ศาลฎีกาพิพากษาแก้โทษ 6 นักกิจกรรม คดีละเมิดอำนาจศาล กรณีเขียนฝาห้องในศาลธัญบุรี ให้ปรับคนละ 500 บาท โทษกักขังให้รอลงอาญาไว้ 1 ปี

29 ม.ค. 2568 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดธัญบุรีนัดฟังคำพิพากษาฎีกาในคดีละเมิดอำนาจศาลของนักกิจกรรม 6 ราย ได้แก่ “ฟ้า” พรหมศร วีระธรรมจารี, “ปูน” ธนพัฒน์ (สงวนนามสกุล), “ต๋ง” ปนัดดา ศิริมาศกูล, “บอย” ชาติชาย แกดำ, “ณัฐ” ณัฐชนน ไพโรจน์ และ “ฮิวโก้” สิริชัย นาถึง 

ศาลฎีกาพิพากษาแก้โทษเป็น ให้ลงโทษกักขังคนละ 10 วัน ปรับคนละ 500 บาท โทษกักขังให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือน ในเวลา 1 ปี และบำเพ็ญประโยชน์เป็นเวลา 24 ชั่วโมง

.

เดิมคดีนี้มีนักกิจกรรม 9 คน ถูกตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาลจากกรณีถูกกล่าวหาว่าไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กและเขียนข้อความบนผนังห้องขณะถูกควบคุมตัวในห้องควบคุมผู้ต้องขังของศาลจังหวัดธัญบุรี หลังศาลไม่ให้ประกันตัวในคดีชุมนุมหน้า บก.ตชด. ภาค 1 เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 64 แต่หลังศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งลงโทษจำคุกคนละ 20 วัน และลดโทษเหลือจำคุกคนละ 10 วัน เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพ ก่อนเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขัง “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และแซม ซาแมท ซึ่งอยู่ระหว่างถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จึงถูกย้ายตัวไปกักขังต่อที่สถานกักขังกลางจังหวัดปทุมธานีจนครบระยะเวลา 10 วันแล้ว จึงมีเพียงผู้ถูกกล่าวหาที่เหลือ 6 คนที่ยื่นอุทธรณ์

หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2566 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษกักขังเป็นระยะเวลา 10 วัน โดยไม่รอการลงโทษ นักกิจกรรมทั้ง 6 คน จึงยื่นฎีกาและได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างฎีกา โดยใช้หลักทรัพย์เดิมที่วางไว้ระหว่างอุทธรณ์ คือเงินสดคนละ 10,000 บาท ซึ่งเป็นเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ และไม่มีเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวใด ๆ

.

วันนี้ (29 ม.ค. 2568) เวลา 09.00 น. ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหกพร้อมทนายความเดินทางมายังห้องพิจารณาที่ 3 บริเวณหน้าห้องมีการติดประกาศข้อกำหนดศาลจังหวัดธัญบุรีไว้ที่หน้าห้องนี้เพียงห้องเดียว ห้ามไม่ให้นำเครื่องมือสื่อสารเข้าไปในห้องพิจารณา โดยเจ้าหน้าที่ได้เตรียมซองสำหรับใส่โทรศัพท์ไว้ที่หน้าห้อง หรือหากจะเก็บโทรศัพท์ใส่กระเป๋าก็ห้ามนำกระเป๋าและสัมภาระเข้าไปด้วย นอกจากนี้ยังมีตำรวจศาลยืนอยู่หน้าห้องประมาณ 6 นาย

ในเวลาต่อมา ศาลได้ออกนั่งพิจารณาและอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา โดยสรุปใจความได้ว่า ในคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษา ให้ลงโทษกักขังคนละ 10 วัน ศาลฎีกาพิพากษาแก้โทษเป็น ให้ลงโทษกักขังคนละ 10 วัน ปรับคนละ 500 บาท โทษกักขังให้รอการลงโทษ 1 ปี โดยให้รายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือน ในเวลา 1 ปี และให้ทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ 24 ชั่วโมง

.

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังจากเริ่มชุมนุมเยาวชนปลดแอก ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 2563 เป็นต้นมา มีการดำเนินคดี “ละเมิดอำนาจศาล” ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 44 คน ใน 26 คดี จำนวนนี้เป็นคดีที่มีมูลเหตุจากการเรียกร้องสิทธิประกันตัว 17 คดี ซึ่งคดีนี้เป็นคดีที่ 15

.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

สถิติคดี “ละเมิดอำนาจศาล-ดูหมิ่นศาล” ปี 2564

X