เมื่อ 4 ปีที่แล้ว (19 พ.ย. 2563) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกแถลงการณ์ถึงสถานการณ์ทางการเมือง โดยประกาศว่าจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทำความผิด ฝ่าฝืนกฎหมาย เพิกเฉยต่อการเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น โดยจะดำเนินคดีต่าง ๆ ให้เป็นไปตาม “กระบวนการยุติธรรมของประเทศ” จากนั้นก็ปรากฏรายงานข่าวว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะเริ่มกลับมาบังคับใช้ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกครั้ง หลังจากมีการเปลี่ยนแนวทางการบังคับใช้มาตั้งแต่ช่วงปี 2561 เป็นต้นมา
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนนับตั้งแต่นั้น ผ่านไป 4 ปี มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 275 คน ใน 307 คดี ในจำนวนนี้ แยกเป็นผู้ถูกดำเนินคดีที่เป็นเด็กและเยาวชน จำนวน 20 ราย ในจำนวน 24 คดี
ในจำนวนคดีทั้งหมดนี้ ถ้ากล่าวถึงผู้ที่ไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษนั้น เป็นกลุ่ม “ประชาชน” เป็นผู้แจ้งความมากที่สุดถึง 161 คดี คือมากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมด รองลงมาเป็นคดีที่ตำรวจเป็นผู้แจ้งความจำนวน 125 คดี, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้แจ้งความจำนวน 11 คดี, คดีที่กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเข้าแจ้งความ 9 คดี และมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเข้าแจ้งความ 1 คดี
ส่วนพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหา ส่วนใหญ่เป็นคดีที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จำนวน 169 คดี, คดีที่เกี่ยวกับการปราศรัยในการชุมนุมจำนวน 59 คดี, คดีการแสดงออกอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การปราศรัย เช่น การติดป้าย, พิมพ์หนังสือ, แปะสติ๊กเกอร์ เป็นต้น จำนวน 72 คดี,
ปัจจุบันคดีสิ้นสุดแล้ว จำนวน 91 คดี คดีที่อยู่ในชั้นศาล จำนวน 151 คดี ยังไม่มีแม้แต่คดีเดียวที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี (เท่าที่ทราบข้อมูล และนับเฉพาะคดีที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหาแล้ว)
ขณะเดียวกัน ยังมีสถิติคดีของศาลยุติธรรมที่ส่งถึง กมธ.ศึกษาการนิรโทษกรรม ระบุสถิติคดีมาตรา 112 ที่ขึ้นสู่ศาลตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 จนถึงเดือนกุมพันธ์ 2567 ว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 329 คดี
ชวนอ่าน: สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-67 และ ดูสถิติคดีมาตรา 112 ที่ศาลมีคำพิพากษา