ชวนจับตา-อ่านบันทึกประชุม กมธ.ศึกษากฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมืองฯ หลังขยายเวลาศึกษาออกไปอีก 60 วัน

หลังจากเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน เพื่อยุติการดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง และเป็นก้าวแรกของการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย โดยมีประชาชนร่วมลงชื่อไม่น้อยกว่า  35,905 รายชื่อ และยังต้องรอติดตามการนำกฎหมายร่างต่าง ๆ ทั้งของภาคประชาชน และพรรคการเมืองเข้าสู่การพิจารณาสภา

ขณะที่ในสภาก่อนหน้านี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2567 สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ขึ้น โดยมี ชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นประธานกรรมาธิการ และมี สส. หรือผู้เชี่ยวชาญ สัดส่วนของพรรคต่าง ๆ ร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณาศึกษา รวมจำนวน 35 คน

จนถึงปัจจุบัน กมธ. ชุดนี้ประชุมกันไปแล้ว 6 ครั้ง โดยกำหนดประชุมทุกบ่ายวันพฤหัส ในช่วงอาทิตย์นี้ กรรมาธิการยังมีมติขอขยายเวลาศึกษาเพิ่มเติมออกไปอีก 60 วัน เพื่อให้มีเวลาศึกษาข้อเท็จจริงที่กว้างขวางขึ้น จากเดิมที่กำหนดเวลาการทำงานไว้จนถึงวันที่ 1 เมษายนนี้ ทำให้ กมธ. จะดำเนินการขยายไปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้

สำหรับการประชุมที่ผ่านมา นอกจากการเสนอความคิดเห็นระหว่างกรรมาธิการ ยังมีการเชิญตัวแทนจากการหน่วยงานรัฐ ทั้งกระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลปกครอง และกระทรวงการต่างประเทศ มาร่วมรับฟัง และให้ข้อคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการในการประชุมทุกครั้ง

การอภิปรายในที่ประชุมกรรมาธิการที่ผ่านมา มีทั้งในประเด็นว่าการนิยามคำว่า “ความขัดแย้งทางการเมือง”, เป้าหมายของการนิรโทษกรรมคืออะไร, ควรใช้คำอื่นแทนคำว่า “นิรโทษกรรม” หรือไม่, แนวทางในการนิรโทษกรรมนั้นควรรวมคดีประเภทใด บุคคลใด และช่วงเวลาใด หรือเรื่องกระบวนการอื่น ๆ ที่ควรดำเนินการควบคู่ไปกับการนิรโทษกรรม เพื่อให้เกิดการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองได้จริง

ข้อสรุปในเบื้องต้นของกรรมาธิการ คือกำหนดกรอบเวลาการนิรโทษกรรมเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2548 จนถึงปัจจุบัน แต่ยังไม่ได้มีการพิจารณาในส่วนฐานความผิด โดยเฉพาะข้อถกเถียงสำคัญในสังคม เรื่องผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น ควรได้รับการนิรโทษกรรมด้วยหรือไม่

รวมทั้งมีประเด็นที่น่าสนใจ ในส่วนที่มีผู้แทนประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการ เพื่อนำข้อเสนอให้ควรรวมการนิรโทษกรรมคดีในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เข้ามาด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวข้องกับความมั่นคง ทั้งพบปัญหาการใช้กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมเช่นกัน

นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2567 กรรมาธิการยังมีมติให้ตั้งอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง เพื่อประกอบการพิจารณาอีกด้วย โดยอนุกรรมาธิการนี้มี นิกร จำนง เป็นประธาน ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลคดีและสถิติคดีทางการเมืองในรอบเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา กรรมาธิการยังได้เชิญตัวแทนของกลุ่มผู้ชุมนุมสำคัญในช่วงต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา เข้าไปให้ข้อมูลด้วย รวมทั้งมีตัวแทนของเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนเข้าร่วม

การประชุมในครั้งต่าง ๆ ของกรรมาธิการได้ทยอยถูกเผยแพร่บันทึกการประชุมโดยละเอียดบนหน้าเว็บไซต์ของสภา จึงชวนกันเข้าไปอ่านบันทึกการประชุมเหล่านั้น ว่าตัวแทนพรรคการเมืองต่าง ๆ พูดคุยในเรื่องการนิรโทษกรรมทางการเมืองกันอย่างไรบ้างแล้ว และชวนติดตามจับตาการทำงานของกรรมาธิการชุดนี้ต่อไป

ดูหน้าเว็บไซต์ของ กมธ.ศึกษาแนวทางการตรากฎหมายนิรโทษกรรม และอ่าน บันทึกการประชุมแต่ละครั้งที่ผ่านมา

.

X