วันที่ 14 ม.ค. 2568 เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญาตลิ่งชัน นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีของ “โด่ง” ประสงค์ โคตรสงคราม ชาวจังหวัดลพบุรีวัย 29 ปี ที่ถูกอัยการฟ้องคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากกรณีโพสต์และแชร์เฟซบุ๊กรวม 2 กระทง เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564 หลังศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 6 ปี ก่อนลดเหลือ 3 ปี ไม่รอลงอาญา และจำเลยอุทธรณ์ขอให้รอลงอาญาหรือรอการกำหนดโทษ
คดีนี้ ประสงค์ถูกจับกุมตามหมายจับเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2564 จากบ้านในอำเภอเมืองลพบุรี ก่อนถูกนำตัวไปยัง สน.บางพลัด เจ้าของคดี โดยพบว่า คดีมี ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ เป็นผู้กล่าวหา โดยฐิติวัฒน์อ้างว่าได้เปิดดูเฟซบุ๊กของกลุ่มบุคคลที่มักจะโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จนพบเห็นข้อความของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งมีลักษณะดังกล่าว จึงมาแจ้งความดำเนินคดี
ภายหลังถูกจับกุม ศาลอาญาตลิ่งชันเคยไม่อนุญาตให้ประกันประสงค์ในระหว่างสอบสวน ทำให้เขาถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำชั่วคราวทุ่งน้อย จ.นครปฐม ซึ่งอยู่ภายในพื้นที่เรือนจำมณฑลทหารบกที่ 11 เป็นเวลา 21 วัน อ้างเหตุผลจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด โดยไม่อนุญาตให้ญาติและทนายความเข้าเยี่ยม เมื่อครบ 21 วันแล้ว ประสงค์ยังคงถูกกักตัวที่เรือนจำชั่วคราวทุ่งน้อยต่อ เนื่องจากผู้ต้องขังในห้องเดียวกันติดโควิด-19 จนกระทั่งศาลอนุญาตให้ประกันตัว ในวันที่ 4 ส.ค. 2564 ทำให้เขาต้องถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวทุ่งน้อยรวมทั้งสิ้น 27 วัน ก่อนพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาตลิ่งชัน 1 มีคำสั่งฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2564
ซึ่งเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2566 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษตามมาตรา 112 ให้จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุให้บรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี ไม่มีเหตุให้รอลงอาญา แต่ได้รับการประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์คดี
วันนี้ (14 ม.ค. 2568) เวลา 08.40 น. ประสงค์เดินทางมาถึงศาลแต่เช้า โดยมีประชาชนจำนวนหนึ่งเดินทางมาให้กำลังใจและร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งว่า ศาลจะอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ห้องเวรชี้ใต้ถุนศาล โดยบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องไม่สามารถเข้าร่วมฟังได้
ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้โทษจำคุกของจำเลยเล็กน้อย จาก 3 ปี เป็น 2 ปี 12 เดือน กับให้ยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลย โดยมีรายละเอียดดังนี้
ศาลอุทธรณ์ตรวจสํานวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงข้อเดียวว่า ต้องรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางเป็นทรัพย์ที่จําเลยได้ใช้ในการกระทําความผิดและมีคําขอให้ริบ จําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นไม่ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางจึงไม่ชอบ
เห็นว่า ฟ้องโจทก์บรรยายว่าจําเลยกระทําผิดโดยหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ด้วยการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทางเฟซบุ๊ก โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางถือเป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งที่สามารถนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ได้ จึงเป็นทรัพย์ที่จําเลยได้ใช้ในการกระทําความผิด ต้องริบเสีย การที่ศาลชั้นต้นไม่มีคําสั่งริบจึงไม่ชอบ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจําเลยเพียงข้อเดียวว่า มีเหตุลงโทษสถานเบาและรอการกําหนดโทษหรือรอการลงโทษหรือไม่ จําเลยอุทธรณ์ว่า สภาพความผิดที่จําเลยถูกกล่าวหาไม่มีพฤติการณ์ร้ายแรง สมควรลงโทษสถานเบาและรอการกําหนดโทษหรือรอการลงโทษ เห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 3-15 ปี การที่ศาลชั้นต้นวางโทษจําคุกจําเลยเพียงกระทงละ 3 ปี ถือเป็นการลงโทษขั้นต่ำและเบาที่สุดแล้ว
ส่วนที่อุทธรณ์ขอให้รอการกําหนดโทษหรือรอการลงโทษนั้น เห็นว่า การกระทําของจําเลยเป็นการกระทําความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ พฤติการณ์การกระทําผิดของจําเลยถือเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นไม่รอการกําหนดโทษหรือรอการลงโทษจําเลยนั้น นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลอุทธรณ์จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขอีก อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้จำเลยกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน แต่ศาลชั้นต้นรวมโทษทุกกระทงแล้วจึงลดโทษให้จำเลย แทนที่จะลดโทษแต่ละกระทงก่อนแล้วจึงรวมโทษ ย่อมเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากกว่าการลดโทษแต่ละกระทงเสียก่อนแล้วจึงรวมโทษเข้าด้วยกัน เพราะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่า หากกำหนดโทษจำคุกเป็นเดือน ให้นับ 30 วันเป็น 1 เดือน แต่ถ้ากำหนดเป็นปี ให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ ดังนั้น การกำหนดโทษจำคุก 12 เดือน ย่อมมีกำหนดเท่ากับ 360 วัน ซึ่งน้อยกว่าจำนวนวันตามปฏิทินที่อาจมีถึง 366 วัน หรือ 365 วัน
ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจในการหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง
พิพากษาแก้เป็นว่า เมื่อลดโทษให้จำเลยกระทงละกึ่งหนึ่งแล้ว คงลงโทษตามมาตรา 112 จำคุกกระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 2 ปี 12 เดือน ให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
.
ภายหลังการอ่านคำพิพากษา ทนายความและนายประกันได้ยื่นขอประกันประสงค์ระหว่างฎีกาทันที โดยในเวลา 14.30 น. ศาลอาญาตลิ่งชันได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันจำเลยระหว่างฎีกา โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นจำนวนเงิน 266,000 บาท เพิ่มจากเงินประกันระหว่างอุทธรณ์ที่เคยวางไว้ต่อศาลจำนวน 200,000 บาท อีกจำนวน 66,000 บาท โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ ทั้งนี้ ศาลยังคงกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศเช่นเดิม
มีข้อสังเกตว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้ประกันจำเลยระหว่างฎีกาเองได้โดยไม่ต้องส่งให้ศาลฏีกาพิจารณาสั่งให้หรือไม่ให้ประกัน ซึ่งกรณีดังกล่าวมักเกิดขึ้นน้อยครั้ง แม้ว่าข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีเรียกหลักประกันในคดีอาญา พ.ศ 2565 ข้อ 24 ได้กำหนดไว้ว่า กรณีที่ศาลชั้นต้นหรือศาลชั้นอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ไม่ว่าจะเป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือคดีที่ต้องขออนุญาตฎีกาก็ตาม หากจำเลยไม่เคยถูกคุมขังมาก่อนหรือได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ และไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือก่อภัยอันตรายใด ๆ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยใช้วิธีการอย่างเดียวกับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาหรือจะใช้เงื่อนไขหรือมาตรการที่เข้มงวดเพิ่มขึ้นก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งให้ศาลชั้นอุทธรณ์หรือศาลฎีกาสั่ง