เป็นเวลากว่า 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย. 2563 ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศบังคับใช้กฎหมายทุกมาตราดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง นำไปสู่การนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กลับมาบังคับใช้อีกครั้ง และทำให้มีประชาชนถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
จากการติดตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าคดีที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 จนถึงวันที่ 31 ม.ค. 2568 มีประชาชนถูกแจ้งดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 1,960 ราย ในจำนวน 1,313 คดี โดยในคดีมาตรา 112 มีจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มมากขึ้น แม้จะมีการเลือกตั้งเปลี่ยนผ่านรัฐบาล “พลเรือน” แต่จำนวนคดีก็ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น
ศูนย์ทนายฯ พบว่าคดีมาตรา 112 มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 277 คน ในจำนวน 309 คดี ในจำนวนนี้ พบว่าเป็นคดีที่ “ประชาชน” เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษถึง 163 คดี หรือมากกว่าครึ่งของจำนวนคดีเท่าที่ทราบข้อมูล
ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยในระลอกล่าสุดนี้ เห็นได้ชัดเจนขึ้นว่า กฎหมายมาตรา 112 กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการปราบปรามประชาชนที่มีความเห็นต่างในเรื่องบทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์ ตลอดจนกลายมาเป็นอาวุธของกลุ่มการเมืองในนามของการ “ปกป้องสถาบันกษัตริย์”
ในโอกาสนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สรุปข้อมูลสถิติคดีมาตรา 112 ที่แจ้งดำเนินคดีโดยประชาชนด้วยกันเอง โดยเฉพาะจากความขัดแย้งกันในโลกออนไลน์ของกลุ่มที่มีแนวคิดทางการเมืองตรงกันข้ามกับผู้ต้องหาและจำเลยในคดีมาตรา 112 ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกกล่าวหามักจะเป็นกลุ่มประชาชนที่ไม่ได้สังกัดกลุ่มนักกิจกรรม หรือเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวในการชุมนุมใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตหลายคนอย่างไม่คาดคิด
.
บุคคล-กลุ่มปกป้องสถาบันฯ กล่าวโทษ ม.112 กว่า 142 คดี พบมากที่สุดคือกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันฯ (ศปปส.)
การดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ในระลอกปี 2563 เป็นต้นมานี้ พบว่าแนวโน้มสำคัญคือมีคดีเกิดขึ้นจากกรณีที่กลุ่มที่อ้างตนว่า “ปกป้องสถาบันฯ” เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ถูกดำเนินคดีส่วนมาก ยังเป็นประชาชนทั่วไปที่โพสต์ในประเด็นสถาบันกษัตริย์บนโลกออนไลน์ รวมถึงเป็นนักกิจกรรมและผู้มีบทบาททางสังคมอีกบางส่วน
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ถูกแจ้งความร้องทุกข์โดยกลุ่มเครือข่ายประชาชนหรือบุคคลที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในนาม “ปกป้องสถาบันฯ” ไม่น้อยกว่า 142 คดี หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 87 ของคดีที่ทราบว่ามีประชาชนทั่วไปเป็นผู้กล่าวหา หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 45 ของคดีข้อหานี้ในยุคปี 2563 เป็นต้นมา
ในเชิงพื้นที่ พบว่ามีการกล่าวโทษกันมากที่สุดในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 111 คดี โดยพื้นที่รองลงมาคือภาคใต้ จำนวน 24 คดี ในส่วนของภาคเหนือ 6 คดี และภาคอีสาน 1 คดี (นับเฉพาะที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหา อาจมีกรณีการร้องทุกข์กล่าวโทษอีกจำนวนมาก ที่ยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาเกิดขึ้น)
จากข้อมูลดัวกล่าว พบว่ากลุ่มประชาชนที่ไปแจ้งความร้องทุกข์มากที่สุด คือกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันฯ (ศปปส.) ซึ่งมีไม่น้อยกว่า 40 คดี
- ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันฯ (ศปปส.)
กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันฯ ก่อตั้งขึ้นภายหลังการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก เมื่อปี 2563 โดยมีแกนนำคือ อานนท์ กลิ่นแก้ว เป็นผู้ก่อตั้ง ระบุวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อต่อต้านกลุ่มผู้ชุมนุมที่ต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ปัจจุบันยังมีคดีมาตรา 112 ที่มีผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเนื่องจากกลุ่ม ศปปส. ไปกล่าวหาเอาไว้อยู่เป็นระยะ เช่น ล่าสุดในกรณีของ “บัสบาส” ที่ถูกแจ้งข้อหาเพิ่มอีกในคดีของ บก.ปอท.
นอกจากการแจ้งความ สมาชิกกลุ่มหลายคนยังเข้าเป็นพยานฝ่ายโจทก์ในหลายคดี โดยพบว่า กลุ่ม ศปปส. ได้ขึ้นเบิกความเป็นพยานในคดีมาตรา 112 ในศาล รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 54 คดี (ไม่ได้นับคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ ซึ่งผู้กล่าวหาและพยานที่อาจจะเคยให้การชั้นตำรวจ ไม่ได้มาเบิกความ)
จากการเบิกความ ของหนึ่งในสมาชิกกลุ่มที่ขึ้นเป็นพยานโจทก์ในคดีของเบนจา อะปัญ เธออธิบายว่ากลุ่ม ศปปส. มีสมาชิกอยู่ทั่วประเทศ โดยไม่ได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิทางกฎหมายใด ๆ การไปแจ้งความของสมาชิกกลุ่ม จะมีตั้งแต่การติดตามสอดส่องบนสังคมออนไลน์จากกลุ่มคนที่โพสต์วิจารณ์สถาบันฯ และลงติดตามในกิจกรรมชุมนุมตามพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งทุกครั้งที่จะมีการดำเนินการกล่าวโทษบุคคลใด สมาชิกจะนำเรื่องเข้าประชุม และปรึกษากันว่าจะดำเนินการแจ้งความกับบุคคลนั้นหรือไม่
อย่างไรก็ตามนอกจากการใช้เครื่องมือทางกฎหมาย กลุ่ม ศปปส. ยังเคลื่อนไหวโดยการเข้าติดตามนักกิจกรรมโดยตรง อาทิ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2566 อานนท์และสมาชิก ศปปส. เข้าขับไล่ “บัสบาส” ที่ทำกิจกรรมเรียกร้องสิทธิประกันตัวอยู่หน้าศาล ก่อนบานปลายเข้าคุกคามด้วยอาวุธ ไม้ และตะโกนด่าทอ ทะเลาะวิวาทกับคนทำกิจกรรมและนักข่าวที่รายงานข่าวในบริเวณนั้นทั้งหมดจนต้องแยกย้ายอีกด้วย
เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2566 อานนท์ กลิ่นแก้ว ยังเป็นตัวแทนกลุ่มดำเนินการกล่าวโทษในคดีมาตรา 112 ของ “หยก” เด็กหญิงวัย 14 ปี (อายุในขณะนั้น) กรณีที่เธอไปแสดงออกในการชุมนุม #13ตุลาหวังว่าสายฝนจะพาล่องลอยไป เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2565 ซึ่งส่งผลกระทบให้หยกต้องเข้าไปอยู่ในบ้านปรานีนานกว่า 51 วัน
ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม ศปปส. ยังเป็นบุคคลที่ได้ไปเบิกความเป็นพยานโจทก์กล่าวหาในคดีมาตรา 112 ไม่น้อยกว่า 21 คดี โดยคดีล่าสุดคือ คดีชุมนุม #ราษฎรประสงค์ยกเลิก112 เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2564 ของฟ้า พหรมศร และปูน ธนพัฒน์ ซึ่งในวันที่ 17 ก.พ. 2568 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาให้จำคุก แต่ให้รอลงอาญาจำเลยทั้งสอง
ปัญหาดังกล่าวยังสะท้อนถึงการที่พนักงานสอบสวนในหลายสถานีตำรวจติดต่อพยานผู้ให้ความเห็นในคดีมาตรา 112 ในลักษณะซ้ำกันไปมา โดยเฉพาะกลุ่มเคลื่อนไหวปกป้องสถาบันฯ และกลุ่มนักวิชาการอนุรักษ์นิยม ทำให้ความเห็นในคดีต่าง ๆ ไม่ได้มีความหลากหลาย สะท้อนมุมมองของสังคมปัจจุบันที่มีเปลี่ยนแปลงทางความคิดในวงกว้าง
- กลุ่มศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมาย ผู้ถูกล่วงละเมิดบนโลกออนไลน์ (ศชอ.)
ลำดับรองลงมาเป็นการแจ้งความของกลุ่มศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมาย ผู้ถูกล่วงละเมิดบนโลกออนไลน์ (ศชอ.) ซึ่งเคยมี นพดล พรหมภาสิต, แน่งน้อย อัศวกิตติกร เป็นแกนนำกลุ่ม ภายหลังแน่งน้อยลดบทบาทตัวเองลง จากการติดตามข้อมูลพบว่าคดีมาตรา 112 ที่มาจากการกล่าวโทษของกลุ่ม ศชอ. มากกว่า 15 คดี
กลุ่มดังกล่าวก่อตั้งขึ้นในปี 2563 เป็นกลุ่มเครือข่ายผู้ที่เทิดทูนสถาบันกษัตริย์ร่วมกับ ศปปส. สมาชิกของกลุ่มจะดำเนินการรวบรวมโพสต์บนโซเชียลมีเดีย และรายชื่อของบุคคลที่มีแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันเข้าแจ้งความกล่าวโทษกับตำรวจ แต่นอกจากบทบาทของการแจ้งกล่าวโทษในคดีมาตรา 112 กลุ่ม ศชอ. มีบทบาทให้ความช่วยเหลือผู้ที่มาขอความช่วยเหลือในการดำเนินคดีหมิ่นประมาททั่วไปอีกด้วย
ในช่วงการเคลื่อนไหวเข้มข้น กลุ่ม ศชอ. แต่งกายด้วยชุดคอสตูมของตัวละครการ์ตูน “มินเนี่ยน” และเรียกตัวเองว่าเป็น “กองทัพมินเนี่ยน” กิจกรรมครั้งใหญ่ที่กลุ่ม ศชอ. เคยทำเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2564 ในชื่อกิจกรรมว่า “มหกรรมแจกพิซซ่า” เมื่อสมาชิกกลุ่มดังกล่าวได้รวมตัวกันแต่งกายด้วยชุดมินเนี่ยนและรวบรวมข้อความบนโซเชียลมีเดียจากผู้ใช้งานกว่า 90 รายชื่อ เข้าแจ้งความกล่าวโทษตามมาตรา 112 ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)
ในวันที่ 10 ก.ค. 2564 ศชอ. ประกาศผ่านเพจเฟซบุ๊กว่าได้ส่งหลักฐานให้ บก.ปอท. ดำเนินคคี ม.112 เพิ่มอีก 1,275 รายชื่อ จนระบุว่ารวมยอดทั้งหมดที่ผ่านมามีกว่า 1,400 รายชื่อ
ทั้งนี้ ในช่วงต้นเดือน มิ.ย. 2564 เรื่อยมา ยังพบว่ามีการร้องเรียนจากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากว่ากลุ่ม ศชอ. ส่งเอกสารที่รวบรวมข้อมูลส่วนตัวมาทางกล่องข้อความ และแจ้งในลักษณะข่มขู่ว่าได้มีการดำเนินคดีตามมาตรา 112 ต่อผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตหลายร้อยราย โดยในช่วงหลังยังมีการอ้างตัวเป็น “แก๊งค์มินเนี่ยน” ส่งข้อความในลักษณะดังกล่าวอยู่อีกด้วย
สำหรับรูปแบบการคุกคามที่เกิดขึ้น พบว่าจะมาในรูปแบบของผู้ใช้เฟซบุ๊กที่เป็น “อวตาร” คือไม่เปิดเผยชื่อสกุลและหน้าตา ใช้ภาพการ์ตูนต่างๆ เป็นรูปโปร์ไฟล์ และไม่ได้เป็น “เพื่อน” ในเฟซบุ๊กกัน พยายามส่งข้อความมาทางกล่องข้อความส่วนตัว ของผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ตกเป็น “เป้าหมาย” โดยปรากฏข้อมูลส่วนตัวของบุคคลที่เป็นเป้าหมาย ข่มขู่ว่าจะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112
นพดล พรหมภาสิต ยังเป็นหนึ่งในแกนนำที่มักจะเดินทางไปแจ้งความผู้ชุมนุมที่เข้าร่วมการชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในช่วงปี 2564 นพดลได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษมาตรา 112 กับแกนนำผู้ชุมนุมหลายราย อาทิเช่น อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์, ปิยรัฐ จงเทพ, ภาณุพงศ์ จาดนอก และ ชลธิชา แจ้งเร็ว เป็นต้น
ทั้งนพดลและแน่งน้อย ยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นพยานโจทก์ในคดีชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์หลายคดี อาทิเช่น #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 หรือ, คดีกิจกรรมชุมนุมราษฎรสาส์น เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563
นพดลยังเป็นผู้ที่กล่าวโทษในคดีของ “วารุณี” ชาวพิษณุโลก วัย 30 ปี กรณีโพสต์ภาพตัดต่อ ร.10 เปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต ซึ่งเป็นเหตุให้ศาลพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน รวมถึงแน่งน้อยเป็นผู้กล่าวหาในคดีของเด็กหญิงอายุ 14 ปี (ในวันเกิดเหตุ) ในจังหวัดพิษณุโลก กรณีโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อปี 2563
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2566 กลุ่ม ศชอ. ได้ประกาศยุติบทบาท และขอปิดตัวกลุ่มอย่างเป็นทางการผ่านเพจ
เฟซบุ๊ก ระบุเหตุผลเพียงสั้น ๆ ว่าเนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองกลับคืนสู่สภาวะปกติ และจะกลับมาอีกครั้งในวันที่ชาติมีภัย
แต่ภายหลังวันที่ 24 เม.ย. 2567 ศชอ. ได้ประกาศทางเพจเฟซบุ๊กว่าทางกลุ่มได้กลับมาปฏิบัติการอีกครั้งแล้ว โดยระบุว่า พร้อมที่จะใช้กฎหมายมาตรา 112 ดำเนินการแจ้งความกับผู้ที่หมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์อีก
- สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย
กลุ่มดังกล่าวมีบทบาทในการเข้าดำเนินการกล่าวโทษมาตรา 112 นำโดย “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการของกลุ่ม ซึ่งมักเคลื่อนไหวอ้างว่าตรวจสอบนักการเมือง พรรคการเมือง และข้าราชการที่ทุจริตคอรัปชั่น โดยการเข้าร้องเรียนกับหน่วยงานต่าง ๆ
ทั้งนี้ข้อมูลที่ติดตามได้พบว่า ศรีสุวรรณได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเป็นผู้แจ้งกล่าวโทษ ในคดีมาตรา 112 เป็นจำนวนอย่างน้อย 5 คดี โดยหนึ่งในคดีที่ศรีสุวรรณแจ้งกล่าวโทษคือคดีที่สืบเนื่องมาจากการทำโฆษณาคลิปแคมเปญ 5.5 ลาซาด้าของ “นารา เครปกะเทย, หนูรัตน์ และมัมดิว” อ้างว่าคลิปดังกล่าวมีเจตนาล้อเลียนอดีตราชินี และสมาชิกราชวงศ์
อย่างไรก็ตาม ในคดีนี้ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2566 ศาลชั้นต้นยกฟ้องคอีของนารา และในวันที่ 30 ต.ค. 2567 ศาลชั้นต้นก็ได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีของหนูรัตน์เช่นเดียวกัน โดยระบุในคำพิพากษาว่า พิเคราะห์แล้ว เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ไม่ใช่รัชทายาท การตีความกฎหมายอาญาควรตีความโดยเคร่งครัด จึงไม่ควรตีความมาตรา 112 เกินกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้
ปัจจุบันอธิบดีกรมการปกครองได้สั่งยุบสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยแล้ว หลังพบว่ามีการแอบอ้างผู้อื่นมาให้จัดแจ้งตั้งสมาคม ทำให้ศรีสุวรรณได้ก่อตั้งกลุ่มใหม่ที่ชื่อว่า ‘องค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน’ อ้างว่าเพื่อดำเนินการตรวจสอบ ติดตามการกระทำผิดกฎหมายของกลุ่มนักการเมือง และต่อต้านการแก้ไขหรือยกเลิก ม. 112 ต่อไป
การทำงานในลักษณะนี้ของกลุ่มเครือข่ายที่อ้างการปกป้องสถาบันกษัตริย์ยังเกิดขึ้นในพื้นที่ภูมิภาค แม้บางกลุ่มจะยุติบทบาทในการเข้ากล่าวโทษคดีมาตรา 112 ไปแล้ว แต่คดีที่เกิดขึ้นก็ยังคงอยู่ และไม่ได้มีวี่แววจะมีการยุติอย่างไร
ในพื้นที่ภาคกลางยังมีกลุ่มไทยภักดี ที่เคยกล่าวโทษในคดีมาตรา 112 ไว้อย่างน้อย 6 คดี, กลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ อย่างน้อย 4 คดี, กลุ่มศูนย์กลางประสานนักศึกษาอาชีวะ ประชาชนปกป้องสถาบันกษัตริย์ (ศอปส.) อย่างน้อย 2 คดี, กลุ่มพลังประชาชนปกป้องสถาบันกษัตริย์ (พปปส.) อย่างน้อย 2 คดี
และในส่วนภูมิภาคอื่นๆ ทางอีสานมีกลุ่มประชาชนที่เข้าแจ้งกล่าวโทษในคดีดังกล่าว คือ กลุ่มชมรมคนรักในหลวงขอนแก่น 1 คดี ส่วนภาคใต้มีกลุ่มพิทักษ์ราชบัลลังก์ 1 คดี (นับเฉพาะคดีที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหาแล้ว) รวมทั้งกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันฯ ที่มีบทบาทมากขึ้นในช่วงหลัง
จากข้อมูลกลุ่มดังกล่าวข้างต้น มีจุดร่วมกันคือหลายกลุ่มก่อตั้งขึ้นในช่วงปี 2563 – 2564 มีลักษณะของกลุ่มที่มีแนวคิดทางการเมืองแบบอนุรักษ์และราชาชาตินิยม บริบทที่มีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา และฝ่ายที่ต้องการให้ประยุทธ์ลาออก เรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
- กลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันฯ
กลุ่มดังกล่าวมีบทบาทในการดำเนินการแจ้งความประชาชนในคดี ม.112 โดยเฉพาะในส่วนภาคใต้ของประเทศไทย นำโดย “ทรงชัย เนียมหอม” ที่เป็นผู้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษหลัก โดยพบว่ามีคดีจำนวนไม่น้อยกว่า 15 คดี ที่ถูกแจ้งข้อหาไปแล้ว
ลักษณะสำคัญที่น่าสนใจของกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันฯ คือใช้วิธีการไปแจ้งความในหลายพื้นที่สถานีตำรวจกระจายไปในภาคใต้ ทั้งจังหวัดพัทลุง กระบี่ สงขลา เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการแจ้งความไว้ในอีกหลายจังหวัด รวมทั้งมีคดีที่มาแจ้งความไว้ที่กรุงเทพฯ ด้วย ได้แก่ คดีของ “เจ๊จวง-เจ๊เทียม” ที่ สน.บางนา
ทรงชัยเคยขึ้นเบิกความในฐานะพยานโจทก์ผู้กล่าวหาในคดีของ “สินธุ” ระบุว่าเคยแจ้งความดำเนินคดีต่อบุคคลมาแล้วมากกว่า 30 คน ในคดีความผิดตามมาตรา 112 และรับว่าอาจมากถึง 100 คดี โดยแยกไปแจ้งความในสถานีตำรวจท้องที่ต่าง ๆ กัน ซึ่งหลังจากมีการแจ้งความจะนำเรื่องมาโพสต์ในเพจ
ผู้ถูกกล่าวหาในคดีลักษณะนี้ส่วนใหญ่ ไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้มีภาระต้องเดินทางไกลไปต่อสู้คดี ยกตัวอย่างกรณีของ “เจมส์” ณัฐกานต์ ใจอารีย์ ซึ่งเคยถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางพัทลุงในคดีมาตรา 112 หลังเขาไม่ได้เดินทางไปตามหมายเรียก ทำให้เจมส์ถูกจับกุมคุมขังและไม่ได้รับการประกันตัว ก่อนได้รับการปล่อยตัวออกมาเมื่อปี 2566 เนื่องจากอัยการยังไม่ยื่นฟ้องภายในกำหนดฝากขัง รวมทั้งคดีตามมาตรา 116 ของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี นักเขียนและบรรณาธิการ ก็มีทรงชัยเป็นผู้กล่าวหาไว้ที่จังหวัดพัทลุงอีกด้วย
นอกจากนั้น ทรงชัยยังเดินทางมาเป็นพยานโจทก์ในคดีในกรุงเทพฯ อย่างคดีของ “หนูรัตน์” จากกรณีร่วมจัดแสดงในคลิปโฆษณาแคมเปญ 5.5 ของลาซาด้าด้วย และในที่สุดศาลอาญายกฟ้องคดี
เขาระบุในการเบิกความคดีที่จังหวัดพัทลุงว่า เขาทำงานเป็นพนักงานขายของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง และกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันนั้น มีสมาชิกกลุ่ม 38 คนทั่วประเทศ มีเขาเป็นประธานของกลุ่ม โดยระบุว่าตนเองและสมาชิกกลุ่มไม่ได้รับเงินเดือน แต่ได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชนเพียงอย่างเดียว
.
ประชาชนไร้สังกัดกล่าวโทษ ‘ม.112 – พ.ร.บ.คอมฯ’ กว่า 70 คดีทั่วประเทศไทย
นอกจากกลุ่มเครือข่ายของประชาชนในข้างต้นแล้ว ประชาชนทั่วไปที่เข้าใจว่าดำเนินการในลักษณะปัจเจกบุคคล ก็มีการเดินทางไปสถานีตำรวจใกล้บ้านเพื่อกล่าวโทษบุคคลที่เขาเห็นว่ากระทำความผิดตามมาตรา 112 ด้วยเช่นกัน โดยในการสืบพยานในชั้นศาล ประชาชนเหล่านี้มักระบุว่าตนเองไม่ได้เป็นตัวแทนหรืออยู่ในกลุ่มสังกัดใด เพียงแค่ทำ ‘หน้าที่’ ปกปักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์เพียงเท่านั้น
ประชาชนบางรายเป็นผู้กล่าวโทษจำนวนหลายสิบคดีกับสถานีตำรวจในท้องที่ที่ตนเองอาศัยอยู่ ทำให้คดีมาตรา 112 ที่เกิดจากการนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์เกิดขึ้นทั่วประเทศตั้งแต่เหนือจรดใต้ เช่น จังหวัดสมุทรปราการมี ศิวพันธ์ุ มานิตย์กุล และ อุราพร สุนทรพจน์ เป็นผู้กล่าวหาอย่างน้อย 9 และ 5 คดีตามลำดับ และจังหวัดนราธิวาสมี พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้กล่าวหาอย่างน้อย 8 คดี
คดีที่มีศิวพันธ์ุเป็นผู้กล่าวหาจำนวน 9 คดี ได้แก่ คดีของ “ธีรวัช”, “มีชัย”, “วุฒิภัทร”, “ก้อง อุกฤษฏ์”, “ปุญญพัฒน์”, “ธัญดล”, “นคร”, “ธาวิน” และเยาวชนอีกหนึ่งราย ส่วนคดีที่มีอุราพรเป็นผู้กล่าวหาจำนวน 5 คดี ได้แก่ คดีของ “พิพัทธ์”, “ภัทร” เยาวชนวัย 16 ปี, “พชร”, “มณีขวัญ” และ “ภราดร” เหตุแห่งคดีส่วนมากเกิดจากการโพสต์ แชร์ หรือคอมเมนต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กของ “KonThaiUk” และ “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” ในช่วงปี 2563
คดีที่มีพสิษฐ์เป็นผู้กล่าวหาจำนวน 8 คดี ได้แก่ คดีของ “กัลยา”, “ชัยชนะ”, “วารี”, “ภัคภิญญา”, “อุดม”, “ปูน ธนพัตน์”, เยาวชนวัย 17 ปี และประชาชนอีก 1 ราย เหตุแห่งคดีส่วนมากเกิดจากการโพสต์หรือแชร์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวซึ่งเปิดการมองเห็นเป็นสาธารณะ
คดีในกลุ่มนี้หลายคดีกำลังดำเนินมาถึงที่สุด มีทั้งคดีที่ศาลยกฟ้อง เห็นว่าผิดแต่ให้รอลงอาญา รวมทั้งคดีที่จำเลยต้องถูกจองจำไปแล้ว 4 ราย ได้แก่ มีชัย, ก้อง, กัลยา และอุดม
คดีลักษณะนี้ยังมีอีก 4 คดี ซึ่งผู้กล่าวหาเป็นบุคคลที่มีบทบาททางสังคม ได้แก่ กมล กิจกสิวัฒน์ ผู้สมัคร สส.เขต ขอนแก่น ในการเลือกตั้งปี 2566 จากพรรคไทยภักดี เป็นผู้กล่าวหากรณีเพจ “ทะลุฟ้า” โพสต์ภาพและข้อความเกี่ยวกับ “ยาใจ ทรงพล” กรณีชู 3 นิ้วในพิธีรับปริญญา, ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต สส. จังหวัดราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้กล่าวหากรณีพบสื่อออนไลน์โพสต์การปราศรัยของ “ครูใหญ่ อรรถพล” ในการชุมนุมปี 2563 และกล่าวหาคดีของ “เพนกวิน พริษฐ์” กรณีโพสต์ถึงศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีบ้านพักประยุทธ์, ร.ต.เปรมไชย ศรีบุญ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทการบินไทย เป็นผู้กล่าวหากรณี “ธัญวดี” คอมเมนต์ใต้เพจเฟซบุ๊ก “การบินไทย” เกี่ยวกับการรับเงินภาษีและบริจาคบางส่วนกลับคืนให้ประชาชน
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่า แม้ประชาชนเหล่านี้จะเบิกความว่าตนเองไม่ได้เป็นตัวแทนหรืออยู่ในกลุ่มสังกัดใด แต่ในทางการสืบพยานมักปรากฏข้อเท็จจริงว่าประชาชนเหล่านี้รู้จักหรือเคยทำกิจกรรมร่วมกับสมาชิกในเครือข่ายของกลุ่มคนปกป้องสถาบันฯ และบางคนก็ได้รับความช่วยเหลือจากเครือข่ายดังกล่าวในการกล่าวโทษต่อประชาชนที่เห็นต่าง
ตัวอย่างเช่น พสิษฐ์เคยเบิกความในคดี “ภัคภิญญา”, “วารี”, “กัลยา” และ “อุดม” ในทำนองเดียวกันว่า ตนไม่ได้เป็นสมาชิกของเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบัน (คปส.) เพียงแต่ขอยืมแบบฟอร์มหนังสือคำร้องทุกข์กล่าวโทษมาจากรุ่นพี่คนหนึ่งซึ่งเป็นสมาชิกเครือข่ายดังกล่าว และใช้แบบฟอร์มดังกล่าวไปยื่นต่อทางตำรวจ
ควรกล่าวด้วยว่า สถิติคดีที่ประชาชนกล่าวหาในข้อหามาตรา 112 นี้ ยังไม่นับคดีที่มี อภิวัฒน์ ขันทอง ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเป็นทนายความของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้ไม่แน่ชัดว่ากระทำการในนามของรัฐหรือส่วนบุคคล โดยเขาเป็นผู้ไปกล่าวหาคดีมาตรา 112 ไว้อีกไม่น้อยกว่า 8 คดีด้วย
.
ปัญหาของคดี ‘ม.112’ ที่ยังคงเดินหน้าต่อ
แม้ปัจจุบันกลุ่มปกป้องสถาบันฯ และประชาชนไร้สังกัดบางส่วน จะยุติการไปร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีมาตรา 112 ไปบ้างแล้ว แต่คดีที่ประชาชนเหล่านั้นเคยกล่าวโทษไว้ ยังคงดำเนินต่อไปในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นชั้นสอบสวน ชั้นศาล หรือราชทัณฑ์ โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีคดีที่คาอยู่ในชั้นต่าง ๆ มากเท่าไร
ส่วนเครือข่ายและประชาชนไร้สังกัดที่ยังคงเดินหน้ากล่าวโทษประชาชนที่เห็นต่างนั้น ก็อาจจะส่งผลให้เกิดคดีเพิ่มขึ้นต่อไป แม้การเคลื่อนไหวในประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะไม่มากและเข้มข้นเท่าห้วงเวลาปี 2563-2565
นอกจากนั้น ยังพบว่าบางกลุ่มเครือข่ายปกป้องสถาบันฯ ยังมีการดำเนินการในลักษณะเข้าข่มขู่ คุกคามประชาชนที่เคยแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์ ด้วยการติดตาม คุกคามถึงที่พักอาศัย ที่ทำงาน และครอบครัว ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2566 ในกรณีของ “เอ” (นามสมมติ) เปิดเผยข้อมูลว่า เธอถูกคุกคามจากกลุ่มที่อ้างตนว่าเป็น “กองทัพมินเนี่ยน” บุกมาถึงสถานที่ทำงาน และนำเอกสารลักษณะ MOU มาให้เซ็นข้อตกลงเพื่อรับรองว่าหากเธอปฏิบัติได้ตามข้อตกลงในเอกสารดังกล่าว จะไม่มีการดำเนินคดีในมาตรา 112 จากโพสต์ข้อความที่เธอไปคอมเมนต์ไว้ในเฟซบุ๊ก
และแม้ MOU ฉบับดังกล่าวที่กองทัพมินเนี่ยนนำมาให้เซ็นจะไม่มีผลทางกฎหมายใด ๆ แต่ทั้งนี้การเซ็นข้อตกลงก็ไม่ได้เป็นการรับประกันได้ว่าผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิจะไม่ถูกแจ้งความดำเนินคดี เนื่องจากมาตรา 112 เปิดช่องว่างให้กับบุคคลใดก็ได้สามารถเข้ากล่าวโทษในกฎหมายข้อนี้
เมื่อคดีความเหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไปในกระบวนการยุติธรรม ย่อมสร้างภาระต่อทั้งตัวผู้ถูกกล่าวหาและกระบวนการยุติธรรมเอง ไม่เพียงแต่ประชาชนที่ต้องเสียเวลา, ค่าใช้จ่าย และโอกาสในชีวิต ในการ ‘ขึ้นโรงขึ้นศาล’ และมีประวัติอาชญากรรมติดตัว แต่กระบวนการยุติธรรมเองเดิมทีก็มีปัญหา ‘คดีล้นศาล นักโทษล้นคุก’ อยู่แล้ว ซึ่งหากปล่อยให้การกล่าวโทษคดีมาตรา 112 เช่นนี้ ยังคงดำเนินต่อไปก็จะกลายเป็นภาระของภาครัฐที่จะต้องเสียเวลาและทรัพยากรไปในการดำเนินคดี ทั้งยังอาจส่งผลกระทบด้านกลับต่อสถาบันกษัตริย์เองอีกด้วย