5 คำพิพากษายกฟ้องสำคัญแห่งปี 2566

ปี 2566 นับเป็นปีที่คดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองจำนวนมากที่สืบเนื่องมาจากปีก่อนหน้า ทยอยมีคำพิพากษาในชั้นศาลอย่างต่อเนื่อง

ตลอดทั้งปีนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า มีคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาออกมาไม่น้อยกว่า 229 คดี, ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาไม่น้อยกว่า 51 คดี และศาลฎีกาอีกอย่างน้อย 1 คดี รวมทั้งมีคดีที่ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาในปีเดียวกันอีก 3 คดี รวมทั้งปีมีคำพิพากษาไม่น้อยกว่า 284 คดี

หากคิดโดยเฉลี่ยแล้วในแต่ละเดือน ศาลมีคำพิพากษาในคดีทางการเมืองออกมาราว 23-24 คดี หรือกล่าวได้ว่าแทบทุก ๆ วันทำการ ศาลจะมีคำพิพากษาออกมาอย่างน้อย 1 คดี

ท่ามกลางคดีหลากหลายประเภท ทั้งคดีจากการชุมนุม คดีจากการแสดงออกทั้งในโลกออนไลน์-ออฟไลน์ แนวทางคำพิพากษามีทั้งน่าชื่นชมและน่าตั้งคำถามคละเคล้าปะปนกันไป ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเลือกสรร 5 คำพิพากษายกฟ้องของศาล และมีความสำคัญในเชิงเนื้อหาที่น่าสนใจในรอบปี 2566 นี้ บันทึกไว้เป็นบางส่วนของเรื่องราวการต่อสู้ในปีนี้

.

.

1. คดีอิศเรศ และคดี “ปีเตอร์”: การกระทำที่จะเข้าองค์ประกอบ ม.112 ต้องชัดเจนว่าหมายถึงบุคคลใด

ท่ามกลางคดีมาตรา 112 ที่มีคำพิพากษาออกมาจำนวนมากในรอบปี มีคำพิพากษาใน 2 คดีที่วินิจฉัยถึงการตีความองค์ประกอบของมาตรานี้ ที่ต้องเป็นไปโดยเคร่งครัด มิใช่ปล่อยให้การตีความเป็นไปอย่างกว้างขวาง ให้หมายถึงบุคคลจำนวนมาก หรือหมายถึงทั้งสถาบันกษัตริย์

คดีของอิศเรศ ถูกฟ้องที่ศาลจังหวัดนครพนมจากกรณีการโพสต์ข้อความแสดงความเห็นกรณีไม่แต่งตั้งกษัตริย์องค์ใหม่หลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 9 เมื่อเดือน ต.ค. 2559  คดีนี้ศาลชั้นต้นเคยพิพากษายกฟ้องเอาไว้แล้ว เนื่องจากเห็นว่าข้อความที่จำเลยโพสต์ไม่ได้แสดงความอาฆาตมาดร้าย มิได้ระบุถึงบุคคลที่ถูกดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทให้รู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร อีกทั้งสถาบันกษัตริย์มิใช่องค์ประกอบของมาตรา 112

ต่อมา อัยการยังอุทธรณ์คำพิพากษา และเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้พิพากษายืนยกฟ้องเช่นกัน โดยเห็นว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น ต้องเป็นการใส่ความระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าบุคคลที่ถูกใส่ความเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ

การเข้าใจข้อความในคดีนี้ ศาลเห็นว่าขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล และมิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง แม้จําเลยใช้ถ้อยคําไม่สุภาพและรุนแรง แต่ไม่ถึงขนาดเป็นการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น อีกทั้งข้อความดังกล่าวไม่ได้เป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ จึงไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 และเมื่อไม่เป็นความผิดตามข้อหานี้ จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ด้วย

เช่นเดียวกับคดีของ “ปีเตอร์” กรณีปราศรัยเรื่องการพระราชทานยศให้ “ฟูฟู” สุนัขทรงเลี้ยง และงบสถาบันกษัตริย์ ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563 ศาลจังหวัดอุดรธานีได้พิพากษายกฟ้องคดีนี้เช่นกัน

ศาลเห็นว่า ประชาชนทั่วไปที่ได้ฟังคำปราศรัยเรื่องฟูฟูไม่สามารถเข้าใจได้ในทันทีว่าจำเลยหมายถึงใคร และในเรื่องงบสถาบันกษัตริย์ จำเลยก็ไม่ได้เฉพาะเจาะจงถึงกษัตริย์องค์ใด และเป็นเรื่องที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ

ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์นั้น จะต้องระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความหรือถูกดูหมิ่นว่าเป็นใคร หรือต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ 

ทั้งนี้ ในช่วงปลายปี 2566 ยังมีคำพิพากษาที่น่าสนใจ ในคดีของ “นารา” ที่มีการวินิจฉัยที่น่าสนใจในเรื่องการตีความมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องมาตรา 112 แต่อย่างใดอีกด้วย

ท่ามกลาง คำพิพากษาในหลายคดีที่ตีความองค์ประกอบของมาตรา 112 ไปอย่างกว้างขวาง ทั้งการคุ้มครองไปถึงอดีตกษัตริย์ ถึงสมาชิกราชวงศ์ที่ตัวบทไม่ได้บัญญัติไว้ หรือคุ้มครองทั้งสถาบันกษัตริย์ หรือแม้จะตีความไม่ได้ว่าหมายถึงบุคคลใด แต่บางคดีก็เห็นว่ามีความผิด หรือแม้แต่การพูดเรื่องงบประมาณสถาบันกษัตริย์ เช่น คดีของเพชร ธนกร, คดีของนิว สิริชัย, คดีของพิมชนก, คดีของมีชัย เป็นต้น การมีคำพิพากษาที่พยายามตีความโดยเคร่งครัดตามหลักกฎหมาย แม้ภายใต้ตัวบทที่มีอยู่ ก็ยังถือเป็นความพยายามสำคัญของการบังคับใช้กฎหมายโดยสถาบันตุลาการในปัจจุบัน

.

.

2. คดี “วารี” มาตรา 112: การพิจารณาพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่น่าเชื่อถือ และพิสูจน์ไม่ได้ว่ากระทำผิดจริงหรือไม่

นอกจากการวินิจฉัยเรื่ององค์ประกอบมาตรา 112 แล้ว คดีข้อหานี้ที่มีคำพิพากษาในประเด็นสำคัญอีกลักษณะหนึ่ง คือกรณีเกี่ยวกับการโพสต์ข้อความบนโลกออนไลน์ในคดีต่าง ๆ จำนวนมาก ที่จำเป็นต้องมีการพิจารณาพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ประกอบ

เนื่องจากมาตรา 112 เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปไปแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจต่าง ๆ ได้ ทำให้หลักฐานที่นำไปแจ้งมีความสำคัญ หากพยานหลักฐานไม่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้เผยแพร่ข้อความ แม้ข้อความจะเข้าข่ายความผิด ตั้งแต่ชั้นตำรวจและอัยการก็ควรจะสั่งไม่ฟ้อง หรือเมื่อมาถึงชั้นศาล ก็ควรจะยกฟ้องคดี

คดีที่น่าสนใจในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ได้แก่ คดีของ “วารี” พนักงานรับจ้างอิสระจากสมุทรปราการ ซึ่งถูก พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน นำภาพซึ่งแคปข้อความจากทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก ไปแจ้งความกล่าวหาไว้ที่ สภ.สุไหงโก-ลก

คดีนี้จำเลยต้องเดินทางไปต่อสู้คดีที่ศาลจังหวัดนราธิวาส มากว่า 2 ปี จนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องคดี โดยเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่เพียงพอทำให้เชื่อว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความ มีเพียงผู้กล่าวหาเพียงคนเดียวเป็นผู้เบิกความว่าจำเลยโพสต์ อีกทั้งภาพที่นำมาแจ้งความก็ไม่ปรากฏ URL ประกอบกับคำเบิกความของพยานจำเลยซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งสองเห็นว่า ภาพที่นำมาแจ้งความถูกตัดต่อมา

แต่ฝ่ายอัยการยังอุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา จนเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้มีคำพิพากษายืน โดยวินิจฉัยประเด็นพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ ว่าผู้กล่าวหาได้แคปภาพหน้าจอของข้อความ และนำไปปรับ ‘ปรับแต่ง’ ด้วยโปรแกรมในคอมพิวเตอร์ เพื่อนำไปแจ้งความ ทำให้ไม่อาจมั่นใจได้ว่าข้อมูลภาพที่ถูกปรับแต่งจะยังคงเหมือนกันกับ ‘ต้นฉบับ’ ที่แสดงในหน้าจอโทรศัพท์หรือไม่ ทั้งเอกสารที่ได้ยังไม่ปรากฏ URL ให้ตรวจสอบต้นทางข้อมูล จึงไม่อาจระบุได้ว่าภาพโพสต์ดังกล่าวมีต้นทางมาจากแหล่งใด

ทั้งตำรวจไม่ได้มีการตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กว่ามีการโพสต์ข้อความดังกล่าวจริงหรือไม่ จึงไม่ทราบว่าการกระทำตามฟ้องที่จะตรงกับข้อความต้นโพสต์หรือไม่ พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังคงมีความเคลือบแคลงอยู่ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่

คำพิพากษาทั้งสองศาลชี้ถึงหลักการในคดีอาญา ที่ว่าหากพยานหลักฐานไม่แน่ชัด ไม่เพียงพอ หรือไม่สามารถพิสูจน์ได้ ศาลควรจะยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้ผู้ถูกกล่าวหา และภาระการพิสูจน์ว่ามีการกระทำความผิดหรือไม่ โดยผู้ใดนั้น เป็นของผู้กล่าวหาหรือโจทก์เอง ไม่ใช่ของฝ่ายจำเลย

ควรกล่าวด้วยว่าในคดีมาตรา 112 ที่นราธิวาส ซึ่งผู้กล่าวหารายเดิมนี้ไปร้องทุกข์ที่ สภ.สุไหงโก-ลก ไว้จำนวนมาก ล้วนมีลักษณะของการ “แคป” หน้าจอ และใช้โปรแกรมจัดวาง-ตัดต่อ ก่อนพิมพ์ไปประกอบการแจ้งความทั้งหมด แต่ทั้งพนักงานสอบสวนและอัยการยังสั่งฟ้องคดีไม่น้อยกว่า 8 คดี ขึ้นสู่ศาล

.

.

3. คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุม #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ: “การบังคับใช้กฎหมายไม่ใช่เพื่อปราบปรามผู้ชุมนุม หรือห้ามการชุมนุมทางการเมืองอย่างไร้เหตุผล”

ท่ามกลางคดีชุมนุมช่วงปี 2563-65 ที่ถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งต่อสู้คดีตลอดทั้งปีนี้ แม้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-2019 จะบรรเทาเบาบางลงไปแล้ว ศาลชั้นต่าง ๆ ได้มีคำพิพากษาออกมากว่า 98 คดี (นับเฉพาะคดีที่จำเลยต่อสู้คดี) มีคดีที่น่าสนใจ ได้แก่ คดีที่ศาลระบุในคำพิพากษาถึง “เจตจำนงของการใช้กฎหมาย” ได้แก่ คดีของ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว กรณีชุมนุม #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2563

คดีนี้ มีต้นเหตุจากการชุมนุมใหญ่ครั้งหนึ่งในช่วงปี 2563 โดยการชุมนุม #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ นับได้ว่าเป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก คาดว่ามีผู้ชุมนุมกว่า 20,000–30,000 คน ทั้งนับได้ว่ามีผู้เข้าร่วมมากกว่าการชุมนุมในหลายคดีที่ถูกฟ้องลักษณะเดียวกันด้วย

หลังการชุมนุมดังกล่าวมีเพียงชลธิชา ในฐานะผู้ไปแจ้งจัดการชุมนุมต่อเจ้าพนักงานที่ถูกดำเนินคดี และหลังการต่อสู้คดีที่ศาลแขวงดุสิตไปกว่า 2 ปี วันที่ 23 ม.ค. 2566 ศาลพิพากษายกฟ้องคดี โดยเนื้อหาคำพิพากษาให้ความสำคัญกับประเด็นความสมดุลได้สัดส่วนของการบังคับใช้ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในช่วงดังกล่าว กับสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน

“กล่าวคือ การบังคับใช้กฎหมายต้องมีลักษณะเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 ไม่ใช่เพื่อปราบปรามผู้ชุมนุมหรือห้ามการชุมนุมทางการเมืองอย่างไร้เหตุผล ซึ่งสามารถดูได้จากสถานการณ์ความรุนแรงของเชื้อโรค ประกอบกับพฤติการณ์แห่งการกระทำของผู้ชุมนุมในสภาพแวดล้อมที่ดำรงอยู่ในขณะนั้นว่า มีสถานการณ์ฉุกเฉินที่จำเป็นต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุมหรือไม่” นี่คือถ้อยคำบางส่วนในคำพิพากษาของศาลคดีนี้ ที่ได้วางตั้งต้นการพิจารณาพิพากษาคดีนี้

หลังจากนั้น ศาลได้พิเคราะห์ว่าในช่วงการชุมนุมดังกล่าว สถิติรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยเป็นศูนย์ พยานหลักฐานพบว่าในการชุมนุม มีผู้คอยแจกเจลแอลกอฮอล์ มีพยาบาลอาสาคอยดูแลมาตรการป้องกันโรค แม้การเว้นระยะจะกระทำไม่ได้ เพราะมีผู้คนจำนวนมากถึงหลักหมื่น แต่ก็มีการสวมหน้ากากอนามัยตามคำประชาสัมพันธ์ของผู้จัด ถือได้ว่าจำเลยจัดให้มีมาตรการเพียงพอเหมาะสมกับสถานการณ์ การชุมนุมของจำเลยจึงเป็นการชุมนุมโดยสงบ และได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 อีกทั้งไม่ปรากฏว่าภายหลังการชุมนุมมีการแพร่ระบาดของโรคเป็นกลุ่มก้อน

คำพิพากษาคดีนี้ ยังมีส่วนที่ยกฟ้องในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงเกินเวลาที่ได้รับอนุญาต โดยเห็นว่าเรื่องนี้มิใช่สาระสำคัญถึงขั้นที่จะทำให้จำเลยมีความผิด เพราะมีเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้จำต้องทำเช่นนั้น เนื่องจากในสถานการณ์ที่มีผู้คนจำนวนมากมาชุมนุม การสื่อสารโดยใช้กำลังเครื่องเสียงเพื่อควบคุมมวลชนย่อมเป็นสิ่งที่จำเป็น ระดับของเสียงก็ไม่เกินมาตรฐานที่กำหนด

หลังจากคดีนี้ ยังพบว่ามีคำพิพากษาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันตามมา ได้แก่ คดีชุมนุม #ม็อบ20ตุลา2563 หน้าห้างฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต ศาลอาญามีนบุรีได้ยกฟ้องจำเลย 7 คนในคดีนี้ โดยบางส่วนในคำพิพากษาระบุถึงวัตถุประสงค์การบังคับใช้กฎหมายที่ต้องคำนึงถึงความสมดุลและได้สัดส่วน ไม่ควรเป็นไปเพื่อปราบปรามผู้ชุมนุมทางการเมืองอย่างไร้เหตุผลเช่นกัน

แนวทางคำพิพากษาเช่นนี้ ชี้ให้เห็นถึงการพยายามชั่งน้ำหนักระหว่างคุณค่าสองประการ ทั้งการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน และการคุ้มครองความปลอดภัยของสังคมจากโรคระบาด แตกต่างจากลักษณะคำพิพากษาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกหลายคดี ที่มองว่าเพียงการออกมาชุมนุมหรือทำกิจกรรมในช่วงดังกล่าว ก็ถือเป็นความผิด หรือแม้จะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่มากนัก ก็มีความผิดแล้ว

.

.

4. คดี พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ตั้งโต๊ะลงชื่อปิดสวิตซ์ สว.: การพิจารณานิยามการชุมนุมสาธารณะโดยเคร่งครัด และอ้างอิงถึงเสรีภาพการชุมนุมตามกติการะหว่างประเทศ ที่ไทยเป็นภาคี

คำพิพากษาในคดีตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ที่น่าสนใจในปี 2566 เป็นคดีเดียวกับที่ต่อเนื่องมาจากปี 2565 คือ คดีทำกิจกรรมตั้งโต๊ะเขียนจดหมายเรียกร้อง “ปิดสวิตซ์ ส.ว. ไม่โหวตนายกฯ” ที่ลานอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งราย เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2562

คดีนี้นักกิจกรรมและประชาชน 7 ราย ถูกฟ้องว่าร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าพนักงานผู้รับแจ้งไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง แม้คดีจะมีอัตราโทษปรับ แต่จำเลยทั้งหมดเลือกจะต่อสู้คดีโดยใช้เวลากว่า 4 ปีเศษ ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายกฟ้อง

ในศาลชั้นต้น ได้เคยวางแนวทางคำพิพากษาที่น่าสนใจเอาไว้ โดยเห็นว่าจากข้อเท็จจริงพบว่า ผู้กำกับการ สภ.เมืองเชียงราย ทราบจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่าจะมีการชุมนุมดังกล่าว และ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ การแจ้งการชุมนุมก็เพื่อให้เจ้าพนักงานทราบก่อนการชุมนุม เพื่อให้ดูแลความสงบเรียบร้อย และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน เมื่อผู้กำกับการ สภ.เมืองเชียงราย ในฐานะผู้รับแจ้งการชุมนุม ทราบก่อนแล้วไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และกิจกรรมก็เป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย จึงเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แล้ว

แต่อัยการโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา และเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น แต่ได้วินิจฉัยในรายละเอียดทางกฎหมายใหม่ โดยได้ไล่เรียงถึงการรับรองเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ โดยเมื่อ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การใช้เสรีภาพการชุมนุมดังกล่าวให้ชัดเจน และเพื่อให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี  ศาลเห็นว่าเมื่อบทบัญญัติความหมายของการชุมนุมสาธารณะ ไม่ได้บัญญัติว่าการชุมนุมสาธารณะนั้นต้องมีจำนวนผู้เข้าร่วมเท่าใด และมีลักษณะอย่างไร การบังคับใช้จึงต้องตีความเจตนารมณ์ความมุ่งหมายของกฎหมายโดยเคร่งครัด และมิให้เป็นภาระหรือจำกัดเสรีภาพจนเกินกว่าเหตุ

จากการนำสืบพยาน ได้ความจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าการชุมนุมเป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ไม่มีเหตุรุนแรงและการยุยงให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง กิจกรรมมีการใช้โทรโข่ง และตั้งโต๊ะวางกล่องให้หย่อนจดหมายเพื่อแสดงความคิดเห็น และผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีประมาณ 10 กว่าคน แสดงให้เห็นว่ามีคนไม่มาก ไม่มีเหตุว่าเป็นการใช้พื้นที่สาธารณะเกินจำเป็นกว่าปกติ จนทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยและความไม่สะดวก การจัดกิจกรรมแสดงความคิดเห็นต่อบทบาทของสมาชิกวุฒิสภา ยังเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน จึงเห็นว่ากิจกรรมตามฟ้องไม่ใช่การชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ที่จะต้องมีการแจ้งการชุมนุม

คำพิพากษาคดีนี้ นับได้ว่ามีการอ้างอิงถึงหลักการเรื่องเสรีภาพการชุมนุม และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ไทยเป็นภาคี รวมทั้งนำมาพิจารณานิยามการชุมนุมสาธารณะที่ต้องเป็นไปโดยเคร่งครัด ได้อย่างน่าสนใจ โดยจนสิ้นปี 2566 พบว่าอัยการไม่ได้ฎีกาคำพิพากษาคดีนี้อีก ทำให้คดีถึงที่สุดแล้ว

.

.

5. คดี ม.116 ชุมนุมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ปี 2558: เป็นเพียงการชุมนุมโดยสงบ วิจารณ์คณะรัฐประหาร แต่สู้คดียาวนาน

ข้อหา “ยุยงปลุกปั่นฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งอยู่ในหมวดความมั่นคงของรัฐ นับเป็นข้อหาหนึ่งที่ถูกใช้อย่างกว้างขวางต่อการแสดงออกทางการเมือง มาตั้งแต่ยุค คสช. และต้องใช้เวลาต่อสู้อย่างยาวนาน คดีโดยมาก ศาลยังมีคำพิพากษายกฟ้อง หรืออัยการสั่งไม่ฟ้องอีกด้วย

ในปี 2566 ยังคงมีคดีลักษณะนี้ที่ดำเนินมาหลังวันเกิดเหตุกว่า 8 ปี และศาลได้พิพากษายกฟ้องในที่สุด ได้แก่ คดีของอดีตนักศึกษา-นักกิจกรรมจากขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) และดาวดิน จำนวน 13 คน กรณีการชุมนุมหน้า สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2558 หลังเพิ่งมีการแจ้งข้อกล่าวหาเมื่อกลางปี 2562 และต่อสู้คดีมากว่า 4 ปี เมื่อวันที่18 ธ.ค. 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้พิพากษายกฟ้องในที่สุด

คำพิพากษาเห็นว่าจากพยานหลักฐานของโจทก์เอง การชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่มีความรุนแรง ไม่มีการเข้าสลายการชุมนุมจากเจ้าหน้าที่ หรือมีผู้ใดที่ได้รับความเสียหายทางทรัพย์สินหรือชีวิต การกระทำของจำเลยทั้งหมดไม่ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง 

เนื้อหาการปราศรัยมีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล คสช. โดยเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศเลือกตั้งโดยเร็ว ไม่ปรากฏว่าเป็นการะละเมิดต่อกฎหมาย ทั้งไม่ปรากฏว่าเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพนอกเหนือจากกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างไร แม้การปราศรัยจะปรากฏถ้อยคำหยาบคายและไม่สุภาพไปบ้าง แต่ก็ไม่พบว่าทำให้เกิดความเสียหายหรือสร้างความยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนก่อความกระด้างกระเดื่องในบ้านเมืองตามฟ้อง

การใช้ข้อหามาตรา 116 ในการกล่าวหานักกิจกรรมและผู้ชุมนุมทางการเมือง ยังคงดำเนินต่อมา แม้ คสช. สิ้นสุดบทบาทไปแล้ว ในช่วงปี 2566 ยังมีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหานี้เพิ่มอีกอย่างน้อย 4 คดี

ท่ามกลางปัญหาเชิงตัวบทของข้อหานี้ที่ใช้ถ้อยคำซึ่งเปิดช่องให้ตีความได้อย่างกว้างขวาง ทำให้ง่ายจะนำมาใช้กล่าวหาดำเนินคดีเอาไว้ก่อน และสร้างภาระในการต่อสู้คดีให้กับผู้ถูกกล่าวหา การแก้ไขปัญหาการใช้มาตรา 116 ยังเป็นประเด็นสำคัญในปีต่อ ๆ ไป

.

X