ยกฟ้อง! คดี 7 ประชาชนร่วม #ม็อบ20ตุลา63 หน้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องบังคับใช้ด้วยความจำเป็น-ได้สัดส่วน มิใช่ปราบปรามผู้ชุมนุมทางการเมืองอย่างไร้เหตุผล

วันที่ 4 ก.ย. 2566 เวลา 09.00 น.  ศาลจังหวัดธัญบุรีนัดฟังคำพิพากษาในคดีของประชาชนและนักกิจกรรม 7 ราย ได้แก่ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, ศรรัก ทองชัย, ศรีไพร นนทรีย์, สุธิลา ลีนคำ, ณรงค์ศักดิ์ มณี, ชลธิชา แจ้งเร็ว และ สุวรรณา ตาลเหล็ก” ในข้อหาหลักฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ กรณีเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ20ตุลา63 ซึ่งจัดโดย กลุ่มคนเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มแรงงานเพื่อประชาธิปไตย ที่บริเวณหน้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2563 

ในคดีนี้ ศาลจังหวัดธัญบุรี ได้มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 7 รายทุกข้อกล่าวหา โดยมีใจความสำคัญระบุว่า พิเคราะห์แล้ว การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นกฎหมายที่บังคับใช้เพื่อจำกัดเสรีภาพบางประการ ซึ่งย่อมกระทำได้ เพื่อป้องกันและสร้างความปลอดภัยของประชาชนโดยรวม มิใช่นำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องเป็นไปเพื่อการป้องกันการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ไม่ใช่เพื่อปราบปรามผู้ชุมนุมหรือการชุมนุมอย่างไร้เหตุผล

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2563  พนักงานสอบสวน สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาประชาชนและนักกิจกรรม ใน 6 ข้อกล่าวหา ทั้งฝ่าฝืนข้อกล่าวหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อ, พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

ต่อมาอัยการมีคำสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2564 โดยฟ้องเฉพาะในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ จำเลยทั้งเจ็ดได้ยืนยันต่อสู้คดี และศาลจังหวัดธัญบุรีทำการสืบพยานไปเมื่อวันที่ 16 และ 23 พ.ค. 2566

วันนี้ (4 ก.ย.2566) ศาลอ่านคำพิพากษาโดยสรุประบุว่า พิเคราะห์แล้วแม้จะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และออกข้อกำหนดตามฟ้องประกาศใช้ในขณะที่เกิดเหตุของคดีนี้ แต่ข้อกฎหมายดังกล่าว เป็นข้อกำหนดที่จำกัดเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชน จึงต้องบังคับใช้ด้วยความจำเป็นและได้สัดส่วน เนื่องด้วยการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมโรคโควิด – 19 มิให้แพร่ระบาดในวงกว้าง ไม่ใช่เพื่อดำเนินการกับผู้ชุมนุมทางการเมืองอย่างไร้เหตุผล

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในช่วงเกิดเหตุของคดีนี้เมื่อเดือนตุลาคม 2563 และหลังเกิดเหตุในเดือนพฤศจิกายน 2563 ตัวเลขของผู้ติดเชื้อโควิด – 19 ในประเทศไทยขณะนั้นเป็นศูนย์ ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย มีเพียงส่วนน้อยที่ไม่สวมเท่านั้น และสถานที่เกิดเหตุเปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก จึงไม่น่ามีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาด

อีกทั้ง ผู้ชุมนุมและจำเลยในคดีนี้ ปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล และการบริหารงานที่ล้มเหลว ตลอดจนมีการใช้กฎหมายกับผู้ชุมนุมอย่างรุนแรง เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออก ผู้ชุมนุมไม่มีการพกพาอาวุธ ไม่มีความวุ่นวาย และไม่มีความรุนแรง จึงถือได้ว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 44 

ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งหมดได้กระทำผิดตามฟ้องอย่างไร จึงไม่จำเป็นต้องรับฟังพยานหลักฐานที่ฝ่ายจำเลยนำสืบอีก พิพากษายกฟ้อง

ทั้งนี้ การชุมนุมเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2563 เกิดขึ้นในบริบทที่รัฐบาลมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และมีการจับกุมคุมขังแกนนำราษฎรมาตั้งแต่เช้าวันที่ 15 ต.ค. 2563 ขณะนักกิจกรรมและประชาชนหลายกลุ่มได้นัดหมายชุมนุมดาวกระจายในหลายพื้นที่ในแต่ละวันในช่วงดังกล่าว

X