” 

ทนายถามอีกว่า การวิจารณ์นั้นเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ตามกฎหมาย พยานตอบว่า “ใช่ แต่ไม่ใช่กับสถาบันกษัตริย์”

ข้อความที่ 2 – พยานเห็นว่า แม้จะไม่มีการกล่าวถึง 4 บุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 112 หรือชื่อของกษัตริย์พระองค์ใดเลย แต่พยานเห็นว่าเมื่ออ่านแล้วสามารถสื่อความหมายได้ถึงการรัฐประหารในไทยด้วย ซึ่งพยานยอมรับว่าเป็นเพียงการตีความของพยานเอง 

ข้อความที่ 3 – พยานเห็นว่า คำว่า ‘กากสัส’ หมายถึง ‘กษัตริย์’ ทนายถามค้านว่า ทั้งสองคำอ่านขึ้นต้นด้วยเสียง ‘กะ’ กับ ‘กาก’ ซึ่งเป็นการออกเสียงที่ต่างกัน แต่คล้ายคลึงกัน จากนั้นทนายจำเลยได้ให้พยานได้ดูความหมายของคำว่า “สถาบัน” ตามพจนานุกรม 

ทนายถามค้านอีกว่า คำว่า ‘สถาบัน’ ถูกใช้อยู่โดยทั่วไปอยู่แล้ว อาทิ สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา สถาบันภาษา ฯลฯ ซึ่งพยานเห็นด้วย ทนายถามอีกว่า “เหตุการณ์ 6 ตุลา ปี 2519 มีประชาชนและนักศึกษาเสียชีวิตมากกว่า 100 คน เพราะถูกตำรวจและทหารสังหารใช่หรือไม่” พยานตอบว่า “ทราบมาจากหนังสือ แต่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์จริง” 

ทนายจำเลยถามว่า ที่พยานให้ความเห็นไว้กับพนักงานสอบสวนว่า ข้อความที่ 3 ตามฟ้องสื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่า กษัตริย์สั่งฆ่าประชาชนและสั่งให้มีการรัฐประหารนั้นเป็นความเห็นของพยานเองใช่หรือไม่ พยานตอบว่า “ใช่” เพราะคำว่าสถาบัน ‘กากสัส’ เป็นการเลียนแบบเสียงของคำว่า ‘กษัตริย์’ แต่พยานยอมรับว่า ข้อความที่ 3 ตามฟ้องไม่ปรากฏรายชื่อ 4 บุคคลที่ได้รับความคุ้มครองจากมาตรา 112 และไม่ปรากฏว่าคำว่า ‘สถาบันกษัตริย์’ อีกด้วย

ทนายถามอีกว่า คำว่า ‘กากสัส’ เป็นคำที่วัยรุ่นใช้กล่าวเพื่อหยอกล้อกันในเชิงขำขันใช่หรือไม่ พยานตอบว่า “เคยได้ยินมาบ้าง” 

สุดท้ายทนายถามว่า ข้อความที่ 3 ตามฟ้อง ส่วนท้ายข้อความระบุว่า “ปล.สถาบันอะไรก็ไม่รู้นะครับ มีสถาบันตั้งหลายสถาบัน ตีความกันได้กว้างๆ ครับ 55555” ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า เห็นและรับทราบแล้วว่ามีการระบุส่วนนี้อยู่ด้วย แต่ผู้ที่ได้อ่านข้อความนี้ก็ยังตีความได้ว่าหมายถึงสถาบันกษัตริย์อยู่ดี

เส้นทางคดี ‘พอร์ท ไฟเย็น’ ก่อนศาลพิพากษา

  1. เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2564 ปริญญาถูกจับกุมตามหมายจับถึงบ้านพักย่านอุดมสุข กรุงเทพฯ และถูกนำตัวไปที่ บก.ปอท. และเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2564 ศาลอาญาอนุญาตฝากขังและไม่ให้ประกัน ปริญญาจึงถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ  
  1. เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2564 ทนายความยื่นขอประกันเป็นครั้งที่ 4 เนื่องจากปริญญาติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำ และศาลนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 12 พ.ค. 2564 ก่อนจะมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว รวมระยะถูกคุมขังทั้งสิ้น 68 วัน 
  1. หลังถูกปล่อยตัวปริญญาถูกส่งตัวไปรักษาอาการติดเชื้อไวรัสโควิดที่โรงพยาบาล และเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2564 ปริญญาหายเป็นปกติแล้ว ทางโรงพยาบาลจึงอนุญาตให้สามารถกลับบ้านได้ 
  1. 28 พ.ค. 2564 พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญา โดยได้ฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) 
  1. 28 มิ.ย. 2564 ศาลอาญานัดสอบคำให้การ ปริญญาแถลงรับว่าตนเองเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้องจริง และยอมรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความทั้ง 3 โพสต์จริง แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ตามข้อกล่าวหาของโจทก์
  1. เมื่อวันที่ 8-9 มี.ค. และ 2 มิ.ย. 2565 ศาลอาญานัดสืบพยานโจทก์ในคดีนี้จนแล้วเสร็จโดยสืบพยานโจทก์ได้ทั้งหมด 7 ปาก และศาลนัดฟังคำพิพากษาเป็นวันที่ 15 ส.ค. 2565  
X