เก็บตกรายงาน กมธ.นิรโทษกรรม: สถิติคดี ม.112 ในรอบ 14 ปี ในชั้นอัยการ สูงถึง 3,792 เรื่อง

หลังจากช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรมีการอภิปรายรับทราบเนื้อหารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม และมีการลงมติโดยเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตของรายงาน ที่โดยสรุปเสนอให้คณะรัฐมนตรีเร่งพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมโดยเร็ว และเสนอต่อหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ให้พิจารณาสั่งไม่ฟ้องคดีที่มีเกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง หรือหากอยู่ในชั้นศาล ก็อาจใช้ดุลยพินิจให้ประกันตัวระหว่างพิจารณา

ข้ออภิปรายหนึ่ง ที่พบว่ามีการพยายามโต้แย้งลดความสำคัญของการนิรโทษกรรมให้รวมถึงคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คือการระบุว่าคดีมาตรา 112 มีจำนวนไม่มากนัก คิดเป็นอัตราส่วนน้อยเมื่อเทียบกับข้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมือง หรือระบุผู้ถูกดำเนินคดีข้อหานี้เป็นเพียงส่วนน้อยของประชากร เป็นผู้กระทำซ้ำ ๆ ผู้อภิปรายบางคนยังมีการยกสถิติคดีที่น่าจะอ้างอิงข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คือประมาณ 300 คดี มาระบุว่าเป็นจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับข้อกล่าวหาอื่น ๆ

สำหรับสถิติคดีดังกล่าว คือจำนวนอย่างน้อย 307 คดี นั้น เป็นตัวเลขที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเก็บบันทึกข้อมูลตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2563 ที่รัฐเริ่มมีการนำมาตรา 112 กลับมาบังคับใช้อีกครั้ง เพื่อตอบโต้ต่อการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษา ซึ่งมีข้อเรียกร้องสำคัญเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หลังจากมีนโยบายรัฐไม่ให้นำมาตรานี้มากล่าวหาในช่วงราวสองปีก่อนหน้านั้น ทั้งยังเป็นตัวเลขที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเพียงแต่ทราบข้อมูลและบันทึกข้อมูลได้เท่านั้น คาดว่ามีคดีอีกมากที่ไม่ทราบข้อมูล

นอกจากนั้น ตัวเลขดังกล่าว เป็นเพียงในช่วงเวลา 4 ปี ที่ข้อหามาตรานี้ถูกนำมาใช้อย่างเข้มข้นขึ้น แต่หากย้อนกลับไปพิจารณาสถิติคดีในช่วงก่อนหน้านั้นร่วมด้วย ก็คงไม่สามารถกล่าวได้ว่าสถิติคดีข้อหามาตรา 112 มีเป็นจำนวนน้อย หรือมีความสำคัญในเชิงปริมาณน้อยกว่าข้อหาความผิดอื่น ๆ จากการแสดงออกและชุมนุมทางการเมือง ยังไม่นับความสำคัญในเชิงคุณภาพของการเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา

ในรายงานของ กมธ.นิรโทษกรรม ส่วนของภาคผนวก ก. ซึ่งรวบรวมจากเนื้อหาการทำงานของคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง ได้พยายามรวบรวมข้อมูลทางสถิติของคดีข้อหาต่าง ๆ จากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ และพบว่าเป็นข้อมูลที่มีช่วงระยะเวลายาวตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาอีกด้วย

ตัวเลขสถิติดังกล่าว พอจะให้ภาพบางส่วนของสถานการณ์คดีมาตรา 112 ในช่วงเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงนำมาอภิปรายนำเสนอต่อ

.

สถิติคดีจากศาลยุติธรรม ในรอบ 18 ปี มีคดีขึ้นสู่ศาล 1,493 คดี สูงกว่าอีกหลายข้อหา

สถิติคดีมาตรา 107-112 ที่ขึ้นสู่ศาล ตั้งแต่ปี 2548 ถึงกุมภาพันธ์ 2567 รวมจำนวน 1,493 คดี (จากหน้า 11-12 ของภาคผนวก ก. รายงาน กมธ.นิรโทษกรรม) 

.

สถิติส่วนสำคัญที่ทางคณะอนุกรรมาธิการฯ เห็นว่าควรใช้พิจารณาเป็นหลัก คือสถิติคดีจากสำนักงานศาลยุติธรรม โดยเห็นว่าเป็นข้อมูลที่มีการรวบรวมสถิติ มีความชัดเจนแน่นอน และมีการฟ้องร้องเป็นคดีแล้ว

จากตารางสถิติของสำนักงานศาลยุติธรรมดังกล่าว แม้จะมีการระบุตัวเลขรวมไว้ในหมวดความผิดต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท ตามมาตรา 107-112 แต่ในหมวดดังกล่าว ความผิดในส่วนที่เกี่ยวกับการปลงพระชนม์หรือการประทุษร้ายฯ แทบไม่เคยถูกนำมาบังคับใช้ (จนกระทั่งเกิดคดีเกี่ยวกับเหตุขัดขวางขบวนเสด็จ เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 ซึ่งมีการนำข้อหามาตรา 110 มากล่าวหาประชาชนรวม 5 ราย และศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง) จึงพอระบุได้ว่าสถิติคดีในหมวดนี้ เป็นตัวเลขของข้อหาตามมาตรา 112 แทบทั้งหมด

จากสถิติของส่วนระบบข้อมูลและสถิติ สำนักแผนงานและงบประมาณ สำนักงานศาลยุติธรรม ตั้งแต่ปี 2548 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 รวมมีตัวเลขในหมวดความผิดต่อพระมหากษัตริย์ฯ ขึ้นสู่ศาลจำนวน 1,493 คดี

  • โดยเฉลี่ยในรอบ 18 ปี มีคดีขึ้นสู่ศาลในแต่ละปี ราว 82 คดี
  • ปีที่มีสถิติคดีมากที่สุด ได้แก่ ปี 2564 คือจำนวน 128 คดี  รองลงมาคือปี 2550 จำนวน 126 คดี
  • ข้อมูลของศาลยุติธรรม ยังพยายามแยกสถิติคดีตามช่วงบริบทสถานการณ์ทางการเมืองในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีสถิติคดีในหมวดความผิดต่อพระมหากษัตริย์ฯ ในช่วงต่าง ๆ ดังนี้
    • ช่วงชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ปี 2548-2549 จำนวน 63 คดี
    • ช่วงชุมนุมของกลุ่ม นปก. และ นปช. ปี 2550-2553 จำนวน 380 คดี
    • ช่วงชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ปี 2556-2557 จำนวน 169 คดี
    • ช่วงชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชน ปี 2563-2567 จำนวน 338 คดี
  • แต่ตัวเลขดังกล่าวดูจะไม่สามารถสะท้อนได้ว่า ช่วงสถานการณ์บริบททางการเมืองใด เกิดการดำเนินคดีข้อหาในหมวดนี้มากกว่าช่วงใด เนื่องจากแต่ละช่วงเวลา เนื่องจากมีจำนวนปีที่นำมาคำนวณรวมในแต่ละช่วงไม่เท่ากัน และแนวโน้มสถิติคดีที่ขึ้นสู่ศาลไม่ได้มีการกระโดดขึ้นในปริมาณมากให้เห็นได้อย่างชัดเจนในปีใดปีหนึ่ง มีแต่มากขึ้นในลักษณะเล็กน้อย
  • โดยเปรียบเทียบจะพบว่าสถิติภาพรวมคดีหมวดความผิดต่อพระมหากษัตริย์ฯ ที่ขึ้นสู่ศาลในระยะเวลาดังกล่าว มีจำนวนพอ ๆ กันกับคดีในหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ (มาตรา 113-129 จำนวน 1,489 คดี) แต่มากกว่าความผิดหลายข้อหาที่มักถูกกล่าวหาจากการชุมนุมทางการเมือง เช่น  ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง (มาตรา 215 – 216 จำนวน 1,101 คดี) หรือความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ (จำนวน 239 คดี โดยกฎหมายนี้เริ่มบังคับใช้ในปี 2558 เป็นต้นมา) หรือแม้แต่ความผิดตามคำสั่ง คสช. (จำนวน 385 คดี)
  • ข้อมูลของศาลยุติธรรมนี้ ระบุว่ามิได้จัดเก็บโดยจำแนกว่าเป็นการกระทำความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง ทำให้สถิติข้อหาต่าง ๆ ไม่สามารถสะท้อนถึงภาพรวมของคดีทางการเมืองในศาลได้ หลายข้อหามีสถิติคดีจำนวนมาก เนื่องจากเป็นการนับสถิติข้อหานั้นทั้งหมดที่ขึ้นสู่ศาล โดยไม่ได้มีการจำแนกว่าเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองหรือไม่ เช่น ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548 ที่มีสถิติถึง 74,179 คดี หรือข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ที่ระบุสถิติถึง 2,638,125 คดี

.

สถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติชวนสับสน อ้างอิงได้ยาก

สถิติคดีมาตรา 112 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (จากหน้า 62 ของภาคผนวก ก. รายงาน กมธ.นิรโทษกรรม) 

.

ข้อมูลคดีในส่วนที่มาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีระบุหัวตารางสถิติว่า “ความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง มูลเหตุขัดแย้งทางการเมือง” แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าทางตำรวจมีการเก็บข้อมูลคดีที่มาจากแรงจูงใจทางการเมืองเอาไว้โดยเฉพาะ หรือเพียงแต่นำข้อมูลคดีที่มีมาลงในตารางข้อกล่าวหาที่ทางอนุกรรมาธิการติดต่อขอไป โดยไม่มีคำอธิบายใด ๆ ประกอบข้อมูล

โดยหากพิจารณาในตารางส่วนแรกในข้อหาตามมาตรา 112 (หน้า 57) พบว่าทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่ามีสถิติยอดรวมตั้งแต่ปี 2550-2565 จำนวน 30 คดีเท่านั้น โดยมีปี 2564 ที่ระบุว่ามีคดี 15 คดี ส่วนปีอื่น ๆ ระบุตัวเลขเพียง 1 คดี ทำให้ยังมีคำถามถึงข้อมูลสถิติในส่วนนี้ ว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นสถิติคดีมาตรา 112 ทั้งหมดหรือไม่ หรือนับเฉพาะเรื่องอะไร

ข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังแยกตารางสถานะคดีของมาตรา 112 โดยเฉพาะออกมาอีกส่วนหนึ่ง (หน้า 62) โดยบอกสถานะของคดี อาทิ ให้งดการสอบสวน, จำหน่ายคดี, สั่งฟ้องทุกข้อหา, สั่งไม่ฟ้องทุกข้อหา เป็นต้น โดยมีการนับรวมสถิติคดีในแต่ละปี ตั้งแต่ปี 2550-2567 และระบุยอดรวมคดีทั้งหมดอยู่ที่ 2,985 คดี แต่จากการบวกรวมตัวเลขในแต่ละปีที่อยู่ด้านท้ายตาราง พบว่ายอดรวมอยู่ที่ 926 คดี ไม่ใช่จำนวนที่ตารางระบุไว้แต่อย่างใด ทำให้เกิดข้อสงสัยต่อตารางข้อมูลในส่วนนี้ ว่านับจำนวนยอดผลรวมทั้งหมดจากอะไร และอย่างไร เนื่องจากไม่มีคำอธิบายข้อมูลใด ๆ ประกอบไว้

โดยรวมแล้ว ข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงยังเกิดคำถามเรื่องความน่าเชื่อถือ นำไปสู่ความยากที่จะนำไปอ้างอิง หรือทำการวิเคราะห์ข้อมูลต่อไป

.

สถิติอัยการสูงสุด ตัวเลขคดีมาตรา 112 ในรอบ 14 ปี อาจสูงถึง 3,792 เรื่อง ผู้ถูกดำเนินคดีจำนวน 1,838 คน

สถิติคดีมาตรา 107-112 ของสำนักงานเลขาธิการอัยการสูงสุด (จากหน้า 69 ของภาคผนวก ก. รายงาน กมธ.นิรโทษกรรม) 

.

ข้อมูลจากองค์กรในกระบวนการยุติธรรมส่วนสุดท้าย ได้แก่ สำนักงานเลขาธิการอัยการสูงสุด ซึ่งนอกจากตารางสถิติคดีที่รวมข้อกล่าวหาต่าง ๆ ตามที่อนุกรรมาธิการขอไปแล้ว ยังพบว่ามีตารางสถิติคดีเฉพาะข้อหาในหมวดความผิดต่อพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 107-112) เป็นตารางแยกโดยเฉพาะ (หน้า 69) โดยมีข้อมูลคดีตั้งแต่ปี 2553-2566

ข้อมูลคดีของอัยการ มีการแยกประเภทสำนวนคดีเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ส.1 สำนวนปรากฏตัวผู้ต้องหา ที่ส่งตัวมาฟ้อง  ส.2 สำนวนปรากฏตัวผู้ต้องหา ที่ไม่ส่งตัวมาฟ้อง และ ส.3 สำนวนที่ไม่ปรากฏตัวผู้ต้องหา และสถิติแต่ละปี ยังมีการแยกเป็นหน่วยจำนวน “เรื่อง” (ซึ่งไม่มีคำอธิบายว่าเหมือนหรือแตกต่างกับหน่วย “คดี” หรือไม่ แต่สันนิษฐานเบื้องต้นว่าคล้ายคลึงกับหน่วย “คดี”) และหน่วยนับจำนวน “คน”

ข้อมูลของอัยการสูงสุดจากตารางส่วนนี้ ทำให้เห็นภาพรวมจำนวนคดีมาตรา 112 มากขึ้นกว่าจำนวนคดีในชั้นศาล เนื่องจากในชั้นศาล จะทราบเพียงสถิติคดีที่ถูกสั่งฟ้องไปถึงชั้นศาล แต่ในความเป็นจริง ยังมีคดีอีกจำนวนมากที่ไปไม่ถึงชั้นศาล อาทิ อาจสิ้นสุดในชั้นอัยการนี้ ทั้งโดยการสั่งไม่ฟ้องคดี หรือการไม่สามารถหาตัวผู้กระทำตามที่ถูกกล่าวหามาสั่งฟ้องต่อศาลได้ ทำให้คดีไม่ได้ขึ้นสู่ศาล

โดยหากนับจำนวนเรื่องและจำนวนคนในช่อง “รับใหม่” ในแต่ละปี ซึ่งน่าจะหมายถึงคดีที่เข้ามาใหม่ในชั้นอัยการในแต่ละปี มารวมกันแล้ว จะมีสถิติคดีในหมวดความผิดต่อพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 107-112) ในช่วงปี 2553-2566 ยอดรวมอยู่ที่จำนวน 3,792 เรื่อง ผู้ถูกดำเนินคดีจำนวน 1,838 คน (ในส่วนจำนวนคน ไม่ทราบว่าข้อมูลของอัยการได้มีการหักลบผู้ถูกดำเนินคดีซ้ำหลายคดีในวิธีการนับจำนวนหรือไม่)

  • ในจำนวนดังกล่าว อัยการมีคำสั่งฟ้องจำนวน 742 เรื่อง คิดเป็น 978 คน และอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องจำนวน 155 เรื่อง คิดเป็น 394 คน
  • มีข้อน่าสังเกตว่าในช่วงปี 2558-2561 มีประเภทสำนวนแบบ ส.3 คือสำนวนที่ไม่ปรากฏตัวผู้ต้องหา เพิ่มสูงอย่างมาก โดยในปี 2560 มีเพิ่มสูงถึง 1,191 เรื่อง สูงกว่าปีอื่น ๆ ไปหลายเท่าตัว โดยไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด อาจเป็นได้ว่ามีการแจ้งความดำเนินคดีจำนวนมาก โดยที่ไม่ปรากฏตัวผู้ต้องหา และทำให้คดีส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกฟ้องไปถึงชั้นศาล
  • ในช่วงปี 2564-66 จำนวนในประเภทสำนวนแบบ ส.1 คือ สำนวนปรากฏตัวผู้ต้องหา ที่ส่งตัวมาฟ้อง เพิ่มมากขึ้นกว่าประเภทสำนวนอื่น ๆ อย่างชัดเจน โดยในปี 2564 มีจำนวนสำนวนแบบ ส.1 มากที่สุดกว่าปีอื่น ๆ คือ 174 เรื่อง และมีจำนวนคนมากที่สุดกว่าปีอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน คือจำนวน 295 คน โดยคาดว่าเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง ซึ่งสถิติคดีมีเพิ่มสูงขึ้นในปี 2564 ทั้งในส่วนของชั้นศาล และอัยการ สอดคล้องกัน
  • จากสถิติคดีในชั้นศาลและอัยการ ทำให้พอกล่าวได้ว่าสถานการณ์การใช้มาตรา 112 ในช่วงปี 2564 ซึ่งมีการชุมนุมของนักศึกษาและประชาชน รวมทั้งการแสดงออกบนโลกออนไลน์ ในประเด็นสถาบันกษัตริย์ เป็นไปอย่างเข้มข้น เพิ่มสูงมากขึ้นกว่าช่วงปีอื่น ๆ แต่ตัวเลขไม่ถึงขนาดพุ่งสูงในลักษณะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว
  • หากเปรียบเทียบสถิติคดีในหมวดความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ฯ กับข้อหาอื่น ๆ ที่น่าสนใจ จากข้อมูลของอัยการสูงสุด พบว่ามีจำนวนมากกว่าอย่างเห็นได้ชัดเจน อาทิ
    • ข้อหาในหมวดความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร (มาตรา 113-117) มีจำนวนเรื่องที่รับมาใหม่ในชั้นอัยการตั้งแต่ปี 2548 ถึงวันที่ 29 ก.พ. 2567 จำนวน 403 เรื่อง และมีผู้ถูกดำเนินคดี 1,006 คน 
    • ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ตั้งแต่ปี 2558 (ที่กฎหมายเริ่มบังคับใช้) ถึงวันที่ 29 ก.พ. 2567 มีจำนวนเรื่องที่รับมาใหม่รวมกัน 186 เรื่อง ผู้ถูกดำเนินคดี 629 คน

.

สถิติคดีของหน่วยงานพลเรือน ยังไม่ได้รวมคดีช่วง คสช. ที่ให้ ม.112 ขึ้นศาลทหาร

ขณะเดียวกันสถิติของศาลยุติธรรม และอัยการสูงสุดดังกล่าว ยังมีช่องโหว่ในการให้ภาพรวมทั้งหมดของคดีมาตรา 112 อยู่ด้วย เนื่องจากในช่วงหลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศให้คดีที่มีข้อกล่าวหาในหมวดความผิดต่อพระมหากษัตริย์ฯ ตั้งแต่มาตรา 107 ถึง 112  และความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113 ถึง 118 ต้องถูกพิจารณาพิพากษาในศาลทหาร ซึ่งหมายถึงกระบวนการจะถูกดำเนินการฟ้องร้องคดีโดยอัยการทหาร ไม่ใช่อัยการพลเรือนอีกด้วย

สถิติคดีข้อกล่าวหาดังกล่าวที่มีเหตุเกิดขึ้นในช่วงหลังรัฐประหาร จนถึงลงวันที่ 12 ก.ย. 2559 ซึ่งมีการออกคำสั่งให้คดีที่มีเหตุเกิดขึ้นหลังจากนั้นกลับไปขึ้นศาลยุติธรรม ราวเกือบ 2 ปี ครึ่ง จึงไม่ได้ถูกบันทึกในส่วนข้อมูลของหน่วยงานอัยการพลเรือน หรือศาลยุติธรรม แต่ต้องไปติดตามข้อมูลในส่วนองค์กรฝ่ายทหารแทน

ทางคณะอนุกรรมาธิการฯ ก็ได้ดำเนินการขอสถิติคดีจากกระทรวงกลาโหม (หน้า 99) ซึ่งเป็นต้นสังกัดของศาลทหาร และอัยการทหาร พบว่ามีการให้ข้อมูลสถิติคดีในหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามมาตรา 112 ถึง 117 ระบุว่า

  • ในช่วงวันที่ 1 ม.ค. 2548 ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีจำนวน 251 คน ใน 114 คดี
  • ในช่วงวันที่ 1 เม.ย. 2563 ถึงวันที่ 29 ก.พ. 2567 มีผู้ถูกดำเนินคดีจำนวน 2 คน ใน 2 คดี

.

สถิติคดีจากกระทรวงกลาโหม (จากหน้า 99-102 ของภาคผนวก ก. รายงาน กมธ.นิรโทษกรรม) 

.

แต่ตัวเลขดังกล่าว ไม่ได้มีการแยกสถิติในรายมาตรา ทั้งยังรวมสถิติข้อหามาตรา 112 กับ มาตรา 116 ซึ่งข้อหาหลังนี้ก็มีจำนวนมากขึ้นในช่วงหลังรัฐประหาร คสช. เช่นกัน ทำให้ยากจะบอกถึงสถิติคดีข้อหามาตรา 112 จากตัวเลขในตารางนี้ของกระทรวงกลาโหมได้โดยเฉพาะ

.

ในส่วนของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งให้ความช่วยเหลือและติดตามสถานการณ์การดำเนินคดีมาตรา 112 มาตั้งแต่หลังการรัฐประหารของ คสช. พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออก ไม่รวมกรณีที่เป็นการแอบอ้างเพื่อเรียกผลประโยชน์ ในช่วงตั้งแต่หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ถึงตุลาคม 2567 จำนวนอย่างน้อย 381 คน ใน 397 คดี  ในจำนวนนี้แยกเป็นคดีหลังการเริ่มชุมนุมของนักเรียน-นักศึกษา ในปี 2563 เป็นต้นมา จำนวน 307 คดี โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงส่วนที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทราบข้อมูลเท่านั้น 

จากภาพทางสถิติของหน่วยงานรัฐดังกล่าว พอจะทำให้เห็นว่าจำนวนคดีมาตรา 112 มีมากกว่าที่องค์กรภาคประชาสังคมติดตามและรับทราบสถานการณ์คดี รวมทั้งมีการแจ้งความไว้เป็นจำนวนมาก โดยคดีไม่ได้ไปถึงชั้นศาล ดังสถิติที่เห็นในชั้นอัยการ

นอกจากนั้นหากเปรียบเทียบกับข้อกล่าวหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมในคดีทางการเมืองแล้ว ไม่สามารถกล่าวได้เลยว่าในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ผู้ถูกดำเนินคดีข้อหานี้ มีเป็นจำนวนน้อยกว่าคดีลักษณะอื่น ๆ หากแต่ล้วนชี้ให้เห็นว่าปัญหาข้อหามาตรา 112 มีความสำคัญทั้งในแง่ปริมาณ และในเชิงคุณภาพ ในลักษณะที่เป็นใจกลางหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย

.

อ่านรายงานภาคผนวกส่วนของ คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง

.

X