ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง “ประชาชน 3 คน” แชร์โพสต์เรื่อง พล.อ.ประวิตร จากเพจ KonthaiUK เห็นว่าโจทก์ไม่ได้นำสืบว่ากระทบต่อความมั่นคงอย่างไร

วันที่ 29 ม.ค. 2568 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีของประชาชน 3 คน ที่ถูกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) จากการแชร์โพสต์ข้อความจากเพจเฟซบุ๊ก “KonthaiUk” (คนไทยยูเค) มีเนื้อหาเกี่ยวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในช่วงเป็นรองนายกรัฐมนตรีขณะที่ คสช. ยังอยู่ในอำนาจ เมื่อปี 2561 ทั้งสามถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ก่อนศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลยทุกคนในวันนี้ 

คดีนี้สืบเนื่องมาจากช่วงเดือนมิถุนายน 2561 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ซึ่งขณะนั้นเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว เป็นผู้นำกำลังเข้าจับกุมประชาชนจากหลายจังหวัดไม่น้อยกว่า 31 คน นำตัวมาดำเนินคดีที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) โดยทั้งหมดเป็นประชาชนที่แชร์ข้อความจากเพจ KonthaiUK ดังกล่าว หลายคนไม่ได้เขียนข้อความใด ๆ ประกอบ และต่อมาพบว่ามี พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ (ยศในขณะนั้น) นายทหารฝ่ายกฎหมายของ คสช. เป็นผู้รับมอบอำนาจมากล่าวหาดำเนินคดี 

ต่อมา คดีมีการดำเนินการแยกเป็น 3 คดี ได้แก่ 1. ส่วนคดีที่จำเลยต่อสู้และศาลอาญาพิพากษายกฟ้องรวม 10 ราย กรณีแชร์ข้อความ พล.อ.ประยุทธ์ ลี้ภัยเพราะเป็นกบฏ

2. คดีของประชาชน 10 ราย ที่ให้การรับสารภาพ กรณีแชร์โพสต์วิจารณ์การทุจริตดาวเทียม ซึ่งศาลอาญาพิพากษาจำคุกคนละ 1 ปี ปรับ 20,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 

3. ประชาชนอีก 11 ราย ที่ยืนยันต่อสู้คดี ถูกอัยการฟ้องจากเหตุแชร์ข้อความต่างกันไป รวมจำนวน 3 โพสต์ด้วยกัน โดยหลังการต่อสู้คดี เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2565 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลย 8 ราย ซึ่งแชร์สองข้อความเกี่ยวกับ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล คสช. เห็นว่าเป็นการกระทบกระเทียบเปรียบเปรยรัฐบาลเท่านั้น ไม่ได้สร้างความเสียหายแก่ความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกของประชาชน

แต่มีคำพิพากษาเห็นว่าจำเลย 3 ราย ได้แก่ จำเลยที่ 1 – 3  ที่แชร์ภาพ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประกอบกับข้อความว่า “เรือเหาะ…ก็ซื้อมาซ่อม ยังจะซื้อดาวเทียม 91200 มาแดกอีก… จะยอมมันอีกไหม” ว่ามีความผิดตามฟ้อง โดยเห็นว่าข้อมูลที่จำเลยแชร์เป็นเท็จ แม้จำเลยจะอ้างว่าแชร์เพราะต้องการตรวจสอบในฐานะประชาชนก็ดี หรือแชร์เพราะต้องการให้ประชาชนทั่วไปถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ดี แต่จะต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง

พิพากษาให้มีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) ลงโทษจำคุก 1 ปี แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสามให้การเป็นประโยชน์ จึงลดโทษเหลือ 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ต่อมาทั้งสามรายได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ โดยใช้หลักทรัพย์ประกันคนละ 50,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

.

วันนี้ (29 ม.ค.) เวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 608 จำเลยทั้งสามคนเดินทางมาฟังคำพิพากษา พร้อมกับครอบครัว ก่อนศาลจะเรียกให้ลุกขึ้นรายงานตัว และอ่านฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เพียงสรุปสั้น ๆ ว่า 

คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวมจำนวน 3 โพสต์ และศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 – 3 ในคดีนี้มีความผิดตามฟ้อง โดยเห็นว่าการกระทำของจำเลยทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด และเกิดความกลัวได้ว่าจะถูกสอดส่องหรือติดตามการดำเนินชีวิต นอกจากนี้ยังส่งผลให้ต่างประเทศเกิดความหวาดระแวงและไม่เชื่อมั่นที่จะมาลงทุน ทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างความเข้าใจผิดว่ารัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่น อันทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศและเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง

พิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสามให้การเป็นประโยชน์ จึงลดโทษเหลือ 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา จำเลยที่ 1 – 3 อุทธรณ์คดี โดยขอให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยยกฟ้องจำเลย 

ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังนำสืบไม่ได้ว่าจำเลยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลกันเป็นเท็จอันกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ หรือน่าจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชนอย่างไร พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องคดี 

ภายหลังฟังคำพิพากษา ครอบครัวของจำเลยทั้งสามคนต่างดีใจและร้องไห้ โดยหนึ่งในสมาชิกครอบครัวของจำเลยได้กล่าวกับทนายความว่า คดีนี้กินระยะเวลามานานกว่า 6 ปีแล้ว รู้สึกขอบคุณทนายทุกคน และหวังว่าหากไปถึงชั้นฎีกาอีก ศาลจะยืนคำพิพากษาตามศาลอุทธรณ์ในวันนี้ แต่ยังต้องติดตามว่าฝ่ายโจทก์จะฎีกาคดีหรือไม่ต่อไป หากไม่มีการฎีกา คดีจะสิ้นสุดลง

.

ก่อนหน้านี้ได้มีจำเลยในส่วนที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องคดีไปแล้วหลายคน พบว่าเป็นประชาชนทั่วไปที่ถูกตำรวจไปจับกุมมาจากจังหวัดต่าง ๆ ทุกภูมิภาค บ้างเป็นพ่อค้าแม่ค้า บ้างเป็นชาวสวน บ้างเป็นลูกจ้างรายวัน เกือบทั้งหมดต้องเดินทางจากต่างจังหวัด เพื่อสู้คดีถึงศาลในกรุงเทพฯ ทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการเดินทาง

ในการเดินทางมาร่วมการพิจารณาคดี พวกเขาบางส่วนต้องใช้วิธีช่วยกันหารค่าห้องพักบนถนนรัชดา ซึ่งอยู่ใกล้ศาลด้วยกัน หนึ่งห้องบ้างนอนด้วยกันสามคน บ้างสองคนบ้าง เพื่อประหยัดค่าที่พักและค่ารถโดยสาร จนเกิดบทสนทนาล้อเล่นกัน เช่นว่า “นอนแย่งผ้าห่มกัน เพราะที่พักมีผ้าห่มให้ผืนเดียว” หลังจากศาลยกฟ้อง ภาครัฐก็ไม่ได้มีมาตรฐานชดเชยเยียวยาใด

ย้อนอ่านเรื่องของสุทัศน์เพิ่มเติม ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่ได้ค่าเยียวยา 5 พัน: ชีวิตเกษตรกร-แรงงาน ผู้ต้องคดีคนไทยยูเค

อ่านเรื่องราวของจำเลยกลุ่มที่ยกฟ้องคดี “เราก็เหมือนปลา ที่เขาเหวี่ยงแหโดน” เสียงจากสิบจำเลย คดีแชร์โพสต์ประยุทธ์ลี้ภัยจากเพจ KonthaiUk

X